สภาผู้บริโภค ชี้แจงผลงานช่วยเหลือผู้บริโภคทั่วไทย ปีงบประมาณ 2565 ต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เดินหน้าผลักดันหน่วยงานประจำจังหวัดให้ครบทั้ง 77 จังหวัด ชี้จะเป็นกลไกสำคัญคุ้มครองผู้บริโภคให้เข้มแข็งขึ้น ระบุ ที่ผ่านมายังพบข้อจำกัดการผลักดันข้อเสนอนโยบายค่อนข้างมาก ในอนาคตพร้อมร่วมมือกับ ส.ส. ทุกพรรคผลักดันนโยบายคุ้มครองผู้บริโภค ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน
วันที่ 16 สิงหาคม 2566 บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาผู้บริโภค และ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ได้เข้าชี้แจงผลงานคุ้มครองผู้บริโภคในปีงบประมาณ 2565 ของสภาผู้บริโภคต่อสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส) ในการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 7 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง)
โดยบุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาผู้บริโภค ระบุว่า ปัจจุบันสภาผู้บริโภคมีองค์กรสมาชิกอยู่ใน 41 จังหวัดทั่วประเทศ และมีความตั้งใจที่จะขยายฐานการคุ้มครองผู้บริโภคให้ครบทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม การหาสมาชิกองค์กรผู้บริโภคในหลายจังหวัดนั้นมีข้อจำกัด คือ องค์กรที่จะมาเป็นสมาชิกสภาผู้บริโภคได้ต้องผ่านการขึ้นทะเบียนองค์กรผู้บริโภค โดยมีสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ผู้รับรอง ซึ่งการขึ้นทะเบียนองค์กรนั้นมีรายละเอียดค่อนข้างมาก ทำให้มีหลายองค์กรที่ขึ้นทะเบียนแต่ไม่ผ่าน ทั้งนี้ แม้จะมีขั้นตอนและกระบวนการขึ้นทะเบียนที่ต้องถูกตรวจสอบอย่างละเอียดแต่ก็ยังเกิดกรณีที่มีองค์กรผู้บริโภคถูกฟ้องว่าเป็นองค์กรที่ถูกจัดตั้งขึ้น ไม่มีตัวตนจริง หรือที่เรียกว่าองค์กรทิพย์ แต่เมื่อตรวจสอบแล้วก็เป็นองค์กรที่มีตัวตนจริง ทั้งนี้ การจะมีหน่วยงานประจำจังหวัดหมายความว่าต้องมีองค์กรสมาชิกในจังหวัดอย่างน้อย 5 องค์กร ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนและรับรองโดย สปน. ซึ่งก็เป็นโจทย์สำคัญของการมีหน่วยงานประจำจังหวัด อย่างไรก็ตามสภาผู้บริโภคมีเป้าหมายและความตั้งใจที่จะผลักดันให้เกิดหน่วยงานประจำจังหวัดให้ครบทั้ง 77 ทั่วประเทศไทย
ส่วนคำถามที่ว่าสภาผู้บริโภคแตกต่างกับองค์กรภาครัฐที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภคอย่างไร ต้องอธิบายว่า สภาผู้บริโภคเป็น “องค์กรในฝัน” ของผู้บริโภค ที่รับเรื่องร้องเรียนและดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภคจนจบในที่เดียว โดยไม่ต้องติดต่อหลายหน่วยงาน ที่มีชื่อว่าศูนย์รับเรื่องร้องเรียนแบบเบ็ดเสร็จ (One-stop Service)
ขณะที่ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ระบุว่า สภาผู้บริโภคเป็นองค์กรที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือขององค์กรผู้บริโภค และตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2540 จนกระทั่งถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคถูกจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ซึ่งปัจจุบันก็เข้าสู่ปีที่ 2 แล้ว ทั้งนี้ จากครั้งก่อนที่มีโอกาสมารายงานผลการดำเนินงานในสภาผู้แทนราษฎรและได้รับคำแนะนำกลับไป สภาผู้บริโภคได้นำคำแนะนำดังกล่าวไปปฏิบัติทุกรายการ
อย่างไรก็ตาม จากการทำงานในแง่ของการเสนอแนะนโยบายพบว่าสภาผู้บริโภคยังมีข้อจำกัดในเรื่องการผลักดันข้อเสนอนโยบายต่อหน่วยงานรัฐค่อนข้างมาก แต่ในปีนี้สภาผู้บริโภคมีแนวทางที่จะทำงานกับทุกพรรคการเมือง โดยมองว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีหน้าที่ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนเช่นเดียวกันกับสิ่งที่สภาผู้บริโภคทำ ยกตัวอย่างข้อเสนอนโยบายที่สภาผู้บริโภคขับเคลื่อน เช่น กรณีรถรับส่งนักเรียนที่ขณะนี้มีต้นแบบของโรงเรียนที่ทำงานเรื่องรถรับส่งนักเรียน แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจในการกระจายการปฏิบัติงานเพื่อเกิดต้นแบบของรถรับส่งนักเรียน
หรือประเด็นเรื่องบริการขนส่งมวลชนที่อยากให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการขนส่งสาธารณะได้ในระยะ 500 เมตรจากบ้าน รวมไปถึงการได้ใช้บริการขนส่งมวลชนในราคาที่เหมาะสมคือไม่เกินร้อยละ 10 ของค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อให้คนที่อยู่ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดจะสามารถเข้าถึงบริการเหล่านี้ได้ ซึ่งเรื่องขนส่งมวลชนนั้นเป็นประเด็นที่หลายพรรคการเมืองผลักดันเรื่องนี้อยู่พอสมควร ทั้งเรื่องตั๋วร่วม ค่าโดยสารร่วม อีกทั้งขณะนี้มีพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. … ซึ่งสภาผู้บริโภควางแผนไว้ว่าจะทำงานกับทุกพรรคการเมืองในการผลักดันให้เกิดตั๋วร่วมโดยสารที่ครอบคลุมทุกบริการ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องการผลักดันให้มีการปรับปรุงนโยบายว่าฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ นโยบายเรื่องการควบคุมการใส่กัญชาในอาหาร และอื่น ๆ
ในปี 2565 สภาผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 14,941 เรื่อง จัดการสำเร็จเสร็จสิ้นทั้งหมด 13,617 เรื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 91.14 ของเรื่องร้องเรียนทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าการเยียวยาความเสียหายถึง 286 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม สารีเชื่อว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคมีมูลค่ามากมายมหาศาลกว่านี้ เช่น เรื่องการฉ้อโกงออนไลน์ล่าสุดในปี 65 ประเทศไทยมีตัวเลขความเสียหายจากปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ 50,000 ล้านบาท โดยปัญหาที่พบมากที่สุดคือเรื่องการหลอกลงทุนออนไลน์ และปัญหาซื้อของไม่ได้ของ ของไม่ตรงปก สำหรับการแก้ไขในเรื่องดังกล่าว ขณะนี้สภาผู้บริโภคได้ทำความร่วมมือกับอย่างน้อย 10 หน่วยงาน เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ธปท. สมาคมธนาคาร สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ตำรวจเศรษฐกิจ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อรวมกันหาทางออกของปัญหาดังกล่าว
ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคอยากสร้างความร่วมมือกับทุกพรรคการเมืองในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งปีนี้สภาองค์กรผู้บริโภคเรามีกฎหมายอย่างน้อย 6 ฉบับที่อยากปรับปรุงและผลักดัน หนึ่ง คือการปรับปรุงพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค สอง คือกฎหมายว่าด้วยความรับผิดต่อสินค้าที่ชำรุดบกพร่อง หรือเลม่อนลอว์ (Lemon Law) สาม พ.ร.บ. อากาศสะอาด สี่ พ.ร.บ. การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. … ห้า พ.ร.บ กัญชา และหก กฎหมายเรื่องบำนาญประชาชน
สภาผู้บริโภคมีงานอยู่ 4 งาน 1) งานให้การช่วยเหลือผู้บริโภคซึ่งสภาผู้บริโภคพยายามที่จะลดความซ้ำซ้อนกับ สคบ. โดยที่มีคณะทำงานร่วมมือกัน ทั้งในการฟ้องคดี สนับสนุนการทำงานกันมากขึ้น แต่เรื่องการทำงานเชิงรุกก็อาจจะยังทำได้ค่อนข้างจำกัด อย่างไรก็ตาม หวังว่าการทำงานเชิงรุกในแง่ข้อเสนอนโยบายจะได้รับการสนับสนุนจากท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากขึ้น 2) งานสนับสนุนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ตั้งเป้าหมายว่าในปี 2567 สภาผู้บริโภคจะมีองค์กรสมาชิกอยู่ใน 60 จังหวัด จากปี 66 ที่มี 41 จังหวัด 3) งานเสนอแนะนโยบาย อย่างที่ได้ทำเสนอไปข้างต้น และ 4) งานสื่อสารสาธารณะที่จะดำเนินการอย่างเข้มข้นต่อไป
สำหรับประเด็นที่ต้องการการสนับสนุนจากสภาผู้แทนราษฎร คือประเด็นเรื่องงบประมาณ สภาผู้บริโภคเริ่มทำงานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 โดยได้ทุนประเดิม 350 ล้านบาท และทุนประเดิมนั้น ครม. มีมติให้สภาผู้บริโภคขอรับงบประมาณในปี 2565 แต่ความจริงในปี 2565 สภาไม่ได้รับงบประมาณเลย เนื่องจากมีข้อจำกัดในการแปรญัตติเรื่องงบประมาณ ส่วนในปี 2566 สภาได้รับการสนับสนุนงบประมาณ 153 ล้านบาท และปี 2567 ยังไม่ทราบงบประมาณอย่างเป็นทางการ ทราบเพียงว่างบประมาณของสภาผู้บริโภคอยู่ในบัญชีงบประมาณ แต่ขณะนี้ทุกหน่วยงานสามารถใช้งบไปพลางก่อนขณะที่สภาผู้บริโภคเราไม่มีงบพลาง เพราะฉะนั้นก็หวังว่าท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะสนับสนุนโดยที่สภาจะของบประมาณจากคณะรัฐมนตรีเพื่อเป็นงบที่จะขอใช้ไปพลางก่อนในปี 2567 ทั้งนี้ หวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากท่านสมาชิกทุกท่าน
ทั้งนี้ มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จากพรรคต่าง ๆ จำนวน 14 คนร่วมอภิปรายผลการดำเนินงานของสภาผู้บริโภคจากเอกสารรายงานประจำปี 2565 โดยภาพรวมของการอภิปราย ได้มีการสะท้อนผลงานการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งเสียงชื่นชม เสียงวิจารณ์และข้อแนะนำ ในการทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง ซึ่งข้อแนะนำต่าง ๆ สรุปได้ ดังต่อไปนี้
เริ่มจาก ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวชื่นชมการทำงานของสภาผู้บริโภคที่ได้ทำงานอย่างเข้มแข็งในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งการให้ความรู้ การเตือนภัย การรับเรื่องร้องและช่วยแก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภค รวมถึงการทำข้อเสนอแนะเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ได้อย่างครอบคลุมประเด็นปัญหาผู้บริโภค
ทั้งนี้ ร่มธรรม ได้ฝากข้อเสนอแนะกับสภาผู้บริโภค จำนวน 3 ประเด็น ดังนี้ 1. ขอสนับสนุนให้มีการปรับปรุงกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของไทย คือ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ให้กำหนดสิทธิผู้บริโภคให้มีความเท่าเทียมกับสิทธิผู้บริโภคสากลและให้เท่าทันกับปัญหาผู้บริโภคที่เกิดขึ้นใหม่ทุกวัน ตัวอย่างเช่น สิทธิที่จะได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย สิทธิในการเข้าถึงบริการสาธารณะ 2. สนับสนุนสภาผู้บริโภคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันสิทธิผู้บริโภคในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์และการหลอกลวงทางออนไลน์ การจัดการแพลทฟอร์มออนไลน์และการควบคุมผู้ขายสินค้าออนไลน์ให้มีมาตรฐาน การแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์และการส่งข้อความเอสเอ็มเอสหลอกลวง ผลักดันระบบขนส่งสาธารณะให้มีการคิดค่าบริการที่เป็นธรรมโดยคำนึงถึงค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบัน ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการเหล่านี้ได้ รวมถึงการผลักดันระบบตั๋วร่วมหรือตั๋วใบเดียวที่ใช้ได้กับขนส่งสาธารณะที่หลากหลาย พลังงานและค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรม เป็นต้น
นอกจากนี้เสนอแนะให้คณะรัฐมนตรีสนับสนุนงบประมาณการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นระบบ สม่ำเสมอทุกปี เพื่อความต่อเนื่องในการทำงานและเพื่อความเป็นอิสระในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน รวมทั้งขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาและรับฟังข้อเสนอแนะและให้ความร่วมมือกับสภาผู้บริโภค
ด้าน ฐากร ตันฐสิทธิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย ได้กล่าวชื่นชมการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคของสภาผู้บริโภค แต่ทั้งนี้มีข้อสังเกตถึงอำนาจหน้าที่ของสภาผู้บริโภคที่สามารถเสนอแนะนโยบายคุ้มครองผู้บริโภคถึงคณะรัฐมนตรี หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเมื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเหล่านั้นรับข้อเสนอแนะของสภาผู้บริโภคไปแล้วได้ดำเนินการตามความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ หรือตอบมายังสภาผู้บริโภคหรือไม่ และหากหน่วยงานไม่ดำเนินการตามข้อเสนอ สภาผู้บริโภคมีแนวทางจะดำเนินการอย่างไรต่อไปเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือเอสเอ็มเอสหลอกลวง หรือปัญหาค่าไฟฟ้าแพงที่สภาผู้บริโภคส่งข้อเสนอถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ยังพบว่าหน่วยงานยังไม่มีการนำไปพิจารณาดำเนินการและทำให้ผู้บริโภคยังคงได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ฐากร เห็นว่าหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือคณะรัฐมนตรีไม่นำข้อเสนอของสภาผู้บริโภคไปพิจารณา สภาผู้บริโภคจะต้องหาแนวทางการปรับปรุงหรือแก้ไขกฎหมายเพื่อให้มีอำนาจ และหน่วยงานรัฐต่าง ๆ พิจารณาและดำเนินการตามข้อเสนอให้ประสบความสำเร็จและเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งคาดว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพร้อมที่จะสนับสนุนการทำงานของสภาผู้บริโภค และมองว่าการคุ้มครองผู้บริโภคของสภาผู้บริโภคเป็นผลประโยชน์ที่ดีที่สุดของประเทศไทยอย่างหนึ่ง
