เวทีเสวนาสะท้อน ปัญหากัญชา – บุหรี่ไฟฟ้า จี้รัฐบังคับใช้กฎหมายเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มงวดไฟฟ้า และหาทางออกร่วมกันกรณีการเปิดกัญชาเสรี หวังลดผลเสียด้านสุขภาพและความสูญเสียที่อาจเกิดกับผู้บริโภค
วันที่ 26 มิถุนายน 2566 ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสภาผู้บริโภค จัดงานประชุมเสวนาวิชาการ เรื่อง “เหล้า บุหรี่ไฟฟ้า กัญชา ยาเสพติด เต็มพื้นที่ออนไลน์ ผู้บริโภคพร้อมรับมืออย่างไร” ขึ้น เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลก เพื่อสร้างความตระหนักรู้ทางสุขภาพ
“สารี อ๋องสมหวัง” เลขาธิการผู้บริโภค ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าว่า แม้บุหรี่ไฟฟ้าจะเป็นสินค้าผิดกฎหมายและห้ามนำเข้ามาในประเทศไทย แต่ปัจจุบันกลับพบสินค้าดังกล่าวขายในช่องทางออนไลน์เป็นจำนวนมาก มีการโฆษณาอย่างเปิดเผย และทุกคนสามารถสั่งซื้อได้ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาที่เกิดจากการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่จริงจริงและเข้มงวดเพียงพอ ทำให้ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค
ส่วนปัญหาเรื่องการผสมกัญชาลงในอาหารนั้น สารีมองว่า เป็นประเด็นสืบเนื่องจากการปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด โดยอนุญาตให้ใช้ได้อย่างเสรี ซึ่งปัญหาที่พบคือ มีการใช้กัญชาไปเป็นส่วนผสมของอาหาร เครื่องดื่ม และขนม โดยไม่ได้แจ้งให้ผู้บริโภคทราบ และไม่มีฉลากที่แสดงส่วนผสมรวมถึงปริมาณกัญชาที่ผสมลงไป ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวถูกวางจำหน่ายในช่องทางต่าง ๆ รวมถึงช่องทางออนไลน์ ผลที่ตามมาคือมีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่รับประทานอาหารผสมกัญชาโดยไม่ได้ตั้งใจ และเกิดผลข้างเคียงต่อสุขภาพร่างกาย
“ปัญหาเกี่ยวกับการผสมกัญชาในอาหาร รวมถึงการเปิดเสรีกัญชานั้นเป็นเรื่องที่มีหลายมิติและต้องหาทางออกร่วมกัน ไม่ใช่อาศัยการตัดสินใจของคนเพียงคนเดียว ทั้งนี้ หากเปิดเสรีอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ก็ต้องช่วยกันคิดว่าความพอดีอยู่ตรงไหน และจะกำกับดูแลอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับผู้บริโภคโดยเฉพาะเยาวชนและกลุ่มเปราะบาง ในทางกลับกัน หากต้องการให้นำกลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติด ก็มีโจทย์เรื่องนำกัญชาไปใช้ในทางการแพทย์ ว่าจะทำอย่างไรให้ไม่เป็นอุปสรรค และไม่ปิดกั้นโอกาสของผู้ป่วยที่ต้องใช้กัญชาในการรักษาหรือบรรเทาอาการจากโรคต่าง ๆ” เลขาธิการสภาผู้บริโภคกล่าว
สำหรับบทบาทหน้าที่ของสภาผู้บริโภคที่มีต่อทั้งสองเรื่องที่กล่าวมา มีทั้งการ เฝ้าระวัง เตือนภัย และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ผู้บริโภค ทั้งเรื่องการรู้เท่าทันอันตรายและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงเรื่องให้ความสำคัญกับการเลือกบริโภคสินค้าและบริการที่อาจส่งผลดีหรือผลเสียต่อร่างกายของตัวเอง อีกบทบาทหนึ่งคือการทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ประเด็นการใส่กัญชาในอาหาร สภาผู้บริโภคเคยทำข้อเสนอแนะเรื่องการควบคุมและความปลอดภัยของผู้บริโภค ส่งถึงสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมอนามัย คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานกำกับดูแลอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังมีบทบาทหน้าที่ในการฟ้องคดี กรณีมีผู้บริโภคได้รับความเสียหายหรือความไม่เป็นธรรมจากการใช้สินค้าและบริการด้วย
