Getting your Trinity Audio player ready...
|

เสวนาสภาผู้บริโภค ย้ำชัด รถนักเรียนปลอดภัย ต้องเริ่มจากบูรณาการข้อมูลและการทำงาน พร้อมวางเป้าหมายร่วม ” ลดอุบัติเหตุเป็นศูนย์ “
“ตัวเลข 10 คนไม่ใช่ตัวเลขที่ดูน้อย เพราะในความเป็นจริงแล้วไม่ควรมีผู้เสียชีวิตแม้แต่คนเดียว” นี่คือหนึ่งในประเด็นสำคัญจากงานเสวนา “หยุดความสูญเสียของเด็กจากรถรับส่งนักเรียนที่ไม่ปลอดภัย ทำอย่างไรให้อุบัติเหตุต้องเป็นศูนย์” ที่จัดขึ้นโดยสภาผู้บริโภค เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา
ภาพรวมจากการพูดคุยมีประเด็นสำคัญและป็นจุดร่วมของทุกหน่วยงานทั้งหมด 6 ประเด็น ได้แก่ 1. “ความปลอดภัยของเด็กและเยาวชน” คือเป้าหมายสูงสุด 2. ระบบการจัดการรถรับส่งนักเรียนต้องมีมาตรฐานความปลอดภัยมาตรฐานเดียว 3. นโยบายต้องชัดและต้องมีระบบสนับสนุนและแรงจูงใจให้กับผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ 4. ต้องมีกลไกบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 5. มีกองทุนสนับสนุนการพัฒนาความปลอดภัยทางถนน และ 6. เด็กทุกคนต้อง “ได้ขึ้นรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัย” อย่างไรก็ตาม แม้จะมีมาตรการและนโยบายที่ถูกผลักดันโดยหลายหน่วยงาน แต่ยังคงพบปัญหาเรื่องความปลอดภัยของเด็กซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไข
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สภาผู้บริโภค ชงหน่วยงานสนองมติ ครม. เร่งพัฒนาระบบรถรับส่งนักเรียน
เสนอวาระแห่งชาติ ’67 “รถรับส่งนักเรียนต้องปลอดภัย”
ความปลอดภัยต้องมาก่อน

ก่องกาญจน์ ทักษ์หิรัญฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้หลายประเทศทําเรื่องความปลอดภัยของนักเรียนได้สําเร็จ มากกว่า 50% มาจากการที่มีระบบขนส่งสาธารณะที่ดี เพราะว่าถ้ามีระบบ ขนส่งสาธารณะดี คนก็มีทางเลือกในการเดินทาง ทั้งนี้เด็กนักเรียนที่ต้องเดินทางทุกวันเพื่อไปกลับบ้านกับโรงเรียน ความปลอดภัยในการเดินทางไปและกลับจากโรงเรียนจึงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ
“หลายท่านอาจจะยังไม่ได้ให้ความสําคัญกับเรื่องของการลดปลอดภัยเท่าที่ควร เพราะว่าพ่อแม่ผู้ปกครองเองก็คงมองว่า จะทํายังไงไปส่งลูกที่โรงเรียนให้ทันแล้วก็เลิกโรงเรียน เป็นปัญหาเรื่องอื่นเรื่องการจราจรเสียส่วนใหญ่ แต่เรามองว่าไม่อยากให้มีภาพของอุบัติเหตุของรถรับส่งนักเรียนเกิดขึ้นอีกไม่ว่าจะเรื่องการเทกระจาด หรือแม้แต่กระทั่งเรื่องรถไฟไหม้ก็ตาม” ก่องกาญจน์ ระบุ
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาจึงเป็นที่มาของการผลักดันศูนย์เรียนรู้ 20 ศูนย์ร่วมกับสภาผู้บริโภค และยังมีเครือข่ายโรงเรียนอีกมากกว่าแห่งที่ทําเรื่องนี้ แต่ว่ายังไม่ได้จัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ แต่คิดว่าน่าจะเป็นตัวตั้งต้น ให้กับเพื่อนโรงเรียนรอบ ๆ ได้
รัฐ ‘ต้อง’ สร้างมาตรฐานความปลอดภัย

คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค ระบุว่า เป้าหมายต่อไปที่จะทำให้เกิดรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัยมีอยู่ 4 ส่วนที่สําคัญ 1) การทบทวนปัญหา ระเบียบข้อกฎหมาย การบังคับใช้ ทั้งในระดับกลางและส่วนท้องถิ่น 2) พัฒนาข้อมูล เช่น จํานวนรถที่แท้จริง การจัดการระบบที่เชื่อมต่อกัน 3) พัฒนาคน เติมองค์ความรู้ให้กับบุคลากร 4) พัฒนาเครื่องมือ กฎระเบียบที่สามารถปรับได้ เทคโนโลยีสนับสนุน หรือกองทุนที่จะช่วยเติมเต็มเรื่องความปลอดภัย
ทั้งนี้ จากการถอดบทเรียนโรงเรียนศูนย์เรียนรู้การจัดการรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย พบว่า นอกจากมีแผนของโรงเรียนแล้ว ผู้บริหารต้องให้ความสําคัญ เห็นด้วย และสนับสนุน อีกทั้งมีองค์กรผู้บริโภคมีส่วนร่วมก็ทําให้เกิดการคล่องตัวที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงหน่วยงานจังหวัดและท้องถิ่นให้ความสําคัญในการแก้ไขปัญหา และที่สำคัญคือนโยบายจากส่วนกลางต้องชัดเจน ซึ่งควรเป็นแผนการดําเนินงานตามมติ ครม.
“ระบบการศึกษา ไม่ใช่แค่การเรียนการสอนในห้องเรียนเท่านั้น อาจจะต้องหมายรวมถึงการเดินทางไปโรงเรียนที่ปลอดภัยด้วย ซึ่งเป็น บทบาทหน้าที่ของภาครัฐโดยตรง ที่จะต้องทําให้เกิดมาตรฐานความปลอดภัย และได้รับการศึกษาบนพื้นฐานของโอกาสที่ทั่วถึงและเท่าเทียม นี่คือหัวใจสําคัญของเรื่องการทําเรื่องรถรับส่งนักเรียนของสภาผู้บริโภค และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั้งหมด” คงศักดิ์กล่าว
กฎหมายเพอร์เฟกต์…แต่ปฏิบัติตามไม่ได้

ธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน แสดงความเห็นว่า กฎหมายเรื่องรถรับส่งนักเรียน “เพอร์เฟคแต่ปฎิบัติไม่ได้” เนื่องจากในความเห็นจริงคือรถหนึ่งคันต้องวิ่งออกจากหมู่บ้าน ซึ่งทั้งหมู่บ้านมีคันเดียว แล้วพอกำหนดสเปกของรถที่ปลอดภัยทำให้ข้อเท็จจริงกับระบบที่วางไว้ไม่ไปด้วยกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังหาข้อยุติไม่ได้และมีผลกระทบเชื่อมโยงไปถึงเรื่องความปลอดภัย

ทรงศักดิ์ สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เล่าว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีข้อเสนอแนะเรื่องรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยไปยังคณะรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2566 เนื่องจากมองว่านักเรียนนี้เป็นผู้ที่ใช้บริการที่สําคัญในเรื่องของรถรับส่งนักเรียน และวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ครม. รับทราบและสั่งการไปยังกระทรวงต่าง ๆ ให้ดำเนินนโยบายเพื่อด้านความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียน โดยมอบกระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานประสานงานจัดการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกำหนดให้จัดตั้งคณะทํางานเรื่องรถรับส่งนักเรียน ซึ่งเป็นข้อเสนอแนะที่สภาผู้บริโภคเคยให้ความเห็นไว้ รวมไปถึงประเด็นเรื่องระบบฐานข้อมูลร่วมกันระหว่างหน่วยงานด้วย ซึ่งสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน จะเร่งติดตามความคืบหน้าเพื่อให้เกิดการดำเนินการในเรื่องความปลอดภัยอย่างเป็นรูปธรรม
ต่างคนต่างแก้ปัญหา…อย่างตรงจุด?

