ลงพื้นที่ จ.สุรินทร์ ร่วมพัฒนาระบบรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย

ลงพื้นที่ จ.สุรินทร์ ร่วมพัฒนาระบบรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย

สภาผู้บริโภค จับมือ สสส. และองค์กรผู้บริโภคจังหวัดสุรินทร์ เปิดตัวศูนย์เรียนรู้รถรับส่งนักเรียนปลอดภัย โรงเรียนศีขรภูมิพิสัย จังหวัดสุรินทร์ พร้อมจัดเวทีขับเคลื่อนเรื่องรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย หวังสร้างความร่วมมือเพื่อยกระดับเรื่องความปลอดภัยและลดอุบัติเหตุ

วันที่ 24 กรกฎาคม 2567 สภาผู้บริโภค ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการแผนงานร่วมทุน เพื่อการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยและ
เป็นธรรม จัดงานเปิดตัวศูนย์เรียนรู้รถรับส่งนักเรียนปลอดภัย โรงเรียนศีขรภูมิพิสัย จังหวัดสุรินทร์ และจัดเวทีประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างความร่วมมือ ในการพัฒนาศูนย์เรียนรู้รถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือขึ้นที่โรงเรียนศีขรภูมิพิสัย อำเภอศรีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์

‘นักเรียนปลอดภัย’ คือหัวใจสำคัญ

บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาผู้บริโภค ระบุว่า การผลักดันเรื่องรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย เป็นหนึ่งในเป้าหมายของโครงการแผนร่วมทุนรถโดยสารสาธารณะปลอดภัยและเป็นธรรม โดยตั้งเป้าจะสร้างศูนย์เรียนรู้รถรับส่งนักเรียนปลอดภัย จำนวน 20 โรงเรียน ใน 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ สิ่งที่สภาผู้บริโภค ดำเนินการร่วมกับ สสส. คือการสนับสนนุให้โรงเรียนลุกขึ้นมาเป็นศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย ในภูมิภาคต่าง ๆ

บุญยืนกล่าวอีกว่า อุบัติเหตุเป็นปัจจัยเสี่ยงทางสังคม เพราะ ‘เด็กในวันนี้คืออนาคตของชาติ’ แต่ปัญหารถรับส่งนักเรียนมีมาตรฐานที่ไม่เท่าเทียมกันในแต่ละพื้นที่ แต่ละโรงเรียน ทำให้เด็กบางส่วนต้องเดินทางเอง หรือแม้แต่เด็กที่ใช้รถรับส่งนักเรียนก็ยังมีความเสี่ยงสูงในการประสบอุบัติเหตุ ซึ่งทำให้เขาไม่มีโอกาสเติบโตขึ้นไปเพื่อเป็นกำลังของชาติ ดังนั้น การผลักดันเรื่องระบบรถรับส่งนักเรียนให้มีคุณภาพและปลอดภัยจึงเป็นเรื่องสำคัญ

“การมีโรงเรียนให้เรียนเป็นเรื่องที่ดี แต่การมาโรงเรียนที่ปลอดภัย และให้เขาได้มีชีวิตอยู่จนโตเพื่อให้ความรู้ที่เรียนมาในการพัฒนาประเทศ เป็นเรื่องสำคัญที่สุด ความปลอดภัยของเด็ก คืออนาคตของชาติ อยากเห็นเป็นนโยบายหลักของประเทศ ที่ไม่ว่านักเรียนของโรงเรียนไหนในประเทศนี้ ก็ได้รขึ้นรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัย”

กิตติ สัตย์ซื่อ ปลัดจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า จังหวัดสุรินทร์โดยวางแนวทางเรื่องรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย 4 ประเด็น ดังนี้ 1) ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียน 2) รณรงค์สร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนนและลงมือทำอย่างจริงจัง 3) พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานความปลอดภัย เช่น ป้ายจราจร ถนน 4) สร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน

