“ดิฉันมีโอกาสไปร่วมสังเกตการณ์ปัญหาเรื่องกองทุนฌาปนกิจ รู้สึกตกใจมากเมื่อพบว่ามีประชาชนชาวสุรินทร์กว่า 9,000 คน ที่เป็นสมาชิกกองทุนฯและได้รับความเดือดร้อน ซึ่งประเด็นปัญหานี้ทำให้ทุกคนต้องพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘โชคดีที่ตายก่อน’ เพราะคนที่เสียชีวิตก่อนคือคนที่โชคดีได้รับเงินจากกองทุน ส่วนคนที่อายุยืนยาวเสียเปรียบอย่างเดียว”
นี่คือบทสนทนาส่วนหนึ่งของผู้สังเกตการณ์ด้านคุ้มครองผู้บริโภคพบจากประสบการณ์จริงที่มาเปิดเผยในเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนกรณี ‘กองทุนฌาปนกิจ ต้องไม่ผิดมาตรฐาน’ จัดขึ้นที่จังหวัดสุรินทร์ หลังจากที่ผู้บริโภคจำนวนมากพบปัญหาการบริหารเงินของกองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ขาดสภาพคล่องปิดกองทุนหนี เมื่อไม่สามารถหาเงินมาจ่ายให้แก่สมาชิกกองทุนได้อย่างต่อเนื่อง
เวทีนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานเปิดตัวสภาผู้บริโภคที่จังหวัดสุรินทร์ จัดโดยสภาผู้บริโภคและหน่วยงานประจำจังหวัดสุรินทร์ ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมมา โดยมีผู้บริหาร คณะกรรมการนโยบายสภาผู้บริโภค หน่วยงานภาครัฐที่ทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภค ตัวแทนพรรคการเมือง รวมทั้งเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคจังหวัดสุรินทร์ ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และนครราชสีมา ร่วมแลกเปลี่ยน
เปิดปัญหา ‘กองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์’
นางสาวมีนา ดวงราษี หน่วยงานประจำจังหวัดสุรินทร์ ได้เล่าถึงปัญหากองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ว่า ในช่วงเดือนมิถุนายน 2567 หน่วยงานประจำจังหวัดสุรินทร์ สภาผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีปัญหากองทุนฌาปนกิจยกเลิกและปิดตัวกะทันหัน และผู้เสียหายที่เป็นสมาชิกไม่ได้รับเงินคืน โดยยกตัวอย่างกรณีเสียหายรายหนึ่งที่ป็นสมาชิกกองทุนดังกล่าวตั้งแต่ปี 2557 และส่งเงินสมทบมาโดยตลอด เนื่องจากช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ทำให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น กองทุนฯ จึงเรียกเก็บเงินเพิ่มขึ้น แต่ท้ายที่สุดกองทุนฌาปนกิจดังกล่าวได้ถูกยกเลิกและปิดตัวเมื่อประมาณปลายกลางปี 2566 โดยไม่ได้ชำระบัญชีหรือคืนเงินให้กับสมาชิก
“คุณตาคุณยายที่เป็นสมาชิกกองทุนฌาปนกิจก็คาดหวังว่ามันจะเป็นหลักประกันในช่วงที่เขาเสียชีวิตจะได้มีเงินจัดงานศพ และพอเหลือบ้างเป็นค่าใช้จ่ายอื่น ๆ จะได้ไม่เป็นภาระของลูกหลาน”
มีนากล่าวอีกว่า สำหรับกรณีกองทุนฌาปนกิจดังกล่าวมีผู้ร้องเรียนเข้ามาที่หน่วยงานประจำจังหวัดสุรินทร์มากกว่า 100 ราย และจากการสำรวจพบว่าเป็นกองทุนที่มีสมาชิกทั้งสิ้นประมาณ 9,000 ราย มีคณะกรรมการ และมีมีการจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย แต่มีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการเงินเพราะผลกระทบจากช่วงโควิด ทำให้ต้องปิดตัวลง ทั้งนี้ศูนย์ดํารงธรรมหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะสํานักงานสาธารณสุขอําเภอซึ่งเป็นที่ปรึกษากองทุนได้อธิบายและแจ้งสมาชิกบางส่วนแล้ว แต่ว่ามีสมาชิกหลายคนที่ยังไม่ทราบข่าว ทั้งนี้ ได้มีการตั้งคำถามเรื่องการยกเลิกกองทุนที่ง่ายเกินไป และคำถามเรื่องสิทธิอันพึงมีพึงได้ของสมาชิกว่า สิทธิและผลประโยชน์ที่ผู้บริโภคต้องเสียไปจากการยกเลิกกองทุนใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ
หัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดสุรินทร์กล่าวอีกว่า เมื่อลองหาของมูลในอินเทอร์เน็ตพบว่า เคยมีกรณีปัญหาในลักษณะคล้าย ๆ กันเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ หลายจังหวัด เช่น เมื่อ 9 ปีที่แล้ว (ปี 2558) มีปัญหาเรื่องกองทุนฌาปนกิจในอำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ ความเสียหายกว่า 10 ล้านบาท หรือในจังหวัดศรีสะเกษ มหาสารคาม ขอนแก่น บุรีรีมย์ ฯลฯ ก็พบปัญหานี้ จึงคาดว่าจะเป็นประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นและกระจายอยู่ทั่วประเทศ
เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องการทำฌาปนกิจ กฎหมาย พ.ร.บ. การฌาปนกิจสงเคราะห์ ปี 2454 ได้กำหนดให้หน่วยงานที่เป็นนายทะเบียนประจําท้องที่ก็คือเทศบาล โดยมีนายกเทศบาลเป็นผู้บริหารสูงสุดของท้องที่ นอกจากนี้ยังมีเกณฑ์ของการก่อตั้งฌาปนกิจว่าต้องมีผู้ก่อตั้งไม่น้อยกว่า 7 คน มีการพัฒนาศักยภาพกรรมการ และมีการตรวจสอบการดำเนินงาน ทั้งนี้ในกฎหมายระบุไว้ว่า หากมีการส่งเงินและจัดตั้งฌาปนกิจสงเคราะห์ขึ้นโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสมาคมถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย มีโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวเป็นสิ่งที่ชาวบ้านอาจไม่ได้รับรู้ ทำให้กองทุนฌาปนกิจในหลายพื้นที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ
“บางกองทุนมีความเสี่ยงและมีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหาขึ้นในอนาคต เช่น ไม่มีการประชุมคณะกรรมการและสมาชิกตามวาระ ใน 1 ปีไม่มีการประชุมเลยสักครั้ง ชาวบ้านที่เป็นสมาชิกก็มีหน้าที่ส่งเงินตามเวลา แต่ส่งแล้วก็ไม่รู้ว่าเงินถูกบรหารจัดการอย่างไร แล้ววันดีคืนดีก็มาบอกว่าเงินไม่พอนะขอจ่ายครึ่งหนึ่ง วันดีคืนดีก็มาบอกว่าเลิกแล้วนะ แล้วผู้บริโภคจะไปพึ่งพิงใคร ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่ และมีผลกระทบมหาศาล”
ทั้งนี้ หน่วยงานประจําจังหวัดได้ช่วยเหลือและพูดคุยกับกลุ่มผู้เสียหาย โดยตั้งเป้าจะผลักดันให้เกิดการแก้ไขเชิงนโยบาย ซึ่งจะมีข้อเสนอไปถึงหน่วยงานในระดับจังหวัดเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วย
ทางด้าน ธงชัย เบอร์ไธสง ที่ปรึกษาคณะกรรมการดำเนินงาน สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนตำบลหวาย และสมาชิกพรรคก้าวไกล แสดงความเห็นว่า พ.ร.บ.สหกรณ์ และ พ.ร.บ.การฌาปนกิจสงเคราะห์ มีเป้าหมายและเจตนาที่คล้ายคลึงกันคือการทำให้คนมารวมกันเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยไม่ได้ให้มุ่งแสวงผลกำไร แต่ต่างกันตรงที่สหกรณ์จะดูแลตลอดตั้งแต่มีชีวิตจนถึงกระทั้งเสียชีวิต ส่วนกองทุนฌาปนกิจจะสงเคราะห์ตอนเสียชีวิตเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ที่มีปัญหา มักมีการจัดเก็บที่แปลกจากการเก็บทั่วไป เช่น เก็บเงินแบบเหมาจ่าย ไม่ได้เก็บรายศพ หรือมีเงื่อนไขอื่น ๆ เช่น ถ้าอายุเกิน 70 ต้องมีค่าแรกเข้า 20,000 บาท ซึ่งเงินที่เก็บไม่ได้ปรากฏอยู่ในบัญชีของกองทุน
