เรียกร้อง LINE ประเทศไทย ชี้แจงและแสดงความรับผิดชอบกรณีข้อมูลรั่วไหล พร้อมแนะผู้บริโภคที่พบความผิดปกติจากการใช้ไลน์ ร้องเรียนที่ สคส. หรือสภาผู้บริโภค
จากกรณีที่บริษัท LY Corporation ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันไลน์ ที่มีผู้ใช้บริการในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ออกแถลงการณ์บนเว็บไซต์ ระบุว่า กรณีที่ข้อมูลรั่วไหลจากการเข้าถึงโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่ามีบัญชีที่ข้อมูลรั่วไหลมากถึงกว่า 400,000 บัญชี เป็นบัญชีในประเทศญี่ปุ่นประมาณ 120,000 บัญชี ส่วนจำนวนที่เหลือไม่ได้ระบุว่าเป็นข้อมูลบัญชีไลน์ของประเทศใดบ้าง นั้น
วันนี้ (29 พฤศจิกายน 2566) ดร.อุดมธิปก ไพรเกษตร นายกสมาคมผู้ตรวจสอบและให้คำปรึกษาการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไทย (TPDPA) ทวงถามถึงความรับผิดชอบต่อกรณีความเสียหายของผู้บริโภค ที่จะได้รับความเดือดร้อนจากเหตุดังกล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่เห็นคำชี้แจงจากไลน์ประเทศไทย ว่ากรณีดังกล่าวเป็นข้อมูลของบัญชีประเทศไทยมากน่อยเพียงใด เนื่องจากประเทศไทยมีบัญชีไลน์มากกว่า 50 ล้านราย จึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีบัญชีที่ข้อมูลรั่วอยู่ด้วย
ดร.อุดมธิปก ระบุอีกว่า กรณีที่เกิดขึ้น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) ควรเชิญไลน์ประเทศไทยเข้าไปชี้แจงว่ามีผลกระทบต่อผู้ใช้บัญชีไลน์ในประเทศไทยอย่างไร มีความเสี่ยงอย่างไร และแสดงความรับผิดชอบหากมีผลกระทบเกิดขึ้น ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือกฎหมาย PDPA ระบุความคุ้มครองถึงกรณีที่ระบบฐานข้อมูลไม่ได้อยู่ในประเทศไทยด้วย ดังนั้น หน่วยงานกำกับดูแลภาครัฐของไทยจึงควรให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว เพื่อให้บริษัทต่างประเทศตระหนักและให้ความสำคัญกับการดูแลข้อมูลของประชาชนไทยมากขึ้น
“ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องตรวจสอบเป็นอันดับแรก คือ มีผู้ใช้บัญชีไลน์ในประเทศไทยได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด และข้อมูลที่รั่วไหลเป็นเป็นข้อมูลประเภทใด หากเป็นข้อมูลที่มีความสำคัญ เช่น เลขบัญชี บัตรเครดิต บัตรประชาชน ซึ่งอาจถูกนำไปใช้อย่างผิดกฎหมายให้ได้รับความเดือดร้อน ก็ต้องมีแนวทางการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และทุกหน่วยงานต้องออกมาตอบคำถามให้ได้ถึงแนวทางช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สคส. ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง” ดร.ประชาธิปก กล่าว
ด้านสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่าความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ และสร้างความตระหนักให้ประชาชนตื่นตัวในเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง สร้างเป็นพฤติกรรมใหม่ในสังคม ที่ควรจะเริ่มมีความรู้เรื่องนี้ตั้งแต่อยู่ในระดับประถมศึกษา
ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสารฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า สภาผู้บริโภคในฐานะผู้แทนผู้บริโภคไทย เตรียมทำจดหมายถึงเป็นทางการถึงสำนักงานไลน์ประเทศไทยให้ชี้แจงกรณีข้อมูลรั่วไหลที่เกิดขึ้น รวมถึงแนวทางเยียวยาผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ ผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อนสามารถติดต่อไปยัง สคส. ได้โดยตรง หรือ ร้องเรียนมายังสภาผู้บริโภคเพื่อให้ช่วยติดตามความรับผิดชอบจากไลน์ประเทศแทน รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป
“ตอนนี้ประเทศไทยประกาศใช้กฎหมาย PDPA มาครบรอบ 1 ปี จึงเสนอว่าควรจะมีการประเมินในระดับผู้ใช้ว่าเมื่อมีกฎหมายแล้วผู้บริโภคมีความปลอดภัยมากขึ้นหรือไม่ เพราะยังเห็นคดีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ก่อกวนประชาชนอยู่เป็นจำนวนมาก นำไปสู่คำถามว่ากลไกการคุ้มครองผู้บริโภคควรจะอยู่ที่ใคร และเป็นอย่างไร ซึ่งในกรณีนี้คณะกรรมการนโยบายสภาผู้บริโภคอาจมีข้อเสนอไปที่ระดับรัฐบาล และระหว่างประเทศ”นางสาวสุภิญญากล่าว
#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค #ข้อมูลส่วนบุคคล #ข้อมูลรั่ว #ความปลอดภัยออนไลน์