ทางด้าน “พญ.จริยา ภูดิศชินภัทร” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพิษวิทยา ภาควิชาเวชศาสตร์ ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับการใช้บุหรี่ไฟฟ้าว่า แม้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะไม่มีกระบวนการเผาไหม้ แต่ผู้สูบก็มีโอกาสได้รับพิษจากนิกโคติน สารระเหย รวมถึงสารประกอบทางเคมีสำหรับแต่งรสและกลิ่น ซึ่งมีอันตรายต่อสุขภาพร่างกายไม่ต่างจากบุหรี่ธรรมดา เช่น เมื่อไม่นานมานี้ มีข้อมูลจากงานวิจัยที่บ่งชีว่า สารไดอาเซทิล (Diacetyl) ที่ทำให้เกิดกลิ่นรสเนยในบุหรี่ไฟฟ้า มีส่วนกระตุ้นให้เกิดโรคปอดอักเสบและมีไขมันในถุงลมได้ นอกจากนี้ สำหรับสตรีมีครรภ์ที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้า อาจส่งผลให้ทารกคลอดก่อนกำหนด หรือทำให้รกหดตัวจนเลือดไปเลี้ยงทารกไม่เพียงพอ รวมทั้งส่งผลต่อความผิดปกติทางร่างกายของเด็กในระยะยาวด้วย
ส่วนสิ่งที่น่ากังวลสำหรับกัญชา พญ.จริยา ระบุว่า เป็นเรื่องการใช้ช่อดอกและน้ำมันกัญชาเป็นส่วนประกอบในอาหาร ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 424) พ.ศ. 2564 ห้ามนำช่อดอกผสมลงในอาหาร เนื่องจากเป็นส่วนที่มีความเข้มข้นของสาร “ทีเอชซี” หรือเตตร้าไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol : THC) และ “ซีบีดี” หรือแคนนาบิสไดออล (Cannabidiol : CBD) ในปริมาณมาก ส่วนน้ำมันกัญชาปัจจุบันอนุญาตให้ใช้เฉพาะในทางการแพทย์ จึงยังไม่มีการกำหนดปริมาณที่เหมาะสมสำหรับใส่ลงในอาหาร
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องกัญชาในอาหารโดยที่ไม่แจ้งหรือไม่มีฉลาก ทำให้ผู้บริโภคได้รับสารทีเอชซีและซีบีดีโดยไม่ตั้งใจ และอาจเกิดผลข้างเคียงที่ก่อให้เกิดอันตรายได้ เช่น เกิดอาการหลอนประสาท หัวใจเต้นเร็ว ความดันต่ำเฉียบพลัน ส่งผลต่อการคำนวณระยะผิดพลาด ซึ่งส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุทางจราจรได้ และในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีที่รับประทานอาการที่มีส่วนผสมของกัญชา มีโอกาสได้รับอันตรายจนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล
ในทำนองเดียวกัน “รศ.ดร.เกื้อการุณย์ ครูส่ง” ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ในปี 2566 ตลาดกัญชาในประเทศไทยมีมูลค่าถึง 28,055 ล้านบาท แม้จะประกาศปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดได้เพียง 1 ปี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการบริโภคและความสนใจในธุรกิจกัญชา ทั้งนี้ จากการวิจัยสำรวจเรื่องอาหารผสมกัญชาในประเทศไทย พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชานั้น มีทั้งในรูปแบบของอาหาร เครื่องดื่ม และขนม โดยตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 242) พ.ศ. 2564 เรื่อง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของส่วนของกัญชาหรือกัญชง กำหนดว่าผลิตภัณฑ์อาหารที่ผสมกัญชาต้องมีสารทีเอชซี ไม่เกิน 1.6 มิลลิกรัมต่อบรรจุภัณฑ์
ทั้งนี้ ผลจากการสำรวจเครื่องดื่มที่ผสมกัญชา จำนวน 58 ตัวอย่าง ตรวจพบสารทีเอชซีจำนวน 23 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 39.6 แต่ทุกตัวอย่างพบสารทีเอชซีไม่เกิน 1.6 มิลลิกรัมต่อหน่วย ส่วนผลการสำรวจขนมผสมกัญชา จำนวน 14 ตัวอย่าง ตรวจพบสารทีเอชซีทุกตัวอย่าง โดยมี 10 ตัวอย่าง ที่พบสารทีเอชซีไม่เกิน 1.6 มิลลิกรัมต่อหน่วย คิดเป็นร้อยละ 71.4 สำหรับร้านค้าที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ผสมกัญชา มีทั้งแบบแผงลอย ตึกแถว บ้าน รวมถึงช่องทางออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ลาซาด้า ชอปปี้ และติ๊กตอก เป็นต้น
รศ.ดร.เกื้อการุณย์ กล่าวอีกว่าจากการสำรวจพบสิ่งที่น่าเป็นกังวล คือ อาหารผสมกัญชาบางส่วนไม่มีฉลากเพื่อบ่งบอกว่ามีส่วนผสมกัญชา รวมถึงไม่ระบุปริมาณสารทีเอชซี และซีบีดี หรือระบุแค่เพียงตัวใดตัวหนึ่งเท่านั้น และที่สำคัญ ไม่มีการแนะนำและคำเตือนในการบริโภคที่เหมาะสม รวมถึงมีการแอบอ้างเลข อย. ปลอมเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
