การประชุมคณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ ครั้งที่ 6/2566 คุณสุรีรัตน์ ตรีมรรคา กรรมการนโยบายและประธานอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สภาผู้บริโภค เป็นประธานที่ประชุม เห็นชอบให้จัดทำข้อเสนอแนะนโยบายเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบาย สภาผู้บริโภค และต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดการผลักดันการจัดตั้งกองทุนบำนาญกองทุนบำนาญพื้นฐานแห่งชาติแก่ประชาชน
จากสถานการณ์ปัญหาที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ โดยในปี 2565 ประเทศไทยมีประชากรมีผู้สูงอายุจำนวน 12.5 คน คิดเป็นร้อยละ 19 ของประชากรทั้งหมด และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่ารัฐบาลได้จัดสรรหลักประกันรายได้ของผู้สูงอายุในหลายระบบ เช่น การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ การจ่ายบำเหน็จบำนาญให้ข้าราชการ กองทุนการออมแห่งชาติ หรือกองทุนบำนาญภายใต้กฎหมายประกันสังคม แต่ทว่ามีผู้สูงอายุจำนวนมากที่เป็นแรงงานนอกระบบ ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงกองทุนข้างต้นได้ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจึงกลายเป็นรายได้หลักหลังเกษียณของผู้สูงอายุไทย
ปัจจุบันรัฐบาลได้จัดสรรเบี้ยยังชีพในรูปแบบขั้นบันไดในอัตราเพียงเดือนละ 600-1,000 บาทต่อราย อย่างไรก็ดี หากเปรียบเทียบรายได้ส่วนนี้กับเส้นความยากจนในปี 2564 ซึ่งกำหนดโดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่เท่ากับ 2,804 บาท ทำให้เห็นว่าเบี้ยยังชีพที่ผู้สูงอายุได้รับยังต่ำกว่าอยู่มาก
คณะอนุกรรมการฯ จึงมีข้อเสนอขอให้รัฐบาลสนับสนุน (ร่าง) พระราชบัญญัติบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. …. (ฉบับประชาชน) และผลักดันให้มีการจัดตั้งกองทุนบำนาญแห่งชาติขึ้น ซึ่งมีข้อเสนอทางวิชาการจากหลายมหาวิทยาลัย รองรับว่า รัฐบาลสามารถดำเนินการได้ด้วยการปฏิรูปภาษีให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น เช่น การยกเลิกนโยบายลดหย่อนภาษีในกลุ่มคนมีรายได้สูง หรือการมุ่งมั่นเก็บภาษีความมั่งคั่งสุทธิ การจัดเก็บภาษีที่ไม่เคยเก็บแต่ควรดำเนินการ เช่น ภาษีผลกำไรจากการลงทุน (Capital Gain Tax) การเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือรายได้จากภาษีสรรพสามิตบางประเภท เป็นต้น
สำหรับในระยะเร่งด่วน ขอให้รัฐบาลยกระดับการเปลี่ยนเบี้ยยังชีพให้เป็นระบบบำนาญพื้นฐานประชาชนในอัตราเดือนละ 3,000 บาทต่อราย โดยเร่งปรับปรุงพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 ให้สอดคล้องกับหลักประกันรายได้ของผู้สูงอายุที่เพียงพอกับเส้นความยากจนหรือค่าใช้จ่ายพื้นฐานขั้นต่ำในการดำรงชีพต่อเดือน