ปัจจุบันมีปัญหาผู้บริโภคเกิดขึ้นมากมาย ตั้งแต่ปัญหาระดับปัจเจก ไปจนถึงปัญหาระดับผู้บริโภคองค์รวม แม้ว่าแนวทางป้องกันที่ได้ผลชะงัดที่สุดจะเป็นการให้ความรู้และสร้างความเท่าทันให้กับผู้บริโภค แต่อีกวิธีที่ทำให้สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพและได้ผลในวงกว้าง คือการออกนโยบายภาครัฐที่เกิดการบังคับใช้ในด้านคุ้มครองผู้บริโภคอย่างได้ผล
ทั้งนี้ หนึ่งในอำนาจหน้าที่ของสภาผู้บริโภค คือการให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายแก่หน่วยงานภาครัฐที่มีความรับผิดชอบในการกำหนดระเบียบหรือแนวปฏิบัติในประเด็นต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาภาพผู้บริโภคโดยรวมได้ อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของสภาผู้บริโภคจะถูกนำไปปฏิบัติหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐที่มีอำนาจในการกำกับดูแลนโยบายสาธารณะในแต่ละด้าน
ในปีงบประมาณ 2566 สำนักงานสภาผู้บริโภค ได้จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคไปยังหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 25 เรื่อง ในกลุ่มประเด็นหลัก ๆ ของการคุ้มครองผู้บริโภค 8 ด้าน ซึ่งจากสำรวจความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่สภาองค์กรผู้บริโภคที่ได้รวบรวมปัญหาของผู้บริโภค ประกอบกับการสังเคราะห์ปัญหาเหล่านั้นกับนักวิชาการจนกระทั่งออกมาเป็นข้อเสนอแนะนโยบายในด้านต่าง ๆ ในปีงบประมาณที่ผ่านมา พบว่ามีแนวโน้มที่น่ายินดีที่หลายหน่วยงานภาครัฐได้ให้ความร่วมมือและช่วยสนับสนุนงานคุ้มครองผู้บริโภคเป็นอย่างดี
สำหรับด้านสินค้าและบริการทั่วไป ในปีที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคมีข้อเสนอเชิงนโยบายเรื่องการจัดระเบียบร้านค้าออนไลน์เพื่อให้ผู้บริโภคไม่ถูกโกง มีการเรียกร้องให้ปรับปรุงบริการขนส่งพัสดุในรูปแบบเก็บเงินปลายทาง เช่น ให้เปิดบรรจุภัณฑ์สินค้าก่อนการส่งมอบและจ่ายเงินค่าสินค้า ในขณะเดียวกัน ในส่วนความปลอดภัยของอุปกรณ์รถยนต์ สภาผู้บริโภคได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีมาตรการแก้ปัญหาการเรียกคืนถุงลมนิรภัยยี่ห้อทาคาตะในประเทศไทย พร้อมทั้งเสนอนโยบายไปยังกรมการขนส่งทางบกให้มีมาตรการต่อเนื่องให้เจ้าของรถยนต์ที่ได้ติดตั้งถุงลมนิรภัยอันตรายยี่ห้อดังกล่าว ได้นำรถยนต์มาเปลี่ยนถุงลม เนื่องจากยังมีรถยนต์อีกมากกว่า 5 แสนคันที่วิ่งอยู่บนถนนทั่วประเทศมีความเสี่ยงต่ออันตรายที่เกิดจากถุงลมชำรุด ที่ยังไม่ได้นำรถยนต์มาแก้ไข
นอกจากนี้ สภาผู้บริโภคยังได้ให้ความเห็นต่อข้อกฎหมายอีก 2 ฉบับ ได้แก่ 1) การประเมินผลสัมฤทธิ์ พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และ เนื่องจากมองว่ามีบางมาตราที่ต้องปรับปรุง เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าทางออนไลน์ เช่น การขอให้พิจารณาเรื่องการยกเว้นให้ผู้ประกอบการที่มีรายได้ไม่ถึง 1.8 ล้านบาทต่อปี ไม่ต้องจดทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงกับ สคบ. ซึ่งเป็นช่องโหว่ที่ทำให้การขายสินค้าทางออนไลน์ของร้านค้าบางแห่งไม่ถูกควบคุม เกิดการฉ้อโกง หรือขายสินค้าผิดกฎหมาย ทั้งนี้ ได้เสนอให้มีการยืนยันตัวตนของผู้ขายทุกรายบนแพลตฟอร์มฯ
2) ให้ความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. …. ของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) โดยเสนอให้ พิจารณาการกระชับระยะเวลาในการซ่อมแซม เรียกร้องสิทธิเพิ่มเติมให้กับผู้บริโภค ในบางมาตรา ในขณะเดียวกันก็มีความเห็นของฝั่งภาคประชาชนที่ต้องการผลักดันให้กฎหมายฉบับนี้ครอบคลุมสินค้าทุกประเภท โดยมีเงื่อนไขที่เหมือนกันคือสินค้าที่เพิ่งซื้อใหม่แต่ต้องซ่อมแซมตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป ภายในระยะเวลา 6 เดือน ผู้บริโภคต้องได้รับการเปลี่ยนสินค้าเป็นชิ้นใหม่
ทั้งนี้ เมื่อเอ่ยถึงการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสินค้าและบริการ หนึ่งในหน่วยงานที่เจ้าหน้าที่สภาผู้บริโภคได้เลือกให้เป็นหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือยอดเยี่ยมคือ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ) (ETDA) ในประเด็นการเสนอนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายออนไลน์ ซึ่งรวมถึงการติดตามแพลตฟอร์ม และบริการขนส่งที่ได้เกิดความต่อเนื่องในการทำงานร่วมกันมาโดยตลอด ทั้งเรื่องการสนับสนุนข้อมูล การตอบกลับหนังสือ การร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้ และการเข้าพบหารือต่าง ๆ
ด้านการเงินและการธนาคาร ปัญหาส่วนใหญ่ที่ผู้บริโภคพบจะเป็นปัญหาภัยทุจริตทางการเงิน เช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์ เอสเอ็มเอสดูดเงิน รวมถึงภัยการเงินออนไลน์ต่าง ๆ สภาผู้บริโภคจึงมีข้อเสนอแนะถึงหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะข้อเสนอเกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค กรณีมาตรการจัดการปัญหาภัยทุจริตทางการเงิน ที่เสนอให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์การชดเชยเยียวยาความเสียหายแก่ผู้บริโภคที่เป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ได้เต็มจำนวน ทั้งนี้เป็นที่ปรากฎชัดว่าภัยทุจริตทางการเงินนั้นไม่ได้เกิดจากผู้บริโภค แต่เป็นหมายถึงระบบป้องกันเงินฝากของผู้บริโภคที่สภาบันการเงินต้องร่วมรับผิดชอบ จึงมีข้อเสนอให้หน่วยงานภาครัฐออกและปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อป้องกันการถูกหลอกถูกโกง และเสนอให้มีเบอร์โทรสายด่วนแจ้งเหตุภัยทุจริตทางการเงิน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการป้องกันภัยมิจฉาชีพ
นอกจากนี้ประเด็นเรื่องภัยทุจริตทางการเงินแล้ว สภาผู้บริโภคยังมีข้อเสนอเรื่อง การจัดตั้งกองทุนบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ โดยสนับสนุนให้มีบำนาญถ้วนหน้า และมีข้อเสนอเรื่องมาตราการคุ้มครองผู้บริโภค กรณีหุ้นกู้ STARK เช่น การกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์โดยกำหนดมาตรการการนำบริษัทเข้าตลาดหุ้นทางอ้อม ด้วยการให้บริษัทที่อยู่ในตลาดหุ้นอยู่แล้ว เข้าซื้อสินทรัพย์หรือหุ้นของบริษัทที่ต้องการจะเข้าตลาดหุ้น (Backdoor Listing) รวมทั้งขอให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ตรวจสอบและดำเนินการกับผู้กระทำผิด เป็นต้น
ทั้งนี้ การป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านการเงินและการธนาคารนั้น นั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ซึ่งที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคก็ได้รับความร่วมมือจากทั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) สมาคมธนาคารไทย รวมถึงสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ
แต่หากต้องเลือกเพียงหนึ่งหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือในการคุ้มครองผู้บริโภค เจ้าหน้าที่ที่ทำงานเรื่องการเสนอแนะนโยบายในด้านนี้โดยตรง มอบให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็น “ที่สุด” ของหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านการเงินและการธนาคาร เนื่องจากเป็นหน่วยงานกับกำดูแลสถาบันการเงินและบริษัท ที่ไม่ใช่สถาบันการเงินที่ประกอบธุรกิจสินเชื่อต่าง ๆ โดยได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการประกอบธุรกิจโดยคำนึงถึงการคุ้มครองผู้บริโภค
