เปิดตัววิทยาลัยแสงอาทิตย์ แห่งที่ 5 ‘วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่’ หวังสร้างแหล่งเรียนรู้เรื่องโซลาร์เซลล์ ตั้งเป้าสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนที่ยังยืน
วันที่ 23 สิงหาคม 2565 กองทุนแสงอาทิตย์ ร่วมกับ วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ร่วมกันเปิดตัว “วิทยาลัยแสงอาทิตย์ (SOLAR GENERATION)” เพื่อสร้างการเรียนรู้และการจ้างงานจากพลังงานแสงอาทิตย์ และมุ่งสู่เป้าหมายการใช้พลังงานหมุนเวียนที่ยังยืน โดยวิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ นับเป็นวิทยาลัยแสงอาทิตย์แห่งที่ 5 จากการระดมทุนของกองทุนแสงอาทิตย์
บุญยืน ศิริธรรม กรรมการกองทุนแสงอาทิตย์ กล่าวว่า โครงการวิทยาลัยแสงอาทิตย์ มีเป้าหมายในการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์บนหลังคาให้กับวิทยาลัยทั้งวิทยาลัยการอาชีพ เทคนิค และอาชีวะ จำนวน 7 แห่ง แห่งละ 10 กิโลวัตต์ทั่วประเทศ โดยใช้เงินในการติดตั้งแห่งละ 400,000 บาท
เพื่อสร้างการเรียนรู้และการจ้างงานจากพลังงานแสงอาทิตย์ เพิ่มศักยภาพด้านการใช้พลังงาน รวมทั้งเป็นการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของสถานศึกษา และภาคประชาชนในการปฏิรูปพลังงาน และมุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนที่ยังยืน
“การเข้าถึงแสงอาทิตย์คือสิทธิของมนุษย์ทุกคน กองทุนแสงอาทิตย์จึงเกิดขึ้นโดยกลุ่มคนที่มีแนวคิดเดียวกัน แต่แนวคิดนี้ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มุ่งมั่นผลักดันให้ประชาชนเป็นได้แค่ผู้จ่ายเงินซื้อพลังงานภายใต้การผูกขาดของอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิล โดยมิได้คำนึงถึงผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ วิถีชีวิตของผู้คน อย่างที่เราจะเห็นได้จากการคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าฟอสซิลในหลายพื้นที่” บุญยืน กล่าว
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีวิทยาลัยที่ติดตั้งโซลาร์รูปท็อปไปแล้ว 5 แห่ง ได้แก่ 1) วิทยาลัยอาชีวศึกษากาญจนบุรี 2) วิทยาลัยการอาชีพแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง 3) วิทยาลัยเทคนิคสกลนคร 4) วิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี และ 5) วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
โดยยังเหลือวิทยาลัยที่ต้องดำเนินการอีกจำนวน 2 แห่ง คือ วิทยาลัยการอาชีพกระบุรี จังหวัดระนอง และวิทยาลัยการอาชีพอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
ดร.สิทธิพงศ์ นกแอนหมาน ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ กล่าวว่า วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมด้านพลังงานหมุนเวียน โดยวิทยาลัยฯ เป็นศูนย์สาธิตนวัตกรรมพลังงาน สถานีอัดประจุไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ต้นแบบขนาด 10 กิโลวัตต์ (kW) และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า จำนวน 15 คัน ซึ่งเป็นศูนย์ถ่ายทอดความรู้ ฝึกอบรม ด้านเทคโนโลยีพลังงานทดแทนจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบครบวงจร
โดยเมื่อปี 2561 วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ ได้ร่วมกับ สถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ 2 และ สถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ 3 รวม 17 วิทยาลัย ลงนามสัญญาบริการอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาขนาด 450 กิโลวัตต์ (0.45 กิโลวัตต์) กับการไฟฟ้านครหลวง เพื่อเป็นลดค่าไฟฟ้า และส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน และของวิทยาลัย
ดร.สิทธิพงศ์ระบุอีกว่า การติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปขนาดกำลังผลิตไฟฟ้า 10 กิโลวัตต์จากการระดมทุนผ่านกองทุนแสงอาทิตย์ในครั้งนี้ คาดว่าจะช่วยลดค่าไฟฟ้าให้กับวิทยาลัยได้ไม่ต่ำกว่า 60,000 บาทต่อปี
และช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าในระยะยาวได้มากกว่า 25 ปี คิดเป็นราว 1,500,000 บาท ตลอดอายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งทางวิทยาลัยฯ สามารถนำเงินค่าไฟฟ้าจำนวนดังกล่าวมาใช้ในการพัฒนาระบบการเรียนการสอนของวิทยาลัยได้เพิ่มมากขึ้น