“บางกองทุนฯ เก็บเงินเดือนละ 400 บาทโดยอ้างว่าถ้าเสียชีวิตจะได้ 200,000 บาท แต่หากลองคิดตามหลักเศรษฐศาสตร์คํานวณง่าย ๆ ว่าเมื่อไหร่ที่มีการตายเยอะ แต่เรียกเก็บเงินสมทบเท่าเดิม ก็ทำให้รายจ่ายมากกว่ารายรับซึ่งทำให้สุดท้ายเงินหมด หรือกรณีการเรียกเก็บค่าแรกเข้า ตามระเบียบการเรียกเก็บเงินของสมาคมสามารถเรียกเก็บได้ 4 เปอร์เซ็นต์จากยอดที่สงเคราะห์ จึงเป็นสาเหตุว่าค่าแรกเข้าที่เรียกเก็บจำนวนมากไม่เข้าบัญชีกองทุน นี่คือความบิดเบี้ยวของการบังคับใช้ที่ไม่เป็นไปตามจริงของเจตนาของกฎหมาย” นายธงชัยระบุ
ขณะที่ อาคม ทองศิริ อัยการจากสำนักงานอัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและการบังคับกฎหมายทางคดี จังหวัดสุรินทร์ ยกตัวอย่างปัญหา กรณีกองทุนฌาปนกิจที่อำเภอท่าตูม และอำเภอบ้านบาตร ที่ปิดตัวลงเนื่องจากสถานการณ์ช่วงโควิดที่มีผู้เสียชีวิตมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ และต้องจ่ายเงินให้กับทายาทหรือบุคคลผู้รับผลประโยชน์มากกว่าที่ประมาณการไว้ แต่ไม่ได้เก็บเงินรายปีจากสมาชิกเพิ่ม ทำให้สุดท้ายไม่มีเงินพอที่จะดำเนินกองทุนต่อ
“ที่ผมเคยไปตรวจสอบ บางกองทุนเหลืองเงินอยู่เพียง 900 บาทก่อนปิดตัว ซึ่งเมื่อเกิดปัญหา มันก็มีข้อข้องใจของสมาชิกเรื่องการยักยอกทรัพย์ ซึ่งเมื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมพบว่าประธานทั้งระดับตำบลและอำเภอเป็นจิตอาสาที่ไม่ได้ค่าตอบแทนใด ๆ อย่างไรก็ตาม หากต้องการดำเนินคดีก็ต้องมีหลักฐานมีหลักฐานเพียงพอที่ว่าตัวประธาน กรรมการ หรือเหรัญญิก มีการเบียดบังยักยอกเอาเงินที่เก็บมาได้ไปเป็นของตนหรือบุคคลอื่น”
ทั้งนี้ นายอาคม แนะนำว่า เมื่อเกิดปัญหาเรื่องการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับเงินหรือสภาพคล่องของกองทุนฯ ประธานทั้งในระดับหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ ต้องแจ้งให้สมาชิกรับรู้ ระดมความเห็น และร่วมกันหาแนวทางแก้ไข ซึ่งอาจจะจําเป็นต้องเพิ่มวงเงินที่เรียกเก็บจากสมาชิกหรืออื่น ๆ แต่สิ่งสำคัญคือต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกส่วนใหญ่
“ประธานกองทุน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพยายามอย่างถึงที่สุดเพื่อให้กองทุนสามารถเดินต่อไปได้ เพราะการล้มกิจการที่ดําเนินการมานั้นเป็นทางเลือกที่ง่าย แต่มีคนได้รับผลกระทบมากมาย และเป็นภาระของประชาชนที่ต้องร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการชดเชยเยียวยา” อาคมกล่าว
ส่วน เบญจมาศ โคตะ ที่ปรึกษากฎหมายสํานักงานยุติธรรมจังหวัด และกรรมการสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ร่วมแลกเปลี่ยนถึงปัญหาที่ทำให้กองทุนฌาปกิจ ‘ไปไม่รอด’ ซึ่งมี 3 ปัญหาใหญ่ ๆ คือ 1) สมาชิกไม่รู้บทบาทของตัวเอง เช่น ไม่ส่งเงินค่าฌาปนกิจ ไม่เข้าร่วมการประชุมสมาชิก เป็นต้น 2) ผู้ก่อตั้งก่อตั้งมักง่าย เช่น รับสมาชิกโดยไม่ตรวจสอบอายุและโรคประจำตัว เพราะอยากได้สมาชิกเพิ่ม และ 3) มีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการ เช่น ในปีนั้น ๆ มีจำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่าที่คารการณ์ไว้ แต่ยังเก็บเงินจากสมาชิกเท่าเดิม โดยไม่อธิบายถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้เข้าใจ