จากข้อมูลของศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน และเครือข่ายผู้บริโภคพบว่าในปี 2565 ในระยะเวลา 8 เดือนมีอุบัติเหตุที่ส่งผลต่อความปลอดภัยของนักเรียน โดยเฉพาะอุบัติเหตุที่เกิจากรถรับส่งนักเรียน 26 ครั้ง หรือเฉลี่ยเดือนละ 3 ครั้ง เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บอีกมากกว่า 100 ราย สถิติเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงในการเดินทางของเด็ก อีกทั้งสถานการณ์อุบัติเหตุจากรถรับส่งนักเรียนยังมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้น และเกือบทั้งหมดมีสาเกตุมาจากความประมาทของผู้ขับรถ

“การมีรถรับส่งนักเรียนช่วยให้ผู้ปกครองประหยัดเวลา ประหยัดเงิน ดังนั้นต้องทำระบบนี้ให้ปลอดภัยด้วย การดำเนินโครงการนี้จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ปกครองและนักเรียนจังหวัดสุรินทร์ นอกจากจากการมีเครือข่ายแล้ว ภาคีเครือข่ายในทุกระดับต้องร่วมมือกับและดำเนินการอย่างจริงจัง เพราะความสำเร็จอยู่ที่ลงมือทำ ไม่ใช่นัดประชุมและเลิกประชุมแยกย้ายกันไป ทั้งนี้ ก็เพื่อรักษาชีวิตของต้นกล้าให้เขาได้เติบโตไปสู่ปลายทางที่เขาต้องการ ให้เขาปลอดภัยตลอดช่วงเวลาที่ศึกษาอยู่ในโรงเรียน” ปลัดจังหวัดสุรินทร์ ระบุ

เทิดภูมิ ยั่งยืน รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสุรินทร์ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มี 4 กลยุทธ์หลักที่ให้ความสำคัญ คือ 1) ความปลอดภัย  2) โอกาส 3) คุณภาพ และ 4) ประสิทธิภาพ ซึ่งจะเห็นได้ว่าการที่ผู้บังคับบัญชาและหน่วยงานต้นสังกัดให้ความสำคัญให้กับความปลอดภัยเป็นอันดับแรก ทั้งนี้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสุรินทร์มีแผนดำเนินการในเรื่องที่พยายามจะช่วยให้เด็กได้รับความปลอดภัยสูงสุดในการมาโรงเรียน เพราะเชื่อว่าเรื่องที่ผู้ปกครองทุกคนคาดหวังมากที่สุดคือ การที่ลูกหลานสุขภาพดีและแข็งแรง เป็นคนดี และการรู้จักหน้าที่ของตนเอง เพื่อเป็นอนาคตของชาติต่อไป

“ตัวผมเองก็เคยเป็นเด็กคนหนึ่งที่มีโอกาสได้นั่งรถรับส่งนักเรียนเหมือนกัน และก็ได้เห็นสภาพปัญหาของการเดินทาง ถ้าลองสังเกตดูจะเห็นว่าเด็ก ๆ ทุกวันนี้มีความเสี่ยงที่ค่อนข้างสูงในการเดินทาง ทั้งรถรับส่งนักเรียนที่ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง เด็กต้องเดินทางมาในบริบทของตัวเองในสภาพที่คิดว่าดีที่สุดสำหรับเขา แต่เราก็ยังมองดูว่ามันมันยังไม่ปลอดภัย” เทิดภูมิกล่าว

เทิดภูมิ กล่าวชื่นชมโรงเรียนศีขรภูมิพิศัยที่ผู้อํานวยการมีนโยบายในเรื่องของการที่จะสร้างจุดในการรับส่ง นักเรียนเพื่อให้เป็นระเบียบ และทำให้เกิดความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจจริงของผู้อำนวยการ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของความปลอดภัยเท่านั้น เรื่องของกีฬาเรื่องของการส่งเสริมสนับสนุนเด็กในทุก ๆ ด้าน ที่โรงเรียนให้ความสำคัญและนโยบายของของสำนักงานเขตเองก็ให้ความสำคัญ มีกองทุนช่วยเหลือเด็ก ซึ่งกองทุนที่จะใช้เฉพาะในส่วนของช่วยเหลือเด็ก ในเรื่องของประสบอุบัติเหตุ ประสบอุบัติภัย หรือเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ลำบาก

