ร้องสภาผู้บริโภค ซื้อยาสมุนไพรร้าน “Habour Cosmetics” ที่ฮ่องกง โดนรูดบัตรเครดิตไทยพาณิชย์เกินราคาสินค้า เสียหายกว่า 270,000 บาท ด้านสภาผู้บริโภคชี้ ร้านเคยทำพฤติกรรมในลักษณะดังกล่าวหลายครั้ง พร้อมเร่งประสานหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคฮ่องกงแก้ปัญหาร่วมกัน
วันที่ 26 กันยายน 2567 ภัทรกร ทีปบุญรัตน์ รองหัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค กล่าวว่า เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2567 สภาผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหายกรณี ถูกร้านขายยาสมุนไพร “Habour Cosmetic” ในย่านจิมซาจุ่ย (tsim sha tsui) ซึ่งเป็นย่านท่องเที่ยวยอดนิยมของประเทศฮ่องกงนำบัตรเครดิตไปรูดจ่ายค่าสินค้าเกินราคาที่กำหนด คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 270,000 บาท จึงร้องเรียนมายังสภาผู้บริโภคเพื่อให้ช่วยเหลือ
รองหัวหน้าฝ่ายคุ้มครองฯ ให้ข้อมูลว่า หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียน เจ้าหน้าที่สภาผู้บริโภคได้สืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมประกอบกับหลักฐานที่ผู้เสียหายส่งมา ทำให้ทราบว่า มีอีกหลายกรณีที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวทั้งไทย ต่างชาติ รวมถึงคนท้องถิ่นก็ถูกร้านขายยาดังกล่าวฉ้อฉลหลอกลวงในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน
เตือนภัยเพื่อนคนไทยที่จะมาเที่ยวฮ่องกง
Rogue Hong Kong pharmacies named and shamed
Mainlander caught in pharmacy scam, overpays by nearly 1,000 times
Dragon City Drug Store Medicines Scam
หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนสภาผู้บริโภคได้สอบข้อเท็จจริง และแนะนำผู้เสียหายรายดังกล่าวให้ทำหนังสือปฎิเสธยอดค่าใช้จ่ายบัตรเครดิตที่ไม่ได้ใช้บริการไปยังธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นธนาคารเจ้าของบัตรเครดิต ธนาคารแห่งประเทศไทย และบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) โดยอ้างอิงประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2556 ข้อที่3(8)(ก) ที่ระบุว่า “ถ้าผู้บริโภคทักท้วงว่าไม่ได้เป็นผู้สั่งซื้อสินค้าหรือไม่ได้เป็นผู้ขอรับบริการจากผู้ขายหรือผู้ให้บริการดังกล่าว ผู้ประกอบธุรกิจจะระงับการเรียกเก็บเงินจากผู้บริโภคทันที หรือในกรณีที่เรียกเก็บเงินไปแล้วจะคืนเงินให้กับผู้บริโภคทันที เว้นแต่ผู้ประกอบธุรกิจจะพิสูจน์ได้ว่า ภาระหนี้ที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำของผู้บริโภคเองและใช้สิทธิเรียกคืนจากผู้บริโภคในภายหลัง”
นอกจากนี้ สภาผู้บริโภคได้ส่งเรื่องต่อให้กับองค์กรผู้บริโภคฮ่องกง (Hong Kong Consumer Council) ซึ่งเป็นพันธมิตรของสภาผู้บริโภค ตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2567 และได้รับการตอบรับเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2567 ว่าได้รับเรื่องร้องเรียนแล้วและอยู่ระหว่างการสอบสวน
