รายงานที่บริษัทปรึกษาต่างประเทศ บริษัท SCF Associates Ltd. ฉบับที่สอง ชี้ว่า การควบรวมระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ลแอ๊คแซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ไม่มุ่งประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย และ กสทช. ไม่ควรอนุญาตให้เกิดการควบรวม
จากผลการทำวิจัยของนักวิชาการอิสระชาวต่างประเทศ ระบุว่า หาก กสทช. ไม่มีอำนาจยับยั้งการควบรวม ทางเลือกที่ต้องดำเนินการคือการกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ ซึ่งจากการศึกษาไม่สามารถยืนยันว่าเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะเหล่านี้จะมีประสิทธิภาพจริงและทางเลือกสุดท้าย คือการป้องกันมิให้มีการขึ้นราคาและส่งผลเสียต่อผู้บริโภค โดยการกำกับดูแลโดยตรงอย่างเข้มงวด
ภายใต้หัวข้อ Study on the Impact of the Merger between True Corporation Public Company Limited and Total Access Communication Public Company Limited (การวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของการควบรวมทรู – ดีแทค) รายงานฉบับที่สองนี้ได้วิเคราะห์ผลกระทบต่อโครงสร้างตลาดมือถือจากการควบรวมในต่างประเทศ ซึ่งโดยสรุปพบว่า ในการควบรวมจาก 4 เหลือ 3 ราย มีหลักฐานยืนยันว่า เกิดการกระจุกตัวของตลาดที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการขึ้นราคาค่าบริการอย่างชัดเจน ส่วนในด้านการลงทุนและคุณภาพบริการมีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะชี้ชัดว่า การควบรวมส่งผลเชิงบวกหรือเชิงลบ
สำหรับประเทศที่มีผู้ให้บริการเพียง 1 – 2 ราย ในหลายประเทศพบว่า จะส่งผลเสียร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งในด้านการลงทุนโครงข่าย และการใช้งานที่ลดลง เนื่องจากค่าบริการแพงขึ้น ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลช้าลง โอกาสที่จะเห็นผู้ประกอบการรายที่ 3 เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก เพราะอุปสรรคการเข้าสู่ตลาดที่ยากลำบาก มีทางเลือกแทนการควบรวมคือ การที่ผู้ให้บริการใช้โครงข่ายร่วมกันเพื่อลดต้นทุนโดยไม่ต้องมีการควบรวม จึงยังคงต้องแข่งขันให้บริการต่อผู้บริโภคเช่นเดิม เงื่อนไขสำคัญที่ผู้ควบรวมอาจช่วยคงระดับการแข่งขันคือ ผู้ควบรวมต้องช่วยเหลือให้เกิดผู้ให้บริการรายใหม่ โดยการโอนหรือขายคลื่นความถี่ การอนุญาตให้ร่วมใช้โครงข่ายหรือเสาสถานี เปิดให้รายใหม่โรมมิ่งโครงข่าย ซึ่งวิธีการทั้งหลายเหล่านี้ก็อาจไม่เพียงพอในการลดอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาด และเป็นเงื่อนไขที่อาจบังคับให้เกิดขึ้นจริงไม่ได้ ในส่วนทางเลือกที่จะให้ขายความจุโครงข่ายแก่ผู้ให้บริการ MVNO พบว่าได้ผลในบางประเทศ แต่สภาพตลาดและการกำกับดูแลในประเทศไทยอาจไม่เหมาะกับทางเลือกนี้
ในส่วนข้อควรคำนึงในการพิจารณาดัชนีค่า HHI (Hirschman-Herfindalhl Index) หรือดัชนีวัดความกระจุกตัวของตลาดนั้น รายงานชี้ว่า ในสหรัฐอเมริกา หากค่า HHI ก่อนการรวบรวมสูงกว่า 2,500 และเพิ่มขึ้น 200 หลังจากการควบรวม จะถือว่า ผู้ควบรวมมีอำนาจในตลาดเพิ่มขึ้นและอาจเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดได้ สำหรับค่า HHI ของประเทศไทยอยู่ที่ 3,420 และจะเพิ่มเป็น 4,702 หลังการควบรวม ซึ่งหากใช้เกณฑ์พิจารณาของสหรัฐอเมริกา ถือว่าเข้าใกล้สภาพตลาดที่ผูกขาดโดยผู้ให้บริการเพียง 2 ราย
จากบทสรุปจากการวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจมหภาคจะเห็นว่า ในแง่ของการลงทุน หากการควบรวมยังคงรักษาระดับการแข่งขันของผู้เล่น 2 ราย ตามทฤษฎี Bertrand Duopoly การควบรวมอาจไม่เป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจไทย
แต่หัวใจสำคัญคือการคงระดับการแข่งขันที่ต่อเนื่องในระยะยาว ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากและมีความไม่แน่นอนสูง การควบรวมที่นำไปสู่การกระจุกตัวของตลาดและเกิดผู้มีอำนาจเหนือตลาด จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจไทย ในด้านผลกระทบเชิงลบต่อ GDP (ผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ) กระทบต่อสภาพความเป็นอยู่ของสังคม จากการลดการลงทุนเนื่องจากไม่ต้องแข่งขันกันตามเดิม
โดยสรุป ถ้าอนุญาตให้เกิดการควบรวมที่นำไปสู่ผู้มีอำนาจเหนือตลาด การกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะเพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนและการพัฒนาเทคโนโลยีต้องเข้มแข็ง เพื่อรักษาระดับการลงทุนและการขยายโครงข่ายให้อยู่ในระดับเดียวกับสภาพก่อนการควบรวม
ท้ายที่สุดแล้ว รายงานชิ้นนี้เผยข้อสรุปผลกระทบจากการรวบรวม ดังนี้
จากการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ พบว่า ผลกระทบเชิงลบต่อผู้ใช้บริการมากกว่าประโยชน์ที่จะได้รับยิ่งไปกว่านั้น เงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะที่มีประสิทธิภาพ เป็นสิ่งที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้จริงในสถานการณ์ของประเทศไทย
หากคำนึงถึงการลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล การส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากโทรศัพท์มือถือในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ต้องไม่อนุญาตให้มีการควบรวม เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจ ซึ่งพื้นฐานของเศรษฐกิจดิจิทัลของคนไทยเกิดขึ้นผ่านการใช้งานโทรศัพท์มือถือ
การรักษาสมดุลของตลาดโทรศัพท์มือถือในสหภาพยุโรป พิจารณาจากค่า HHI โดยหลีกเลี่ยงมิให้ค่านี้สูงกว่า 2,500 – 3,000 และในส่วนของข้อสรุปคำแนะนำจากการศึกษา ได้เสนอว่า ไม่ควรอนุญาตให้เกิดการควบรวม เพราะการควบรวมไม่ได้มุ่งประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย
อย่างไรก็ตาม หาก กสทช. ไม่มีอำนาจยับยั้งการควบรวม ทางเลือกที่ต้องดำเนินการคือ การกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ ซึ่งจากการศึกษาไม่สามารถยืนยันว่าเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะเหล่านี้จะมีประสิทธิภาพจริง
ทางเลือกสุดท้ายคือการป้องกันมิให้มีการขึ้นราคาและส่งผลเสียต่อผู้บริโภค ด้วยการกำกับดูแลโดยตรงอย่างเข้มงวด
เมื่อ กสทช. รับทราบรายงานทั้งสองฉบับแล้ว สภาองค์กรของผู้บริโภค และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ขอเรียกร้องให้ สำนักงาน กสทช. ต้องเปิดเผยรายงานฉบับเต็มเพื่อให้สาธารณชนรับทราบโดยทันที ตามหน้าที่ที่ถูกบัญญัติไว้ใน มาตรา 59 (5) พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มิเช่นนั้นจะถือว่าเป็นการละเมิดกฏหมาย และเท่ากับเป็นการจงใจปิดบัง ความเสียหายอย่างใหญ่หลวงที่จะเกิดต่อประเทศชาติ