เครือข่ายภาคประชาชน เสนอร่าง พ.ร.บ. ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ พร้อมเตรียมเข้าชื่อ 10,000 รายชื่อ ผลักดันกฎหมายบำนาญถ้วนหน้า
วันนี้ (27 กันยายน 2566) เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เครือข่าย We Fair ประสานเสียงภาคประชาสังคม สลัม แรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ ชนเผ่า สื่อมวลชน คนพิการ คนรุ่นใหม่ พีมูฟ ผู้บริโภค นักวิชาการ ยื่นรายชื่อผู้ริเริ่มเสนอร่างพระราชบัญญัติผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ พ.ศ. …. ที่รัฐสภา พร้อมเตรียมเข้าชื่อ 10,000 รายชื่อ ผลักดันบำนาญถ้วนหน้าให้กับผู้สูงอายุทุกคนช่วงเปิดสมัยประชุม กลางเดือนธันวาคม 2566
ร่าง พ.ร.บ. ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ พ.ศ. … ที่ภาคประชาชนเสนอนั้น เป็นการพัฒนากฎหมายจาก พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 โดยมีสาระสำคัญ คือ การพัฒนาเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบขั้นบันได 600-1,000 บาท เป็นระบบบำนาญประชาชนถ้วนหน้า ให้มีอัตราไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจนของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อเป็นหลักประกันรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป อันเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและสังคมไทย
อย่างไรก็ดี ในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมา เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ได้ยื่นเสนอร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ พ.ศ. … ฉบับประชาชน เข้าสู่สภาในเดือนธันวาคม 2562 แต่ไม่ผ่านการพิจารณาของนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา อ้างว่ามีความซ้ำซ้อนกับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และเป็นภาระงบประมาณ ดังนั้น ในร่างกฎหมายฉบับปรับปรุงใหม่นั้น จึงบัญญัติที่มาของงบประมาณในการจัดทำบำนาญพื้นฐานแห่งชาติไว้ด้วย
ส่วนรายชื่อผู้ยื่นริเริ่มเสนอกฎหมาย ประกอบด้วย นักวิชาการ นักกิจกรรมทางสังคม เครือข่ายภาคประชาชนในประเด็นต่างๆ จำนวน 24 คน อาทิ ศาสตราจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย รศ.ดร. ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี จอน อึ๊งภากรณ์ นิมิตร์ เทียนอุดม จำนงค์ หนูพันธ์ นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล บุญยืน ศิริธรรม สุรีรัตน์ ตรีมรรคา อธิพันธ์ ว่องไว เป็นต้น
ส่วนผู้ที่สนใจเข้าร่วมลงลายมือชื่อเสนอกฎหมายนั้น สามารถติดตามข้อมูลได้จากเพจ บำนาญแห่งชาติ หรือเพจ We Fair