“หากอยากลองหรือต้องการจะบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชา ผู้บริโภคควรเลือกผลิตภัณฑ์อาหารที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน ทั้งนี้ ผลข้างเคียงของสารทีเอชซีที่มีต่อแต่ละบุคคลอาจะแตกต่างกัน ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องก็คือน้ำหนักตัว ดังนั้น ควรระมัดระวังการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชา อ่านฉลากก่อนบริโภค แบ่งบริโภคแต่น้อย ไม่ควรบริโภคเกินปริมาณที่ระบุบนฉลาก และสังเกตอาการหลังรับประทาน” รศ.ดร.เกื้อการุณย์ระบุ
ปิดท้ายด้วย “กัณณิกา สิทธิพงษ์” นักจิตวิทยาคลินิกชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น กล่าวถึง ที่นำเสนอข้อมูลเรื่องการใช้สิ่งเสพติดและสารเสพติดที่เกี่ยวพันกับเรื่องของจิตใจ หรือโรคทางจิตเวช โดยข้อมูลจากการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติจากการใช้แอลกอฮอล์ (Alcohol use disorder) มีโอกาสในการฆ่าตัวตายสูงกว่าคนทั่วไป โดยการสำรวจของประเทศสวีเดน จากผู้ป่วยที่มีความผิดปกติจากการใช้แอลกอฮอล์ 250,000 คน มี 2,601 คนที่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 10 ซึ่งคล้ายคลึงกับผลการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่พบอัตราการพยายามฆ่าตัวตายในผู้ดื่มแอลกอฮอล์ร้อยละ 7 ซึ่งสูงกว่าอัตราในประชากรผู้ใหญ่ทั่วไปซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1
สำหรับประเด็นการใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องกับจิตใจ กัณณิกา ระบุว่า สิ่งที่น่ากังวลคือ คนจำนวนไม่น้อยในสังคมเชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยต่อสุขภาพกว่าบุหรี่มวน จึงมีทัศนคติที่ดีต่อคนที่สูบบุรี่ไฟฟ้ามากกว่าคนที่สูบบุหรี่มวน ประกอบกับปัจจัยเรื่องกลิ่น รส และรูปลักษณ์ของบุหรี่ไฟฟ้าที่มีหลากหลาย และสวยงาม ทำให้เป็นที่นิยมในกลุ่มวันรุ่นทั้งชายและหญิง รวมถึงคนในวัยทำงานด้วย ทั้งนี้ มีการงานวิจัยหลายชิ้นที่ศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการใช้บุหรี่ไฟฟ้าและการสูบบุหรี่ธรรมดา โดยพบว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสพติดนิโคตินสำหรับผู้ใช้หน้าใหม่ ซึ่งอาจนำไปสู่การใช้บุหรี่มวน หรือผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบเผาไหม้ในอนาคต
ในส่วนของกัญชา กัณณิกากล่าวว่า ผู้ที่ใช้กัญชามีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคทางจิตเวชมากกว่าผู้ที่ไม่ใช้กัญชา และการใช้กัญชาเรื้อรังในวัยรุ่น สัมพันธ์กับการเป็นโรคจิตเภทในเวลาต่อมา การใช้กัญชาจะทำให้อาการของโรคจิตเวชแย่ลง และจากการสำรวจ ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าและโรคทางอารมณ์อื่น ๆ มีโอกาสใช้กัญชามากกว่ากลุ่มคนปกติ และกลุ่มคนปกติที่ใช้กัญชามีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคทางจิตเวชในอนาคต เช่น ในกลุ่มของผู้ป่วยไบโพลาร์มีโอกาสใช้กัญชามากกว่ากลุ่มคนปกติ และกัญชาสามารถทำให้อาการของโรคไบโพลาร์แย่ลง เช่นเดียวกับกลุ่มคนปกติที่ใช้กัญชาที่มีโอกาสเป็นไบโพลาร์
“สำหรับแนวทางป้องกันการใช้สารเสพติดในกลุ่มผู้บริโภควัยรุ่น แนะนำว่าการขู่ให้กลัวหรือให้ข้อมูลผลกระทบอย่างรุนแรงเพื่อสร้างความหวาดกลัวไม่ใช่วิธีที่ได้ผล อาจทำให้เด็ก ๆ เลือกที่จะไม่เชื่อ และเกิดการต่อต้านในที่สุด ดังนั้น สิ่งที่ควรทำคือให้ข้อมูลตามความจริง และเปิดโอกาสให้เขาได้คิดวิเคราะห์ รวมกับกลุ่มเพื่อน ให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งทางความคิด ซึ่งจะเป็นแนวทางป้องกันการใช้สารเสพติดอย่างได้ผล” กัณณิกากล่าว