ลุยภาคอีสาน ม่วนซื่นโฮแซวกับการสร้างคอนเทนส์คลิปสั้นด้วยมือถือ คุ้มครองผู้บริโภคแบบเข้าใจง่าย

หลังจากเดินหน้าเพิ่มทักษะการสื่อสารให้แก่องค์กรสมาชิกในภูมิภาคต่าง ๆ ได้แก่ สมุทรสงคราม สงขลา และเชียงใหม่แล้วนั้น  เมื่อวันที่ 7 – 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สภาผู้บริโภคจึงได้ลงพื้นที่จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการ ปักหมุดทั่วไทย สื่อสารสร้างผลผลิตเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค (ปักหมุดสร้างสื่อ #เซฟผู้บริโภค) ครั้งที่ 4 ขึ้น ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน ณ โรงแรมร้อยเอ็ดโฮเทล จังหวัดร้อยเอ็ด

ปฏิวัติ เฉลิมชาติ กรรมการนโยบายสภาผู้บริโภค ระบุว่า ปัจจุบันสังคมไทยถูกแวดล้อมด้วยข้อมูลข่าวสารจากหลากหลายช่องทาง โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ที่มีอิทธิพลกับผู้บริโภค ดังนั้นจึงมองว่าการอบรมองค์กรสมาชิกของสภาผู้บริโภคเพื่อสร้างสื่อในการคุ้มครองผู้บริโภคจะมีองค์กรสมาชิกนำความรู้ที่ได้ไปผลิตประเด็นปัญหาผู้บริโภคเผยแพร่ในออนไลน์มากยิ่งขึ้น จนทำให้ผู้บริโภคได้รับรู้ข้อมูล เนื้อหา

“เคสที่ผ่านมาที่เคยมีนักร้องโดนบริษัทสายการบินทำกีตาร์เสียหาย และปฏิเสธความรับผิด นักร้องท่านนี้เลยแต่งเพลงขึ้นมาและโพสต์ลงบนโซเชียล ยิ่งมีคนมากดไลก์เยอะ ก็ยิ่งกดดันให้สายการบินออกมารับผิดชอบ นี่คือวิธีการเคลื่อนไหวที่ออกแรงน้อยแต่ชนะ ผมว่าทฤษฎีนี้สำคัญในยุคออนไลน์มากปฏิวัติ ระบุ

ขณะที่ อาภรณ์ อาทะโส หัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดร้อยเอ็ด สภาผู้บริโภค ให้ความเห็นว่า การอบรมในครั้งนี้เป็นการอบรมที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งทีมวิทยากรมีมนุษยสัมพันธ์ดีมาก สอนกระชับ เข้าใจ จึงทำให้ผู้เข้าร่วมทุกคนมีความประทับใจ ทุกคนได้รับบรรยากาศการเรียนการสอนที่สนุกสนาน และสามารถผลิตคลิปวิดีโอสั้นได้

ทั้งนี้ ภายในงานประกอบไปด้วยกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การเสวนาเรื่อง “สภาผู้บริโภค…ตัวแทนของผู้บริโภค เพื่อนผู้บริโภค” นำโดย อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ปฏิวัติ เฉลิมชาติ กรรมการนโยบายผู้บริโภค และอาภรณ์ อาทะโส หัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดร้อยเอ็ด สภาผู้บริโภค พร้อมกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ พัฒนาทักษะ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตสื่อ รวมไปถึงการ Workshop ภายใต้หัวข้อ “เคล็ด (ไม่ลับ) สร้างสื่อ #เซฟผู้บริโภค” โดย ดร.อิศริยา สายสนั่น ผู้ผลิตคอนเทนต์มืออาชีพ ซึ่งเป็นรูปแบบการสื่อสารข้อมูลที่มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการประชาสัมพันธ์ โดยมีการสื่อสารที่หลากหลาย ทั้งในรูปแบบของการสร้างและการเผยแพร่ข้อมูลทางออนไลน์

ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมโครงการได้แบ่งกลุ่ม Workshop ต่อยอดแนวคิด และสร้างคลิปสั้นเพื่อการประชาสัมพันธ์ กับอินฟลูเอนเซอร์ ยุคลเดช ปัจฉิม (ต้าวหยอง ระเบียบวาทะศิลป์) ที่มีผู้ติดตามทางสื่อออนไลน์ส่วนตัวรวมทั้งสิ้นกว่า 7.7 แสนผู้ติดตาม มาให้ความรู้ด้านการทำคอนเทนต์ ตั้งแต่ในขั้นตอนการวางแผน ตลอดจนถึงการเผยแพร่ ให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถผลิตสื่อเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคได้ด้วยตนเอง

ด้าน ยุคลเดช ปัจฉิม (ต้าวหยอง ระเบียบวาทะศิลป์) เปิดเผยว่า เมื่อได้มาเป็นวิทยากรทำให้ได้มีการแนะนำเทคนิคการทำคลิปวิดีโอสั้นให้กับเครือข่ายองค์กรสมาชิกของสภาผู้บริโภค ซึ่งเป็นเหมือนการแลกเปลี่ยนความเห็นซึ่งกันและกัน ในการลงมือปฏิบัติมีการแบ่งงานกันอย่างชัดเจน โดยหลังจากนี้เห็นว่าสมาชิกสภาผู้บริโภคภาคอีสานมีฝีมือการทำคลิปวิดีโอสำหรับการคุ้มครองผู้บริโภคได้ไม่เป็นสองรองใครอย่างแน่นอน

“สุดท้ายนี้ ผมอยากฝากถึงผู้บริโภคทุกคนว่าเราจะต้องมีภูมิคุ้มกันที่ดีในยุคที่ออนไลน์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเรา ทั้งนี้ปัจจุบันเราสามารถเปิดดูสินค้าก่อนจ่ายได้ หรือถ้าแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรมา ให้ลองถามข้อมูลส่วนตัวที่คนอื่นไม่มีทางรู้กลับไป หากตอบไม่ได้ก็ให้สันนิษฐานเลยว่าเรากำลังโดนหลอกแล้ว หรือถ้ามีข้อสงสัยเพิ่มเติม ให้โทรไปที่สายด่วน 1502 สภาผู้บริโภคได้เลยครับ” ยุคลเดช กล่าว

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายสื่อสารสาธารณะและประชาสัมพันธ์ สภาผู้บริโภค มีบทบาทหน้าที่ผลิตและเผยแพร่สื่อ เพื่อเตือนภัยให้ผู้บริโภคตื่นตัว รู้เท่าทัน และรู้จักปกป้องสิทธิ ได้จัดประกวดคลิปวิดีโอภายใต้โครงการ “ปักหมุดทั่วไทย สื่อสารสร้างผลผลิตเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค” ระดับภูมิภาค โดยเนื้อหาเกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาภัยออนไลน์ อาทิ ลงทุนทิพย์, บัญชีม้ามหาประลัย, คนใจบาป หลอกคนใจบุญ, จองโรงแรม นอนริมทาง, สูงวัยอย่างปลอดภัย, รถของเรา ทะเบียนของใคร ฯลฯ ซึ่งทีมที่ชนะเลิศระดับภูมิภาคได้แก่ ทีมตึ่งโป๊ะ โปรดักชัน ในหัวข้อ “ลงทุนทิพย์”

มีนา ดวงราษี  หน่วยงานประจำจังหวัดสุรินทร์ สภาผู้บริโภค ตัวแทนทีมตึ่งโป๊ะ โปรดักชัน ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับภูมิภาคให้ความเห็นว่าการอบรมในครั้งนี้ช่วยพัฒนาทักษะ วิธีคิด การวางแนวทางการสื่อสารให้กระชับ ตรงกลุ่มเป้าหมาย นอกจากนี้การอบรมทำให้ได้เรียนรู้วิธีการใช้เทคโนโลยีและต้องการให้จัดการอบรมในลักษณะนี้ เพื่อการทำงาน การพัฒนาต่อยอด และเข้าถึงผู้บริโภคได้ เพราะหัวใจของการทำงานสภาผู้บริโภคคือการคุ้มครองสิทธิให้กับผู้บริโภค

ส่วน ม้วน ถิ่นวิไล ศูนย์ประสานงานขบวนเครือข่ายผู้หญิงไทยจังหวัดกาฬสินธุ์ องค์กรสมาชิกสภาผู้บริโภค ตัวแทนทีม แซ่บนัว(เนีย) กล่าวขอบคุณทีมวิทยากรและสภาผู้บริโภคที่ได้จัดการอบรมครั้งนี้ขึ้นมา เพราะทำให้รู้ว่าเครื่องมือและความต่อเนื่องเป็นสิ่งสำคัญที่สุด โดยคนที่ผลิตสื่อเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคต้องไม่ละความพยายามในการผลิตเนื้อหา เพราะปัญหาผู้บริโภคในยุคดิจิทัลเกิดขึ้นใหม่ทุกวัน

“ประทับใจที่สุดคือได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีมเพราะทุกคนมีการเสนอไอเดีย หาข้อมูล ตัดต่อ การจัดลำดับ แบ่งงานกันอย่างชัดเจน หากเป็นไปได้อยากให้สภาผู้บริโภคจัดโครงการดี ๆ ลักษณะนี้อีก เพราะจะทำให้สมาชิกสภาผู้บริโภคสามารถผลิตสื่อออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ม้วน กล่าว

ทั้งนี้ ทีมผู้ชนะระดับภูมิภาคได้รับประกาศนียบัตรและเงินสนับสนุน เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดการผลิตคลิปวีดีโอในการแข่งขันระดับประเทศ กับองค์กรสมาชิกในภูมิภาคอื่น ๆ เพื่อชิงเงินรางวัลและโล่เกียรติยศต่อไป