สภาผู้บริโภคจัดเวทีเสวนาวิเคราะห์กฎหมาย ถอดไทม์ไลน์ กรณี ‘นพ.สรณ’ ขาดคุณสมบัติประธาน กสทช. เร่งมหิดลชี้แจงถึงกรณีดังกล่าว ชี้ต้องลาออกหากมีคุณสมบัติต้องห้าม ตามกฎหมาย กสทช.
วันนี้ (31 พฤษภาคม 2567) สภาผู้บริโภค จัดเวทีเสวนา ‘เปิดกฎหมาย : ประธาน กสทช. ขาดคุณสมบัติหรือไม่’ โดยมี ผศ. ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ ประธานคณะกรรมการการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ร่วมแลกเปลี่ยน วิเคราะห์กฎหมาย และถอดไทม์ไลน์กรณีดังกล่าว
สำหรับภาพรวมของเวทีมีการตั้งข้อสังเกตถึงสถานะความเป็น “พนักงานหรือลูกจ้าง” มหาวิทยาลัยมหิดล ของ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ รักษาการประธาน กสทช. ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8 (2) ของ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ปี 2553 อีกทั้งยังมีประเด็นเรื่องระยะเวลาของการลาออกซึ่งไม่เป็นไปตามมาตรา 18 ของ พ.ร.บ. ฉบับเดียวกัน โดยไม่มีการชี้แจงที่ชัดเจนจากทั้ง นพ. สรณ และมหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งนี้ คาดหวังให้ นพ. สรณ และมหาวิทยาลัยมหิดล ออกมาชี้แจงถึงกรณีดังกล่าว และหากขาดคุณสมบัติจริงควรแสดงความจริงใจด้วยการลาออกจากตำแหน่งเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ถือว่าเป็นองค์กรสำคัญในการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคม ที่จะต้องทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงเครือข่ายในราคาที่เป็นธรรม การเข้าถึงสื่อโทรทัศน์ที่ไม่มากไปด้วยโฆษณาที่ผิดกฎหมายหรือโฆษณาที่ทำให้ผู้บริโภคหลงผิด และปัญหาเอสเอ็มเอสหลอกลวง
สิ่งที่สภาผู้บริโภคอยากเห็นคือความชัดเจน ความถูกต้องและความโปร่งใสของการเปิดเผยข้อมูล เพื่อที่จะทำให้มติต่าง ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตเป็นไปอย่างถูกต้อง และรักษาประโยชน์ของผู้บริโภคโดยเฉพาะเรื่องด้านการคุ้มครองผู้บริโภค
“สภาผู้บริโภคต้องการเห็นความชัดเจนในเรื่องนี้ เพราะมีผลต่อการลงมติในกรณีที่ออกเสียงใกล้เคียงกัน เนื่องจากว่า องค์คณะ กสทช. มี 7 คน หากประธานอยู่ข้าง 4 เสียง มตินั้นมีปัญหาแน่นอน ไม่ว่ามตินั้นจะเป็นผลดีหรือผลเสียต่อผู้บริโภค และหากว่ามีการลงมติด้านการคุ้มครองผู้บริโภคแล้วไม่มีผล แต่ถือว่ามีผลแล้วก็จะส่งผลต่อการปฏิบัติตามหรือการดำเนินการในอนาคต เพราะฉะนั้นเพื่อให้เกิดความชัดเจน จะได้ไม่มีข้อโต้แย้งจากกรรมการ หรือผู้ประกอบการที่ต้องปฏิบัติตาม ว่าสรุปแล้วจะต้องปฏิบัติตามอย่างไรต่อไป” สารีระบุ
ทางด้าน ผศ. ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ให้เห็นว่า จากข้อมูลที่ปรากฎในเอกสารของมหาวิทยาลัยมหิดลเลขที่ อว. 78/ล ที่ส่งไปยังคณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา ตามคำขอจากกรรมาธิการ ยังสร้างความคลุมเครือและมีประเด็นที่สร้างความสงสัยให้แก่สังคมในหลายประเด็น ทั้งประเด็นที่มหาลัยมหิดลชี้แจงว่า ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2564 จนถึงวันที่ 12 เมษายน 2565 นพ.สรณ มีสถานะเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ต่อมาวันที่ 8 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 12 เมษายน 2565 มีสถานะเป็นแพทย์ค่าตอบแทนรายชั่วโมง โดยตั้งคำถามว่าช่วงเวลาจนถึงวันที่ 12 เมษายน 2565 นพ.สรณยังเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ใช่หรือไม่
ทั้งนี้ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุ โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มาตรา 8 (2) ระบุว่า ‘ต้องไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ…’ และผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการ กสทช. ต้องแสดงหลักฐานว่าได้ลาออกจากการเป็นลูกจ้างหรือพนักงานของหน่วยงานรัฐ ภายใน 15 วัน ตามมาตรา 18 ของ พ.ร.บ. กสทช.
ดังนั้น วันที่ 20 ธันวาคม 2564 นพ.สรณได้รับเลือกให้เป็นกรรมการ กสทช. หากนับระยะเวลา 15 วัน จะครบกำหนดวันที่ 4 มกราคม 2565 นพ.สรณ ควรจะมีหลักฐานที่แสดงว่าได้ลาออกภายในวันดังกล่าวแล้วหรือไม่ แต่หลักฐานแสดงออกมาว่านพ.สรณ ได้ลาออกวันที่ 8 มกราคม 2565 ซึ่งประเด็นนี้หากมีการตีความและนับวันหยุดเข้าไปด้วยอาจจะสามารถตีความเป็นวันที่ดังกล่าวได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ หากการแสดงหลักฐานการลาออกไม่เป็นไปตามกฎหมายในมาตรา 18 ถือว่าไม่เคยได้รับเลือกให้เป็นกรรมการมาตั้งแต่แรก ซึ่งขั้นตอนอาจไม่ชอบด้วยกฎหมายก่อนที่จะโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ กสทช.
ขณะที่ประเด็นการเป็นแพทย์ค่าตอบแทนรายชั่วโมงของนพ.สรณ นั้นถือว่านพ.สรณ เป็นลูกจ้างของมหาวิทยาลัยมหิดลใช่หรือไม่นั้น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายของคำว่าลูกจ้างว่า ‘ผู้รับจ้างทำการงานผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยได้รับค่าจ้าง ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร โดยมิคำนึงถึงว่าจะมีการทำสัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ หรือได้รับค่าตอบแทนเป็นค่าจ้าง สินจ้าง หรือค่าตอบแทนในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินอย่างอื่น’
“ยกตัวอย่างกรณีนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เคยเป็นพิธีกรรายการทำอาหารและได้รับเพียงค่ารถสำหรับการมาทำงานที่ได้รับเท่านั้น สุดท้ายต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าเป็นค่าจ้าง ซึ่งผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 ที่ระบุว่า ‘ห้ามนายกฯ มีตำแหน่งใด ๆ ในห้างหุ้นส่วนบริษัท หรือองค์กรที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด’ ในกรณีของนพ.สรณ นั้น หากเข้าข่ายการเป็นลูกจ้างของหน่วยงานรัฐ ควรที่จะถือกติกาและข้อบังคับต่าง ๆ อย่างเข้มงวด เช่นเดียวกับกรณีอื่น ๆ” ผศ.ดร.ปริญญา ระบุ
ทั้งนี้ ขอเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยมหิดลนำข้อเท็จจริงที่สร้างความคลุมเครือนำเสนอให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเป็นพนักงานของหน่วยงานรัฐ ความเป็นลูกจ้างยังคงอยู่ หรือการรับค่าจ้างภายในเดือนเมษายน 2565 ทั้งที่มีการแจ้งลาออกตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน 2565 แล้ว เนื่องจากการเข้ามาเป็นกรรมการ กสทช. มีการใช้อำนาจรัฐในการดำเนินงานต่าง ๆ รวมถึงการรับเงินเดือนจากภาษีประชาชน ควรมีการตรวจสอบอย่างเคร่งครัดทุกขั้นตอน หากพบว่า หากกมธ.เทคโนโลยี วุฒิสภาฯ ได้ตรวจสอบและพิจารณาพบว่าขาดคุณสมบัติการเป็นกรรมการ กสทช. มีลักษณะต้องห้าม ควรมีการดำเนินตามข้อกำหนดกฎหมายโดยทันที
ขณะที่ ดร.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ ประธานคณะกรรมการการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึง ความคาดหวังด้านธรรมาภิบาลและจริยธรรมว่า ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องย่อมตระหนักรู้อย่างชัดเจนว่าประเด็นเรื่องจรรยาบรรณและธรรมาภิบาลมีความสำคัญมาก ในฐานะแพทย์ต้องกำหนดคุณสมบัติและตรวจสอบประสบการณ์ความรู้ก่อนจะไปรักษาคนไข้ ซึ่งในทางปฏิบัติมีการตรวจสอบอย่างเคร่งครัดเนื่องจากเป็นอาชีพที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตาย ในทำนองเดียวกัน การทำหน้าที่ กสทช. ย่อมมีผลต่อสังคม ผู้บริโภคที่ใช้บริการเทคโนโลยี จึงมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ดังนั้น การเข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าว โดยเฉพาะผู้ที่เป็น “ประธาน” ต้องได้รับการคัดเลือกและเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ด้วยวิธีการที่ถูกต้องที่เป็นไปตามข้องกำหนด
