ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ มีคำสั่งรับคดีทุจริตหุ้นกู้ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น เป็นคดีกลุ่ม หลังกลุ่มผู้เสียหายจากการลงทุนหุ้นกู้สตาร์ค ยื่นฟ้องผู้บริหารและกรรมการบริษัทฯ ฐานใช้ข้อมูลเท็จ กระตุ้นความเชื่อมั่นตลาดหลักทรัพย์กลับคืน
จากกรณีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2566 กลุ่มผู้เสียหายจากการลงทุนหุ้นกู้สตาร์ค ได้รวมตัวกันยื่นฟ้องผู้บริหารและกรรมการบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นคดีแบบกลุ่มต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ในความผิดฐานชี้ชวนซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จหรือไม่เป็นความจริง และปกปิดข้อมูลอันเป็นสาระสำคัญ โดยมีจำนวนผู้เสียหายกว่า 4,500 คน มูลค่าความเสียหายกว่า 9 พันล้านบาท นั้น
วันนี้ (28 มีนาคม 2567) จิณณะ แย้มอ่วม อนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร สภาผู้บริโภค และทนายความผู้ดูแลคดี แจ้งว่า เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2567 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ได้อ่านคำสั่งคดี พ.1527/2566 มีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีดังกล่าวเป็นแบบกลุ่ม โดยให้เหตุผลว่า ผู้บริหารและกรรมการบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ถูกฟ้องทั้ง 5 ราย ได้แก่ 1) วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการของบริษัทสตาร์ค 2) ชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตประธานกรรมการบริษัทสตาร์ค 3) ชินวัฒน์ อัศวโภคี อดีตผู้บริหารบริษัทสตาร์ค 4) ศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ อดีตประธานฝ่ายการเงินบริษัทสตาร์ค และ 5) กิตติศักดิ์ จิตต์ประเสริฐงาม อดีตผู้บริหารบริษัทสตาร์ค กระทำการโดยขาดความระมัดระวังและไม่ชื่อสัตย์สุจริต มีการตกแต่งบัญชีหรืองบการเงินที่เป็นเท็จทั้งนี้ คดีนี้มีผู้เสียหายจำนวนมาก และเป็นความเสียหายในลักษณะเดียวกัน หากต้องดำเนินคดีแบบทั่วไป คือฟ้องเป็นรายบุคคลจะทำให้เกิดความยุ่งยากและไม่สะดวก ดังนั้น การดำเนินคดีแบบกลุ่มจะเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพมากกว่า โจทก์และทนายโจทก์มีศักยภาพมากพอที่จะคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย
จิณณะกล่าวอีกว่า ศาลได้กำหนดขอบเขตของสมาชิกกลุ่ม คือ กลุ่มบุคคลที่ลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทสตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทุกคน หรือตามถ้อยคำของศาลที่ระบุว่า กลุ่มบุคคลที่ลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทสตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จากการชี้ชวนตามแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้และร่างหนังสือชี้ชวนจากการขายหุ้นกู้บริษัทสตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 1/2564 ทุกชุด ครั้งที่ 1/2565 ทุกชุด และครั้งที่ 2/2565 ทุกชุด
อย่างไรก็ตาม ผู้ถูกฟ้องมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มได้ภายใน 7 วันหรือในบางกรณีอาจมีการขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ หากพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์แล้วไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์คำสั่งให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทำรายงานเสนอศาลเพื่อพิจารณาสั่งคำฟ้องและนัดสืบพยานต่อไป
จิณณะ แสดงความเห็นอีกว่า กรณีที่เกิดขึ้นถือเป็นปัญหาใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์และส่งผลกระทบในวงกว้าง เพราะเหตุการณ์หุ้นกู้สตาร์คทำให้คนไม่กล้าลงทุนในหุ้นกู้อื่น ๆ ซึ่งกระทบต่อสภาพคล่องของบริษัทต่าง ๆ ทำให้ไม่สามารถหาทุนไปหมุนเวียนได้ ซึ่งสุดท้ายหากไม่สามารถกอบกู้ความเชื่อมั่นในตลาดทุนหรือตลาดหลักทรัพย์ได้ จะส่งผลต่อความเชื่อมันของผู้บริโภคและนักลงทุนซึ่งมีผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจ
ส่วนในมุมมองของการคุ้มครองผู้บริโภค การดําเนินคดีแบบกลุ่มมันย่อมเป็นผลดีกับผู้เสียหายโดยรวมทั้งหมด คดีหุ้นกู้สตาร์คที่เกิดขึ้นมีผู้เสียหายทั้งหมด 4,692 คน ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ มีทั้งคนที่ทราบและไม่ทราบข่าว แต่เมื่อศาลอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มเท่ากับว่าผู้เสียหายทุกคนมีสิทธิ์ที่จะได้รับการเยียวยา หากคดีนี้ผู้บริโภคชนะและได้ทรัพย์สินหรือเงินจากผู้กระทำผิด ผู้เสียหายทุกคนก็มีสิทธิ์ที่จะได้รับการเยียวยาจากการเฉลี่ยทรัพย์สินดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาในการดําเนินคดีที่อาจไม่ทันท่วงทีต่อการจัดการความเสียหายและการเยียวยาผู้บริโภค ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ตัดสินใจฟ้องกรรมการเพียง 5 ราย ทั้งที่ในความเป็นจริงบุคคลที่ต้องรับผิดมีมากกว่านั้น
“หากฟ้องจําเลยจำนวนมาก ก็ทำให้ต้งใช้เวลาในการสืบพยานค่อนข้างนาน เพราะจําเลยแต่ละคนถ้าเกิดแต่งทนายเข้ามาทุกคนกว่าจะหาวันนัดวันว่างตรงกันหรือกว่าจะสืบพยานเสร็จหมดทุกคนแต่ละฝ่ายก็ใช้เวลานาน จึงตัดสินใจว่าเอาเฉพาะคนที่มีความผิดและมีพยานหลักฐานค่อนข้างชัดเจน และมีโอกาสที่จะได้เงินเข้ามาเยียวยาให้ผู้เสียหาย อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องรายอื่น ๆ ที่มีส่วนร่วมในการกระทําผิด เราก็ไม่ได้นิ่งเฉยและกําลังมองว่าจําเป็นที่จะต้องฟ้องหรือไม่ ซึ่งอยู่ในระหว่างการหารือกับกลุ่มผู้เสียหาย”