‘สุขภาพ-การเมือง-อาชญากรรมไซเบอร์’ 3 ข้อมูลผิดปรกติในสังคมไทย ผลร้ายมีมาก จัดการไม่ง่าย

มอง 3 ข้อมูลผิดปรกติในสังคมไทย ‘สุขภาพ-การเมือง-อาชญากรรมไซเบอร์’ ผลร้ายมีมากแต่จัดการไม่ง่าย ในเวทีประชุมสุดยอด APAC Trusted Media Summit

เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2565 วิทยากรจากสถาบันพระปกเกล้า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสภาองค์กรของผู้บริโภค ร่วมสรุปประเด็น “ข้อมูลผิดปรกติ (Information Disorder) ในสังคมไทย” ในเวทีประชุมสุดยอด APAC Trusted Media Summit ประจำปีครั้งที่ 5 ในประเทศไทย ซึ่งจัดโดย โคแฟค (ประเทศไทย) และ Google News Initiative (GNI)

ญาณี รัชต์บริรักษ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า ช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา คนไทยเผชิญกับปัญหาข่าวลวง (fake News) อย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด19 ซึ่งมีคำ 2 คำเดินทางมาพร้อมกัน คือ Pandemic ที่แปลว่าโรคระบาด กับ Infodemic ที่หมายถึงการระบาดของข่าวลวง โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้เป็นช่วงวิกฤติของการสื่อสาร และเน้นย้ำความสำคัญของการเปิดพื้นที่เพื่อค้นหาข้อมูลร่วมของสังคม
ซึ่งความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) เป็นทักษะที่จะช่วยให้คนไทยมีชีวิตแบบมีสุขภาวะ รอดพ้นภยันตรายจากข้อมูลลวงด้านสุขภาพ

โดยองค์ประกอบของความรอบรู้ด้านสุขภาพ มีตั้งแต่การเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง การวิเคราะห์และประเมินสื่อ สามารถตัดสินใจจัดการกับตนเองในเรื่องของสุขภาพ ตลอดจนการเท่าทันสื่อและสื่อสารข้อมูล ซึ่งส่วนหนึ่งก็คือทักษะการรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) ที่มีหลักคิดว่า ต้องไม่เชื่อไว้ก่อนจนกว่าจะหาข้อมูลมายืนยันได้ว่าเรื่องนั้นถูกต้อง

ทั้งนี้ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีข่าวลวงด้านสุขภาพเกิดขึ้นหลายประเด็น เช่น โควิด19 วัคซีน ฟ้าทะเลายโจรและสมุนไพรรักษาโรค กัญชา รวมถึงอาหารเสริมต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งข่าวลวง (Fake News) และข้อมูลบิดเบือน (Disinformation) โดยมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติม เช่น การสื่อสารในพื้นที่ปิด ปรากฏการณ์ห้องเสียงสะท้อน (Echo Chamber) วัฒนธรรมเกรงใจไม่กล้าเตือนกัน ไปจนถึงบุคคลที่มีชื่อเสียง (Influencer) เป็นผู้เผยแพร่ข้อมูลผิด ๆ เสียเอง

อนึ่ง สถาบันเชนจ์ฟิวชั่น เคยสรุปข้อค้นพบเกี่ยวกับข่าวลวงด้านสุขภาพในรอบปีที่ผ่านมา พบว่า แม้จะมีความถี่ของข่าวลวงมากในแพลตฟอร์มเปิดเป็นสาธารณะ แต่เจ้าของแพลตฟอร์มก็พยายามใช้อัลกอรึทึมเพื่อปิดกั้นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง แต่ที่น่าห่วงคือในกลุ่มปิด เช่น กลุ่มไลน์ กลุ่มเฟซบุ๊ก ซึ่งมีข่าวลวงและข้อมูลบิดเบือนอย่างสูง เนื่องจากเป็นเรื่องยากในการตรวจสอบ

ส่วนผู้เผยแพร่ข่าวลวงก็มีตั้งแต่พวกทำเพราะสนุก พวกที่หวังผลทางธุรกิจบ้างการเมืองบ้าง หรือพวกแอบอ้างว่าเป็นคนวงใน
ประเด็นข่าวลวงที่ต้องระวังคือเรื่องที่อาจสร้างความแตกแยกในสังคม เช่น โรคฝีดาษลิงกับกลุ่มชายรักชาย วัคซีนโควิด19 กับศาสนา ข่าวลวงยังมีแนวโน้มเผยแพร่แบบข้ามพรมแดน มีการแปลจากภาษาหนึ่งไปเป็นภาษาอื่น ๆ

สุดท้ายคือการมีพื้นที่ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลและแสวงหาความจริงร่วม แต่มีความท้าทายคือ บางอย่างก็ไมได้เป็นเท็จหรือจริงทั้งหมด โดยเป็นข้อมูลที่ซับซ้อนละเอียดอ่อน เช่น การรักษาโรคด้วยสมุนไพร หากภาครัฐไปบอกว่าเป็นข่าวลวงโดยไม่ระมัดระวัง อาจผลักให้ประชาชนไปสู่การเชื่อในโฆษณาชวนเชื่อได้