เบญจมาศ ย้ำว่า กรรมการกองทุนฯ เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญมาก จึงจำเป็นต้องเข้าใจบทบาทและหน้าที่ของตัวเองด้วย เนื่องจากต้องทำหน้าที่อธิบายให้สมาชิกเข้าใจว่าเข้ามาเป็นสมาชิกแล้วต้องทำอะไร รวมไปถึงการบริหารจัดการเพื่อให้สมาชิกที่ยังมีชีวิตอยู่ ไม่เสียประโยชน์ และกองทุนยังอยู่ได้ เช่น การหาสมาชิกเพิ่มเพิ่อสร้างความเข้มแข็งให้กองทุน เป็นต้น
สำหรับคำแนะนำในการบริหารกองทุนฌาปนกิจ นางสาวเบญจมาศ แนะนำว่า การเก็บเงินจากสมาชิกควรมีระยะเวลาและรอบการเก็บที่ชัดเจนและสม่ำเสมอ เพื่อให้สามารถดึงเงินที่สะสมของสมาชิกมาใช้ได้ทันท่วงทีเมื่อมีผู้เสียชีวิต ไม่ควรรอให้มีผู้สียชีวิตก่อนแล้วจึงเรียกเก็บเงิน เนื่องจากอาจมีสมาชิกที่ไม่พร้อมจ่าย ณ ช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งอาจส่งผลต่อสภาพคล่องของกองทุนได้ นอกจากนี้ ยังต้องดูบริบทขององค์กรและสมาชิกด้วย เช่น สมาคมฌาปนกิจของ ธกส. ต้องเก็บเงินหลังจากช่วงเก็บเกี่ยว ขณะที่ กองทุนฌาปนกิจของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อาจใช้วิธีการเรียกเก็บโดยหักจากเงินเดือน
“หัวใจสำคัญที่ทำให้สมาคมฌาปนกิจของ ธกส. อำเภอปราสาทประสบคววามสำเร็จ คือความร่วมมือจากทั้งธนาคาร กรรมการ และสมาชิก ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ให้ความร่วมมือก็ไปไม่รอด และอีกหนึ่งสิ่งสำคัญคือต้องก่อตั้งกองทุนอย่างถูกกฎหมาย อย่าตั้งขึ้นลอย ๆ และมักง่าย” เบญจมาศกล่าวทิ้งท้าย
เสนอปรับปรุงกฎหมาย ขับเคลื่อนเชิงนโยบาย เพื่อแก้ปัญหา
สำหรับข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหา ธงชัย เบอร์ไธสง ที่ปรึกษาคณะกรรมการดำเนินงาน สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนตำบลหวาย และสมาชิกพรรคก้าวไกล แบ่งเป็น 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) ต้องป้องกันก่อนเกิดเหตุ โดยนายทะเบียนที่อยู่ในท้องถิ่นต้องทราบว่ามีหน้าที่มีอํานาจที่ในการอนุญาตการจดทะเบียนสมาคม ซึ่งต้องใส่ใจในขั้นตอนการตรวจสอบ รวมไปถึงการให้ความรู้แก่ประชาชน อีกหน่วยงานคือสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ที่ต้องบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่นซึ่งทําหน้าที่เป็นนายทะเบียน ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาด
2) เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ต้องสํารวจฐานข้อมูลให้ชัดเจนว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ผู้ที่กระทําความผิดมีเส้นทางการเงินอย่างไรสามารถฟ้องร้องทางแพ่งหรืออาญาได้หรือไม่ เพื่อช่วยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสมาชิก และ 3) การแก้ไขปัญหาระยะยาวจําเป็นต้องสังคายนากฎหมาย พ.ร.บ. การฌาปนกิจ ให้ทันยุคทันสมัย
“ล่าสุดคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร์ ซึ่งผมเป็นกรรมาธิการอยู่ด้วย ได้ร่วมกับกรมพัฒนากิจการสตรีและครอบครัว เสนอร่างพ.ร.บ. การฌาปนกิจ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างรับฟังข้อเสนอแนะจากประชาชน ซึ่งอยากชวนทุกท่านร่วมผลักดันเรื่องนี้กันต่อไป”
