สภาผู้บริโภคชี้ กกพ. ต้องยกเลิกประกาศรับซื้อพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม เหตุออกประกาศขัดวัตถุประสงค์ของกฎหมายกำกับกิจพลังงาน ไม่ใช้วิธีการแข่งขัน เลือกปฏิบัติออกประกาศเอื้อเอกชนกลุ่มเดิม ล็อกราคารับซื้อ ทำผู้ใช้ไฟฟ้าเสียประโยชน์ และไม่เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่แพรทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแถลงต่อรัฐสภา
จากกรณีเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2567 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานได้ออก “ประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed – in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 (เพิ่มเติม) พ.ศ. 2567” ซึ่งเป็นการออกประกาศเพื่อให้สิทธิ์กับกลุ่มผู้ประกอบการรายชื่อเดิม จำนวน 198 ราย แต่ไม่ได้รับการคัดเลือกในรอบแรกตามประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed – in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 โดยมีปริมาณรับซื้อไฟฟ้ารวม 2,180 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นพลังงานลม 600 เมกะวัตต์ และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) 1,580 เมกะวัตต์
รสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) กล่าวว่า วันที่ 25 ตุลาคม 2567 สภาผู้บริโภคได้ยื่นหนังสือขออุทธรณ์ประกาศฉบับดังกล่าว ต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เนื่องจากการออกประกาศเพิ่มเติมปี 2567 ยังอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ที่ไม่ใช้วิธีการแข่งขันทางด้านราคาซึ่งถูกกำหนดมาตั้งแต่ปี 2565 ให้สิทธิเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายชื่อเดิมที่เคยยื่นเสนอขายไฟฟ้าตามประกาศรับซื้อไฟฟ้าในรอบปี 2565 จำนวน 198 รายเท่านั้น
แต่ไม่ได้รับคัดเลือกและไม่เปิดโอกาสให้ผู้สนใจรายอื่นเข้าร่วมโครงการได้ และอยู่บนพื้นฐานแนวคิดที่ไม่สนใจการรับฟังเสียงร้องเรียนจากชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ และเกณฑ์การพิจารณาที่ขาดความโปร่งใส ไม่มีการประกาศหลักเกณฑ์ในการให้คะแนนที่ใช้ในการคำนวนผู้คัดเลือกก่อนเลยตั้งแต่ในรอบปี 2565 ทำให้เปิดช่องให้มีการใช้ดุลพินิจได้กว้างขวางในการคัดเลือกว่าเอกชนรายใดจะได้รับคัดเลือกหรือไม่คัดเลือก
รสนา กล่าวอีกว่า การให้สิทธิ์ขายไฟฟ้าแก่ผู้ประกอบการทั้ง 198 รายนั้น ไม่ใช้วิธีการแข่งขันทางด้านราคา แต่ราคาซื้อนั้นไฟฟ้าถูกกำหนดและห้ามไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขตั้งแต่ปี 2565 ในสมัยรัฐบาลที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ประเด็นสำคัญคือ ไม่เคยมีการนำเรื่องเข้าที่ประชุม กพช. ที่มีแพรทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันเป็นประธาน กพช. เพื่อให้นายกรัฐมนตรี ได้รับแต่อย่างใด ทั้งที่แพรทองธารแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 และประกาศฉบับดังกล่าวออกเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2567
อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะฯ กล่าวอีกว่า การออกประกาศเพิ่มเติมปี 2567 ของ กกพ. เป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภาฯ ว่า “รัฐบาลจะยึดมั่นในหลักนิติธรรมและความโปร่งใส สร้างความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งยังขัดต่อ พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ของกฎหมายที่ต้องการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการพลังงานและป้องกันการใช้อำนาจในทางมิชอบ การไม่เปิดให้มีการแข่งขัน การล็อกราคา ล็อกบริษัทที่เข้าร่วมเสนอโครงการ การใช้หลักเกณฑ์คัดเลือกที่ขาดความโปร่งใส” จึงทำให้ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าไม่สามารถที่จะได้ราคาค่าไฟฟ้าที่ต่ำลงได้อีกจากประกาศฉบับนี้ ด้วยเหตุนี้ สภาผู้บริโภคจึงทำหนังสือขออุทธรณ์และขอให้ยกเลิกประกาศฉบับนดังกล่าว
“หาก กกพ. จะเดินหน้าดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าตามประกาศฉบับนี้ต่อไป ก็อาจถือได้ว่า กกพ. มีเจตนาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใช้พลังงาน และขอเสนอแนะว่า การดำเนินการเพื่อการรับซื้อไฟฟ้ารอบใหม่ให้เกิดความเป็นธรรม โปร่งใส ภายใต้หลักการการส่งเสริมการแข่งขัน รัฐบาลควรดำเนินการภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 2561-2580 (PDP 2024) ที่อยู่ระหว่างการจัดทำ เพื่อให้เกิดความชอบธรรม เหมาะสมกับภาวการณ์ปัจจุบัน และเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภาจะเป็นการดีที่สุด” รสนา กล่าว