ขณะที่ รัฐ คลังแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดมหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ระบุว่า สภาผู้บริโภคมีการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคเชิงรุก ทั้งการเสนอแนะนโยบายคุ้มครองผู้บริโภคถึงคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานรัฐ รวมถึงการประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ และเตือนภัยผู้บริโภค อีกทั้งเฝ้าระวัง ท้วงติงในประเด็นที่มีแนวโน้มว่าผู้บริโภคจะถูกลิดรอนสิทธิผู้บริโภค ขณะที่ในเชิงรับมีการรับเรื่องร้องเรียนและช่วยแก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภค ทั้งนี้เห็นว่าการทำงานของสภาผู้บริโภคนั้นครอบคลุมทุกด้านตั้งแต่ผู้บริโภคตื่นจนหลับ
ทั้งนี้ ประเด็นผู้บริโภคที่กำลังเป็นปัญหาในขณะนี้คือการปรับเงื่อนไขการรับเบี้ยผู้สูงอายุ ที่จะต้องมีการพิสูจน์ตัวตนว่ามีความยากจนหรือมีรายได้ไม่เพียงพอจริงหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมา สภาผู้บริโภคได้มีการผลักดันและส่งข้อเสนอถึงคณะรัฐมนตรีเพื่อทำให้มีการผลักดันนโยบายบำนาญถ้วนหน้า 3,000 บาท ที่ให้กับทุกคนโดยไม่แบ่งแยกชนชั้น ในอัตราที่เหมาะสมโดยอ้างอิงจากเส้นความยากจนที่สภาพัฒน์ฯ กำหนดขึ้นมา ทั้งนี้ รัฐ ชื่นชมและสนับสนุนข้อเสนอของสภาผู้บริโภค และฝากให้รัฐบาลรักษาการณ์และผู้ที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลใหม่ปรับแก้ให้เป็นเงื่อนไขเดิมคือทุกคนต้องได้รับเงินเบี้ยผู้สูงอายุ โดยไม่ต้องพิสูจน์ความยากจน
นอกจากนี้ขอชื่นชมประเด็นที่สภาผู้บริโภคได้ช่วยเหลือผู้บริโภคไปกว่าร้อยละ 91 ของผู้บริโภคที่เข้ามาร้องเรียน แต่ตั้งข้อสังเกตถึงการร้องเรียนในด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย ที่มีประเด็นความสำเร็จต่ำกว่าด้านอื่น ๆ คือช่วยเหลือไปได้เพียงร้อยละ 50 เท่านั้น ดังนั้นจึงต้องการให้สภาผู้บริโภคชี้แจงถึงเหตุผลที่ทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือได้เท่ากับปัญหาผู้บริโภคด้านอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม รัฐเห็นว่าการทำงานของสภาผู้บริโภคเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคอย่างแท้จริง จึงอยากฝากให้สภาผู้บริโภคเพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์ ขยายองค์กรให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทั้งจังหวัด อำเภอ ตำบล ผู้ที่ไม่ได้ใช้ช่องทางออนไลน์หรือผู้ด้อยโอกาส เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ครอบคลุมได้มากยิ่งขึ้นและเพื่อให้ทุกคนได้ทราบถึงช่องทางในการพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคของตัวเอง
ส่วน ภัณฑิล น่วมเจิม สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ระบุว่า ขอชื่นชมการทำงานของสภาผู้บริโภคที่ช่วยดูแล รับเรื่องร้องเรียน และช่วยแก้ไขปัญหาผู้บริโภคในหลายมิติที่ครอบคลุมประเด็นปัญหาผู้บริโภคถึง 8 ด้าน โดยมีทั้งการรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค การสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ เอกชน และการจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การเสนอให้ปรับเกณฑ์สิทธิการรักษาตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่ (สิทธิยูเซ็ป : UCEP) ให้ครอบคลุมมากขึ้น การช่วยเหลือนักลงทุนรายย่อย การเสนอให้มีการทบทวนการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับผังเมืองเพิ่มเสียงประชาชนจากทุกภาคส่วนมากขึ้น การเสนอให้ร้านค้าและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาต้องติดป้ายแสดงว่าเป็นอาหารที่มีส่วนผสมเหล่านี้เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูล มีทางเลือกในการตัดสินใจ เป็นต้น แต่ทั้งนี้มีความห่วงกังวลเกี่ยวกับงบประมาณที่ให้กับสภาผู้บริโภค ที่ต้องฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้จัดสรรงบประมาณให้มีความเพียงพอและต่อเนื่องเพื่อให้ดำเนินการตามภารกิจในการคุ้มครองผู้บริโภค
ด้าน ภูริวรรธก์ ใจสำราญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร จากพรรคก้าวไกล ระบุว่า เมื่อช่วงที่ผ่านมาได้ประสานงานช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประเด็นการถูกหลอกขายคอร์สทำทรีตเมนท์ใบหน้า และพบว่าสภาผู้บริโภคได้ช่วยเหลือผู้บริโภคในประเด็นนี้ด้วยเช่นกัน แต่ทั้งนี้ยังพบว่ายังมีผู้บริโภคที่พบปัญหาลักษณะนี้ซ้ำอีก อย่างไรก็ตาม สภาผู้บริโภคถูกจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 โดยมีเจตนารมย์ให้ดำเนินการอย่างเป็นอิสระเพื่อประชาชน ดังนั้น ประชาชนจึงมีความคาดหวังว่าองค์กรและบุคลากรต่าง ๆ ที่ดำรงตำแหน่งในสภาผู้บริโภคจะทำงานอย่างโปร่งใส และเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ ภูริวรรธก์ ได้วิเคราะห์ถึงเรื่องร้องเรียนที่สภาผู้บริโภคช่วยแก้ไขปัญหาจนยุติเสร็จสิ้นว่ามักจะจบลงด้วยการเจรจาและไกล่เกลี่ย ทำให้พบว่าการยุติปัญหาด้วยกระบวนการข้างต้นทำให้ยังมีผู้บริโภคได้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบการหรือได้รับความเสียหายจากการใช้สินค้าและบริการ อาจแสดงให้เห็นว่ายังไม่สามารถหยุดผู้กระทำผิดได้และปัญหาไม่ถูกแก้ที่ต้นตอ หรือในอีกมุมหนึ่งคือการทำให้ผู้ประกอบการไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเยียวยาในมูลค่าที่มากนัก อย่างไรก็ตามเห็นว่าสภาผู้บริโภคเป็นช่องทางในการรับเรื่องร้องเรียนอันดับต้น ๆ ของผู้บริโภค รวมถึงการให้ข้อมูล ข่าวสารที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภค และให้ข้อเสนอแนะนโยบายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งอาจทำให้มองได้ว่าสภาผู้บริโภคเป็นหน่วยงานหนึ่งของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกับ สคบ. และจะเป็นประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภค
นอกจากนี้ ภูริวรรธก์ขอให้มีการชี้แจงเพิ่มเติมในการให้เงินสนับสนุนสมาชิกของสภาผู้บริโภค เนื่องจากสมาชิกหลาย ๆ องค์กรของสภาผู้บริโภคถูกตรวจสอบว่ามีการจัดตั้งขึ้นถูกต้องหรือไม่ รวมถึงหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกโครงการจัดจ้างที่ปรึกษาด้านการสื่อสารนั้นมีการจัดจ้างอย่างไร อีกประเด็นคือการใช้เงินสดหรือรายจ่ายทรัพย์สินไม่มีตัวตนถึง 9.6 ล้านบาท ในการใช้สร้างเว็บไซต์และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยมีความคิดเห็นว่าราคากลางในการพัฒนาระบบอาจไม่สูงเท่าที่แจ้งไว้ ส่วนผลลัพธ์จากการใช้งบประมาณเกี่ยวกับสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภคที่สภาผู้บริโภคนำเสนอนั้นเห็นว่าไม่สอดคล้องกับงบประมาณในการลงทุนและอาจต้องพิจารณางบส่วนนี้เพิ่มเติม ทั้งนี้มีความคาดหวังให้สภาผู้บริโภคเป็นที่พึ่งของประชาชนและในขณะเดียวกันขอให้ช่วยตรวจสอบองค์กรหรือเจ้าหน้าที่ที่ไม่ปฏิบัติหรือละเลยการปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคได้ดำเนินการด้วยความโปร่งใสหรือไม่
ขณะที่ ทินพล ศรีธเรศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดกาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย ระบุว่า ปัจจุบันพบว่าปัญหาที่สภาผู้บริโภคดำเนินการส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่ปลายเหตุ การช่วยแก้ไขปัญหาผู้บริโภคไปได้กว่าร้อยละ 91 เป็นสิ่งที่น่าชื่นชม แต่ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วทำให้ปัญหาผู้บริโภคในปัจจุบันนั้นมีให้เห็นอยู่จำนวนมาก เช่น การซื้อขายสินค้าทางออนไลน์ที่พบปัญหาซื้อของและได้ไม่ตรงตามที่สั่ง สั่งซื้อของแต่ไม่ได้รับของ เหล่านี้เชื่อว่าผู้บริโภคหลายรายไม่ร้องเรียนเพราะเป็นเงินจำนวนเพียงน้อยนิดและมองว่าการร้องเรียนไปแล้วไม่คุ้มค่ากับที่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมหรือไม่ทราบว่าต้องร้องเรียนที่หน่วยงานใด ดังนั้น จึงต้องการเห็นการทำงานเชิงรุกของสภาผู้บริโภคที่เข้มข้นขึ้น มีการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง นอกเหนือจากการรับเรื่องร้องเรียนเพียงอย่างเดียว เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ส่วน ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เห็นว่าสภาผู้บริโภคควรมีการสรุปบทเรียนหรือถอดบทเรียนที่ดำเนินการเพื่อแก้ไขเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคหรือการยุติเรื่องร้องเรียน และขอให้มีการวิเคราะห์ว่าอัตราเรื่องร้องเรียนนั้นมีผู้บริโภคที่เข้ามาร้องเรียนซ้ำอีกหรือไม่ ซึ่งหากสามารถสรุปบทเรียนออกมาได้จะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการที่สภาผู้บริโภคระบุว่าต้องการให้มีการแก้ไขพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ให้มีความเท่าเทียมนั้นจะมีการปรับแก้ไขอย่างไรบ้างหรืออยากเห็นการปรับแก้ในส่วนใดบ้าง อีกทั้งขอให้มีการชี้แจงเกี่ยวกับงบประมาณในการสนับสนุนของภาครัฐที่ต้องสนับสนุนให้กับสภาผู้บริโภคที่ 5 