ส่วนด้านบริการสุขภาพ ปัญหาที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่พบเจอเป็นเรื่องค่ารักษาพยาบาลแพง และการที่ผู้บริโภคเข้าใช้บริการในโรงพยาบาลแต่กลับถูกเรียกเก็บเงินทั้ง ๆ ที่โรงพยาบาลไม่มีสิทธิเรียกเก็บ เช่นในกรณีการเข้ารับการรักษาภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพ รวมถึงการเข้ารับการรักษาตัวกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต นอกจากนั้น ยังพบปัญหาผลกระทบจากการใช้บริการคลินิกเสริมความงามต่าง ๆ อีกประเด็นหนึ่งที่มีนัยสำคัญต่อสุขภาวะของสาธารณะ คือการปรับปรุงสิทธิประกันสังคม ที่สภาผู้บริโภคเสนอให้มีการปรับปรุงระบบหลัก ประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ด้านทันตกรรม กรณีสิทธิรักษาพยาบาลสุขภาพในช่องปาก และด้านการรักษาโรคมะเร็ง
หนึ่งข้อเสนอสำคัญของสภาผู้บริโภคด้านสุขภาพคือ ประเด็นที่เกี่ยวกับกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (UCEP) ที่มีทั้งเรื่องการแสดงต้นทุนค่ารักษาพยาบาลของสถานประกอบการ โดยเสนอให้โรงพยาบาลแสดงรายละเอียดของรายการที่เกี่ยวข้องกับต้นทุนค่าบริการรักษาพยาบาลมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อช่วยสนับสนับการประเมินกลไกการควบคุมราคาค่ารักษาพยาบาล รวมถึงเรื่องขยายนิยามอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตไปยังกลุ่มอาการที่อยู่ในเกณฑ์สีเหลืองที่มีแนวโน้มเปลี่ยนเป็นอาการวิกฤต (สีแดง) ในเวลาอันสั้น
นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการพัฒนาระบบกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคต่อการบริการเสริมความงาม และการพัฒนาระบบกำกับสถานพยาบาลให้เข้าถึงผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น เสนอให้สถานพยาบาลทุกแห่งให้มีการใช้ระบบบันทึกการประเมินคัดแยกระดับความฉุกเฉิน (Emergency Pre-Authorization : PA) แก่ผู้ป่วยที่ไปใช้บริการในทุกกรณี การทำระบบคิวในโรงพยาบาล เป็นต้น
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือยอดเยี่ยมในเรื่องบริการสุขภาพ ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการสุขภาพ ซึ่งให้ความร่วมมือกับสภาองค์กรของผู้บริโภคเป็นอย่างดี ทั้งเรื่องการสนับสนุนข้อมูล การตอบกลับหนังสือ และการเข้าพบหารือต่าง ๆ เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาผู้บริโภคด้านบริการสุขภาพ
อีกหนึ่งด้านที่พบปัญหาผู้บริโภคมากมายไม่แพ้กัน คือ ด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยประเด็นที่มาแรงที่สุดในปี 2566 คือกรณีการออกนโยบายกัญชาเสรี โดยไม่มีมาตรการกำกับดูแลที่เข้มงวดแลชัดเจน สภาผู้บริโภคจึงเสนอมาตรการการคุ้มครองผู้บริโภคในด้านการนำพืชกัญชา และกัญชงมาเป็นวัตถุดิบในอาหาร รวมทั้งเสนอให้ศึกษาวิจัยส่วนประกอบสำคัญในกัญชาและกัญชงเพื่อกำหนดค่าปริมาณสูงสุดที่อนุญาตของสารสำคัญที่มีส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค รวมทั้งเสนอให้เพิ่มมาตรการควบคุมการขาย และการโฆษณา
นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปซีดาฟที่พบสารปนเปื้อน จึงเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สั่งห้ามการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวทางสื่อออนไลน์ทุกช่องทางจนกว่าจะปรากฎข้อเท็จจริงของความปลอดภัย ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี
สำหรับหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือในการคุ้มครองผู้บริโภคด้าน อาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ จะเป็นใครไปไม่ได้เลย นอกจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่ให้ความร่วมมือสนับสนุนนโยบายการจัดทำระบบการเฝ้าระวังการจำหน่ายสินค้า (Post-marketing) รวมกับสภาผู้บริโภคและหน่วยงานประจำจังหวัด ทั้งยังเป็นหน่วยงานที่คุ้มครองผู้บริโภค ประเด็นด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ร่วมกับสภาผู้บริโภคด้วย
ด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภคมีข้อเสนอแนะในหลายประเด็น ทั้งการขอให้ภาครัฐทบทวนการเปิดสถานีกลางบางซื่อและแผนการปรับย้ายขบวนรถไฟเชิงพาณิชย์ (รถไฟทางไกล) จากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ย้ายมาสถานีกลางบางซื่อ รวมถึงเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย ข้อเสนอแนะเรื่องรถรับส่งนักเรียนฟรีทั่วไทย เดินทางปลอดภัย ข้อเสนอเรื่องเปลี่ยนรถตู้อันตรายเป็นรถมินิบัส รวมถึงข้อเสนอเรื่องการติดเบรกเอบีเอส (ABS) ในรถจักรยานยนต์
นอกจากนี้ ยังได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับด้านการขนส่งและยานพาหนะ โดยเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวและการกำหนดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว และเสนอมาตราการแก้ไขปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อกรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ หากกล่าวถึงนโยบายด้านขนส่งและยานพาหนะ ที่เห็นเป็นรูปธรรมมากที่สุด เห็นจะเป็นเรื่อง “นโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท” ที่สภาผู้บริโภคผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีกรมการขนส่งทางรางให้การสนับสนุนและให้ความร่วมมือด้านการส่งเสริมนโยบายการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานระบบขนส่งทางรางกับสภาผู้บริโภคเป็นอย่างดี ไม่เพียงแต่ผลักดันรถไฟฟ้า สภาผู้บริโภคยังคงเดินหน้าผลักดันนโยบายพัฒนาขนส่งมวลชนให้ทั่วถึง เพื่อขนส่งที่ปลอดภัยและเป็นธรรมแก่ผู้บริโภค
ด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ ประเด็นที่ร้อนแรงคงหนีไม่พ้นเรื่อง การควบรวมกิจการระหว่าง 2 บริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ อย่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรู และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค และในช่วยปลายปี 2566 ยังมีกรณีการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) บริษัทในเครือเอไอเอส (AIS) และบริษัท ทริปเปิลบี บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือทรีบีบี (3BB) อีกด้วย
สภาผู้บริโภคได้เคลื่อนไหว คัดค้าน และให้ความเห็นเรื่องการควบรวมกิจการโทรคมนาคมอย่างต่อเนื่อง ทั้งการให้ความเห็นต่อคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง กสทช. กรณีการควบรวมธุรกิจระหว่างสองบริษัทดังกล่าว ซึ่งจะทำให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตน้อยรายลง
รวมถึงการเสนอให้ชะลอการควบรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทค นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอในประเด็นอื่น ๆ ได้แก่ การเสนอให้เปิดเผยรายละเอียดเงื่อนไขและสัญญาการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final) 2022 และแสดงความรับผิดชอบด้วยการออกมาตรการเยียวยาให้กับผู้บริโภคที่รับชมฟรีในระบบ IPTV (Internet Protocol Television) หรือระบบที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถรับชมรายการโทรทัศน์ผ่านอินเทอร์เน็ตแทนเสาอากาศจานดาวเทียมหรือสายเคเบิลใยแก้วนำแสง
สำหรับการให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อกฎหมายนั้น สภาผู้บริโภคได้ให้ความเห็นต่อร่างประกาศของ กสทช. 2 ฉบับเกี่ยวกับเรื่องมาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการโทรคมนาคมเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิในความเป็นส่วนตัว และเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยทางโทรคมนาคม และเรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติ ในการให้บริการในประเทศ
