สภาองค์กรของผู้บริโภค พบเหยื่อถุงลมมรณะเพิ่ม เผยปัจจุบันยังมีรถยนต์ที่ไม่ได้เปลี่ยนถุงลมนิรภัยอันตราย อีก 616,184 คัน ชี้ใช้เวลา 12 ปี ถึงจะเรียกคืนหมด เรียกร้องหน่วยงานกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ค่ายรถรุกเตือนภัยและประชาสัมพันธ์ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค
จากการที่สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) เรียกร้องให้บริษัทรถยนต์จำนวน 8 ยี่ห้อ เร่งเปลี่ยนถุงลมนิรภัยให้กับลูกค้า โดยเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา สภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุในการแถลงข่าวว่าถุงลมนิรภัยยี่ห้อทาคาตะ (Takata) เป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกได้เรียกรถยนต์คืนและเปลี่ยนถุงลมนิรภัยให้แล้ว ขณะที่ในประเทศไทยยังเหลือรถยนต์กว่าหกแสนคันที่ยังไม่ได้รับการเปลี่ยนถุงลมนิรภัย
ดังนั้น สภาองค์กรของผู้บริโภคจึงเรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) แก้ไขปัญหา ‘สินค้าไม่ปลอดภัย’ โดยผลักดันให้รถยนต์ที่ติดตั้งถุงลมนิรภัยยี่ห้อดังกล่าว ต้องได้เปลี่ยนถุงลมนิรภัยใหม่เพื่อความปลอดภัย และ สคบ. ได้ดำเนินการผลักดันให้บริษัทรถยนต์ 8 ยี่ห้อ เรียกคืนรถยนต์ทุกคันที่ติดตั้งถุงลมนิรภัยยี่ห้อทาคาตะเข้าเปลี่ยนถุงลมใหม่เพื่อความปลอดภัย รวมถึงให้บริษัทรถยนต์แต่ละบริษัทประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้ผู้บริโภคทราบถึงอันตรายหากไม่นำมาเปลี่ยน และต้องรายงานความคืบหน้าทุกเดือนนั้น
วันนี้ (27 ตุลาคม 2565) สภาองค์กรของผู้บริโภค จัดแถลงข่าว ‘พบเหยื่อถุงลมมรณะเพิ่ม เผยยอดรถเสี่ยงตายร่วม 6 แสนคัน’ เพื่อเรียกร้องให้ สคบ. หน่วยงานกำกับดูแล และบริษัทรถยนต์ 8 บริษัท เร่งเรียกคืนรถยนต์ที่เข้าข่ายต้องเปลี่ยนถุงลมนิรภัยเข้ามาเปลี่ยนถุงลมนิรภัยใหม่โดยเร็ว
รวมทั้งขอให้ สคบ. บังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 กับทั้ง 8 บริษัทรถยนต์ เมื่อผู้ประกอบธุรกิจไม่รายงานผลจัดทำรายละเอียดและขั้นตอนการดำเนินงานให้กับ สคบ. หลังลงนามในบันทึกความตกลง (MOU) กับกรมขนส่งทางบก เนื่องจากที่ผ่านมาการเรียกคืนรถยนต์เพื่อเปลี่ยนถุงลมนิรภัยใหม่ยังมีความล่าช้าอยู่
โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า จากข้อมูลของสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่เปิดเผยออกมาตั้งแต่ช่วงหลังการแถลงข่าวเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา จนถึงวันที่ 11 ตุลาคม 2565 พบว่า ในระยะเวลา 5 เดือน มีรถยนต์ที่เข้ารับการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยเพิ่มเติมจำนวน 21,155 คัน เฉลี่ยวันละ 141 คัน หรือคิดเป็นร้อย 3.3 ของจำนวนรถทั้งหมด และทำให้ปัจจุบันมีรถยนต์จำนวน 616,184 คัน ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข
“หากลองคำนวณจำนวนเวลาในการเรียกคืนรถยนต์ที่เข้าข่ายต้องเปลี่ยนถุงลมนิรภัยทั้งหมดในประเทศไทย จะต้องใช้เวลาถึง 4,370 วันหรือประมาณ 12 ปีเลยทีเดียว จึงเห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ภาครัฐและบริษัทรถยนต์จำเป็นต้องแก้ไขอย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมามีความล่าช้าและผู้บริโภคยังพบปัญหาหลาย ๆ อย่าง ทั้งถูกเรียกเก็บเงินหรือถูกปฎิเสธที่จะได้รับการเปลี่ยน จนอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้บริโภคเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตได้” โสภณ กล่าว
