สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) คัดค้านรัฐเข้าร่วม ‘CPTPP’ ในภาวะวิกฤต ชี้อาจไม่บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs หากไม่คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย
จากการที่คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่มีดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี ประชุมเมื่อวันอังคารที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้สรุปความเห็นเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) นั้น
วันนี้ (27 มิถุนายน 2564) สอบ.ขอคัดค้านวาระดังกล่าว เนื่องจากการเข้าร่วมความตกลง CPTPP ยังมีความเห็นต่างในเรื่องผลได้ทางเศรษฐกิจ และผลกระทบทางลบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนไทยทั้งประเทศ อีกทั้งอาจทำลายความพยายามของรัฐบาลในการบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) หากเข้าร่วมความตกลง CPTPP ด้วยความไม่รอบคอบและไม่ได้มองถึงประโยชน์ของประชาชนผู้บริโภคส่วนใหญ่ ที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่กลับนำผลประโยชน์ทางธุรกิจของกลุ่มคนส่วนน้อยของประเทศมาพิจารณาเพื่อเข้าร่วมแทน
สอบ. มองว่า การเข้าร่วมความตกลง CPTPP มีผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคหลายด้าน หลายประเด็น ดังนี้
1.ค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศไทยจะสูงขึ้น และอุตสาหกรรมผลิตยาภายในประเทศจะชะงักงันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมาตรการเชื่อมโยงสิทธิบัตรและการขึ้นทะเบียนยา (Patent Linkage)
2.ประเทศไทยจะถูกจำกัดการใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อเข้าถึงยาที่จำเป็น และพิทักษ์ คุ้มครองสุขภาพของประชาชน เนื่องจากสุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง ตามข้อบทว่าด้วยการคุ้มครองการลงทุน
3.รัฐบาลไทยจะไม่สามารถสนับสนุนองค์การเภสัชกรรมให้ปฏิบัติพันธกิจส่งเสริมการเข้าถึงยาและความมั่นคงทางยาของประเทศได้อีกต่อไป
4.ประเทศไทยถูกบังคับให้นำเข้าเครื่องมือแพทย์ใช้แล้วที่ผ่านกระบวนการผลิตซ้ำหรือผลิตใหม่ ในขณะที่ประเทศยังไม่มีศักยภาพในการควบคุมกำกับเครื่องมือแพทย์เหล่านี้ ส่งผลให้ผู้ป่วยอาจได้รับการวินิจฉัย และการรักษาโรคผิดพลาด หรือไม่ได้มาตรฐาน
5.ผู้บริโภคจะได้รับความเสี่ยงจากภัยของเครื่องสำอางที่ด้อยคุณภาพ
6.ฐานทรัพยากรด้านสมุนไพรของไทย ซึ่งสามารถจะพัฒนาต่อยอดเป็นยาและเวชภัณฑ์ อาจถูกยึดครองด้วยบรรษัทต่างชาติ
7.เกษตรกรที่ซื้อพันธุ์พืชใหม่มาปลูกจะต้องจ่ายค่าเมล็ดพันธุ์ในราคาสูงขึ้น 2 – 6 เท่า
8.ผู้บริโภคอาจได้รับอันตรายจากผลิตภัณฑ์ที่มีหรือปนเปื้อนสารตัดแต่งพันธุกรรม (GMOs) และการปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดงในเนื้อหมูและเครื่องในหมู (อ่านผลกระทบของการเข้าร่วม CPTPP ต่อผู้บริโภค ได้ที่ https://drive.google.com/…/1QBoMMCZDnVIcjzi8Ndi…/view…)
ขณะที่บทความ ‘มอง CPTPP ผ่านเลนส์ SDGs: การพัฒนาที่ไม่สมดุล’ โดย ผศ.ชล บุนนาค ผู้อํานวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และเครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย (SDSN Thailand) ระบุโดยสรุปถึงประเด็นสำคัญเมื่อเปรียบเทียบ CPTPP กับกรอบ SDGs ว่า ความตกลง CPTPP นั้นยังค่อนข้างขัดแย้งกับ SDGs อย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ CPTPP สะท้อนแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาที่ขาดความสมดุล หรือมองเพียงมิติเศรษฐกิจในระดับมหภาคเท่านั้น แต่ขาดการมองผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับมิติสังคมและสิ่งแวดล้อม (ตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน – Sustainable Development) และที่สำคัญ คือ ขาดการมองผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนกลุ่มที่ยากจนและเปราะบาง เช่น เกษตรกร และคนยากจน (ตามหลักการพัฒนาที่ครอบคลุม – Inclusive Development) (อ่านบทความฉบับเต็ม ได้ที่ https://www.sdgmove.com/…/cptpp-through-sdgs-lens…/)
ดังนั้น ในภาวะที่ประเทศกำลังเผชิญวิกฤตด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคม สอบ.ทำหน้าที่ตามมาตรา 14 ของพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 ในการเป็นตัวแทนผู้บริโภค คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในทุกด้าน จึงมีข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ชะลอการพิจารณาวาระดังกล่าวไปจนกว่าจะมีความเห็นร่วมที่แท้จริง บนฐานของความถูกต้อง รวมทั้งชะลอการยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าร่วมความตกลง CPTPP ตามข้อเสนอนโยบายและมาตรการที่ สอบ.นำเสนอ (อ่านข้อเสนอในการขอให้รัฐชะลอการเข้าร่วม CPTPP ของ สอบ. ได้ที่ https://drive.google.com/…/1QBoMMCZDnVIcjzi8Ndi…/view…)