ด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย เรื่องร้องเรียนในปีที่ผ่านมาเป็นปัญหาเรื่องผลกระทบจากการร่างผังเมืองใหม่กรุงเทพมหานคร การก่อสร้างอาคารสูงในซอยแคบ รวมถึงปัญหาการถูกฉ้องโกงหรือเอารัดเอาเปรียบจากการซื้อสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ โดยสภาผู้บริโภคมีข้อเสนอแนะในหลายประเด็น ได้แก่ ข้อเสนอแนะกรณีผู้ประกอบธุรกิจบ้านจัดสรรเลี่ยงการขออนุญาตจัดสรรที่ดินตามกฎหมายในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ การแสดงความเห็นเพื่อคัดค้านการประชุมรับฟังความเห็นเกี่ยวกับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร
และข้อเสนอแนะกรณีการสร้างอาคารสูงในซอยแคบที่ขัดต่อกฎหมาย โดยเสนอให้มีการชดเชยเยียวยาความเสียหายแก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมดโดยเร็ว และขอให้กรุงเทพมหานครเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย โดยต้องให้ความสำคัญกับพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และผบกระทบที่เกิดกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงด้วย ทั้งนี้ ขอให้ กทม. ทบทวนขั้นตอนและวิธีการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในขออนุญาตสร้างอาคารและขอให้เพิ่มกระบวนการตรวจสอบจากประชาชนโดยให้มีการทำประชาพิจารณ์มากขึ้นในการรับฟังความเห็นอย่างครบถ้วนรอบด้าน เพื่อลดข้อพิพาทและปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอย่างยั่งยืน
และสุดท้ายด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภคมีข้อเสนอแนะนโยบาย เพื่อให้รัฐบาลเร่งดำเนินการแก้ไขกฎกระทรวง ฉบับที่ 65 พ.ศ. 2558 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2565 โดยเสนอให้การติดตั้งโซลาร์รูฟทอปที่ขนาดไม่เกิน 5 กิโลวัตต์ อนุโลมให้ไม่ต้องมีผลการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรง เพื่อช่วยลดต้นทุนการติดตั้งโซลาร์รูฟทอป สร้างแรงจูงใจให้มีผู้ติดตั้งมากขึ้น เนื่องจากการติดตั้งโซลาร์รูฟทอปที่ขนาดกำลังการผลิตไม่เกิน 5 กิโลวัตต์ จะไม่ส่งผลต่อโครงสร้างของหลังคา นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอแนะเรื่องการตรวจสอบและกำกับดูแลค่าการตลาดน้ำมันที่ไม่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีความเห็นต่อการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่าเอฟที (Ft) สำหรับงวดเดือนกันยายน – ธันวาคม 2565
ทั้งนี้ ด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย รวมทั้งด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม ยังไม่มีหน่วยงานที่โดดเด่นในการให้ความร่วมมือหรือสนับสนุนการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม สภาผู้บริโภคคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคตสภาผู้บริโภคจะได้รับความร่วมมือที่มากขึ้นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือมีบทบาทโดยตรงในด้านการสื่อสารฯ อสังหาฯ และพลังงานฯ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค
และในปี 2567 รวมถึงปีต่อ ๆ ไป สภาผู้บริโภคจะยังคังเดินหน้าเสนอแนะ ผลักดันนโยบาย และมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การผลักดันเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือและแรงผลักดันจากประชาชนทุกคน ในการกระตุ้นและกดดันให้รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค เพื่อนำไปสู่การพัฒนานโยบาย และยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทย