ยื่น กมธ. ไอซีที เปิดผลสอบคุณสมบัติ ‘นพ.สรณ’ ประธาน กสทช.

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย – สภาผู้บริโภค ยื่น กมธ. ไอซีที เปิดเผยรายงานผลการตรวจสอบคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของ ‘นพ.สรณ’ รักษาการประธาน กสทช. ชี้ขัดมาตรา 8 (2) ของกฎหมาย กสทช.

วันนี้ (28 พฤษภาคม 2567) ดร. ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค พร้อมด้วยเครือข่ายผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร เข้ายื่นหนังสือต่อ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม (กมธ.ไอซีที) วุฒิสภา เพื่อขอให้พิจารณาและเปิดเผยรายงานผลการตรวจสอบคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ รักษาการประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : แถลงการณ์เรียกร้อง ให้เปิดเผยหลักฐานการมีคุณสมบัติต้องห้าม กสทช.

ดร. ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย ระบุว่า แม้ นพ.สรณได้ประกาศลาออกจากหน้าที่รองอธิการบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในวันที่ 7 มกราคม 2565 แต่มีหลักฐานที่ชี้ชัดว่า นพ.สรณ ยังมีสถานะเป็น “พนักงานมหาวิทยาลัย” และ “ลูกจ้างรายชั่วโมง” ที่ได้รับรายได้จากมหาวิทยาลัยมหิดล  จนถึงวันที่ 12 เมษายน 2565

ดังนั้น นพ.สรณ จึงมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8 (2) ของพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ปี 2553 ซึ่งระบุว่า กรรมการต้องไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือราชการส่วนท้องถิ่นและไม่เป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐ

“ประชาชนชาวไทย ครป. และสภาผู้บริโภคมีความคาดหวังด้านจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งใด ๆ ที่ได้มาจากการเลือกตั้ง การสรรหา การแต่งตั้งที่มีคุณค่าทางสังคม มากไปกว่าข้อกำหนดทางกฎหมาย นอกจากนี้ยังเชื่อัมั่นและเชื่อว่ากระบวนการการตรวจสอบและพิจารณาในเรื่องดังกล่าวจะเป็นไปตามหลักนิติธรรม” ดร. ลัดดาวัลย์ กล่าว

ขณะที่ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า ตามหลักการแล้วสำนักงาน กสทช. สามารถตรวจสอบและดำเนินการต่าง ๆ ได้เลยหากพบว่า นพ.สรณ ขาดคุณสมบัติ เพราะโดยปกติ คณะกรรมการ กสทช. จะมีการประชุมทุกสัปดาห์ เมื่อองค์ประกอบของคณะกรรมการมีปัญหาก็อาจส่งผลต่อมติของที่ประชุม

จึงอยากให้สำนักงาน กสทช. เร่งดำเนินการ เพราะการพิจารณาของ กสทช. เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการต่าง ๆ อีกทั้งคำสั่งต่าง ๆ ของ กสทช. นับเป็นกฎหมาย ดังนั้นหากดำเนินการล่าช้าอาจทำให้มีปัญหาในทางปฏิบัติได้ จึงอยากเห็นว่าสำนักงาน กสทช. โดยเฉพาะรักษาการเลขาธิการ กสทช. จะเร่งดำเนินการให้กรณีดังกล่าวอย่างตรงไปตรงมา

สำหรับผลกระทบหากตรวจพบว่ามีคุณสมบัติต้องห้าม และมีการถอดถอน นพ.สรณ ในฐานะประธาน กสทช. นั้น สารี ระบุว่า สำหรับมติของ กสทช. ที่ผ่านมาซึ่งมี นพ.สรณ เป็นประธานสำนักงาน กสทช. อาจต้องพิจารณาว่าเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวมหรือไม่ กรรมการควรจะได้พิจารณาในเรื่องนี้ โดยเฉพาะคณะกรรมการ กสทช. ทั้งหมด

ทางด้าน พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา กล่าวว่า การพิจารณาเรื่องดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาตามที่ประธานวุฒิสภามอบหมาย โดยพิจารณาตามเอกสาร หลักฐาน และข้อเท็จจริง โดยคาดว่าจะพิจารณาเสร็จภายในวันนี้และนำเสนอข้อมูลต่อศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา หลังจากนั้นประธานฯ จะเป็นผู้พิจารณาว่าเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบกับข้อเสนอของ กมธ. และจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

“หลังจากประชุมจะมีการเปิดเผยข้อมูลบันทึกรายงานการประชุมในครั้งนี้ลงในเว็บไซต์ หลังจากประชุมยุติแล้ว จะมีการเปิดเผยรายงาน เนื่องจากปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา บางเรื่องยังถือเป็นข้อพิจารณาอยู่ อาจจะยังทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ ทั้งนี้ กมธ.ไอซีที จะรับหนังสือของ ครป. และสภาผู้บริโภคไว้พิจารณาและจะพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด” พล.อ.อนันตพรกล่าว

#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค