สภาผู้บริโภคเสนอกรมการขนส่งทางราง ตั้งคณะทำงานพัฒนาบริการขนส่งสาธารณะระบบรองนำร่องพื้นที่ชุมชนเทศบาลตำบลหลักหก สถานีหลักหก รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง โดยมีตัวแทนสภาผู้บริโภค มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมเป็นคณะทำงานด้วย เพื่อเชื่อมโยงระบบขนส่งมวลชน หวังอำนวยความสะดวกและเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง
จากกรณีเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2567 สภาผู้บริโภคได้ร่วมมือกับศูนย์พัฒนาหลักหก มหาวิทยาลัยรังสิต จัดเวทีรับฟังความเห็นแนวทางการพัฒนาขนส่งสาธารณะระบบรองชุมชนเทศบาลตำบลหลักหกขึ้น โดยมีข้อเสนอของชุมชนที่ต้องการระบบบริการขนส่งสาธารณะเพื่อรองรับการเดินทางเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง นั้น
วันนี้ (26 มีนาคม 2567) คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งมวลชนและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค ระบุว่า หลังจากรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากเวทีรับฟังความเห็นพบว่าการพัฒนาบริการขนส่งสาธารณะระบบรอง (Feeder) จำเป็นต้องมีมาตรการหนุนเสริมจากหน่วยงานภาครัฐ ในการกําหนดนโยบายและทิศทางการพัฒนาระบบบริการขนส่งสาธารณะ ในการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภคทุกคนสามารถเดินทางเชื่อมต่อรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงได้อย่างสะดวกปลอดภัย
สภาผู้บริโภคจึงมีข้อเสนอแนะต่อกรมการขนส่งทางรางเกี่ยวกับเส้นทางการพัฒนาบริการขนส่งสาธารณะ ระบบรองในชุมชนเทศบาลตำบลหลักหกจำนวน 3 เส้นทาง ที่สามารถเดินทางเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ดังนี้
- ขอให้กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ตั้งคณะทำงานพัฒนาบริการขนส่งสาธารณะระบบรอง (Feeder) นำร่องพื้นที่ชุมชนเทศบาลตำบลหลักหก สถานีหลักหก รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง โดยมีตัวแทนจากสภาผู้บริโภค มหาวิทยาลัยรังสิต เทศบาลตำบลหลักหก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นคณะทำงานด้วย เพื่อประโยชน์สูงสุดของรัฐและผู้บริโภค
- ขอให้กรมการขนส่งทางรางเป็นเจ้าภาพหลักจัดประชุมร่วมกับ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด การรถไฟแห่งประเทศไทย กรมการขนส่งทางบก มหาวิทยาลัยรังสิต และสภาผู้บริโภค เพื่อสนับสนุนแนวทางการพัฒนาบริการขนส่งสาธารณะระบบรอง (Feeder) ในชุมชนเทศบาลตำบลหลักหก จำนวน 3 เส้นทาง คือ
เส้นทางที่หนึ่ง ถนนสี่ทิศ เริ่มต้นจากสถานีหลักหก – ถนนเอกทักษิณ – ถนนเอกประจิม – ถนนเอกอุดร – ถนนเอกบูรพา – สถานีหลักหก
เส้นทางที่สอง เริ่มต้นจากสถานีหลักหก – ถนนเอกทักษิณ – ถนนนาวงประชาพัฒนา – ถนน รพช. – ถนนศาลเจ้าสมบุญ – ถนนเลียบคลองเปรมประชากร – สถานีหลักหก
เส้นทางที่สาม เริ่มต้นจากสถานีหลักหก – ถนนเลียบคลองเปรมประชากร – ตลาดสี่มุมเมือง – ถนนวิภาวดีรังสิต – พหลโยธิน 87 – สถานีหลักหก
คงศักดิ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า จากการติดตามสถานการณ์และขับเคลื่อนนโยบายการเข้าถึงระบบบริการขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยและเป็นธรรมพบว่า นโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท มีผลทำให้รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงมีปริมาณผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตัวเลขจาก ขร. พบว่า ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2566 – 14 มีนาคม 2567 รถไฟชานเมืองสายสีแดง ทั้งสายกรุงเทพอภิวัฒน์ – ตลิ่งชัน และสายกรุงเทพอภิวัฒน์ – รังสิต มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยวันละ 27,683 เที่ยว เพิ่มขึ้นจากก่อนมีมาตรการฯ ร้อยละ 27.97
อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาสถานีหลักหกที่เป็นจุดเชื่อมต่อของมหาวิทยาลัยรังสิตและชุมชนขนาดใหญ่กลับพบปัญหาการเดินทางของนิสิตนักศึกษาและประชาชนจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าสู่บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงได้ เนื่องจากภายในชุมชนขาดเส้นทางเดินรถและผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะที่ได้มาตรฐานเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางสู่สถานีหลักหก
“ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่านโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทนั้นประสบความสำเร็จ และทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการขนส่งมวลชนได้มากขึ้น จึงควรขยายผลไปยังรถไฟฟ้าสายสีอื่น ๆ เช่น รถไฟฟ้าสายสีเหลือง รถไฟฟ้าสายสีชมพู อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวต้องดำเนินไปพร้อม ๆ การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการคมนาคมขนส่งต่าง ๆ เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคในการเข้าถึงระบบบริการรถไฟฟ้า ซึ่งหากมีระบบขนส่งรองที่เชื่อมต่อและพาคนจากแหล่งชมชุนเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้า คาดว่าจะทำให้มีผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงรวมถึงสีอื่น ๆ มากขึ้นด้วย” คงศักดิ์ระบุ