“ทางออกในการแก้ข้อมูลผิดปรกติในสังคมไทย รัฐต้องสนับสนุนให้เกิดระบบข้อมูลที่เป็น Open Data (ข้อมูลเปิด) ควบคู่ไปกับการสร้างแพลตฟอร์ม เรียกว่าการสนับสนุนของแพลตฟอร์มในการสร้างแพลตฟอร์มที่มีอัลกอริทึมที่จะช่วยบล็อกข้อมูลข่าวลวงต่าง ๆ

รวมถึงการที่สื่อมวลชน องค์กรวิชาชีพสื่อจะทำหน้าที่ในการเฝ้าระวัง ตรวจสอบข้อมูลแล้วก็เป็นที่พึ่งของสังคม และสร้าง Solution (แนวทางแก้ไขปัญหา) ให้กับสังคมได้ รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของประชาชน ให้เป็นประชาชนที่เป็นพลเมืองดิจิทัล ช่วยกันตรวจสอบข้อมูล และสร้างวัฒนธรรทในการตรวจสอบข้อมูลร่วม เพื่อที่จะนำไปสู่สังคมแห่งปัญญาและสังคมแห่งสุขภาวะ” ญาณี กล่าว

ด้าน สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า การบิดเบือนข้อมูลเพื่อหวังผลทางการเมือง (Political Disinformation) หนึ่งในกรณีอื้อฉาวคือการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ครั้งล่าสุด มีการเผยแพร่ข้อมูลว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีต่ออีกสมัย ทั้งที่จริง ๆ แล้ว ทรัมป์เป็นฝ่ายแพ้ ทำให้ในวันที่โจ ไบเดน ผู้ชนะเลือกตั้ง ปธน. ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดดังกล่าว ประกอบพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ ก็เกิดเหตุจลาจลขึ้นบริเวณอาคารรัฐสภา

การบิดเบือนข้อมูลกับการเมืองนั้นเป็นเรื่องที่พบได้ปกติมาก เช่น ในช่วงเลือกตั้งที่พบการใส่ร้ายป้ายสีคู่แข่งกับการโอ้อวดตนเองเกินจริง แต่พฤติกรรมเหล่านี้ยังสามารถถูกควบคุมได้โดยกฎหมาย ที่น่าห่วงกว่าคือการที่ข้อมูลชุดเดียวกันแต่มองได้หลายมุม และไม่สามารถฟันธงได้ว่าบิดเบือนหรือไม่ เช่น เมื่อพูดถึวอดีตนายกรัฐมนตรีของไทยอย่าง ทักษิณ ชินวัตร จะมีทั้งฝ่ายที่มองว่าเป็นนายกฯ ที่ดำเนินนโยบายทำให้ประชาชนกินดีอยู่ดี กับฝ่ายที่บอกว่าเป็นนายกฯ ที่ดำเนินนโยบายประชานิยมและมีผลประโยชน์ทับซ้อน

หรือเหตุการณ์รัฐประหารปี 2549 ก็มีทั้งฝ่ายสนับสนุนที่นำดอกไม้ไปให้ทหาร และฝ่ายต่อต้านที่ถึงขั้นขับรถแท็กซี่ชนกับรถถัง มาจนถึงเมื่อเร็ว ๆ นี้ กับเหตุการณ์ยุบพรรคอนาคตใหม่ นำมาซึ่งการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ที่เป็นนักเรียน-นักศึกษา ครั้งนี้ประเด็นข้อมูลค่อนข้างอ่อนไหวกว่าครั้งก่อน ๆ เพราะกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างคนต่างรุ่น ซึ่งคนเราจะเติบโตมากับชุดความรู้หนึ่ง และเมื่ออายุมากขึ้นชุดความรู้นั้นก็กลายเป็นความเชื่อและเป็นสิ่งที่ต้องรักษาไว้ โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับคนอีกรุ่นหนึ่งที่ตีความอะไรใหม่ ๆ แตกต่างไปจากเดิม

“ปัญหาของข้อมูลที่ไปใช้เพื่อหวังผลทางการเมือง คือเราใช้คำว่าการตีความกฎหมาย จริง ๆ ปกติการตีความกฎหมายน่าจะเป็นทางออกให้กับข้อมูลที่มันหลากหลายชุดความคิด หลากหลายการตีความ ให้มันได้ความจริงเพียงหนึ่งเดียวและเป็นที่ยอมรับ แต่ปัจจุบันท่านก็จะเห็น กฎหมายอะไรก็ไม่รู้ เรื่องแค่ว่า 8 ปีหรือไม่ 8 ปี อธิบายกันได้อย่างน้อย ๆ 3 แบบ 3 ทาง ซึ่งจริง ๆ อาจจะ 4 หรือ 5 ว่ามันครบ 8 ปีเมื่อไร

แล้วบทสรุปของมันอาจจะกลายเป็นว่า การตีความจนเป็นคำตอบมันอาจจะไม่เป็นที่ยอมรับก็ได้นะ แต่มันน่ากลัวตรงที่มันมีสภาพบังคับทุกองค์กร ไม่มีใครล่วงละเมิดได้ อันนี้น่ากลัว มันเป็นชุดความจริงที่ใช้เครื่องมือที่ชอบธรรมมากในทางการเมือง มาจัดการให้มันถูกต้องชอบธรรมโดยที่มันไมได้รับความชอบธรรมทางสังคม” ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า

ขณะที่ ภัทรกร ทีปบุญรัตน์ เจ้าหน้าที่ศูนย์ผู้บริโภคแบบเบ็ดเสร็จ (One-stop service) สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่การก่อตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค เรื่องที่ได้รับร้องเรียนอยู่บ่อยครั้งคือการถูกหลอกขายสินค้าทางออนไลน์ หรือแม้กระทั่งแอปพลิเคชันหลอกลวงก็ยังเข้าไปอยู่ในสโตร์ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งประชาชนไม่สามารถไว้วางใจแพลตฟอร์ม และหากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มยังเห็นแก่เม็ดเงินโฆษณาของคนเหล่านี้ก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้

นอกจากนี้ มิจฉาชีพยังมีการพัฒนากลยุทธ์ในการหลอกลวง ตั้งแต่การหลอกให้กดลิงค์ต่าง ๆ ซึ่งเมื่อเหยื่อหลงเชื่อมิจฉาชีพก็จะสามารถเข้าถึงข้อมูลสำหรับทำธุรกรรมทางการเงินได้ หรือมีแม้กระทั่งมิจฉาชีพรู้ว่าผู้สูงอายุรายหนึ่งมีเงินเก็บจำนวนมาก ก็ทำทีลงทุนซื้อโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนให้ใช้แทนโทรศัพท์แบบปุ่มกด แถมยังสอนการใช้แอปพลิเคชั่นธุรกรรมการเงินอีก แต่ผู้สูงอายุรายนี้ไม่รู้เลยว่า มือถือสมาร์ทโฟนที่ได้มาใช้นั้นฝังโปรแกรมที่สามารถมองเห็นและควบคุมเครื่องจากระยะไกลไว้ มารู้อีกทีก็ถูกถอนเงินไปเกลี้ยงบัญชีแล้ว เป็นต้น

โดยข้อมูลจาก ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (Thai Police Online-สอท.) ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ถึง 11 กันยายน 2565 พบว่า มีการแจ้งความออนไลน์กันกว่า 8 หมื่นเรื่อง โดยมีการหลอกลวงให้ทำงาน และหลอกลวงให้กู้เงินมาเป็นอันดับต้น ๆ โดยเฉพาะเรื่องการหลอกลวงให้กู้เงินแต่เหยื่อนอกจากจะไม่ได้เงินแถมยังเสียเงินเพิ่มไปอีก ซึ่งมิจฉาชีพอ้างว่าอนุมัติเงินกู้แล้วแต่ต้องจ่ายค่าดำเนินการบางอย่าง เมื่อเหยื่อหลงเชื่อก็จะโอนให้ 500 บาทบ้าง 1,000 บาทบ้าง จนบางรายเสียหายไปเป็นหลักหมื่นบาท
และการจะอายัดเงินให้ทันก่อนที่มิจฉาชีพจะโอนย้ายถ่ายเทไปหมดนั้นก็เป็นไปได้ยากมาก

ดังข้อมูลจากทางตำรวจที่ระบุว่า ยอดเงินที่ขออายัดมีรวมกันมากกว่า 3 พันล้านบาท แต่อายัดได้ทันจริง ๆ เพียงร้อยละ 7.6 ของจำนวนเงินดังกล่าว ขณะนี้มีความพยายามทำความร่วมมือกันระหว่างตำรวจกับสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อนำรายชื่อบัญชีที่ถูกอายัดเนื่องจากมีพฤติกรรมเป็นมิจฉาชีพออกมาเปิดเผย

“ทุกวันนี้โจรมันพัฒนาเป็นดิจิทัลไปหมดแล้ว มีการอัพเลเวลในการที่จะโกงต่างๆ แต่ระบบราชการ กว่าจะไปแจ้งความได้ ไปท้องที่ที่เกิดเหตุ เสร็จปุ๊บท้องที่บอกว่ามันเป็นงานออนไลน์ ต้องไปที่ สอท. ผู้เสียหายก็ไปที่ สอท. แจ้งความเรียบเร้อยเสร็จ ด้วยความเข้าใจว่าเราถูกหลอกลวงเงินก็อยากจะได้เงิน จะเอาใบแจ้งความไปอายัดบัญชี ก็กลับไปที่ สน.อีก บอกว่าคุณไม่ได้แจ้งความที่นี่” ภัทรกร กล่าว

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค