องค์กรผู้บริโภคจาก 7 ประเทศ ลงนามความร่วมมือคุ้มครองผู้บริโภค ฟิลิปินส์หนุนข้อเสนอไทย ‘มาตรการหน่วงเงิน’ เชื่อจะชะลอความเสียหายได้ แนะเร่งพัฒนาดัชนีคุ้มครองผู้บริโภคในยุคดิจิทัลร่วมกัน หวังใช้เป็นมาตรฐานกลางการทำงาน
วันที่ 30 สิงหาคม 2567 สภาผู้บริโภค ลงนามความร่วมมือขององค์กรผู้บริโภคอาเซียนบวกสาม โดยมีผู้แทนจากองค์กรผู้บริโภคจาก 7 ประเทศร่วมลงนาม ได้แก่ สภาองค์กรของผู้บริโภค, สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมาเลเซีย (Federation of Malaysian Consumers Associations : FOMCA), มูลนิธิผู้บริโภคแห่งอินโดนีเซีย (Yayasan Lembaga Konsumen Indonesia : YLKI), สมาคมเกษตรกรรมและการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนประเทศลาว (Sustainable Agriculture and Environment Development Association : SAEDA), สหภาพผู้บริโภคเมียนมา สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (Myanmar Consumers Union : MCU), องค์กรผู้บริโภคแห่งเกาหลี (Consumers Korea) และองค์กร มูลนิธิวิจัย การศึกษา และการพัฒนาข้อมูลที่ไม่แสวงหากำไร ประเทศฟิลิปปินส์ (IBON Foundation)
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า ที่ประชุมองค์กรผู้บริโภคอาเซียนบวกสาม เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในเศรษฐกจดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างก้าวกระโดด ขณะที่ความรู้และกฎหมายที่มีอยู่ตามไม่ทันมิจฉาชีพ จนกลายเป็นภัยคุกคามเศรษฐกิจและชีวิตของประชาชนอย่างร้ายแรง
ในงานประชุมความร่วมมือ“สานพลังอาเซียนบวกสาม เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในเศรษฐกิจดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์” ที่จัดขึ้นในวันที่ 29 และ 30 สิงหาคม 2567 มีองค์กรผู้บริโภคหลายประเทศร่วมแลกเปลี่ยนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการคุกคามของดิจิทัล เช่น ผู้แทนจากเวียดนามให้ข้อมูลว่าในปี 2566 เวียดนามมีความเสียหายจากภัยไซเบอร์มากถึงร้อยละ 3.6 ของค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพี (GDP) ขณะที่ผู้บริโภคฮ่องกงเกิดความเสียหายถึง 25 ล้านเหรียญหรือประมาณ 800 ล้านบาท ส่วนประเทศไทยพบว่ามีผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากภัยไซเบอร์คิดเป็นมูลค่าประมาณวันละ 180 ล้านบาท หรือ 65,000 ล้านบาทต่อปี ต่อเนื่องมา 3 ปีแล้ว
สารี กล่าวอีกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความสำคัญที่องค์กรผู้บริโภคในภูมิภาคอาเซียนจะต้องร่วมมือกันทำงานเรื่องดังกล่าว ซึ่งองค์กรผู้บริโภคได้ตัดสินใจร่วมกันที่จะทำความร่วมมือในการคุ้มครองผู้บริโภคและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่จะเกิดขึ้นทั้งความรู้ เทคนิค กติกาในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคด้วย
เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวต่อไปว่า สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันสภาผู้บริโภคได้ติดตามปัญหาและพยายามผลักดันข้อเสนอทางนโยบายโดยเรื่องเร่งด่วนซึ่งจะช่วยลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภค คือการออกมาตรการหน่วงเงิน (Slow Payment) ซึ่งจะไม่กระทบกับการซื้อขายและการใช้ชีวิตของผู้บริโภคทั่วไป และหากผู้บริโภคที่มั่นใจว่ารู้เท่าทันและไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ หรือต้องการความสะดวกในการโอนเงินจำนวนมาก สามารถขอให้ธนาคารปลดล็อกการหน่วงเงินได้
“เมื่อเกิดความเสียหายแล้วหากเป็นกรณีที่ผู้บริโภคกรณีดูดเงินคุณจะได้เงินคืนเพียงครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 50 เท่านั้น แต่หากผู้บริโภคเป็นผู้โอนก็จะมีโอกาสที่จะไม่ได้รับการเยียวยาใด ๆ เพราะฉะนั้นเราคิดว่ามาตรการหน่วงเงินให้ช้าลง 72 ชั่วโมง เป็นทางออกเดียวในขณะนี้ที่จะลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคในประเทศไทย” สารีระบุ
ขณะที่ ดาโต้ อินดรานี ทุไรซิงแฮม รองประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมาเลเซีย (FOMCA) ระบุว่า กลุ่มประเทศอาเซียนบวกสามจะร่วมมือกันจัดการปัญหาเรื่องการหลอกลวงออนไลน์และภัยไซเบอร์ ซึ่งมาตรการหนึ่งที่น่าสนใจและได้เรียนรู้จากการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้แทนประเทศต่าง ๆ คือการทำให้การโอนเงินช้าลง เพื่อป้องกันการถูกหลอกและเพื่อให้ธนาคารสามารถระงับการโอนเงินได้ทัน ทั้งนี้ องค์กรผู้บริโภค 7 ประเทศร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงเห็นพ้องที่จะร่วมกันพัฒนาดัชนีคุ้มครองผู้บริโภคในยุคดิจัทัลของอาเซียน (ASEAN Digital Consumer Protection Index)
ดาโต้ อินดรานี อธิบายว่า ดัชนีดังกล่าวจะพิจารณาจากกฎหมายของแต่ละประเทศที่เกี่ยวข้องกับเรื่องภัยไซเบอร์ รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับดิจิทัลและเอไอที่ผู้บริโภคเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ทั้งเรื่องการถูกล่วงละเมิดหรือหลอกลวงผ่านออนไลน์ ปัญหาการใช้บริการสัญญาณมือถือและอินเทอร์เน็ต ความปลอดภัยของข้อมูลบนโลกออนไลน์ ความเป็นส่วนตัว รวมถึงการรู้เท่าทันของผู้บริโภคในประเทศ
“อย่างกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นเด็กหรือผู้สูงอายุ คนกลุ่มนี้มีความรู้เท่าทันในเรื่องินเบอร์เน็ตและการใช้สื่ออนไลน์มากน้อยเพียงใด เขาปกป้องตัวเองได้ไหม เขาจะถูกล่อลวงได้ง่ายหรือไม่ เราจะต้องจัดทำดัชนีในเรื่องของผู้บริโภคในโลกดิจิทัลเพื่อเป็นมาตรฐานร่วมกัน และแต่ละประเทศก็จะต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบายและกฎหมายให้เท่าทัน” ดาโต้ อินดรานีกล่าว
ส่วน อันจานี่ วิดยา นักการศึกษา มูลนิธิผู้บริโภคแห่งอินโดนีเซีย (YLKI) กล่าวว่า เทคโนโลยี ดิจิทัลและเอไอนั้นมีประโยชน์แต่ก็มีโทษเช่นกัน จึงเป็นความท้าทายขององค์กรผู้บริโภคที่จะต้องกระตุ้นและผลักดันให้เกิดการแก้ไขในระดับพื้นที่ ระดับประเทศ และขยายผลไปถึงความร่วมมือข้ามพรมแดนในระดับภูมิภาค ซึ่งจะต้องสร้างความเข้มแข็งในเรื่องกฎหมายและให้ความรู้กับผู้บริโภคให้เท่าทันโลกดิจิทัล รวมทั้งต้องอาศัยความร่วมมือกันถ้าทุกภาคส่วนเพื่อให้มั่นใจว่าเทคโนโลยีมีประโยชน์กับผู้บริโภคและเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภค “การทำงานร่วมกันเราจะทำให้มีสภาพแวดล้อมในโลกของดิจิตอลนี้มีความปลอดภัยมากขึ้น”
วัตถุประสงค์ของบันทึกความตกลงดังกล่าว เป็นไปเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในเศรษฐกิจดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนบวกสามและเพื่อสร้างพื้นฐานของความเข้าใจและความร่วมมือร่วมกันที่ทำให้ทุกประเทศสมาชิกได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน
โดยในทางปฏิบัติจะมีทั้งการแบ่งปันข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งประเทศสมาชิกจะต้องแชร์แนวปฏิบัติและกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค โดยแลกเปลี่ยนข้อมูลกรณีศึกษาที่สามารถนำไปปรับใช้ในนโยบายจริงได้ และนำไปสู่การพัฒนานโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคในยุคดิจิทัลของแต่ละประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมไปถึงการเสริมสร้างศักยภาพในระดับบุคคลขององค์กรที่เกี่ยวข้องด้วย
สำหรับสาระสำคัญของ MOU มีทั้งหมด 4 ข้อ ดังนี้
1) องค์กรที่เกี่ยวข้องจะจัดการประชุมประจำปีอย่างเป็นทางการเพื่อทบทวนความก้าวหน้าของกิจกรรมความร่วมมือภายใต้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ และปรับเป้าหมายความร่วมมือหรือหารือเกี่ยวกับการปรับปรุงเฉพาะตามความจำเป็น นอกจากนี้ กลุ่มทำงานจะติดตามผลของการประชุมเหล่านี้อย่างต่อเนื่องเพื่อให้แน่ใจว่ากิจกรรมต่าง ๆ ได้รับการสะท้อนในนโยบายของแต่ละประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ
2) องค์กรที่เกี่ยวข้องอาจแต่งตั้งผู้แทนของตนเป็นหน่วยงานประสานงานเพื่อวัตถุประสงค์ในการบริหารงานภายใต้กรอบของบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ ผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจจากองค์กรจะต้องรักษาการติดต่ออย่างสม่ำเสมอ
3) การจัดการทางการเงินเพื่อครอบคลุมค่าใช้จ่ายสำหรับกิจกรรมความร่วมมือที่ดำเนินการภายใต้กรอบของบันทึกความเข้าใจฉบับนี้จะต้องได้รับการตกลงร่วมกันโดยองค์กรที่เกี่ยวข้องในแต่ละกรณี ขึ้นอยู่กับความพร้อมของเงินทุน เพื่อลดภาระทางการเงิน ประเทศสมาชิกจะต้องจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพและสำรวจความเป็นไปได้ในการใช้เงินทุนภายนอกเมื่อจำเป็น วิธีการนี้จะช่วยสนับสนุนการดำเนินโครงการความร่วมมือให้มีประสิทธิภาพ
4) การรักษาความลับ องค์กรที่เกี่ยวข้องตกลงที่จะรักษาความลับและความลับของเอกสารและข้อมูลที่ได้รับหรือจัดหาจากองค์กรใด ๆ ในช่วงระยะเวลาของบันทึกความเข้าใจฉบับนี้
Click here for English version > 7 ASEAN Countries Sign MOU to Combat Regional Digital and AI Scams