ผู้บริโภคเฮ! รัฐบาลสนับสนุน “โซลาร์รูฟท็อป” ด้านสภาองค์กรของผู้บริโภค เร่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดมาตรการและดำเนินตามนโยบาย หวังแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพง
จากกรณีเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการในที่ประชุม ครม. ให้การไฟฟ้าฝ่ายภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และกระทรวงมหาดไทย พิจารณาดำเนินการเรื่องการส่งเสริมระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) เพื่อแบ่งเบาภาระค่าไฟฟ้าระดับครัวเรือนให้ประชาชน โดยทุกครัวเรือนสามารถติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพื่อใช้งานเองได้ และสามารถส่งไฟฟ้าเข้าในระบบเพื่อนำหน่วยไฟฟ้าไปหักลบกับหน่วยไฟฟ้าที่ครัวเรือนต้องซื้อจากการไฟฟ้าในเวลากลางคืน หรือที่เรียกว่า การคิดค่าไฟฟ้าแบบหักลบกลบหน่วยตามจริง นั้น (อ่านข่าวได้ที่ : ‘บิ๊กป้อม’ สั่ง ‘กฟภ.-กฟน.-มหาดไทย’ เร่งผลักดันโซลาร์รูฟท็อป พร้อมให้ ก.พลังงาน สนับสนุนด้วย)
วันนี้ (29 กันยายน 2565) ผศ.ประสาท มีแต้ม กรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า สภาองค์กรฯ ประกาศสนับสนุนนโยบายการคิดค่าไฟฟ้าแบบหักลบกลบหน่วยตามจริง (Net metering) ของรัฐบาลในครั้งนี้ ทั้งนี้ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหลายเร่งกำหนดมาตรการและเร่งรัดดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายโดยด่วน และตั้งเป้าในการส่งเสริมโซลาร์รูฟท็อปอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมเสนอให้กำหนดนโยบายดังกล่าวเป็นมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อให้มีความชัดเจนทางนโยบาย
ผศ.ประสาท ยกตัวอย่างมาตรการที่จะส่งเสริมระบบโซลาร์รูฟท็อปให้เกิดขึ้นได้จริง เช่น ยกเลิกนโยบายรับซื้อไฟฟ้าที่หน่วยละ 2.20 บาท (Net billing) ลดอุปสรรคและต้นทุนในการขออนุญาตขนานไฟ โดยอนุโลมให้ไม่ต้องมีผลการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงสำหรับการติดตั้งโซลาร์เซลล์ไม่เกิน 30 ตารางเมตร ให้เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าในท้องที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการรับรอง “แผนภูมิของระบบไฟฟ้า (single line diagram) ที่ต้องรับรองจากวิศวกร โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ และยกเลิก ‘ค่าใช้จ่ายในการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้า การตรวจสอบระบบอุปกรณ์ และค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้อง’ เนื่องจากไม่มีเหตุจำเป็นต้องเปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้าเป็นแบบใหม่แต่อย่างใด
สำหรับเป้าหมายในการส่งเสริมโซลาร์รูฟท็อปนั้น จากการศึกษาของกรีนพีซประเทศไทย กองทุนแสงอาทิตย์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมูลนิธินโยบายสุขภาวะ ระบุว่า การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป สามารถที่จะกำหนดเป้าหมาย 1 ล้านหลังคาเรือน หรือประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ ภายในระยะเวลา 3 ปี ได้ (อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ : ปฎิวัติพลังงานบนหลังคา ข้อเสนอเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากที่ยั่งยืนและเป็นธรรมผ่านระบบโซลาร์รูฟท็อปในประเทศไทย (พ.ศ.2564-2566))
“อย่างไรก็ตาม นโยบายการส่งเสริมโซลาร์รูฟท็อปนี้ยังเป็นเพียงข้อสั่งการเท่านั้น จึงเสนอว่า พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ควรนำนโยบายนี้มาสั่งการและกำหนดเป็นมติอีกครั้งในการประชุม กพช. เพื่อให้มีความชัดเจนทางนโยบายสำหรับประกาศใช้มาตรการรับซื้อไฟฟ้าแบบหักลบกลบหน่วยไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟระดับครัวเรือน (Net Metering) ที่จะนำไปสู่ ประชาธิปไตยทางพลังงาน (energy democracy) ยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือนและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม” ผศ.ประสาท กล่าว
รสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวในเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงตัวอย่างการจัดระบบโซลาร์เซลล์ในต่างประเทศ โดยยกตัวอย่างรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ออก กม. บังคับท้องถิ่นและหน่วยราชการต้องจัดระบบอนุมัติติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาแบบอัตโนมัติ และออกใบอนุญาตแบบทันที เพื่อลดต้นทุนและความล่าช้าในการของติดตั้ง
รสนา แสดงความเห็นว่า หากไทยลองนำโมเดลดังกล่าวมาปรับใช้ ก็จะทำให้โซลาร์รูฟท็อปเสรีเกิดได้จริง เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งในแง่การลดรายจ่าย เพิ่มการจ้างงาน ลดสภาวะการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดภาวะโลกร้อน และลดการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศที่มีราคาผันผวนอีกด้วย (อ่านโพสต์ฉบับเต็มได้ที่ : https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=632600084906341&id=100044690642442)
‘การคิดค่าไฟฟ้าแบบหักลบกลบหน่วยตามจริง’ หรือ ‘Net metering’ เป็นการคิดค่าไฟฟ้า โดยคำนวนจากจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่บ้านเราใช้หักลบกับจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่บ้านเราผลิตได้ เช่น บ้านของเราเสียค่าไฟฟ้าในเดือนพฤศจิกายนใช้ไฟฟ้าจำนวน 548 หน่วย (หากค่าไฟฟ้าหน่วยละ 4 บาท ประมาณ 2,192 บาท เมื่อบ้านดังกล่าวติดตั้งแผงโซลาเซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในบ้านได้ 355หน่วย (หากค่าไฟฟ้าหน่วยละ 4 บาท คิดเป็นเงิน 1,420บาท)
เมื่อติดตั้งแผงโซลล่าเซลล์บนหลังคาไฟฟ้าจะผลิตได้ในเวลากลางวัน กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ดังกล่าวจะไหลผ่านมิเตอร์เข้าสู่สายส่งหากเหลือจากที่บ้านเราใช้ พอตอนค่ำเราก็จะใช้ไฟฟ้าจากสายส่งซึ่งไฟฟ้าดังกล่าวก็จะไหลผ่านมิเตอร์เข้าบ้านเหมือนปกติ
ดังนั้น เมื่อนำไฟฟ้าที่ใช้จำนวน 548 หน่วย ลบออกจากไฟฟ้าที่บ้านเราผลิตได้เอง 355 หน่วย ดังนั้นบ้านหลังนี้จึงจ่ายค่าไฟฟ้าเดือนดังกล่าวเพียงจำนวน 193 หน่วย ทั้งนี้จะต้องจ่ายกี่บาทขึ้นอยู่กับราคาค่าไฟฟ้าต่อหน่วย ณ ช่วงเวลาดังกล่าว
หรือผู้บริโภคสามารถอ่านและรับชมข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่
1. วีดีโอ Net metering องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน
https://www.youtube.com/watch?v=NG3h53xO3Fc
2. วีดีโอ Net metering กรีนพีซ ประเทศไทย
https://www.youtube.com/watch?v=3HQiv2HXm8k