สำหรับกรณีของ นพ.สรณ เมื่อเกิดการตั้งคำถามเรื่องคุณสมบัติก็ต้องมีการชี้แจงข้อเท็จจริงอย่างชัดเจน เพื่อให้สังคมคลายความกังวล แต่หากสิ่งที่สังคมตั้งข้อสังเกตเป็นเรื่องจริง และขาดคุณสมบัติการเป็นประธาน กสทช. จริง นพ.สรณ ควรแสดงความจริงใจด้วยการลาออก เพื่อความสง่างามและเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีต่อสังคม
“ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ หรือ กสทช. ก็สามารถสร้างประโยชน์ต่อสังคมได้มากมาย แต่ต้องทำอย่างถูกต้อง และเป็นไปตามกติกา สังคมจึงจะให้ความยอมรับและเชื่อถือ อีกทั้งเป็นตัวอย่างให้คนในสังคมเห็นว่า แม้แต่ผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองก็ยังรักษากติกา ซึ่งเป็นกติกาที่ท่านเป็นผู้เขียนขึ้นเอง หากคุณสมบัติท่านไม่สามารถเป็นไปตามกติกา ก็สามารถลาออกและเข้าสู่กระบวนการสรรหาใหม่อีกครั้ง เพื่อให้เป็นไปตามกติกาและนับเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่มีคุณธรรม” ประธาน ครป. กล่าว
ดร.ลัดดาวัลย์ กล่าวอีกว่าในฐานะประธาน ครป. ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบหน่วยงานพบว่า ปัญหาในสังคมไทยที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเกิดจากการไม่บังคับใช้ การละเลยการปฏิบัติหน้าที่ หรือการหาประโยชน์จากเรื่องการทำผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งเป็นปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ ทำให้สังคมวุ่นวาย
“การบังคับใช้กฎหมายควรเป็นไปอย่างเคร่งครัด เพื่อให้สังคมดำเนินไปในทิศทางที่ควรจะเป็นไป ไม่ใช่บังคับใช้แบบอนุโลม หากเราไม่สนใจที่จะบังคับใช้รัฐธรรมนูญ ข้อกฎหมาย ระเบียบต่าง ๆ อย่างเข้มงวด ก็จะมีช่องโหว่ที่ให้คนสามารถกระทำผิดได้โดยไม่ได้รับโทษ เกิดการทำผิดซ้ำ ๆ จนในที่สุด อาจจะบานปลายกลายเป็นเรื่องใหญ่ โดยที่เราไม่สามารถแก้ไขได้” ดร.ลัดดาวัลย์ กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2567 ครป. และสภาผู้บริโภค ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้สำนักงาน กสทช. เรียกหลักฐานจากมหาวิทยาลัยมหิดล ที่แสดงถึงสถานะการเป็น “ลูกจ้างรายชั่วโมง” ที่ได้รับผลตอบแทนของ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ก่อนและหลังการได้รับการสรรหาเป็นกรรมการ กสทช. (อ่านแถลงการณ์ได้ที่ : https://www.tcc.or.th/cpd-tcc-reveal-property-nbtc-declaration/)
อีกทั้งเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย สภาผู้บริโภค พร้อมด้วยเครือข่ายผู้บริโภคกรุงเทพมหานครได้เข้ายื่นหนังสือต่อ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม (กมธ.ไอซีที) วุฒิสภา เพื่อขอให้พิจารณาและเปิดเผยรายงานผลการตรวจสอบคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ รักษาการประธาน กสทช. (อ่านข่าวได้ทื่ : https://www.tcc.or.th/28052567_president-nbtc-inspected_news)