ทางด้าน ปริญญา วรธำรง ผู้อำนวยการสำนักสวัสดิภาพการขนส่งทางบก กรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่ารถรับส่งนักเรียนที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องมีเพียงประมาณ 5,000 คัน ในขณะที่ความต้องการทั่วประเทศอยู่ในระดับหลักหมื่นคัน ส่งผลให้มีการใช้รถตู้หรือรถปิกอัพที่ไม่ได้จดทะเบียนถูกต้อง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของนักเรียน กรมฯ จึงตรวจสอบสภาพรถและกำหนดให้โรงเรียนต้องออกหนังสือรับรอง รวมถึงกำหนดมาตรฐานด้านความปลอดภัยเพิ่มเติม เช่น ที่กั้นกันตก การจัดวางที่นั่งที่มั่นคง และไฟสัญญาณเตือน เพื่อให้มั่นใจว่ารถรับส่งนักเรียนเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด
นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางบกได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อผลักดันให้มีการสนับสนุนงบประมาณสำหรับโรงเรียนที่ขาดแคลนทรัพยากร และพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง โดยมีโครงการยกระดับความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียน รวมถึงมาตรการเร่งด่วน เช่น การตรวจสอบสภาพรถที่ใช้ในการทัศนศึกษา การฝึกอบรมครูและพนักงานประจำรถเกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์นิรภัย และการจัดทำระบบให้คะแนนความปลอดภัย (Safety Rating) สำหรับรถโดยสารเช่าเหมา ซึ่งจะช่วยให้โรงเรียนสามารถเลือกใช้รถที่มีมาตรฐานความปลอดภัยสูงขึ้น

ในทำนองเดียวกัน ดร.ปิยนุช วุฒิสอน รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวถึงปัญหาความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียน โดยอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ไทยรัฐที่ระบุว่ามีรถจดทะเบียนถูกต้องเพียง 5,000 คัน จากจำนวนที่คาดว่ามีถึง 150,000 คัน ส่งผลให้เกิดช่องว่างด้านความปลอดภัยอย่างมาก ปัจจัยหลักของอุบัติเหตุ 70% มาจากตัวผู้ขับขี่ ขณะที่แต่ละปีมีเด็กบาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียนถึง 300-400 คน และยังมีกรณีเด็กติดอยู่ในรถ 31 เหตุการณ์ ทั้งนี้ หลายประเทศได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น กล้องตรวจจับในแคนาดา ระบบเรดาร์ในญี่ปุ่น และมาตรการให้คนขับตรวจสอบความปลอดภัยในเกาหลีใต้
เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว กระทรวงดิจิทัลฯ ได้ดำเนินโครงการนำร่องรถโรงเรียนอัจฉริยะ “Smart School Bus” ตั้งแต่ปี 2565-2567 โดยใช้งบประมาณ 98 ล้านบาท เพื่อติดตั้งอุปกรณ์เฝ้าระวังความปลอดภัยในรถ 3,500 คัน ครอบคลุมนักเรียน 35,000 คน ผ่านแพลตฟอร์มที่สามารถติดตามตำแหน่งรถ ตรวจสอบข้อมูลเรียลไทม์ และแจ้งเตือนไปยังผู้ปกครองและโรงเรียน ปัจจุบันโครงการกำลังเข้าสู่ช่วงปิดตัว โดยกระทรวงฯ มีแนวคิดขยายผลในอนาคต และเน้นย้ำถึงความจำเป็นของมาตรฐานความปลอดภัยขั้นต่ำ เช่น ระบบติดตามตำแหน่งและกล้องตรวจสอบ เพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลเด็กนักเรียน
ทั้งนี้ แม้ว่าทุกภาคส่วนจะมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การทำให้รถรับส่งนักเรียนปลอดภัยที่สุด แต่การดำเนินงานยังคงแยกกันทำ และไม่มีการบูรณาการที่เป็นเอกภาพเท่าที่ควร ส่งผลให้แนวทางปฏิบัติมีความเหลื่อมล้ำ การแก้ไขปัญหานี้จึงต้องอาศัยความร่วมมืออย่างจริงจังจากทุกฝ่าย ทั้งการกำหนดมาตรฐานเดียวกัน การบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ และการเชื่อมโยงฐานข้อมูลเพื่อให้เกิดระบบที่ครอบคลุมและยั่งยืน
เนื้อหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ครม.ยกระดับรถรับส่งนักเรียน ให้มหาดไทยกำหนดเป็นเรื่องระดับชาติ