อาจารย์แพทยชี้ “หลักสูตรแพทย์ห้องแถว” กระทบความปลอดภัยผู้บริโภค – ความน่าเชื่อถือของแพทย์ ย้ำการทำศัลยกรรมเสริมความงามทุกประเภท ต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
จากกรณีเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2565 แพทยสภาได้จัดทำ (ร่าง) ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมเกี่ยวกับการเสริมสวย พ.ศ. …. โดยมีเนื้อหาบางส่วนที่เน้นกระบวนการรับรองหลักสูตรการอบรมระยะสั้นที่ต่ำกว่ามาตรฐานสากล ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยและสิทธิของผู้บริโภค และกลายเป็นภาระต่อระบบบริการสาธารณสุข สภาผู้บริโภคจึงได้ทำหนังสือคัดค้าน จนกระทั่งเดือนกันยายน 2565 แพทยสภายอมยุติ (ร่าง) หลักสูตรระยะสั้นเพื่อรับรองแพทย์เสริมความงามดังกล่าว นั้น
วันนี้ (25 เมษายน 2567) สภาผู้บริโภคได้รับข้อมูลว่า คณะอนุกรรมการเวชกรรมเสริมสวยมีมติแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อประกาศนียบัตรด้านการเสริมจมูก เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 และอาจมีแนวโน้มที่จะนำหลักสูตรอบรมระยะสั้นเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการอีกครั้งหนึ่ง
นพ.สุธีร์ รัตนะมงคลกุล ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนคริทรวิโรฒ แสดงความเห็นว่า หลักสูตรดังกล่าวทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ ทั้งในแง่ของความน่าเชื่อถือของผู้บริโภคต่อมาตรฐานการบริการทางการแพทย์ ความปลอดภัยของผู้บริโภค รวมถึงความเพียงพอของแพทย์ภายในประเทศ
สำหรับประเด็นความน่าเชื่อถือของผู้บริโภคต่อมาตรฐานการบริการทางการแพทย์ นพ.สุธีร์ อธิบายว่า โดยปกติแพทย์ที่จะผ่าตัดเสริมความงามจำเป็นต้องเป็นแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ กล่าวคือต้องเรียนแพทย์พื้นฐาน 6 ปี และเรียนต่อด้านเฉพาะทาง เนื่องจากการผ่าตัดเสริมความงามเป็นการผ่าตัดชั้นสูงที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญใช้ประสบการณ์ ปัญหาคือหากอนุญาตให้มีแพทย์ที่เรียนหลักสูตรเร่งรัด 3 – 4 เดือน และออกมาผ่าตัดเสริมความงาม เมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนแพทย์ที่เรียนอบรมสั้น ๆ อาจไม่สามารถแก้ภาวะแทรกซ้อนได้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บหรือร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต และนำไปสู่การฟ้องร้องคดี
“เมื่อเกิดการฟ้องร้อง ความเสียหายก็จะต้องไปตกกับหมอศัลยกรรมที่เขาเรียนมาทางด้านนี้โดยตรง เพราะเมื่อเกิดปัญหาคนจะไม่ได้ดูว่าแพทย์ที่ผ่าไม่ได้จบเฉพาะทาง ในขณะเดียวกันผู้บริโภคที่เข้ารับบริการก็ไม่อาจทราบได้ว่าแพทย์ที่จะผ่าตัดให้นั้นเรียนจบเฉพาะทาง หรือเรียนหลักสูตรศัลยกรรมเพียงคอร์สสั้น ๆ ทำให้อาจหลงเข้าไปใช้บริการและเกิดความเสียหายขึ้น ซึ่งกระทบต่อความปลอดภัยและสิทธิของผู้บริโภค นี่คือปัญหาใหญ่ที่แพทยสภาควรให้ความสำคัญ”
นพ.สุธีร์ยกตัวอย่างกรณีที่มีชาวอังกฤษเสียชีวิตจากการเข้ามาทำศัลยกรรมที่ประเทศไทย เมื่อปี 2557 เนื่องจากแพทย์ที่ผู้ทำหัตถการไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ เหตุการณ์ดังกล่าวกลายเป็นข่าวใหญ่ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค แม้เหตุผลที่กล่าวอ้างในการผลักดันให้เกิดหลักสูตรดังกล่าวคือ อยากให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในเรื่องการศัลยกรรมและการแพทย์ (Medical Hub) เพื่อให้ชาวต่างชาติเข้ามาใช้บริการทางการแพทย์ แต่กลับไม่ได้คำนึงว่าหากเกิดความสูญเสียจากการผ่าตัดโดยแพทย์ที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญอาจจะส่งผลเสียต่อความน่าเชื่อถือของวงการแพทย์รวมถึงชื่อเสียงของประเทศด้วย
การที่แพทย์ที่ไม่ได้จบเฉพาะทางออกมาเปิดคลินิกเสริมความงาม นอกจากจะมีผลต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคแล้ว ยังเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหา “แพทย์ขาดแคลน” เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือวงการบุคลากรทางการแพทย์เปรียบเสมือนภาชนะที่มีรอยรั่ว แม้จะผลิตแพทย์ออกมาได้แต่กลับไม่ได้อยู่ในระบบทั้งหมด และมีจำนวนไม่น้อยที่ออกไปเปิดคลินิกเสริมความงามทั้งที่ไม่มีความเชี่ยวชาญ ดังนั้น การออกหลักสูตรดังกล่าวจึงเป็นการซ้ำเติมให้ปัญหาดังกล่าวทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
“ทุกวันนี้มีข่าวที่ผู้บริโภคได้รับความเสียหายหรือเสียชีวิตจากการทำศัลยกรรม โดยส่วนมากเกิดจากแพทย์ที่ไม่ได้จบเฉพาะทาง ออกมาเปิดคลินิกเสริมความงาม ซึ่งถือเป็นธุรกิจสีเทาอย่างหนึ่ง จึงเกิดคำถามว่าการมีหลักสูตรจะทำให้สิ่งที่เคยผิดกฎหมายกลับกลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่”
นพ.สุธีร์ย้ำว่า การควบคุมและยกระดับมาตรฐานของบริการทางการแพทย์ และเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคถือเป็นบทบาทสำคัญของแพทยสภาที่ต้องให้ความสำคัญ จึงคาดหวังว่าจะเป็นองค์กรสำคัญในการตัวถ่วงดุลอำนาจ ควบคุมมาตรฐานและรักษาประโยชน์ของผู้บริโภค นอกจากนี้ยังฝากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ทั้งเรื่องการควบคุมมาตรฐานสถานพยาบาล อละมีส่วนร่วมในการรักษามาตรฐานของแพทย์ด้วย
ทั้งนี้ เมื่อช่วงปี 2565 สภาผู้บริโภคได้ส่งหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อคัดค้านและขอให้ยุติการพิจารณา (ร่าง) ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมเกี่ยวกับการเสริมสวย พ.ศ. …. ในประเด็น การออกข้อบังคับเพื่อกำกับดูแลการให้บริการทางการแพทย์เกี่ยวกับการเสริมสวย เนื่องจาก (ร่าง) ข้อบังคับฯ ดังกล่าวขาดการมีส่วนร่วมจากองค์กรผู้บริโภคและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งมีข้อกำหนดบางส่วนที่ไม่ได้คำนึงถึงการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในวงกว้าง
โดยมีเหตุผลทั้งหมด 3 ข้อ ดังนี้
- การออกข้อบังคับเพื่อกำกับดูแลการให้บริการทางการแพทย์เกี่ยวกับการเสริมสวยมีความสำคัญ และอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในวงกว้าง แต่กลับขาดการมีส่วนร่วมจากองค์กรของผู้บริโภค และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ดังที่ปรากฏว่ามีการยื่นหนังสือคัดค้านของสมาคมศัลยกรรมตกแต่งและเสริมสร้างใบหน้าแห่งประเทศไทย รวมทั้งไม่มีกระบวนการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- เนื้อหาของ (ร่าง) ข้อบังคับฯ เน้นกระบวนการรับรองหลักสูตรการอบรมระยะสั้นที่ต่ำกว่ามาตรฐานสากล โดยไม่ได้มุ่งคุ้มครองผู้บริโภค แต่กลับมุ่งเน้นการสนับสนุนการหารายได้จากการให้บริการเสริมสวยของแพทย์ จึงมีโอกาสเกิดผลแทรกซ้อนสูง และกลายเป็นภาระต่อระบบบริการสาธารณสุข ทั้งนี้ แพทย์ที่ทำหัตถการหรือแพทย์ศัลกรรมเพื่อเสริมความงามนั้น จำเป็นต้องเรียนรู้ศาสตร์พื้นฐาน เช่น โสต ศอ นาสิก ด้วย จึงควรเป็นบทบาทของสถาบันหรือโรงเรียนแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในการจัดทำหลักสูตรและฝึกอบรม ไม่ใช่ให้แพทย์คนใดคนหนึ่งสามารถคิดหลักสูตรและขอรับรองจากแพทยสภา รวมทั้งจัดอบรมเองได้
- แพทยสภาต้องทำหน้าที่ควบคุมและกำกับดูแลคุณภาพมาตรฐานของวิชาชีพเวชกรรม โดยต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ไม่ใช่ทำหน้าที่รับรองหลักสูตรการอบรม