กลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพในการสื่อสาร เรียกร้อง กสทช. และ กขค. พิจารณาการควบรวมกิจการ ทรู – ดีแทค โดยคำนึงประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง
จากกรณีที่บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ยื่นคำขอควบรวมธุรกิจต่อ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2565 อนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจระหว่าง ทรู – ดีแทค ส่งรายงานผลการศึกษา ผลดีและผลเสีย ของการควบรวมและไม่ควบรวมธุรกิจให้แก่บอร์ด กสทช. โดยคาดว่าจะมีการพิจารณาว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้มีการควบรวมกิจการ ในช่วงต้นเดือนกันยายน นั้น
วันนี้ (29 สิงหาคม 2565) กลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพในการสื่อสารเดินทางไปยื่นหนังสือต่อ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เพื่อเรียกร้องให้ทั้งสองหน่วยงานปฏิบัติหน้าที่ ในการพิจารณาการควบรวมกิจการระหว่าง ทรู – ดีแทค อย่างเข้มแข็ง โดยคำนึงประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง
สำหรับการยื่นหนังสือต่อ คณะกรรมการ กสทช. นั้น มี ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. เป็นตัวแทนรับมอบหนังสือ โดยเนื้อหาหลักในหนังสือที่ยื่นต่อ กสทช. คือเรื่องอำนาจในการพิจารณาตัดสินกรณีการขอควบรวมกิจการระหว่าง ทรู – ดีแทค เนื่องจาก กสทช. ได้ทำหนังสือไปที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ให้พิจารณาถึงอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ในการพิจารณาการควบรวมธุรกิจดังกล่าวถึง 2 ครั้ง
ซึ่งอาจทำให้ประชาชนเข้าใจไปได้ว่า กสทช. พยายามจะหลีกเลี่ยงการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ โดยยินยอมให้ฝ่ายบริหารเข้ามามีบทบาทแทรกแซง และครอบงำ การใช้อำนาจของ กสทช. อาจเป็นการกระทำที่ขัด ต่อรัฐธรรมนูญ และส่งผลให้นายกรัฐมนตรีมีความเสี่ยงในการปฏิบัติที่ขัดต่อกฎหมายอีกด้วย
ทั้งนี้ กสทช. มีอำนาจทั้งตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 และตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม มาตรา 27 ที่กำหนดให้ กสทช. มีอำนาจ กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ฉะนั้นจึงถือเป็นอำนาจโดยตรงของ กสทช. รวมถึงการสั่งห้ามการควบรวมกิจการด้วย
ส่วนการยื่นหนังสือที่สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้านั้น มนยศ วรรธนะภูติ รองเลขาธิการรักษาการแทนเลขาธิการ กขค. เป็นผู้รับหนังสือแทน โดยประเด็นหลักในหนังสือจะสืบเนื่องจากที่ กขค. เคยให้ความเห็นว่า กสทช. มีกฎหมายเฉพาะ จึงมีอำนาจพิจารณาการควบรวมดังกล่าวเองได้ อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มฯ มองว่า กขค. ย่อมไม่อาจปฏิเสธอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ ที่จะต้องเข้าร่วมการพิจารณาควบคู่กับไปกับ กสทช. เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนผู้บริโภค
ทั้งนี้ ในวันที่ 14 กันยายน 2565 เวลา 13.00 – 16.00 น. สภาองค์กรของผู้บริโภค จะจัดเวทีเสวนาออนไลน์ Consumers Forum EP.4 “ผลกระทบการผูกขาดมือถือต่อสิทธิพลเมืองในยุค5G” ขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยน ความคิดเห็น ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการควบรวมต่อสิทธิพลเมือง รวมทั้งระดมแนวคิด และหาทางออกในการคุ้มครองผู้บริโภค จากสถานการณ์การควบรวมกิจการในธุรกิจโทรคมนาคม โดยผู้บริโภคสามารถติดตามเวทีควบรวมดังกล่าวได้ที่ เฟซบุ๊กแฟนเพจ สภาองค์กรของผู้บริโภค