เครือข่ายตรวจสอบข่าวลวง ชวนเข้าร่วม ‘งานสัปดาห์วันค้นหาข้อเท็จจริง’

เครือข่ายตรวจสอบข่าวลวง จัดงานสัปดาห์วันตรวจสอบข่าวลวงโลก ประจำปี 2565 ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม – 2 เมษายน

ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของทุกคนเป็นอย่างมาก ไม่ว่าใครก็สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารบนโลกออนไลน์อย่างง่ายดาย ขณะเดียวกัน ทุกคนก็สามารถเป็นผู้ผลิต และเผยแพร่ข้อมูลออกไปบนโลกออนไลน์ได้โดยไม่จำเป็นต้องถูกตรวจสอบข้อเท็จจริง หรือความถูกต้องของข้อมูลก่อน จุดนี้เป็นช่องโหวที่ผู้ไม่หวังดีนำไปใช้ในการส่งต่อข้อมูลเท็จ หรือข่าวลวง (Fake News) โดยอาจมีวัตถุประสงค์เพื่อความสนุกสนาน หรืออาจร้ายแรงจนกระทั่งกลายเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐได้เลย

ปัญหาดังกล่าวเป็นสิ่งที่หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญ จนจัดตั้ง ‘เครือข่ายองค์กรตรวจสอบข่าวสากล (IFCN : International Fact-Checking Network)’ ขึ้น และกำหนดให้วันที่ 2 เมษายนของทุกปี เป็นวันตรวจสอบข่าวลวงโลก (International Fact-Checking Day) โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา เพื่อกระตุ้นให้คนทั่วโลกตื่นตัว และตระหนักถึงการใช้ประโยชน์จากข้อมูลหรือข่าวสารอย่างถูกต้อง การตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลบนโลกออนไลน์ก่อนส่งต่อ รวมทั้งเข้าใจถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากข่าวลวงด้วย

สำหรับประเทศไทย ในปีนี้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) โคแฟค (ประเทศไทย) สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) และภาคีเครือข่ายหลากหลายองค์กร จัด ‘งานสัปดาห์ค้นหาข้อเท็จจริง ในวาระวันตรวจสอบข่าวลวงโลก ประจำปี 2565 (Fact-Collab Week to Celebrate International Fact-Checking Day 2022)’ ขึ้นระหว่างวันที่ 28 มีนาคม – 2 เมษายน 2565 ซึ่งการจัดงานเป็นแบบผสมผสานทั้งแบบออนไซต์และออนไลน์ โดยมีกิจกรรมเด่น ๆ ของแต่ละวัน ดังนี้

วันที่ 28 มีนาคม 2565 : จัดกิจกรรมในรูปแบบออนไลน์ ถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ “Thai PBS” “Cofact โคแฟค” และ “สภาองค์กรของผู้บริโภค” เวลา 10.00 – 10.15 น. นำเสนอ “ผลการสำรวจแบบสอบถามปัญหา SMS Call center หลอกลวง” โดยปาณิสรา ตุงคะสามน เจ้าหน้าที่ฝ่ายนโยบายและนวัตกรรม สอบ. และภัทรกร ทีปบุญรัตน์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค

เวลา 10.30 – 12.00 น. เวทีเสวนานักคิดดิจิทัล “รับมือปัญหามิจฉาชีพยุค 5G ถึงเวลาวาระแห่งชาติ” ร่วมเสวนาโดย ดร.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชลดา บุญเกษม อนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สอบ. สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (ประเทศไทย) และมีธรรม ณ ระนอง รักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) ดำเนินรายการโดย วิชดา นฤวรพัฒน์

……….