บาทต่ประชากร 1 คน อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตว่าการรายงานของสภาผู้บริโภคนั้นไม่ได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับงบประมาณปี 2565 2566 และ 2567 ซึ่งอาจเกิดจากการที่รัฐไม่สนับสนุนงบประมาณในปีข้างต้นหรือไม่ นอกจากนี้ ยังเห็นว่าการกระจายตัวของสภาผู้บริโภคในแต่ละจังหวัดยังมีไม่ครอบคลุมทั่วไทย เพื่อปกป้องและคุ้มครองผู้บริโภคได้ทั่วถึงมากขึ้น ทั้งนี้ ณัฐวุฒิ ระบุอีกว่าข้อเสนอของสภาผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องเรื่องรถรับส่งนักเรียนนั้นเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมและพร้อมสนับสนุนในประเด็นดังกล่าว ซึ่งคาดว่าหากผลักดันข้อเสนอให้รถนักเรียนปลอดภัยได้จะสามารถช่วยให้การเดินทางของเด็กนักเรียนที่เดินทางด้วยรถรับส่งนักเรียนกว่า 85,000 คน ปลอดภัย มีมาตรฐานและมีคุณภาพขึ้นได้
ขณะที่ เฉลิมชัย กุลาเลิศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ให้ความเห็นเรื่องการประชาสัมพันธ์ของเฟสบุ๊กแฟนเพจสภาผู้บริโภคที่เน้นไปเรื่องปัญหาที่ประชาชนถือเป็นเรื่องดี แต่ขาดการสร้างความรับรู้ให้แก่ประชาชนและควรเน้นหนักไปที่การทำให้สภาผู้บริโภคเป็นที่รู้จักมากขึ้น เพื่อลดความสับสนระหว่างสภาผู้บริโภคและสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และได้สอบถามเพิ่มเติมใน 3 ประเด็น คือ 1. เรื่องเงินสนับสนุนเครือข่ายสนับสนุนสมาชิก ใช้เกณฑ์อะไรในการสนับสนุนองค์กรสมาชิก 2. งบประมาณโครงการประชาสัมพันธ์สำหรับจ้างที่ปรึกษานั้นใช้งบประมาณมากเกินไปหรือไม่ ต้องการให้อธิบายเพิ่มเติมสำหรับงบประมาณในส่วนนี้ และที่ปรึกษาที่ว่าจ้างนั้นมีหน้าที่อะไรบ้าง และ 3. งบประมาณที่ขอเพิ่มเติม มีแผนอย่างไรที่จะใช้ให้เต็มจำนวน
ส่วน จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงประเด็นข้อเสนอของสภาผู้บริโภคต่อหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ ข้อเสนอถึงคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) คือการเสนอให้ กสทช. ไม่อนุญาตให้ควบรวมธุรกิจระหว่างทรูดีแทค ข้อเสนอถึงกระทรวงพลังงานให้กำกับราคาน้ำมันที่เป็นธรรม จัดเก็บภาษีลาภลอย ยุติการอนุมัติซื้อไฟฟ้า จากโรงไฟฟ้าใหม่เข้าระบบ เพื่อลดราคาค่าครองชีพ และยังมีข้อเสนอถึงสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มีมาตรการกำกับห้ามใช้กัญชาในอาหาร และยังมีข้อเสนออื่น ๆ ลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 พ.ร.บ. อากาศสะอาด ซึ่งทุกข้อเสนอเป็นประเด็นที่สำคัญแต่เห็นว่าสภาผู้บริโภคไม่สามารถทำได้สำเร็จ เปรียบเสมือนเสือกระดาษที่ไม่มีอำนาจบังคับ ขณะที่ พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ไม่ได้ให้อำนาจไว้ มีแต่การเสนอแนะข้อเสนอถึงหน่วยงานเท่านั้น แต่ทั้งนี้พบว่าหน่วยงานรัฐไม่รับฟังหรือไม่นำข้อเสนอของสภาผู้บริโภคไปพิจารณา ดังนั้นจึงเห็นว่ามีความจำเป็นและต้องหาแนวทางอุดช่องโหว่ ซึ่งไม่เพียงสภาผู้บริโภคแต่รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด อีกทั้งเสนอให้สภาผู้บริโภคมีความพร้อมในการรับความเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับปัญหาที่เกิดกับผู้บริโภค
เกียรติคุณ ต้นยาง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงรายงานประจำปี 2565 พบการแสดงผลสถิติการรับเรื่องร้องเรียนข้อมูลไม่ตรงกันระหว่างข้อมูลที่เล่มรายงานประจำปี 2565 และข้อมูลที่แสดงบนเว็บไซต์สภาผู้บริโภค ทั้งนี้ต้องการการขยายความสถานะยุติของเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ ว่ามีประเด็นอะไรบ้างจึงถือว่ายุติเรื่องร้องเรียน พร้อมเสนอเรื่องการรับสมัครทนายความของสภาผู้บริโภค โดยเสนอให้ทำข้อตกลงร่วม (MOU) ร่วมกับสภาทนายความแทนการเปิดรับสมัครทนายความ
ด้าน อดิศร เพียงเกษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้ชมเชยสภาผู้บริโภคในประเด็นข้อมูลในรายงานประจำปี และได้ชี้แจงถึงประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น ทำไมน้ำมันกับก๊าซหุงต้มถึงมีราคาแพง โดยอดิศรระบุว่า เนื่องจากมาตรการกำหนดราคาจำหน่ายน้ำมันและก๊าซหุงต้มในประเทศไทยไม่ได้ใช้ต้นทุนราคาที่แท้จริงบวกกำไร แต่เป็นการอ้างอิงตลาดน้ำมันสำเร็จรูปจากประเทศสิงคโปร์ บวกค่าขนส่งน้ำมันจากประเทศสิงคโปร์มาประเทศไทย และค่าบริการอื่น ๆ ทั้งที่จริง ๆ ไม่มีการขนส่งจริง จึงส่งผลให้ราคาน้ำมันไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค ดังนั้นจึงต้องการให้สภาผู้บริโภคผลักดันให้ราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้ามีราคาที่เหมาะสมเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป
ขณะที่ เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงใหม่ พรรคก้าวไกล ระบุว่า ขอชื่นชมสภาผู้บริโภคที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภค เนื่องจากปัจจุบันสภาพเศรฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบมากขึ้น แต่มีสภาผู้บริโภคเคียงข้างประชาชน ขณะที่ผลงานที่โดดเด่น คือ ผลักดันไม่ให้รัฐบาลลงนามในข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (CPTPP) และผลักดันบำนาญประชาชน รวมถึงการคัดค้านการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่างทรูและดีแทค
อีกทั้งโครงสร้างของสภาองค์กรของผู้บริโภค ตาม พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 เน้นจัดตั้งองค์กร ไม่ได้เน้นการมีส่วนร่วมและการสร้างความเข้มแข็ง โดยดั้งเดิมสภาผู้บริโภคเกิดจากการรวมตัวกันของผู้บริโภคเพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภค แต่มาตรา 6 องค์กรของผู้บริโภคที่ประสงค์จะเข้าร่วมต้องแจ้งขึ้นทะเบียนต่อนายทะเบียนประจำจังหวัด เป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขและความยากลำบากในการจัดตั้ง ขณะที่จำนวนหน่วยงานประจำจังหวัดมี 15 หน่วย (ข้อมูล 13 มิถุนายน 2566) ยังมีอยู่อย่างไม่ครอบคลุมเมื่อเทียบกับปัญหาและข้อเรียกร้องของผู้บริโภคทั้งประเทศ หรือคิดเป็นร้อยละ 18 เท่านั้น
นอกจากนี้ มีข้อคิดเห็นและเห็นควรอย่างยิ่งให้มีการเร่งจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคประจำจังหวัดหรือหน่วยงานประจำจังหวัด นอกจากนี้ควรตั้งไปสู่อำเภอ ตำบลด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ควรมีการจัดตั้งเครือข่ายอาสาสมัครเพื่อพร้อมขยายแนวคิดและความตระหนักต่าง ๆ เพื่อให้ผู้บริโภครู้เท่าทันกลโกงและความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น ดังนั้น ในเรื่องของการประชาสัมพันธ์จึงมีความสำคัญ แต่ทั้งนี้เมื่อพิจารณางบประมาณในการทำโครงการต่าง ๆ จะพบว่าโครงการประชาสัมพันธ์ใหญ่ ๆ ต่าง ๆ จะเป็นระดับออนไลน์ทั้งหมด อาทิ การทำเว็บไซต์ การจัดจ้างอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) หรือการจัดเสวนานั้นควรมีการประเมินความคุ้มค่าและมีตัวชี้วัดที่ชัดเจน ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาจากยอดผู้ติดตาม ทั้งไลน์ออฟฟิเชียลและเฟสบุ๊กแฟนเพจเห็นว่ายังมีผู้ติดตามจำนวนน้อย ดังนั้นควรมีการสร้างเครือข่ายหรืออาสาสมัครในแต่ละพื้นที่ให้มากขึ้น
ด้าน นนท์ ไพศาลลิ้มเจริญกิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนนทบุรี พรรคก้าวไกล ระบุว่า ถือเป็นเรื่องน่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภคมาชี้แจงรายงานประจำปี 2565 ด้วยตนเอง ซึ่งพบว่า งบภายในองค์กรกว่า 350 ล้านบาท ที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักนายกรัฐมนตรีกับการรับเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคที่ผ่านองค์กร เกือบ 15,000 เรื่อง โดยเกือบครึ่งของทั้งหมดเป็นเรื่องการเงินและการธนาคาร คาดว่าจะเป็นการร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องสินไหมทดแทนบริษัทประกันภัยในช่วงโควิดที่ผ่านมา ดังนั้น ขอเป็นตัวแทนพี่น้องประชาชนที่ได้ผลกระทบขอขอบคุณที่สภาผู้บริโภคได้ให้ความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภค ทั้งที่ได้เงินชดเชยหรือกำลังรอรับเงินชดเชย และยังเชื่อว่ายังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการเยียวยาชดเชยจากการทำประกันช่วงโควิดที่ผ่านมาอีกมาก จึงขอฝากให้สภาผู้บริโภคช่วยติดตามและแก้ไขปัญหาให้ประชาชน
อย่างไรก็ตาม นนท์ได้อภิปรายถึงพันธกิจคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคทุกคนทุกด้าน ยังต้องมีมาตรการช่วยเหลือคนกลุ่มหนึ่งที่บางกรณีอาจจะยังไม่ได้รับความเป็นธรรม อย่างเช่นกรณีการทำสัญญาเช่าร้านค้า ซึ่งถือเป็นการใช้บริการอย่างหนึ่ง บางพื้นที่มีการเก็บค่าธรรมเนียมแลกเข้า ค่าเช่าล่วงหน้า และเงินค้ำประกัน รวมกันแล้วมากกว่า 4 – 6 เดือน/สัญญา และสัญญาบางฉบับมีการแจ้งว่า หากมีการออกก่อนครบกำหนด ระยะเวลาเช่า 6 เดือน ถึง 1 ปี จะมีการยึดเงินประกันค่าเช่าทั้งหมด คนที่เช่าพื้นที่แล้วออกก่อนกำหนดหรือเลิกกิจการก่อนกำหนด คือธุรกิจที่ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ บางคนหอบเงินก้อนสุดท้ายของชีวิต