ด้าน ผู้เสียหายจากกรณีดังกล่าว ให้ข้อมูลสภาผู้บริโภคถึงการเดินทางไปเที่ยวฮ่องกงพร้อมครอบครัว โดยระบุว่า ก่อนเดินทางกลับประเทศไทยเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2567 ตั้งใจจะซื้อยาน้ำมันนวดยี่ห้อดังของฮ่องกง จึงเดินหาร้านขายยาในย่านจิมซาจุ่ย จนกระทั่งได้เข้าไปซื้อของใน “Habour Cosmetic” ซึ่งอยู่ในตึก Chungking Mansion เนื่องจากเป็นร้านเดียวที่เปิดอยู่ในช่วงเช้า ระหว่างรอจ่ายเงินพนักงานชวนคุย พร้อมชักชวนให้ซื้อยาสมุนไพรชนิดหนึ่งในราคากิโลกรัมละ 880 ดอลลาร์ฮ่องกง หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณเกือบ 4,000 บาท โดยอ้างว่าช่วยบำรุงสุขภาพและบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้
เมื่อปฏิเสธพนักงานได้เสนอให้ซื้อไปลองใช้ครึ่งกิโลกรัม ในราคา 440 ดอลลาร์ฮ่องกง หรือ 1,877 บาท จึงตกลงซื้อและแจ้งพนักงานว่าต้องการชำระเงินด้วยบัตรเครดิต จุดหนึ่งที่น่าสงสัยคือ พนักงานแจ้งว่าให้ชำระค่าสินค้าอื่น ๆ ด้วยเงินสดที่หน้าเคาน์เตอร์ แต่ค่าสมุนไพรสามารถชำระด้วยบัตรเครดิตได้ที่อีกเคาน์เตอร์หนึ่ง เมื่อพนักงานนำบัตรไปรูดกลับแจ้งว่า บัตรไม่สามารถทำรายการได้ และมีการรูดบัตรซ้ำหลายครั้ง
ผู้เสียหาย กล่าวถึงความผิดปกติ เนื่องจากมีใบเสร็จชำระเงินออกมาจึงได้ตรวจสอบผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารพบว่า บัตรถูกรูดเงินออกไปจำนวน 4 ครั้ง เป็นจำนวนรวมกันมากกว่า 60,000 ดอลลาร์ฮ่องกงหรือประมาณ 270,000 บาท
หลังจากเกิดเหตุได้เจรจากับร้านค้าแต่ได้รับคำตอบว่า ไม่สามารถยกเลิกการซื้อสินค้าได้ จึงแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจให้มาช่วยไกล่เกลี่ย แต่ร้านกลับแจ้งว่า ราคา 880 ดอลลาร์ฮ่องกงนั้นเป็นเพียงราคาต่อ 1 หน่วยการกินเท่านั้น โดย 1 กิโลกรัมสามารถแบ่งได้ 160 ครั้ง ครึ่งกิโลกรัมแบ่งกินได้ 80 ครั้ง เมื่อคำนวณก็จะคิดเป็นเงินจำนวนใกล้เคียงกับที่ได้รูดบัตรเครดิตไป ซึ่งไม่ตรงกับที่ได้พูดคุยก่อนหน้านี้
ผู้เสียหาย กล่าวอีกว่า ได้แจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ฮ่องกงและยืนยันไม่ได้ตกลงที่จะซื้อสมุนไพรในราคาดังกล่าว ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แนะนำให้ไปร้องเรียนที่กรมศุลกากรฮ่องกง (Hong Kong Customs and Excise Department) เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องการค้าขายที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
“จากการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรและตำรวจฮ่องกงทำให้ทราบว่า มีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง มีทั้งไม่ได้เงินคืน หรืออาจได้เงินคืนเพียง 2 ใน 3 ของจำนวนเงินทั้งหมดขึ้นอยู่กับร้านค้าด้วย เขาจึงแนะนำว่าหากติดต่อธนาคารบัตรเครดิตให้ระงับการโอนเงินให้ร้านค้าได้ก็จะเป็นประโยชน์มากกว่า”
