สภาผู้บริโภค ยื่น กมธ.คุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ตรวจสอบการทำงานของ กสทช. กรณีอนุญาตให้ควบรวมกิจการโทรคมนาคม กระทบผู้บริโภค ด้าน กมธ. ระบุพร้อมร่วมมือกับสภาผู้บริโภค ศึกษาข้อมูลเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป
จากกรณี เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2567 สภาผู้บริโภคได้ยื่นหนังสือและรายงานการทำหน้าที่ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรณีควบรวมค่ายมือถือและอินเทอร์เน็ตบ้านในมุมผู้บริโภค ต่อประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) 3 คณะ ได้แก่ กมธ.การพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร กมธ.การสื่อสาร โทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร และ กมธ.การคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. เนื่องจากพบว่ามีการละเลยการกระทำในหลายกรณี โดยเฉพาะการไม่กำกับดูแลให้ลดราคาค่าบริการมือถือและอินเทอร์เน็ตบ้านตามเงื่อนไข นั้น
วันนี้ (26 มีนาคม 2567) สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค พร้อมด้วยเครือข่ายผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร ได้เดินทางไปยื่นหนังสือและรายงานการทำหน้าที่ฯ ของกสทช. ต่อสมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา
สมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ระบุว่า กมธ. ได้รับทราบและติดตามปัญหาที่สืบเนื่องจากการควบรวมกิจการอยู่เป็นระยะ โดยพบว่าข้อมูลสะท้อนไปในทิศทางเดียวกับสภาผู้บริโภค คือการควบรวมกิจการทำให้การแข่งขันน้อยลง ผูกขาดมากขึ้น ทั้งยังมีปัญหาเรื่องราคาและคุณภาพสัญญาณ ทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบ ทั้งยังกล่าวอีกว่าส่วนตัวพบปัญหาคุณภาพสัญญาณอินเทอร์เน็ตเช่นเดียวกัน
“ที่ผ่านมาเคยพบปัญหาอินเทอร์เน็ตช้า เมื่อเข้าไปถามที่ศูนย์บริการพนักงานแจ้งว่าสาเหตุที่ควบรวมกันแล้วสัญญาณอินเทอร์เน็ตช้าลงเป็นเพราะมีการรวบลูกค้าของทั้งทรูและดีแทคไปเสาสัญญาณร่วมกัน ปัญหาคือเมื่อมีเสาเดียวแต่มีปริมาณคนใช้บริการเพิ่มขึ้นก็ย่อมส่งผลต่อสัญญาณมือถือและอินเทอร์เน็ต ซึ่งต่อให้หลาย ๆ ท่านยอมจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อให้ได้สัญญาณที่ดีขึ้น ก็อาจไม่สามารถแก้ปัญหาได้ อย่างไรก็ตามสิ่งที่กล่าวมาเป็นเพียงคำชี้แจงจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งหลังจากนี้ กมธ. อาจต้องร่วมกับสภาผู้บริโภคศึกษาข้อมูลและรายละเอียดกันต่อไป” สมชายระบุ
ด้าน สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภคได้จัดทํารายงานการกระทำฯ ฉบับดังกล่าวขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลให้หน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ในการพิจารณาการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. และสํานักงาน กสทช. ว่าทําหน้าที่บกพร่องหรือไม่
“หวังว่าคณะกรรมาธิการในฐานะที่มีบทบาทในการแต่งตั้ง กสทช. จะใช้ข้อมูลฉบับนี้ในการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. ว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งร่างอาณาจักรไทยหรือไม่ โดยเฉพาะมาตรา 60 และมาตรา 75 ที่ให้อํานาจ กสทช. ในการรักษาประโยชน์สูงสุดของประชาชนในกิจการที่เกี่ยวข้องกับกิจการสื่อและโทรคมนาคม” สารี ระบุ
ขณะที่ พนิตา ฟองอ่อน จากศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคแรงงานนอกระบบ ร่วมสะท้อนปัญหาการใช้บริการโทรศัพท์มือถือหลังการควบรวมว่า พบปัญหาถูกเปลี่ยนแพ็กเกจโดยที่ผู้ให้บริการส่งข้อความแจ้งผู้บริโภคว่า “หากไม่ต้องการเปลี่ยนแพ็กเกจต้องกดยืนยันเพื่อใช้แพ็กเกจเดิม” หากไม่ยืนยันจะถูกเปลี่ยนแพ็กเกจให้อัตโนมัติและมักจะเป็นแพ็กเกจที่ราคาแพงขึ้น โดยอ้างว่าได้ส่งข้อความแจ้งผู้บริโภคแล้ว
“บางครั้งเราเห็นว่ามีข้อความส่งมาแต่ไม่กล้ากดลิงก์เนื่องจากกลัวเป็นมิจฉาชีพ ความจริงการส่งเอสเอ็มเอสควรมาในลักษณะที่ต้องกดยืนยันเพื่อเปลี่ยนแพ็กเกจ ไม่ใช่ให้กดยืนยันเพื่อให้แพ็กเกจเดิม เพราะหากผู้บริโภคที่ไม่เห็นข้อความ ก็กลายเป็นถูกเปลี่ยนแพ็กเกจโดยไม่รู้ตัว ควรส่งมาบอกว่าถ้าต้องการเปลี่ยนค่อยยืนยัน นอกจากนี้ ยังพบปัญหาเรื่องสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่แม้จะต้องจ่ายค่าบริการแพงขึ้น แต่กลับมีคุณภาพที่ต่ำกว่าก่อนการควบรวมอย่างเห็นได้ชัด” พนิตากล่าว
นอกจากนี้ยังมีตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภคที่ร่วมสะท้อนปัญหาในการใช้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต ทั้งเรื่องคุณภาพของสัญญาณ ราคาค่าบริการที่ถูกปรับเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องทางเลือกของผู้บริโภคที่น้อยลง เช่น ก่อนหน้าที่จะมีการควบรวมเคยใช้แพ็กเกจราคาประมาณ 200 บาทใช้อินเทอร์เน็ตได้ไม่จำกัด แต่เมื่อมีการควบรวมกลับพบว่าไม่สามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้ เมื่อติดต่อเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการทำให้ทราบว่าแพ็กเกจดังกล่าวถูกยกเลิกแล้ว จึงต้องเปลี่ยนเป็นแพ็กเกจที่ราคาแพงขึ้น อีกทั้งยังใช้อินเทอร์เน็ตได้น้อยลงกว่าเดิม