ถอดบทเรียนอาคารสูงในซอยแคบ ดิเอทัส ผู้เข้าร่วมเวที เห็นพ้องเรียกร้อง กทม. รื้อถอนอาคารโดยด่วน เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ด้านสภาผู้บริโภค เผยจัดทํารายงานการละเมิดสิทธิผู้บริโภคส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว
วันที่ 24 มกราคม 2568 สภาผู้บริโภค จัดเวที ถอดบทเรียน “10 ปี ดิเอทัส (The Aetas) กับการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด” เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายในการบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคาร และกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมไปถึงการรับรู้สาธารณะต่อปัญหาการวางและจัดทำผังเมือง และการบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคารซึ่งเป็นกฎหมายที่จะต้องนำมาพิจารณาร่วมกัน เพื่อลดผลกระทบต่อสิทธิของประชาชนและสิทธิของผู้บริโภค ซึ่งในกรณีของดิเอทัส เป็นการสร้างอาคารสูงเกิน 8 ชั้น หรือ 23 เมตร ในซอยที่มีความกว้างไม่เกิน 10 เมตร ซึ่งไม่เป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 33 ตามพ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 (อ่านข่าวได้ที่ : คดีแฝดจาก ดิเอทัส สู่ ‘แอชตัน อโศก’ เพิกถอนใบอนุญาต ละเมิดกฎหมายควบคุมอาคาร)
ภาพรวมจากวงเสวนาชี้ให้เห็นถึงความล่าช้าในการดำเนินการรื้อถอนอาคาร “ดิเอทัส” ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเกิดจากความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ความซับซ้อนของกระบวนการทางกฎหมาย และข้อจำกัดด้านงบประมาณ ผู้แทน กทม. ยืนยันว่าความล่าช้าไม่ได้เกิดจากความละเลย แต่เป็นผลจากการพิจารณาผลกระทบที่รอบด้าน ขณะที่ผู้เสียหายตั้งคำถามถึงความศักดิ์สิทธิ์ของกระบวนการยุติธรรมและเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนโดยนึกความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ ด้านผู้ร่วมแลกเปลี่ยนต่างเน้นย้ำถึงความสำคัญของการป้องกันก่อนเกิดเหตุ และขอให้ กทม. เร่งปฏิบัติตามคำสั่งศาลโดยเร็ว เพื่อเป็นบรรทัดฐานในการจัดการกรณีพิพาทในอนาคต พร้อมทั้งเร่งคืนสิทธิและความปลอดภัยให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็วที่สุด
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า ที่ผ่านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ส่งข้อมูลให้สภาผู้บริโภค เพื่อพิจารณาจัดทํารายงานการละเมิดสิทธิผู้บริโภคซึ่งสภาผู้บริโภคได้จัดทํารายงานส่งให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องตอบกลับภายใน 60 ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค ปี 2562 ทั้งนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น การจัดการอาคารสูงในซอยแคบ และการบังคับใช้ผังเมืองที่ไม่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม การดำเนินคดีไม่ใช่ทางออก แต่จะทำอย่างไรให้ประชาชนมีสิทธิในการอยู่อาศัยในพื้นที่ที่ควรจะสงบสุขและปลอดภัยจากความเสี่ยงจากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เป็นธรรม
เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีอาคารดิเอทัสสะท้อนถึงระยะเวลาอันยาวนานในการต่อสู้ทางกฎหมายที่กินเวลากว่า 20 ปี โดยเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2548 ที่นายแพทย์สงคราม ทรัพย์เจริญ ยื่นคำร้องต่อสำนักงานเขตปทุมวัน แต่ไม่มีความคืบหน้า จนถึงปี 2551 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง กระทั่งศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาในปี 2557 ให้รื้อถอนอาคารดังกล่าว แต่จนถึงปัจจุบันกว่า 10 ปีหลังคำพิพากษา อาคารยังคงเปิดให้บริการ ความล่าช้าในการปฏิบัติตามคำสั่งของศาลนำไปสู่คำถามต่อความศักดิ์สิทธิของกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย
“ผ่านมาแล้ว 10 ปีเต็มอาคารดิเอทัสก็ยังเปิดให้บริการ นำมาสู่คําถามว่าเราจะสามารถปฏิบัติตามคําพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดได้หรือไม่ นี่เป็นรูปธรรมที่สําคัญอย่างหนึ่งว่าคําพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด จะเป็นเพียงกระดาษที่ไม่สามารถบังคับใช้ได้หรือไม่ นี่เป็นคำถามที่ประชาชนรอคำตอบ” นางสาวสารี ระบุ
นายแพทย์สงคราม ทรัพย์เจริญ หนึ่งในผู้เสียหายจากกรณีการก่อสร้างอาคารสูงในซอยร่วมฤดี ระบุว่า ปัญหาความล่าช้ากรณีดิเอทัส เริ่มต้นจากข้อมูลที่ไม่ตรงกันของหน่วยงานภาครัฐ ในเรื่องความกว้างของซอยที่ไม่ชัดเจนระหว่างสำนักการโยธาและสำนักงานเขต นำไปสู่การฟ้องร้องแลบังคับคดีที่กินเวลากว่า 10 ปี แม้ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งให้รื้อถอนอาคารตั้งแต่ปี 2557 แต่จนถึงปัจจุบัน การบังคับคดียังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างสมบูรณ์ ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านความปลอดภัยจากอาคารสูงที่สร้างขึ้นอย่างผิดกฎหมาย
นายแพทย์สงครามเรียกร้องให้สภาผู้บริโภคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางป้องกันปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้อย่างเร่งด่วน โดยเน้นความถูกต้องและตรงกันของข้อมูล รวมถึงการประสานงานที่มีประสิทธิภาพระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงข้อพิพาทที่ยืดเยื้อ การแก้ไขปัญหาดังกล่าวไม่เพียงแต่เป็นการปกป้องสิทธิของประชาชน แต่ยังเป็นการป้องกันความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินจากเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในกรุงเทพฯ
“หลังจากนี้ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าระยะเวลาที่เหมาะสมในการบังคับคดีคือเท่าไหร่ แต่เป็นหน้าที่ของสำนักงานเขตที่ต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วที่สุด กรณีดิเอทัสเราปล่อยอาคารทิ้งไว้ไม่เกิดประโยชน์กับใครเลย ผู้ที่เป็นเจ้าของก็ไม่ได้ประโยชน์ เรามัวแต่มองกฎหมายข้อโน้นข้อนี้ แต่อยากให้นึกถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ” นายแพทย์สงครามกล่าวทิ้งท้าย
ทางด้าน นายปิยะศาสตร์ ไขว้พันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานศาลปกครอง แสดงความเห็นว่า ในความเป็นจริง กทม. สามารถใช้อำนาจที่มีอยู่อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องรอให้ศาลสั่ง เพราะที่ผ่านมาการดำเนินการใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน โดยอ้างถึงเรื่องขนาดของอาคารที่ต้องใช้เวลารื้อถอนนาน รวมทั้งมูลค่าการก่อสร้างสูง ค่าการรื้อถอนก็สูงเช่นกัน อีกทั้งมีปัญหาเรื่องการหาผู้รับเหมา รวมถึงการมีผู้อยู่อาศัย ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้เร็ว หน่วยงานหารือซ้ำ ๆ บ่อยครั้ง “จนถึงตอนนี้ไม่ต้องหารือแล้ว กทม. ควรใช้อำนาจที่ท่านมีและใช้ทันทีด้วย”