ผู้เสียหาย กล่าวถึงความพยายามติดต่อธนาคารไทยพาณิชย์หลังบินกลับประเทศ เพื่อขอปฏิเสธการจ่ายเงิน และเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้เจ้าหน้าที่ธนาคารฟัง เจ้าหน้าที่ขอให้ไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เมื่อได้ใบแจ้งความ จึงส่งไปให้ธนาคารเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน แต่ถูกธนาคารปฏิเสธคำขอ จากนั้น ส่งเรื่องหาธนาคารอีกครั้ง รวมถึงการส่งรูปใบแจ้งความที่ฮ่องกงและหลักฐานอื่น ๆ ที่มีไปด้วย แต่ก็ถูกธนาคารปฏิเสธอีกเป็นครั้งที่ 2
“จนภายหลังได้ทราบว่าธนาคารจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้กับร้านค้าแล้ว และมียอดเรียกเก็บเงินในบัตรเครดิต โดยธนาคารแจ้งว่า หากไม่ชำระเงินตามยอดดังกล่าวก็จะดำเนินการฟ้องร้องเป็นคดีความ จึงร้องเรียนมายังสภาผู้บริโภค”
ผู้เสียหาย กล่าวทิ้งท้ายว่า อยากกระจายข้อมูลและเตือนภัยให้นักท่องเที่ยวชาวไทยรู้ว่ามีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นที่ฮ่องกง จึงควรระมัดระวัง เลือกร้านค้าที่มีความน่าเชื่อถือ หากเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการซื้อสมุนไพรแห้งและอาหารทะเลแห้งจากฮ่องกง รวมถึงการซื้อของจากร้านขายยาด้วย นอกจากนี้ ตั้งคำถามว่าธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตควรให้ความช่วยเหลือผู้บริโภคมากกว่าที่เป็นอยู่หรือไม่
“สิ่งที่เรารู้สึกแย่ที่สุด คือการติดต่อกับธนาคารไทยพาณิชย์เพราะเราเป็นลูกค้า ทั้งฝากเงิน ใช้บัตรเครดิต และกู้ซื้อบ้านอยู่ เมื่อเกิดเรื่องขึ้นกลับไม่ช่วยเหลือ หรือแม้แต่แสดงความพยายามที่จะช่วยเหลือผู้บริโภคเลย ใช่หรือไม่ ” ผู้เสียหายกล่าว
ทั้งนี้ สำหรับนักท่องเที่ยวที่กำลังจะเดินทางไปฮ่องกงและวางแผนจะซื้อยาสมุนไพร ให้ระวังร้านค้าดังกล่าว และหากผู้บริโภคพบปัญหาในลักษณะเดียวกัน สามารถดำเนินการได้ดังต่อไปนี้
- ติดต่อแจ้งความเสียหายและปฏิเสธการทำธุรกรรมกับธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตโดยทันทีที่ทราบความเสียหาย
- แจ้งความดำเนินคดีกับตำรวจในพื้นที่
- ทำหนังสือปฏิเสธรายการบัตรเครดิต หรือขอใบปฏิเสธรายการ (ชาร์จแบ็ก) กับธนาคารพร้อมเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อขอให้บัตรเครดิตระงับการจ่ายเงิน ดังนี้
- สำเนาหนังสือปฏิเสธรายการใช้บัตรเครดิต หรือ หนังสือทักท้วงการใช้บัตรเครดิต
- สำเนาภาพถ่ายบัตรเครดิตใบที่เกิดปัญหา (ถ้ามี)
- ใบแจ้งหนี้บัตรเครดิต (ถ้ามี)
- ใบไปรษณีย์ตอบรับ
- เอกสารที่ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน
สำหรับผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายในลักษณะดังกล่าวสามารถเรื่องร้องเรียนมายังสภาผู้บริโภค ได้ที่เบอร์สายด่วน 1502 (วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 9.00 – 17.00 น.) หรือร้องเรียนผ่านเว็บไซต์สภาผู้บริโภค tcc.or.th ไลน์ออฟฟิเชียล @tccthailand อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก สภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อประสานเรื่องร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาและปกป้องสิทธิของผู้บริโภคต่อไป