วันที่ 29 มีนาคม 2565 : จัดกิจกรรมในรูปแบบออนไซต์ ที่ Doc Club & Pub ชั้น 2 อาคาร Woof Pack 1 ซอยศาลาแดง 1 ถ.พระรามที่ 4 กรุงเทพฯ เวลา 17.00 – 18.20 น. ฉายภาพยนตร์สั้น รวม 8 เรื่อง เวลา 18.35 – 20.00 น. ร่วมพูดคุยในหัวข้อ “สิทธิดิจิทัลในประเทศไทยคืออะไรทำไมจึงสำคัญ? และควรเริ่มต้นที่ตรงไหน?” โดยผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิดิจิทัล อาทิ สันติภาพ เพิ่มมงคลทรัพย์ รองผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) สฤณี อาชวานันทกุล สมาชิกเครือข่ายพลเมืองเน็ต สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้ง โคแฟต (ประเทศไทย) นุรอาซีกีน ยูโซ๊ะ เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และสุธิดา บัวคอม ตัวแทนทีม “บอท” ผู้ชนะการแข่งขัน FACTkathon หักล้างข้อมูลเท็จ แสวงหาความจริงร่วม ดำเนินรายการโดย ฐิตาภา สิริพิพัฒน์

วันที่ 30 มีนาคม 2565 : จัดกิจกรรมในรูปแบบออนไลน์ ถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ “Thai PBS” “Cofact โคแฟค” และ “สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” เวลา 10.15 – 12.00 น. จะมีเวทีเสวนาเรื่อง “บทบาทของอัลกอริทึม กับการเข้าถึงข้อเท็จจริงของประชาชน” ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย ระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ดร.อุดมธิปก ไพรเกษตร กรรมการผู้จัดการบริษัท ดิจิทัล บิสิเนส คอนซัลท์ จำกัด กล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด กนกพร ประสิทธิผล ผู้อำนวยการสำนักสื่อใหม่ สถานีโทรทัศน์ Thai PBS และสถาพร อารักษ์วทนะ หัวหน้าฝ่ายสื่อสารสาธารณะและประชาสัมพันธ์ สอบ. ดำเนินรายการโดย โสภิต หวังวิวัฒนา

……….

และวันที่ 2 เมษายน 2565 : มีกิจกรรมทั้งแบบออนไซต์ ณ โรงแรมเดอะ สุโกศล ถ.ศรีอยุธยา กรุงเทพฯ และออนไลน์ ถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ “Thai PBS” “Cofact โคแฟค” และ “สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” เวลา 10.00 – 12.00 น. เวทีเสวนา “ทบทวนตัวชี้วัดความน่าเชื่อถือของสื่อ (Reviewing Barometer for Trusted Media)” มีผู้ร่วมเสวนา 6 ท่าน ได้แก่ 1. Stephane Delfour Bureau Chief, AFP 2. Gemma B Mandoza Lead of Digital Strategy, Rappler 3. Irene Jay Liu News Lab Lead, APAC, Google 4. Premesh Chandran Former CEO, Malaysiakini 5. Dr.Masato Kajimoto Annie Lab Lead, Journalism and Media Studies Center, University of Hongkong และ 6.เทพชัย หย่อง จากสถานีโทรทัศน์ Thai PBS โดยการเสวนาหัวข้อนี้จะใช้ภาษาอังกฤษ และมีล่ามแปลเป็นภาษาไทย

เวลา 13.00 – 15.00 น. เวทีเสวนาเรื่อง “บทบาทสื่อไทยในการสกัดข่าวปลอม : อดีต ปัจจุบัน และอนาคต” ร่วมเสวนาโดย ก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักข่าว Thai PBS นพปฏล รัตนพันธ์ รองเลขาธิการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พีรพล อนุตรโสตถิ์ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ MCOT ระวี ตะวันธรงค์ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และ มณธิรา รุ่งจิรจิตรานนท์ ผู้สื่อข่าว ตรวจสอบข้อเท็จจริง AFP

ทั้งนี้ ในช่วงวันที่ 31 มีนาคม – 1 เมษายน 2565 ยังมีการอบรมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ “การตรวจสอบข้อมูล” โดย Google News Initiative และ Cofact อีกด้วย

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค