สภาผู้บริโภคเรียกร้องอัยการสูงสุด ชะลอการพิจารณาขยายสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 1 และ 2 รวมถึงการอนุมัติสร้างทางด่วนซ้อนชั้นที่ 2 พร้อมเรียกร้อง กทพ. เปิดเผยสัญญาเพื่อให้ประชาชนตรวจสอบ ต่อสัญญาอีก 22 ปี
จากกรณีที่ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เจรจากับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้รับสัมปทาน เรื่องการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 1 (ทางพิเศษเฉลิมมหานคร) และ ทางด่วนขี้นที่ 2 (ทางพิเศษศรีรัช) ออกไปอีก 22 ปี 5 เดือน จากเดิมสิ้นสุดปี 2578 ขยายไปถึงปี 2601 และปรับลดส่วนแบ่งรายได้ระหว่าง กทพ.กับเอกชน จากปัจจุบันสัดส่วน กทพ. 60 เอกชน 40 เหลือสัดส่วน 50 ต่อ 50 เพื่อแลกกับการลดอัตราค่าทางด่วนเหลือ 50 บาทตลอดเส้น ซึ่งในขณะนี้ มีการมอบให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนโครงการก่อสร้างทางด่วนซ้อนชั้นที่สอง (Double Deck) โดยเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2567 กทพ. ได้ส่งร่างสัญญา พร้อมข้อสังเกตของ กทพ. ให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาเรียบร้อยแล้ว นั้น
วันนี้ (28 มิถุนายน 2567) สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ระบุว่า สภาผู้บริโภคขอเรียกร้องให้อัยการชะลอการผ่านสัญญาฉบับดังกล่าว และเรียกร้องให้ กทพ. เปิดเผยสัญญาสัมปทาน เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบได้ เนื่องจากพบข้อมูลว่า การขยายสัมปทานดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อประชาชน เนื่องจาก กทพ. ต้องขอลดเงินนําส่งรายได้แผ่นดิน เท่ากับจํานวน รายได้ค่าผ่านทางที่ลดลงจากนโยบายการลดอัตราค่าผ่านทางพิเศษ
อีกทั้ง การนำโครงการก่อสร้างทางด่วนซ้อนชั้นที่สอง (Double Deck) เข้าไปรวมกับสัญญาของทางด่วนขั้นที่ 1 และ 2 อาจจะไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 เนื่องจากทางด่วนซ้อนชั้นที่สอง (Double Deck) ถือเป็นโครงการใหม่ กทพ. จึงต้องศึกษาผลกระทบและจัดทําแนวทางตามขั้นตอนของกฎหมาย
ทั้งนี้ เมื่อปี 2562 เคยมีข้อพิพาทเกี่ยวกับโครงการทางด่วนขั้นที่ 2 ระหว่าง กทพ. และ BEM โดยในครั้งนั้นเป็นประเด็นเรื่องที่ BEM ฟ้องร้อง กทพ. รวมมูลหนี้ 78,908 ล้านบาท โดยมีคดีที่ตัดสินไปแล้ว คิดเป็นค่าเสียหายประมาณ 4,000 ล้านบาทซึ่ง กทพ. ให้ขณะนั้นมีความสามารถที่จะจ่าย ส่วนอีกประมาณ 74,000 ล้านบาทเป็นคดีความที่ศาลยังไม่ได้ตัดสิน แต่ท้ายที่สุดข้อพิพาทดังกล่าวจบลงที่การยอมความ โดย กทพ. ยอมขยายระยเวลาสัญญาทางด่วนขั้นที่ 2 หรือทางพิเศษศรีรัช ทั้งส่วนเอ บี ซี และดี ออกไปจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2578 โดยไม่ฟังเสียงคัดค้านของประชาชน
ส่วนกรณีของทางด่วนซ้อนชั้นที่ 2 (Double Deck) นั้น ได้มีการคัดค้านเพื่อชะลอการสร้างได้สำเร็จในปี 2562 เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาข้อมูลผลกระทบและอื่น ๆ ก่อนอนุมัติ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเด็นถูกนำกลับเข้ามาเชื่อมกับการต่อสัญญาสัมปทานอีกครั้งหนึ่ง โดยที่ยังไม่มีการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนเช่นเดิม
“หากการต่อสัญญาสัมปทานในครั้งนี้ทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ ก็ไม่มีเหตุผลที่รัฐต้องปิดบัง ทั้งนี้ ขอให้อัยการสูงสุดทำหน้าที่พิจารณาสัญญาดังกล่าวอย่างเคร่งครัดและถ้วนถี่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน” สารีระบุ
สารี กล่าวทิ้งท้ายว่า หากในท้ายที่สุดรัฐไม่ยอมเปิดเผยสัญญาสัมปทาน การต่อสัญญาในครังนี้อาจกลายเป็นการซ้ำเติมประชาชน เพราะประเทศไทยมีบทเรียนจากการต่อสัญญาสัมปทานหลายฉบับ ทั้งรถไฟฟ้าสายสีเขียวหรือบีทีเอส รวมถึงทางยกระดับอุตราภิมุข หรือโทลล์เวย์ ซึ่งกำลังจะขึ้นราคา ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า ที่ผ่านมาการต่อสัญญาสัมปทานไม่เคยเป็นไปเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์ แต่กลับสร้างภาระกับประชาชน
อย่างไรก็ตาม การทำให้ประชาชนได้ใช้บริการในราคาค่าโดยสารที่เป็นธรรมนั้น อาจไม่ได้มีแค่ทางเลือกเดียวคือการต่อสัญญาสัมปทานเพราะนั่นอาจหมายถึงการผูกขาด จึงเห็นว่ารัฐควรพิจารณาแนวทางอื่นๆ เช่น การไม่ต่อสัญญาสัมปทาน เมื่อสัญญาสิ้นสุด อาจใช้วิธีจัดจ้างการเดินรถ และพิจารณากำหนดอัตราค่าโดยสารที่เป็นธรรมกับผู้บริโภค