สภาองค์กรของผู้บริโภค เผย พบหมี่ซีดาพขายเกลื่อนออนไลน์ แม้ ถูกสั่งระงับการขาย พร้อมเร่ง อย. พัฒนาระบบการเฝ้าระวัง – แจ้งเตือนภัย “แบบมีส่วนร่วมกับองค์กรผู้บริโภค”
จากกรณีเมื่อต้นเดือนตุลาคม 25652 สำนักงานอาหารสิงคโปร์ได้เรียกคืนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ตราหมี่ซีดาพ (Mie Sedaap) จำนวน 2 รายการ (ที่มา : สิงคโปร์เรียกคืนบะหมี่ Mie Sedaap จากอินโดฯตรวจพบปนเปื้อนยาฆ่าแมลง) หลังพบการปนเปื้อนสารเอทิลีนออกไซด์ซึ่งเป็นส่วนประกอบของยาฆ่าแมลง
และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีหนังสือ ถึงผู้จัดการสถานที่จำหน่ายอาหาร ขอความร่วมมือนำผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อดังกล่าวออกจากชั้นจำหน่ายสินค้าและระงับการจำหน่าย (อ่านข่าวได้ที่ : อย.ระงับขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซีดาพ ปมสิงคโปร์เรียกคืนหลังพบสารปนเปื้อน) นั้น
วันนี้ (27 ตุลาคม 2565) ปาณิสรา ดวงภูมิเมศ หัวหน้าหน่วยงานเขตพื้นที่ภาคตะวันตก สภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยว่า หลังจากที่ อย. สั่งระงับการขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตราหมี่ซีดาพ ศูนย์เฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยของสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ร่วมกับหน่วยงานเขตพื้นที่ภาคตะวันตก สุ่มตรวจสอบการขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อดังกล่าวผ่านช่องทางออนไลน์ โดยพบว่ายังมีการจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ยี่ห้อหมี่ซีดาพ ทั้งนี้ทางหน่วยงานฯ มีผลิตภัณฑ์ที่หน่วยงานฯ สุ่มซื้อจากช่องทางออนไลน์ ทั้งหมด 9 ตัวอย่าง แบ่งเป็น
หมี่ซีดาพ โคเรียน สไปซี่ ชิคเค่น (บะหมี่แห้งกึ่งสำเร็จรูปรสไก่เผ็ดเกาหลี) (ซองสีดำ) จำนวน 6 ตัวอย่าง ได้แก่ (1) รุ่นวันที่ผลิต 16 มีนาคม 2565 วันหมดอายุ 16 มีนาคม 2566 (2) รุ่นวันที่ผลิต 24 มีนาคม 2565 วันหมดอายุ 24 มีนาคม 2566 (3) รุ่นวันที่ผลิต 9 พฤษภาคม 2565 วันหมดอายุ 9 พฤษภาคม 2566 (4) รุ่นวันที่ผลิต 4 เมษายน 2565 วันหมดอายุ 4 เมษายน 2566 (5) รุ่นวันที่ผลิต 19 พฤษภาคม 2565 วันหมดอายุ 9 พฤษภาคม 2566 และ (6) รุ่นวันที่ผลิต 25 พฤษภาคม 2565 วันหมดอายุ 25 พฤษภาคม 2566
หมี่ซีดาพ หมี่โกเรง เพอริซ่า แอสลิ (บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปชนิดแห้ง รสไก่กระเทียมหัวหอม) (ซองสีชาว) จำนวน 3 ตัวอย่าง ได้แก่ (1) รุ่นวันที่ผลิต 23 มิถุนายน 2565 วันหมดอายุ 23 มิถุนายน 2566 (2) รุ่นวันที่ผลิต 16 พฤษภาคม 2565 วันหมดอายุ 16 พฤษภาคม 2566 และ (3) รุ่นวันที่ผลิต 11 กรกฎาคม 2565 วันหมดอายุ 11 กรกฎาคม 2566
ปาณิสรา กล่าวอีกว่า การที่ผู้บริโภคสามารถพบเห็นและสั่งซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปดังกล่าวได้ผ่านช่องทางออนไลน์ แม้ อย. จะขอความร่วมมือระงับการจำหน่ายแล้ว แสดงให้เห็นว่า มีผู้ประกอบการที่เพิกเฉย ยังคงจำหน่ายบะหมี่ยี่ห้อและรุ่นดังกล่าวอยู่
นอกจากนี้ยังพบว่าบะหมี่ที่สุ่มซื้อมาได้ ไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่มีเลขสารบบอาหาร ซึ่งเข้าข่ายขายอาหารผิดกฎหมาย ทั้งนี้ เครือข่ายองค์กรของผู้บริโภคภาคตะวันตก และสภาองค์กรของผู้บริโภค จะส่งตัวอย่างบะหมี่ดังกล่าวให้กับ อย. เพื่อตรวจหาสารเอทิลีนออกไซด์ และดำเนินการตามกฎหมายกับร้านค้าออนไลน์ที่จำหน่ายสินค้าดังกล่าว ต่อไป
มลฤดี โพธิ์อินทร์ ผู้ช่วยเลขาอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า
ในกรณีนี้ การจัดการแก้ไขปัญหาจำเป็นต้องเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพราะหากดำเนินการล่าช้าอาจส่งผลให้มีจำนวนผู้บริโภคได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้น สภาองค์กรของผู้บริโภคจึงขอเรียกร้องให้ อย. เร่งพัฒนาระบบการเฝ้าระวัง และแจ้งเตือนภัย “แบบมีส่วนร่วมกับองค์กรผู้บริโภค” รวมถึงการเร่งผลักดัน (ร่าง) พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. …. ที่อยู่ในชั้นกรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎร เพราะในร่างประกาศดังกล่าวให้อำนาจ อย. ในการเรียกคืนสินค้าผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
ทั้งนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภค ในฐานะตัวแทนผู้บริโภค ตาม พ.ร.บ. การจัดตั้งสภาองค์รของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 รวมถึงเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ ยินดีให้ความร่วมมือ สนับสนุน ตลอดจนเสนอแนะ เพื่อพัฒนาระบบ การเฝ้าระวังและเตือนภัย ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยอย่างแท้จริง