อย่างไรก็ตาม จากการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ Consumer Reports พบว่า ยังมีข้อมูลของบริษัทรถยนต์ที่ถูกเรียกคืนเพื่อรับการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยนอกเหนือจาก 8 ยี่ห้อในประเทศไทยอีก ได้แก่ Jaguar Land Rover Subaru Tesla Volkswagen Audi Mercedes-Benz Lexus เป็นต้น และหากบริษัทรถยนต์รถเหล่านี้มีรถยนต์รุ่นที่มีปัญหาถุงลมนิรภัยวางจำหน่ายภายในประเทศไทย อาจหมายถึงยังมีรถยนต์จำนวนมากกว่าหกแสนคันในประเทศไทยยังไม่ได้รับการเปลี่ยนถุงลมนิรภัย
ดังนั้น สภาองค์กรของผู้บริโภคจึงเรียกร้องให้บริษัทรถยนต์ทุกยี่ห้อตรวจสอบและประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภครับทราบเพื่อที่จะได้นำรถยนต์เข้าไปเปลี่ยนถุงลมนิรภัยเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค รวมถึงขอให้ สคบ. กรมการขนส่งทางบก และสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยประสานงานกับอู่รถยนต์ต่าง ๆ เพื่อให้รับทราบข้อมูลของถุงลมนิรภัยที่มีปัญหา เนื่องจากพบว่ามีกรณีที่ผู้บริโภคเสียชีวิตจากถุงลมนิรภัยที่มีการเปลี่ยนอะไหล่ในรถยนต์ที่เข้าซ่อมในอู่รถยนต์ด้วย
ด้าน ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธ์ หัวหน้าสาขาวิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และนายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ในประเทศไทยมีกรณีผู้ที่ได้รับความเสียหายจากชิ้นส่วนที่กระเด็นออกมาจากถุงลมนิรภัยทั้งหมด 3 ราย โดยจากการชันสูตรพลิกศพของผู้เสียชีวิตสองราย ได้รับการยืนยันว่าเกิดจากชิ้นส่วนจากถุงลมนิรภัยจริง ส่วนอีกหนึ่งรายเป็นรายที่เศษโลหะของถุงลมกระเด็นเข้าไปที่กรามจนเกือบทำให้เสียชีวิต ปัจจุบันผู้เสียหายรายนี้ตาบอดและหูข้างขวาไม่ได้ยินเสียง
ผศ.นพ.สมิทธิ์ กล่าวอีกว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญและแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน รวมทั้งผลักดันให้ผู้ที่มีรถยนต์ที่ติดตั้งถุงลมชำรุดดังกล่าวได้เปลี่ยนถุงลมใหม่โดยเร็ว เพื่อไม่ให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากถุงลมนิรภัยที่ควรเป็นอุปกรณ์เพื่อการช่วยชีวิตเพิ่มขึ้นอีก
อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตถึงวิธีการตรวจสอบที่ผู้บริโภคจะสามารถตรวจสอบได้อย่างไรว่ารถยนต์ของตัวเองได้รับการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยแล้วจริงหรือไม่ เพราะที่ผ่านมามีตัวอย่างของผู้เสียชีวิตจากการได้รับอันตรายจากชิ้นส่วนของถุงลมนิรภัย แต่เมื่อตรวจสอบกลับพบว่ารถยนต์ของผู้เสียชีวิตได้รับการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยไปแล้ว
นอกจากนี้ ผศ.นพ.สมิทธิ์ ฝากถึงผู้บริโภคว่า เมื่อทราบข่าวการเรียกคืนให้เปลี่ยนถุงลมนิรภัยแล้วต้องช่วยกันกระจาย ช่วยส่งต่อ หรือบอกต่อให้กับคนอื่นถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิตได้จากอุบัติเหตุธรรมดา
ด้าน ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง ประธานอนุกรรมการด้านสินค้าและบริการทั่วไป สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่าในต่างประเทศ เมื่อมีรถยนต์ยี่ห้อใด ๆ มีปัญหาหรือมีความชำรุดบกพร่อง หน่วยงานกำกับดูแลจะออกประกาศหยุดจำหน่ายรถยนต์ที่มีปัญหาทันที ลำดับต่อมาคือการแจ้งหน่วยงานหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และจะมีการแจ้งเตือนสินค้าไม่ปลอดภัย ให้ลูกค้าเข้ามาซ่อมแซม แต่หากไม่สามารถซ่อมแซมได้จะเปลี่ยนรถยนต์คันใหม่ หรือ คืนเงินให้ผู้บริโภค
อย่างไรก็ตามการแจ้งเตือนให้ผู้บริโภคทราบข้อมูลการเรียกคืนของหน่วยงานกำกับดูแลหรือบริษัทรถยนต์ต่าง ๆ จะมีการเผยแพร่ข้อมูลการเรียกคืนที่ชัดเจน ขณะที่การเผยแพร่ข้อมูลการเรียกคืนรถยนต์ในประเทศไทยมักจะเข้าถึงได้ยาก มีการประชาสัมพันธ์เป็นบางช่วง ไม่ต่อเนื่อง จนทำให้ผู้บริโภคเข้าไม่ถึงข้อมูล
ทั้งนี้ เหตุผลที่ในต่างประเทศเอาจริงเอาจังกับการเรียกคืนเกิดจากกระบวนการยุติธรรมที่เข้มแข็ง เป็นผลให้บริษัทต่าง ๆ ตระหนักและพยายามไม่สร้างปัญหาให้บริษัทตัวเอง หรือแม้แต่การที่รัฐพยายามออกกลไกหรือมาตรการออกมากำกับดูแลให้บริษัทต้องเร่งซอมแซมหรือเปลี่ยนสินค้าคืนให้ผู้บริโภค
เช่น การมีกฎหมายที่เกี่ยวกับความชำรุดบกพร่องของสินค้าโดยเฉพาะ จึงทำให้ผู้บริโภคได้รับการชดเชยเยียวยาที่รวดเร็ว ซึ่งในประเทศไทยนั้นกำลังมีการผลักดันร่างกฎหมายความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า หรือที่เรียกกันว่า Lemon Law เช่นเดียวกัน ในอนาคตหากมีการบังคับใช้กฎหมายเฉพาะฉบับนี้จะเป็นประโยชน์กับการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นอย่างมาก
“ประเทศไทยมีโครงสร้างของหน่วยงานที่กำกับดูแลอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันยังขาดกลไกการทำงานแบบบูรณาการในการติดตามเฝ้าระวังสภานการณ์ในการจัดการปัญหาทั้งระบบ
ดังนั้น จึงเห็นว่าภาครัฐต้องผลักดันกฎหมาย และทำหน้าที่กำกับดูแลให้เข้มข้น โดยเฉพาะการติดตามกำกับดูแลสินค้าหลังอนุญาตให้วางจำหน่าย (Post-Marketing) อีกทั้งควรเพิ่มความสามารถของภาครัฐให้สามารถตรวจสอบและแก้ไขปัญหาให้มีความครอบคลุมมากกว่านี้ เพื่อทำให้รถยนต์กว่า 6 แสนคันที่ยังไม่ได้เปลี่ยนถุงลมนิรภัยได้รับการแก้ไข ไม่เป็นระเบิดเวลาที่ติดอยู่กับผู้บริโภค” ดร.ไพบูลย์ กล่าว
ขณะที่ ผศ.วรวุฒิ อ่อนน่วม อาจารย์สาขาวิชาการสร้างสรรค์คอนเทนต์ดิจิทัล วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า สิ่งที่พบในการประชาสัมพันธ์ของบริษัทรถยนต์ขณะนี้ คือ แต่ละบริษัทมีการประชาสัมพันธ์ในประเด็นการเรียกคืนรถยนต์เข้ามาเปลี่ยนถุงลมนิรภัยใหม่ แต่ยังไม่มีความจริงจังหรือความต่อเนื่องเมื่อเทียบกับที่ประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความปลอดภัยในชีวิต เห็นได้จากมีการประชาสัมพันธ์เป็นช่วง ๆ หรือการเข้าถึงที่ซับซ้อนและทำให้เกิดความไม่สะดวกกับผู้บริโภค
แต่ในทางปฏิบัติแล้วเมื่อผู้ใช้บริการเข้าสู่หน้าเว็บไซต์หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรจะมีการแสดงข้อมูลประชาสัมพันธ์บริการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยอยู่ในตำแหน่งที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนและง่ายต่อการหาข้อมูล รวมถึงประเด็นที่บริษัทรถยนต์อาจเกรงว่าการเผยแพร่ข้อมูลให้ผู้บริโภคมาเปลี่ยนถุงลมนิรภัยใหม่จะเป็นการสร้างภาพลักษณ์เชิงลบกับบริษัทในประเด็นสินค้าไม่มีคุณภาพ จึงอาจทำให้ไม่เห็นการประชาสัมพันธ์ของบริษัทรถยนต์ที่เป็นรูปธรรมเท่าที่ควร
“แทนที่จะมองว่าการสื่อสารให้ผู้บริโภคกลับเข้ามาเพื่อแก้ไขและเปลี่ยนถุงลมนิรภัยใหม่เป็นภาพเชิงลบสำหรับบริษัท อยากให้บริษัทรถยนต์คิดว่าต้องพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส มองเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของทุกคน โดยการคำนึงและแสดงความห่วงใยต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ผ่านการสื่อสารเรื่องการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยให้มากยิ่งขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา คือ ผู้บริโภคจะหันกลับมาหาบริษัท เพราะรู้สึกว่าเขาได้รับการดูแลในฐานะของลูกค้าคนหนึ่ง สิ่งนี้น่าจะเป็นการสร้างคุณค่าการสื่อสารเชิงภาพลักษณ์ (Value) ที่บริษัทรถยนต์จะได้จากความเชื่อมั่น ความไว้ใจจากผู้บริโภค (Brand Loyalty) ซึ่งเป็นมูลค่าที่นับไม่ถ้วนและมีมูลค่ามากกว่าตัวเงินอีกด้วย” ผศ.วรวุฒิ กล่าว
ผศ.วรวุฒิ กล่าวอีกว่า มีความเชื่อมั่นว่าถ้าข้อมูลถึงมือผู้บริโภค ก็จะเกิดการย้อนคิดและไปตรวจสอบรถยนต์ของตัวเอง แต่ปัญหาขณะนี้คือข้อมูลไปไม่ถึงผู้บริโภค การทำให้ข้อมูลถูกเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างนั้นและการจะทำให้บริษัทตระหนักถึงเรื่องความปลอดภัยและส่งต่อไปยังผู้บริโภค จำเป็นต้องสื่อสารแบบบูรณาการทุกภาคส่วน
โดย ผศ.วรวุฒิ เน้นย้ำว่าการสื่อสารต้องทำให้เกิดการ ‘ตระหนักรู้ ตื่นตัว ตรวจสอบ และนำไปสู่การแก้ไข’ ซึ่งต้องเริ่มจากหน่วยงานกำกับดูแล อาทิเช่น กรมการขนส่งทางบก สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือแม้แต่รัฐบาลกลาง ที่จะต้องให้ความสำคัญกับการกำหนดเรื่องการเรียกคืนรถยนต์เข้ามาเปลี่ยนถุงลมนิรภัยใหม่เป็นวาระข่าวสารแห่งชาติ (Agenda Setting) โดยอย่าทำเพียงคิดว่าเป็นบทบาทหรือเป็นวาระที่ต้องทำในช่วงนั้น เพื่อให้มีการออกแบบ วางแผนอย่างเป็นระบบ รวมถึงสื่อสารทุกช่องทาง ทั้งสื่อดั้งเดิมและออนไลน์
อีกทั้งต้องสื่อสารกับสื่อมวลชนเพื่อให้เรื่องนี้ถูกพูดถึงอย่างจริงจังและอย่างต่อเนื่อง หลังจากนั้นบริษัทรถยนต์ต่าง ๆ จะต้องออกมาสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับบริษัทตัวเองโดยการประชาสัมพันธ์ ที่ตามมา คือ ผู้บริโภคจะเริ่มขยับตาม และหันกลับไปสำรวจ ตรวจสอบรถยนต์และความปลอดภัยในการขับขี่ของตัวเอง รวมไปถึงการเริ่มออกมาทวงสิทธิผู้บริโภคในฐานะผู้ใช้งานที่จะต้องได้รับความปลอดภัยและต้องได้รับการดูแลจากบริษัทรถยนต์
ผู้บริโภคสามารถเข้าไปตรวจสอบว่ารถยนต์เข้าข่ายที่ต้องเปลี่ยนถุงลมนิรภัยหรือไม่ ได้ที่ www.checkairbag.com เว็บไซต์ของกรมการขนส่งทางบก หรือเว็บไซต์ tcc.or.th (เว็บไซต์ของสภาองค์กรของผู้บริโภค) หรือนำรถยนต์เข้าไปตรวจสอบได้ที่ศูนย์บริการทุกสาขา หรือสามารถติดต่อสายด่วน 1584 ของกรมการขนส่งทางบก เพื่อสอบถามข้อมูลได้ตลอด 24 ชั่วโมง หากพบว่ารถยนต์เข้าข่ายต้องเปลี่ยน สามารถติดต่อฝ่ายบริการลูกค้าทางโทรศัพท์ (Call Center) ของแต่ละบริษัทรถยนต์ เพื่อนำเข้าไปเปลี่ยนถุงลมนิรภัยได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
อย่างไรก็ตาม หากพบปัญหาการถูกปฏิเสธไม่รับเปลี่ยนถุงลมนิรภัย หรือถูกเรียกเก็บค่าบริการ หรือพบปัญหาอื่น ๆ สามารถร้องเรียนไปยัง สคบ. ที่เบอร์สายด่วน 1166 และสามารถร้องเรียนออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ complaint.ocpb.go.th หรือ ร้องเรียนกับสภาองค์กรของผู้บริโภค ผ่านช่องทางออนไลน์ที่เว็บไซต์ tcc.or.th หรือโทรศัพท์ 02 239 1839 กด 1