จะเห็นได้ว่าจากรายงานการฆ่าตัวตายพบว่าร้อยละ 22.6 ของผู้ที่ฆ่าตัวตายประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ ซึ่งสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยเมื่อไตรมาส 1 ปี 2564 มีกิจการที่ปิดไปกว่า 20,000 ราย มาจากผลกระทบของการบริหารงานที่ผิดพลาดของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่รักษาการ หากองค์กรของผู้บริโภคเห็นปัญหาที่ได้นำเรียนตามพันธกิจในเรื่องของการพิทักษ์สิทธิประโยชน์ของผู้บริโภคทุกคนทุกด้าน หากมีมาตรการปกป้องสิทธิ ทวงถามให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อย (SME) ที่ได้รับผลกระทบ สภาผู้บริโภคสามารถอาจทำเป็นนโยบายหรือมาตรการเพื่อนำเสนอไปที่คณะรัฐมนตรี ทั้งนี้สมาชิกพรรคก้าวไกลทุกคน พร้อมร่วมเดินทางกับสภาผู้บริโภคในการผลักดันนโยบายต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค
ปิดท้ายที่ อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้ชื่นชมสภาผู้บริโภคกับวาระและพันธกิจที่ได้คุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในการดูแลผู้บริโภคในประเทศไทย แต่เห็นว่ายังขาดมาตรการอื่น ๆ ที่ยังไม่ครอบคลุมในส่วนของการเตรียมการในการรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ในรายงานระบุว่าสภาผู้บริโภคทำงานใน 2 มิติ ทั้งในเชิงรุกและในเชิงรับ แต่หากประเมินผลปฏิบัติการจะเห็นแต่ในเชิงรับมากกว่าเชิงรุก จึงตั้งข้อสังเกต 8 ประการ ดังนี้
1. มีการตั้งคำถามจากภาคประชาสังคมว่าจริง ๆ แล้วสภาผู้บริโภคเป็นเสือกระดาษจริงหรือไม่? ข้อสังเกตข้อท้วงติง คำแนะนำ ข้อเสนอแนะที่ส่งไปที่หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรภาคเอกชนอื่น ๆ มีการรับไปปฏิบัติมากน้อยเพียงใด? และจะมีวิธีการอย่างไรเพื่อให้สภาผู้บริโภคนั้นจะไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเสือกระดาษอีกต่อไป
2. สภาผู้บริโภคนั้นต้องไม่กระทำตนหรือปฏิบัติตนเป็นเหยื่อ หมายความว่าต้องไม่เป็นหนึ่งในผู้ที่ร่วมชะตากรรมว่าไปร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วไม่มีความคืบหน้า หรือการร้องเรียนอะไรแล้วไม่มีผลสัมฤทธิ์ในการร้องเรียนซึ่งไม่ต่างจากผู้บริโภคทั่วไปที่ได้รับผลกระทบ
3. มาตรฐานการดำเนินการของสภาผู้บริโภคมีมาตรฐานที่เป็นสากลหรือเป็นมาตรฐานเฉพาะในประเทศหรือไม่ และสภาผู้บริโภคได้เตรียมการรองรับหรือสอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มากน้อยเพียงใด หรืออย่างไร?
4. เทคโนโลยีก้าวไกล สภาผู้บริโภคไทยต้องก้าวทัน ปัจจุบันมีผู้ตกเป็นเหยื่อหรือได้รับผลกระทบปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือได้รับผลกระทบจากการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลหรือปัญหาแก็งคอลเซ็นเตอร์โทรเข้ามาหลอกลวง สภาผู้บริโภคมีมาตรการดูแลเรื่องนี้อย่างไร? และหากมีการล่วงละเมิดหรือใช้ความรุนแรงผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย สภาผู้บริโภคมีมาตรการและดูแลเรื่องนี้อย่างไร?
5. ปัญหาเรื่องค่าพลังงานแพง ค่าแรงถูก วันนี้ค่าไฟ ค่าก๊าซขึ้นราคา เพื่อไทยพูดหลายครั้งถึงประเด็นโครงสร้างพลังงานของประเทศไทยไม่โปร่งใส ไม่สามารถตรวจสอบได้ จะดูเรื่องนี้ได้อย่างไร เพราะการตรวจสอบของประชาชนในฐานะของผู้บริโภคนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก
6. ปัญหาการควบรวมกิจการโทรคมนาคมและทำให้การแข่งขันด้านโทรคมนาคมลดลง เมื่อบริษัทใหญ่มาควบรวมกันอาจทำให้ชั่วโมงอินเทอร์เน็ตหรือปัญหาอินเทอร์เน็ตล่ม สภาผู้บริโภคจะมีการเข้ามาดูแลเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคอย่างไร
7. สภาผู้บริโภคมีมาตรการรณรงค์หรือส่งเสริมให้คนไทยมีสวัสดิภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างไร เช่น พ.ร.บ. อากาศสะอาด ที่พรรคเพื่อไทยได้นำเสนอเป็นนโยบาย
8. สภาผู้บริโภคได้ดูแลหรือมีมาตรการควบคุมสัญญาที่ไม่เป็นธรรมในทุกมิติ ทุกบริบทอย่างไร เช่น ดอกเบี้ยเงินกู้โหด ทั้งธนาคารที่อยู่ภายใต้กำกับ หรือผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non – bank)