สอดคล้องกับ กมล กมลตระกูล กรรมการนโยบายสภาผู้บริโภค แสดงความเห็นว่า การแก้ไขปัญหาดังกล่าว ต้องดำเนินการทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยในระยะสั้นต้องแก้ที่ปัญหาที่ต้นน้ำ กล่าวคือหน่วยงานที่มีอำนาจต้องเป็นผ่ายรุกคือเข้าไปตรวจสอบกองทุนต่าง ๆ ที่เข้ามาจดทะเบียน นอกจากนี้ เรียกร้องให้มีการแต่งตั้งผู้ตรวจสอบบัญชีที่มีใบอนุญาตในทุกสมาคม พร้อมรายงานบัญชีทุก 3 เดือน ให้สมาชิกและหน่วยงานภาครัฐที่กำกับทราบ
อีกทั้งต้องมีบัญชีสมาชิกและเงินสะสมที่ชัดเจนและเปิดเผย หรือขอตรวจสอบ และมีสัญญาที่เป็นธรรมและเป็นมาตรฐาน มีการกำหนดคุณสมบัติของประธานและกรรมการที่ชัดเจน ต้องรายงานบัญชีทรัพย์สิน และวางหลักประกัน ไม่ใช่ให้ใครอยากจัดตั้งสมาคมก็ทำได้ แล้วมาเรียกเก็บเงิน และที่สำคัญสำหรับผู้กระทำผิด ต้องมีบทลงโทษทั้งทางแพ่งและทางอาญาที่รุนแรงมากขึ้น เพื่อให้ผู้กระทำผิด เกรงกลัวต่อกฎหมายและไม่กระทำผิดซ้ำได้
“สภาผู้บริโภคพยายามผลักดันให้เกิดสัญญาที่เป็นธรรมและเป็นมาตรฐาน ไม่ใช่เฉพาะเรื่องกองทุนฌาปนกิจเท่านั้น เพราะปัจจุบันปัญหาการการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคมีเกือบทุกด้าน ดังนั้นไม่ว่าธุรกิจใด ๆ ควรมีสัญญาที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน” กมลกล่าว
สำหรับระยะยาวต้องแก้ไขกันที่ พ.ร.บ.ให้เท่าทันสถานการณ์ และให้ครอบคลุมจุดอ่อนและปัญหาต่าง ๆ ที่มีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องบังคับให้สมาคมจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล
ด้าน สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า เป้าหมายของผู้ที่เป็นสมาชิกกองทุนฌาปนกิจส่วนใหญ่ คือไม่อยากให้ตัวเองกลายเป็นภาระของลูกหลาน ซึ่งเชื่อว่าปัญหาเรื่องกองทุนฌาปนกิจไม่ได้เกิดที่จังหวัดสุรินทร์จังหวัดเดียว แต่จังหวัดใกล้เคียงก็อาจจะต้องเผชิญปัญหาเรื่องนี้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม หากมองย้อนกลับไปจะพบว่าต้นตอของปัญหา คือการที่ผู้สูงอายุไม่มีหลักประกันทางด้านเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ปัจจุบันสภาผู้บริโภคได้ร่วมกับหน่วยองค์กร เช่น เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) ผลักดันร่างพ.ร.บ. ผู้สูงอายุและบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. ….
“สภาผู้บริโภคได้สนับสนุนงานศึกษาวิจัยหลายชิ้นเกี่ยวกับเรื่องบำนาญประชาชน ซึ่งมีทั้งเรื่องแหล่งที่มาของเงิน การเติบโตด้านเศรษฐกิจ ซึ่งข้อมูลจากงานวิจัยระบุว่า ถ้าเดินกน้าเรื่องหลักประกันด้านสุขภาพของผู้สูงอายุ เมื่อเข้าสู่ปีที่ 5 จะทำให้ประเทศไทยมีจีดีพี หรือตัวเลขเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นถึง 5.7 เปอร์เซ็นต์ เรื่องบำนาญจึงเป็นประเด็นหนึ่งที่อยากชวนชาวสุรินทร์ รวมถึงจังหวัดอื่น ๆ ในอีสานใต้ทั้งร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ นครราชสีมา และบุรีรัมย์ ร่วมกันผลักดันให้เกิดขึ้นจริง”
สารีกล่าวทิ้งท้ายว่า การมีองค์กรของผู้บริโภคอยู่ในระดับหมู่บ้าน อำเภอ หรือจังหวัด จะทำให้ประชาชนได้รับความคุ้มครองที่ทั่วถึง ทั้งนี้ การมีหน่วยงานประจำจังหวัดของสภาผู้บริโภคที่จังหวัดสุรินทร์ จะทำให้ผู้บริโภคในจังหวัดสุรินทร์ได้รับการช่วยเหลือมากขึ้นและทันท่วงทีขึ้น