ขณะที่ผู้แทน กทม. ที่เข้าร่วมแลกเปลี่ยน เปิดเผยว่า สาเหตุที่ยังไม่สามารถรื้อถอนอาคารสูง ดิเอทัส The Aetas ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดได้ เกิดจากความซับซ้อนของกระบวนการทางกฎหมายที่ต้องปฏิบัติอย่างรอบคอบและครบถ้วน เนื่องจากเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบหลายด้าน ทั้งในแง่ของชุมชนโดยรอบ ผู้ถือกรรมสิทธิ์ และความรับผิดชอบต่อสาธารณะ หน่วยงานต้องตรวจสอบและประเมินรายละเอียดอย่างละเอียดรอบด้าน เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างถูกต้องและยุติธรรม
นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณและทรัพยากรที่ต้องใช้ในการรื้อถอนอาคาร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กระบวนการล่าช้า หน่วยงานจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสมและเพียงพอ รวมถึงวางแผนอย่างเป็นระบบเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับชุมชนในพื้นที่ เช่น ความปลอดภัย การจราจร และโครงสร้างพื้นฐานโดยรอบ ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการประสานงานกับองค์กรที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งแก้ไขปัญหา
อย่างไรก็ตาม กทม. ยืนยันว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งศาลอย่างเคร่งครัด และอยู่ระหว่างการเร่งดำเนินการรื้อถอนตามแผนที่วางไว้ โดยมีการชี้แจงว่าความล่าช้าไม่ได้เกิดจากความละเลยหรือเพิกเฉย แต่เป็นความจำเป็นที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบในหลายมิติ แต่ยังไม่สามารถระบุกำหนดวันที่จะมีการรื้อถอนแล้วเสร็จได้ ทั้งนี้ ประชาชนจะได้รับการแจ้งข้อมูลความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและคลายข้อกังวลเกี่ยวกับการดำเนินงานในกรณีดังกล่าว
นอกจากนี้ ในวงพูดคุยยังมีการแสดงความเห็นจากผู้เข้าร่วมอีกหลายท่าน โดย นายจุมพล ชื่นจิตต์ศิริ ประธานอนุกรรมการด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย สภาผู้บริโภค ได้ตั้งข้อสังเกตว่า กรณีศาลปกครองมีคำพิพากษาให้รื้อถอน แต่ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบโดยตรวจสอบว่าเป็นเหตุสุวิสัย หรือประเมินความเสียหายแล้วมีผลกระทบต่อบุคคลที่สามหรือไม่ เพราะหากไม่มีปัญหาเหล่านี้ก็สามารถรื้อถอนได้ ซึ่งจำเป็นต้องชี้แจงเหตุผลและเสนอแนวทางแก้ไข เพื่อหาข้อยุติที่เป็นธรรมและเหมาะสมกับสถานการณ์ เพราะหากรัฐไม่ดำเนินการตามคำพิพากษาอาจถือเป็นการละเมิดคำสั่งศาล
ด้าน นายปฐมพงศ์ เจียมอุดมสิน ประธานสภาผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร มีความเห็นว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขาดการประชาสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะกรณีที่มีคำพิพากษาแล้ว แต่กลับไม่เห็นความคืบหน้ามานานถึง 10 ปี การแก้ปัญหาไม่ควรจำกัดอยู่แค่กระบวนการทางกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่ควรใช้เครื่องมือการสื่อสารหลากหลายช่องทาง โดยเฉพาะสื่อมวลชน เพื่อสร้างความโปร่งใสและกดดันให้เกิดการดำเนินการที่รวดเร็วและเป็นธรรมมากขึ้น หากมีการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาจะช่วยให้สาธารณชนเข้าใจความคืบหน้าของคดี และยังเป็นช่องทางในการผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะที่ ก้องศักดิ์ สหะศักดิ์มนตรี อนุกรรมการด้านอสังหาริมทรัพย์และอยู่อาศัย สภาผู้บริโภค ได้กล่าวถึงปัญหาเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความกว้างของถนนในซอยร่วมฤดี ซึ่งเป็นกรณีศึกษาสำคัญ โดยชี้ว่าคำพิพากษาได้กำหนดชัดเจนเกี่ยวกับข้อกำหนดนี้ และเป็นที่คาดหมายว่าผู้พัฒนาโครงการรายใหม่จะระมัดระวังมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นในระดับประเทศคือการนิยามคำว่า “เขตทาง” ที่รวมพื้นที่ฟุตบาทและองค์ประกอบอื่น ๆ เช่น คลองระบายน้ำ ฟุตบาท ซึ่งทำให้พื้นที่ถนนลดลงจนไม่เพียงพอสำหรับการใช้งานจริง
เมื่อถามถึงปัญหา 10 ปี The Aetas ที่ยกมาเป็นกรณีศึกษา จะสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไปได้หรือไม่นั้น ก้องศักดิ์ยืนยันว่า “ได้” เพราะหน่วยงานภาครัฐทราบปัญหานี้มาโดยตลอด และการแก้ไขนั้นไม่ใช่เรื่องยากหากมีความตั้งใจจริง แต่อย่างไรก็ตาม ระยะเวลา 10 ปี ที่ใช้ในการแก้ปัญหานั้นยาวนานเกินไป และทำให้ระบบนิติรัฐเสียหาย เนื่องจากกฎหมายไม่สามารถบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วน นางสาวรสนา โตสิตระกูล กรรมการนโยบาย สภาผู้บริโภค แสดงความเห็นว่า การป้องกันเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะหากมีการป้องกันปัญหา หรือรีบแก้ไขตั้งแต่ต้นจะไม่เกิดเหตุการณ์ยืดเยื้อ ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ว่า กทม. ต้องดูแล เมื่อปล่อยให้เกิดข้อพิพาทจนยืดเยื้อกว่า 10 ปี กทม. ควรเร่งแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้สภาผู้บริโภคต้องติดตามเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างถึงที่สุด
“ถ้ากรณีดิเอทัสทำให้เป็นตัวอย่างว่าเมื่อมีการสร้างอาคารผิดกฎหมายจะมีการรื้อถอนจริง ต่อไปผู้บริโภคจะเข้มแข็งมากขึ้น เขาจะเชื่อว่าการต่อสู้ในสิ่งที่ถูกต้องมีผล กรณีที่เจ้าของอาคารประวิงเวลา อยากให้ ทม. แจ้งความ เพราะคำสั่งศาลบอกว่าให้ดำเนินการภายใน 60 วัน แต่นี่เลยมา 10 ปี คิดเป็นมากกว่า 1000% ตอนนี้ข้าราชการทำให้ประชาชนเกิดความสงสัยว่าเกิดอะไรที่ไม่สุจริตเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะไม่เช่นนั้น เหตุการณ์แบบนี้จะไม่เกิดตั้งแต่ต้น” นางสาวรสนา กล่าว
ทั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่ผู้ร่วมวงเสวนาต่างเห็นตรงกันคือ “การป้องกันตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุเป็นสิ่งที่ดีที่สุด” หรือหากเกิดเหตุขึ้นแล้วควรเร่งแก้ไข และไม่ปล่อยให้ยืดเยื้อไปจนถึงขั้นต้องฟ้องร้องเป็นคดีความและบังคับคดี ซึ่งทำเกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาอย่างไม่สิ้นสุด อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าร่วมต่างมีความหวังว่ากรณีดิเอทัสจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ในระยะเวลาอันใกล้ เพื่อเป็นการคืนสิทธิให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ อีกทั้งยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมให้กับประชาชนและเป็นบรรทัดฐานใหม่ ที่จะถูกใช้ในกรณีอื่น ๆ ที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน เพื่อป้องกันไม่ได้ให้ข้อพิพาท การฟ้องร้อง และการบังคับคดีที่ยาวนานดังเช่นกรณีดิเอทัสอีก