จี้รัฐยุติรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียน หวั่นภาระค่าไฟแพง กระทบผู้บริโภคนาน 25 ปี

ค่าไฟอาจพุ่งทะลุ 65,000 ล้านบาท นาน 25 ปี! โครงการซื้อไฟพลังงานหมุนเวียนรอบใหม่จุดกระแสวิจารณ์ สภาผู้บริโภคเร่งค้าน หวั่นประชาชนรับภาระหนัก

สภาผู้บริโภคและเครือข่ายด้านพลังงานออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาล และ กกพ. ยุติโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรอบใหม่ที่ใช้วิธีคัดเลือกแทนการประมูล ชี้อาจสร้างภาระค่าไฟฟ้าสูงถึง 65,000 ล้านบาท นาน 25 ปี ระบุ ในขณะที่ต้นทุนเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์และลมลดลงอย่างรวดเร็ว แต่ราคารับซื้อของโครงการดังกล่าวยังสูงกว่าความเป็นจริง พร้อมกระตุ้นให้เร่งปรับแผนพัฒนาพลังงานเพื่อประโยชน์ประชาชนในระยะยาว 

ตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศเดินหน้าโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมใน 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน จำนวน 1,580 เมกะวัตต์ และพลังงานลม จำนวน 565.4 เมกะวัตต์ รวมทั้งสิ้น 2,145.5 เมกะวัตต์ โดยวิธีการคัดเลือกแทนการประมูล โดยใช้ราคารับซื้อที่ถูกกำหนดตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อปี 2565 ซึ่งระบุราคาสำหรับโซลาร์เซลล์อยู่ที่ 2.17 บาทต่อหน่วย และพลังงานลมที่ 3.10 บาทต่อหน่วย โดยราคาดังกล่าวจะคงที่ตลอดระยะเวลา 25 ปี  นั้น

วันที่ 25 ธันวาคม 2567 สภาผู้บริโภค ร่วมกับสมาพันธ์รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เข้ายื่นหนังสือถึงคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) โดยมี วัลลภ จิวหลง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการมีส่วนร่วมและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ เป็นผู้รับหนังสือครั้งนี้ ในขณะเดียวกันสภาผู้บริโภค ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลและ กกพ. ทบทวนโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนข้างต้น หยุดสร้างภาระค่าไฟฟ้ากว่า 65,000 ล้านบาท ให้ผู้บริโภคทั้งรุ่นนี้และรุ่นต่อไป โดยในแถลงการณ์ ระบุว่า การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรอบเพิ่มเติม ที่ไม่ได้ใช้วิธีการประมูล แต่กลับใช้วิธีการคัดเลือก อาจ “ไม่มีประสิทธิภาพ” มากเพียงพอ เนื่องจากไม่มีการเปิดให้มีการแข่งขันโดยวิธีการประมูลราคาเพื่อหาราคาที่เหมาะที่สุด และในอนาคตจะกลายเป็นภาระของผู้บริโภคที่จะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงนานถึง 25 ปี

“ที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคเคยยื่นอุทธรณ์ขอให้ยกเลิกประกาศ กกพ. ในการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รอบเพิ่มเติม ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2567 แต่ยังไม่มีความคืบหน้าหรือการตอบกลับจาก กกพ. ดังนั้น สภาผู้บริโภคและเครือข่ายด้านพลังงานจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาล และ กกพ. ต้องหยุดเดินหน้าโครงการฯ ที่จะทำให้ผู้บริโภคต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าไปอีก 25 ปี” สภาผู้บริโภค เผย

แถลงการณ์ฯ ให้ข้อมูลว่า เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ราคาลดลงเฉลี่ยปีละ 10% ขณะที่เทคโนโลยีกังหันลมก็มีการปรับลดต้นทุนอย่างต่อเนื่อง แต่ราคาที่ กกพ. ใช้กำหนดการรับซื้อในโครงการนี้อ้างอิงตามมติ กพช. ปี 2565 ทำให้เมื่อถึงปี 2569 หรือปี 2571 ที่จะเริ่มดำเนินโครงการจริง ราคารับซื้อจะสูงกว่าราคาที่ตลาดที่ควรจะเป็นประมาณ 20 – 30% 

รายงานจากองค์กร IRENA (International Renewable Energy Agency) ซึ่งเป็นหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ มีการศึกษาประเด็น Renewable Power Generation Costs in 2023 ยังชี้ให้เห็นว่าในปี 2566 ราคาค่าไฟฟ้าเฉลี่ยจากโซลาร์เซลล์ขนาดใหญ่ทั่วโลกอยู่ที่ 1.53 บาทต่อหน่วย และอาจต่ำกว่านี้เมื่อถึงปี 2569 ขณะที่ข้อมูลจากรัฐบาลอินเดีย โดย SECI (Solar Energy Corporation of India) ยังระบุว่า โครงการโซลาร์เซลล์พร้อมระบบแบตเตอรี่ในประเทศนั้นสามารถเสนอขายไฟฟ้าในราคาเพียง 1.44 บาทต่อหน่วย ซึ่งต่ำกว่าราคารับซื้อของโครงการ กกพ. ที่ไม่ได้รวมระบบแบตเตอรี่ ดังนั้น อาจเป็นการยืนยันว่าผลการศึกษาของ IRENA มีแนวโน้มที่ถูกต้องและเป็นไปได้จริง

เมื่อนำข้อมูลจากผลการศึกษาดังกล่าวมาคำนวณอย่างเป็นระบบ (ตามข้อมูลในภาพและตารางแนบท้าย) โดยยกตัวอย่างเมื่อมีการขายไฟฟ้าจริงในปี 2568 จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าจากโครงการของ กกพ. แพงกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งคิดเป็นมูลค่าตลอดอายุสัญญา 25 ปี อย่างน้อยรวม 65,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในตอนท้ายของแถลงการณ์ ยังมีการเรียกร้องให้กระทรวงพลังงานเร่งจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP2024) ที่ดำเนินการมานานกว่า 3 ปีแล้วแต่ยังไม่แล้วเสร็จ โดยในการจัดทำแผน PDP2024 หรือ PDP2025 ต้องเน้นการพึ่งตนเองของชาติ ภายใต้เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และต้องผลักดันให้ผู้บริโภคสามารถเป็นผู้ผลิตและผู้ขายไฟฟ้า (Prosumer) เพื่อสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับประชาชน ตามคำแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา “รัฐบาลจะยึดมั่นในหลักนิธิธรรม ความโปร่งใส สร้างความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินโดยการฟื้นฟูหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ…จะสนับสนุนให้ประชาชนผลิตไฟฟ้าระบบโซลาร์เซลล์ใช้ในครัวเรือนและมีรายได้จากการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าที่ผลิตเกินกว่าความต้องการคืนให้รัฐ…จะเร่งออกมาตรการเพื่อลดราคาค่าพลังงานและสาธารณูปโภค”