ในทำนองเดียวกัน เบญจมินทร์ ปันสน ผู้แทนพรรคก้าวไกลจังหวัดสุรินทร์ ร่วมสะท้อนปัญหาโดยยกตัวอย่าง โครงการออมวันละบาท ที่ตำบลปราสาททะนง อำเภอปราสาท ซึ่งพรรคก้าวไกลได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยสมาชิกมีการตั้งข้อสังเกตว่ามีการยักยอกเงินของคณะกรรมการหรือไม่ ทำให้คณะทำงานของพรรคก้าวไกลลงไปตรวจสอบติดตาม และพบว่าเอกสารการเงินไม่มีความสมเหตุสมผล และสมาชิกต้องการ ให้นําคนผิดมาลงโทษถึงแม้ว่าจะไม่ได้เงินก็ตาม
สำหรับแนวทางการแก้ไข นายเบญจมินทร์แบ่งเป็นระยะสั้นและระยะยาว ในระยะสั้นคือ เสนอให้มีการประชุมชี้แจ้งทุกไตรมาส เพื่อให้สมาชิกทราบว่าเงินที่จ่ายไปถูกนำไปใช้จ่ายอะไรบ้าง ส่วนระยะยาวคือการแก้กฎหมายให้สามารถบังคับใช้ได้จริงและทันกับสถานการณ์ รวมถึงการมีนโยบายที่เป็นรัฐสวัสดิการให้สูงอายุ 3000 บาทเพื่อเป็น ‘ตาข่าย’ รองรับกับคนผู้สูงอายุที่จะเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี และนโยบายเรื่องการพัฒนาอาชีพสำหรับคนในชุมชนด้วย
ขณะที่ ภัณฑิล น่วมเจิม คณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภคสภาผู้แทนราษฎร ยกตัวอย่างปัญหาลักษณะเดียวกันที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ บ้านมั่นคง พบปัญหาการปิดตัวกระทันหัน การทุจริต พร้อมระบุว่าจะนำข้อมูลที่ได้จากงานเสวนาในครั้งนี้สะท้อนในรัฐสภา เพื่อนำไปสู่การพิจารณาแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
นายภัณฑิล ได้กล่าวเสริมใน 3 ประเด็น คือ 1) สิทธิในการรับข้อมูลข่าวสารของผู้บริโภค สำหรับผู้บริโภคที่จะนำเงินไปลงในกองทุนหรือในกลุ่มออมทรัพย์ต่าง ๆ จะต้องมีสิทธิ์ในการรับทราบข้อมูลโดยละเอียดและครบถ้วน รวมถึงการรายงาน การต้องตรวจสอบที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ 2) ปัญหาเรื่องกฎหมายที่อาจจะไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรกำลังจะมีญัตติ ยื่นแก้ไข พ.ร.บ.สถาบันการเงินชุมชน เพราะปัญหาไม่ใช่แค่กลุ่มของกองทุนฌาปนกิจอย่างเดียว ยังมีสหกรณ์ และอีกหลายสถาบันการเงินชุมชนที่มีปัญหาใกล้เคียงกัน ในเรื่องของการกำกับดูแลและเรื่องของการทุจริตร่วมด้วย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้ามากำกับดูแล รวมถึงเรื่องของการลงโทษผู้กระทำผิด
สำหรับประเด็นสุดท้ายคือ ปัญหาโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ซึ่งการแก้ปัญหาในระยะยาวควรแก้ที่เบี้ยสวัสดิการผู้สูงอายุ โดยเจตนาเบื้องต้นคือผู้สูงอายุได้รับเงินขั้นต่ำที่ทำให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ โดยไม่ต้องเป็นหนี้สิน หากผู้สูงอายุทุกคนสามารถดำรงชีวิตได้จนถึงวาระสุดท้ายอย่างมีศักดิ์ศรี ปัญหาเรื่องกองทุนฌาปนกิจก็อาจไม่เกิดขึ้น
“เรื่องสวัสดิการของผู้สูงอายุเป็นสิ่งสำคัญในในสังคมสูงวัย ที่ตอนนี้มีผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ และเขาก็ไม่อยากเป็นภาระให้ลูกหลาน เป็นเรื่องที่สำคัญมากที่โครงสร้างประชากรเปลี่ยนเราจะต้องมีสวัสดิการมารองรับผู้สูงอายุ ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาเชิงนโยบายหรือเชิงโครงสร้าง”