ธีระพงศ์ แสงลาภเจริญกิจ ผู้ประสานงานการปฏิวัติเมืองยั่งยืน กรีนพีซ ประเทศไทย แสดงความเห็นว่า โลกและประเทศไทยจะต้องเปลี่ยนผ่านพลังงาน สิ่งสำคัญคือรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการต้องมีเจตจำนงที่จะเปลี่ยนผ่านพลังงาน
โดยการผลักดันให้เกิดการลงทุนติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาโรงเรียนและวิทยาลัยกว่า 30,000 แห่งทั่วประเทศ จะทำให้กําลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นกว่า 700 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 22,000 ล้านบาท
ธีระพงศ์ กล่าวอีกว่า การลงทุนนี้จะช่วยให้สถาบันการศึกษาประหยัดงบประมาณและมีรายได้เพิ่มทั้งหมดราวกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี คือสามารถคืนทุนได้ภายในเวลาเพียง 4.48 ปี หรือเร็วกว่านั้นอีกถ้าค่าไฟฟ้ายังคงสูงขึ้นขึ้นไปเรื่อย ๆ และประหยัดเงินจำนวนเดียวกันนี้ไปได้ทุกปีตลอดอายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์
นอกจากนี้ ยังเป็นจุดเริ่มต้นที่จะให้นักเรียนได้เรียนรู้และทำความคุ้นเคยกับพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดที่จะกลายเป็นอนาคต และเตรียมพร้อมอาชีวะสร้างงานจากพลังงานหมุนเวียนในอนาคตของเราและของโลกในยุคต่อไป
ทั้งนี้ โครงการวิทยาลัยแสงอาทิตย์ (SOLAR GENERATION) มีจุดเริ่มต้นจากการที่คณะกรรมการกองทุนแสงอาทิตย์ทดลองทำวิจัยเชิงปฏิบัติการ ‘โรงพยาบาลแสงอาทิตย์’ (Solar Hospitals) ในปี 2562 – 2563 ติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงพยาบาลของรัฐ 7 แห่ง โดยผลของโครงการชี้ชัดว่า แสงอาทิตย์ใช้ได้ทุกภาคและเกิดผลดีกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังช่วยโรงพยาบาลประหยัดค่าใช้จ่ายลงมาก
จึงขยายผลมาเป็นโครงการวิทยาลัยแสงอาทิตย์ ติดโซลาร์เซลล์ให้กับวิทยาลัย ทั้งการอาชีพ เทคนิค และอาชีวะ เพื่อสร้างการเรียนรู้จากการติดตั้ง ติดตามผลงาน และเป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้เรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับผู้คนที่สนใจ รวมทั้งการจ้างงานและก้าวสู่ผู้ประกอบการพลังงานแสงอาทิตย์
ผู้ที่สนใจจะร่วมสนับสนุนโครงการฯ สามารถบริจาคได้ที่บัญชีกองทุนแสงอาทิตย์โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เลขที่บัญชี 429-017697-4 (ธนาคารไทยพาณิชย์) หรือ บริจาคผ่านเว็บไซต์ www.thailandsolarfund.org (แคมเปญ : 150 บาทเพื่อ 7 วิทยาลัยแสงอาทิตย์) ทั้งนี้การบริจาคเงิน สามารถใช้ในการลดหย่อนภาษีประจำปีได้ เพราะมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์ลำดับที่ 576 ตามประกาศกระทรวงการคลัง
*กองทุนแสงอาทิตย์เกิดขึ้นจากความร่วมมือของเครือข่ายภาคประชาสังคมที่หลากหลายทั้งด้านผู้บริโภค การพัฒนาเด็ก สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อระดมทรัพยากรติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา ทำงานรณรงค์ผลักดันให้เกิดการขยายตัวของระบบพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาในระดับครัวเรือน หน่วยงานและสถาบันทั้งภาครัฐและเอกชน และภาคธุรกิจ บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปฏิรูปพลังงานโดยการลงมือทำจริงในพื้นที่เป้าหมายและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายพลังงานหมุนเวียน เครือข่ายกองทุนแสงอาทิตย์ประกอบด้วย (1) คณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ (2) คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) (3) สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (4) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) (5) เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค (6) สมาคมประชาสังคมชุมพร (7) มูลนิธิป่า – ทะเลเพื่อชีวิต (8) บริษัทศูนย์บ่มเพาะวิศวกร จำกัด (9) Solarder (10) โรงเรียนศรีแสงธรรม (11) มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก(มพด.) (12) เครือข่ายสลัม 4 ภาค (13) มูลนิธิภาคใต้สีเขียว (14) เครือข่ายลันตาโกกรีน Lanta Goes Green (15) มูลนิธิสุขภาพไทย และ (16) กรีนพีซ ประเทศไทย และ (17) สภาองค์กรของผู้บริโภค