ทางด้าน วิชัย พานเพชร ประธานผู้ประกอบการรถรับส่งนักเรียนโรงเรียนศีขรภูมิพิสัย เล่าว่า หลายคนอาจมองผู้ประกอบการว่าเป็นผู้รับจ้าง แต่ผู้ประกอบการที่ขับรถรับส่งนักเรียนส่วนใหญ่ ‘มาด้วยใจ’ และมองว่าเขาคือผู้ช่วยสนับสนุนและดูแลเด็กให้เดินทางไปโรงเรียน – กลับบ้านได้อย่างปลอดภัย และสามารถเติบโตขึ้นไปเป็นกำลังของชาติไปภายในวันข้างหน้า เมื่อมีการจัดระบบเรื่องรถรับส่งนักเรียนทำให้มีความเป็นระเบียบมากขึ้น และเด็กได้รับความปลอดภัยมากขึ้น

“จุดเริ่มต้นของผมคือ เมื่อก่อนขี่มอเตอร์ไซค์ส่งหลานไปโรงเรียน แต่บางวันเจอฝนตก ก็ทำให้หลานเปียก ตัวผมเองก็เปียกด้วย อีกทั้งถนนลื่นทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ตอนหลังเลยเปลี่ยนมาใช้รถปิ๊กอัพ จนเห็นความลำบากของเด็ก ๆ ที่อยู่ใกล้ จึงเริ่มพานักเรียนที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงมาโรงเรียนด้วย ผู้ปกครองเขาก็ให้เงินช่วยค่าน้ำมัน จนมาขับรถรับส่งนักเรียน ทั้งนี้ต้องชื่นชมผู้บริหาร บุคลากร ที่ช่วยกันดูแลนักเรียนเป็นอย่างดี และขอบคุณเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เป็นความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของเด็ก ๆ” วิชัย ระบุ

ปัญหารถรับส่งนักเรียนจะไม่หมดไป หากไม่ร่วมมือกัน

อนุวัฒน์ พรหมมา ผู้ประสานงานโครงการแผนงานร่วมทุน เพื่อการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยและเป็นธรรม กล่าวว่า โครงการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ ดำเนินการในพื้นที่ 6 จังหวัด โดยมี 2 จังหวัดที่ขับเคลื่อนเรื่องรถโดยสารสาธารณะ ได้แก่ จังหวัดขอนแก่นและจังหวัดนครราชสีมา ส่วนอีก 4 จังหวัดที่เรื่องรถรับส่งนักรียนปลอดภัย ได้แก่ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดยโสธร และจังหวัดสุรินทร์ โดยได้ร่วมกันพัฒนายกระดับโรงเรียนต้นแบบในการจัดการและขับเคลื่อนรถรับส่งนักเรียน 3 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนแกดำวิทยาคาร จังหวัดมหาสารคาม โรงเรียนยโสธรพิทยาสรรค์ จังหวัดยโสธร และโรงเรียนศีขรภูมิพิสัย จังหวัดสุรินทร์ และปัจจุบันทั้ง 3 โรงเรียนได้ยกระดับเป็นศูนย์เรียนรู้รถรับส่งนักเรียนปลอดภัย

“การเปิดตัวศูนย์เรียนรู้ฯ ในครั้งนี้ เป้าหมายส่วนหนึ่งเพื่อสร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนเรื่องรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัยและเป็นธรรมร่วมกับหน่วยงานราชการในจังหวัดสุรินทร์ และเพื่อนให้โรงเรียนอื่น ๆ ที่เป็นเครือข่ายในจังหวัดสุรินทร์จังหวัดใกล้เคียงได้มาศึกษาและเรียนรู้เพื่อนำไปขับเคลื่อนงานในพื้นที่ต่อไป

ทางด้าน นงเยาว์  ผาสุก  รองผู้อำนวยการโรงเรียนศีขรภูมิพิสัย กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเรื่องรถรับส่งนักเรียน โดยระบุว่าตัวเองเคยได้รับโทรศัพท์จากคุณครูท่านหนึ่งแจ้งว่ามีเด็กที่พลัดตกจากรถรับส่งนักเรียน เนื่องจากขึ้นไปนั่งบนหลังคารถ แม้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เด็กบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย และไม่มีใครเสียชีวิต แต่ก็ทำให้ตัวเองต้องกลับมาคิดและทบทวนในเรื่องดังกล่าวว่าจะทำอย่างไรให้เด็กนักเรียนปลอดภัย และไม่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอีก

ทั้งนี้ ก่อนเริ่มจัดระบบเรื่องรถรับส่งนักเรียนพบปัญหาว่า แม้เด็กบางส่วนจะขึ้นรถรับส่งฯ แต่ยังยังพบปัญหาเรื่องเด็กมาไม่ถึงโรงเรียน กลับถึงบ้านไม่ตรงเวลา และยังเกิดกรณีที่รถรับส่งฯ ประสบอุบัติเหตุเนื่องจากความประมาทของผู้ขับขี่ หรือความไม่พร้อมของสภาพรถ จึงปรึกษากับผู้อำนวยการคนเก่า (นายชัยสิทธิ์ ชิดชอบ) และเชิญผู้ประกอบการที่ขับรถรับส่งนักเรียนมาพูดคุย จนกระทั่งมีการจัดตั้งชมรมรถรับส่งปลอดภัยขึ้น และมีการตั้งบอร์ดบริหารเรื่องรถรับส่งนักเรียน ประธาน รองประธาน และแบ่งการวิ่งรถรับส่งนักเรียนเป็นสายต่าง ๆ

นงเยาว์ เล่าอีกว่านอกจากทำงานร่วมกับผู้ประกอบการแล้ว โรงเรียนยังประสานกับขนส่งเพื่อเข้ามาตรวจสภาพรถให้กับผู้ประกอบการรถรับส่งนักเรียน ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวก และช่วยให้เข้าประหยัดเวลาในการไปรอคิวที่ขนส่ง ซึ่งจะทำให้นักเรียนได้ใช้บริการรถรับส่งนักเรียนที่มีคุณภาพด้วย อีกทั้งมีการพูดคุยทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง ประสานตำรวจเพื่ออำนวยความสะดวกในช่วงเข้าเรียนและเลิกเรียน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัดและหน่วยพยาบาลต่าง ๆ สำหรับกรณีที่เด็กประสบอุบัติเหตุ

“โรงเรียนศีขรภูมิพิสัยเป็นโรงเรียนเดียวที่จัดให้รถรับส่งฯ เข้ามารับและส่งนักเรียนภายในโรงเรียน เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นหน้าโรงเรียน เช่น ตอนเด็กข้ามถนน ฯลฯ ซึ่งหลังจากที่พัฒนาระบบรถรับส่งนักเรียนและได้ลองเก็บสถิติ พบว่าเด็กที่ขึ้นรถรับส่งนักเรียนนั้นปลอดภัยและสามารถเรียนจนกระทั่งจนการศึกษาได้ทั้งหมด ร้อยละ 100” รองผู้อำนวยการระบุ

ขณะที่พรชัย สุรพล นักวิชาการขนส่งปฏิบัติการ สำนักงานขนส่งจังหวัดสุรินทร์ ระบุว่า สำนักงานขนส่งฯ ยินดีที่จะช่วยตรวจสภาพรถและให้ความรู้พนักงานขับรถรับส่งนักเรียน ซึ่งสำนักงานขนส่งฯ มีแผนงานที่จะร่วมกันพัฒนาระบบรถรับส่งนักเรียน 3 แผนงาน แผนงานที่ 1 คือการสร้างเครือข่ายรถรับส่งเรียนของจังหวัดสุรินทร์ โดยปัจจุบันได้สร้างกลุ่มไลน์เพื่อพูดคุย โดยมีผู้ประกอบการรถรับส่งนักเรียนเข้าร่วมกลถ่มแล้วประมาณ 75 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการในอำเภอเมืองและอำเภอศีขรภูมิ ทั้งนี้ สำนักงานขนส่งฯ อยากเชิญชวนผู้ประกอบการในจังหวัดสุรินทร์มาลงชื่อเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องระบบรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยร่วมกัน

แผนงานที่ 2 คือการจัดเตรียมสถานที่ และกำหนดวันเวลาที่ตรงกับช่วงปิดเทอม เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการรถรับส่งนักเรียนได้เข้าไปตรวจสภาพรถ โดยจะจัดเป็น One Stop Service ทั้งตรวจสภาพรถยนต์และออกใบอนุญาต เนื่องจากพบปัญหาว่า ผู้ประกอบการรถรับส่งนักเรียนบางรายนำรถเข้าตรวจสภาพแต่ไม่ผ่านเกณฑ์จึงต้องนำรถเข้าตรวจอีกครั้ง ซึ่งทำให้เสียเวลา บางรายลเอดที่จะม่ำรถเข้าตรวจสภาพ หรือใช้รถที่ไม่ผ่านการตรวจสภาพวิ่งรับส่งนักเรียนซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายได้

สำหรับแผนงานที่ 3 พรชัย กล่าวว่าเป็นเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งในปี 2567 สำนักงานขนส่งฯ ยังดำเนินการในรูปแบบการขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการ แต่เมื่อผู้ประกอบการเข้าระบบ ขออนุญาตถูกต้องได้สักระยะ และเพียงรถส่วนน้อยที่ผิดกฎหมาย จะเริ่มบังคับใช้กฎหมายทั้งดารตั้งด้านตรวจจับ และการถ่ายรูปป้ายทะเบียน ซึ่งเมื่อถึงเวลาต่อภาษีเจ้าของรถต้องเข้ามาชี้แจงกับสำนักงานขนส่งฯ

สิริรักษ์ ชมชื่น หัวหน้าฝ่ายป้องกันอุบัติภัยและความปลอดภัยทางถนน สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุรินทร์ (ปภ.) กล่าวถึง สถานการณ์อุบัติเหตุที่อยู่ในกลุ่มเด็ก ซึ่งจังหวัดสุรินทร์เป็นจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูง ทั้งนี้ การทำข้อมูลสถานการณ์อุบัติเหตุของจังหวัดสุรินทร์ โดยจะบูรณาการข้อมูลจาก 3 หน่วยงาน ได้แก่ ตำรวจ สำนักงานเขต และสาธารณสุข นำมารวมกันและวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อรายงานข้อมูลแบบทันท่วงที เพื่อให้ดึงดูดความสนใจของคน เพราะเมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับอุบัติเหตุหากนำเสนอเหตุการณ์รวดเร็วก็จะสามารถสร้างความตระหนักและความตื่นตัวให้กับคนทั่วไป ทั้งยังสามารถกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันแก้ไขเรื่องนี้อีกด้วย         

“ทั้งนี้ ต้องขอบคุณงบประมาณสนับสนุนจากทาง สสส. ในการทำเรื่องนี้ ส่งผลให้จำนวนอุบัติเหตุในจังหวัดสุรินทร์มีจำนวนลดลง จากเดิมมีอัตราการเสียชีวิตปีละ 400 – 500 รายแต่ปัจจุบันอัตราการเสียชีวิตลดเหลือประมาณปีละ 300 แม้ว่าการทำงานจะไม่เห็นผลวันนี้ แต่แน่นอนว่าจะเห็นผลอีกสองสามปีข้างหน้าจำนวนอุบัติเหตุและอัตราการเสียชีวิตจะต้องลดลง” สิริรักษ์  กล่าวทิ้งท้าย

ปรับโครงสร้าง เปลี่ยนวิธีคิด ลดการเสียชีวิตของนักเรียน

คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการ อนุกรรมการ ด้านขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค เผยว่า สภาผู้บริโภคได้ขับเคลื่อนและทำเรื่องรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยร่วมกับเครือข่ายของผู้บริโภคมากว่า 7 ปี จนกระทั่งปัจจุบันที่มีการทำร่วมกับ 6 ภูมิภาค ใน 148 โรงเรียน และมีโรงเรียนที่สามารถพัฒนาขึ้นมาเป็นศูนย์เรียนรู้ 20 โรงเรียน โดยมีเป้าหมายสำคัญที่เน้นเรื่องความปลอดภัยของเด็กนักเรียน

“ระบบการศึกษาไม่ใช่แค่เรื่องของการที่เด็กมาเรียนในห้องอย่างเดียว แต่ต้องรวมถึงเรื่องการเดินทางของเด็กที่มาโรงเรียนด้วย ถือว่าเรื่องที่สภาผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคให้ความสำคัญ” คงศักดิ์ระบุ

สำหรับองค์ประกอบ 9 ด้านที่เป็นกรอบการพัฒนาโรงเรียนศูนย์เรียนรู้รถรับส่งนักเรียนปลอดภัยนั้น มาจากการทำงานตลอด 7 ปี ซึ่งประกอบไปด้วย 1. มีระบบข้อมูลนักเรียน รถ คนขับ เส้นทาง พฤติกรรมคนขับ 2. ระบบเฝ้าระวัง ให้ผู้เกี่ยวข้องช่วยรายงานปัญหาได้ 3. มีระบบการดูแลนักเรียนในรถที่ถูกต้อง ทั่วถึง 4. มีการรวมกลุ่มคนขับ สร้างข้อปฏิบัติหรือวางแผนร่วมกันในการดำเนินการเพื่อสร้างความปลอดภัย 5. ต้องมีมาตรฐาน มีขั้นตอนตรวจสอบสภาพรถ และขึ้นทะเบียนกับขนส่ง 6. มีจุดจอดรถที่ปลอดภัย และระบบความปลอดภัยหน้าโรงเรียน 7. มีระบบคณะทำงาน และหลักเกณฑ์เพื่อติดตามประเมินผลทั้งระบบ 8. มีกลไกจัดการโดย ครู นักเรียน กรรมการสถานศึกษา และผู้ปกครอง 9. มีคณะทำงานระดับอำเภอหรือจังหวัด

ส่วนโรงเรียนที่จะพัฒนาไปเป็นศูนย์เรียนรู้ได้ ต้องมีคุณสมบัติ 5 เกณฑ์ คือ 1. มีพื้นที่เรียนรู้ทางกายภาพ มีรถรับส่งนักเรียน มีพื้นที่จุดจอด 2. มีองค์ความรู้ในเรื่องการจัดการรถรับส่งนักเรียน 3. มีบุคลากรจัดการที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ 4. มีรูปแบบการจัดการศูนย์เรียนรู้ 5. มีแผนบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ

คงศักดิ์  กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคได้ติดตามเรื่องอุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียนมาตลอด และได้เสนอข้อมูลดังกล่าวต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน จนกระทั่งมีการนำข้อมูลดังกล่าวไปเสนอเป็นรายงานต่อคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 และมีแนวทางให้กับ 3 กระทรวงหลักในการดำเนินการจัดการรถรับส่งนักเรียน และมีการผลักดันให้เป็นนโยบายชาติ ซึ่งถือเป็นความสำเร็จที่สำคัญมาก สำหรับระยะเวลา 7 ปีที่เราดำเนินการเรื่องดังกล่าว

ทางด้าน ศรีสุวรรณ ควรขจร ประธานโครงการแผนงานร่วมทุนสนับสนุนองค์กรผู้บริโภคฯ ให้ข้อเสนอแนะว่า การทำให้เด็กหรือเยาวชนได้เข้าใจระบบการจัดการเพื่อความปลอดภัยเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ดังนั้น โรงเรียนจึงต้องเป็นพื้นที่ที่ทำให้เกิดการบูรณาการและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาสนับสนุน

นอกจากนี้ ศรีสุวรรณ ยังเสนอให้จังหวัดสุรินทร์ ร่วมกันระดมสมองเพื่อทำนโยบายความปลอดภัยกเรื่องลดจำนวนอุบัติเหตุ หรือ Vision Zero โดยให้จังหวัดสุรินทร์เป็นต้นแบบ เริ่มที่ต้องไม่มีนักเรียนเสียชีวิตอย่างเด็ดขาด ทำให้เกิดขึ้นให้ได้ เพื่อให้ความสำเร็จเล็ก ๆ ในระดับจังหวัด สู่การเป็นต้นแบบให้ประเทศ

“ในระดับประเทศ การจะขับเคลื่อนหรือผลักดันนโยบายจะเคลื่อนตัวช้ามาก เมื่อมีความเปลี่ยนแปลงหรือมีปัจจัยอะไรต่าง ๆ ก็ทำให้การผลักดันทางนโยบายไม่ให้เรื่องง่ายนัก ถ้าหากว่าเราสามารถทำให้เกิดการขยับขับเคลื่อนได้ในจังหวัด ซึ่งไม่ใช่แค่ความสำเร็จที่อยู่ในแค่จังหวัดสุรินทร์ หรืออยู่ที่โรงเรียน แต่มันจะทำให้เกิดคุณูปการมหาศาลต่อประเทศ” ประธานโครงการแผนงานร่วมทุนฯ กล่าว

#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค