สภาผู้บริโภคเสนอ กกพ.- รมว.พลังงาน ทบทวนการกำหนดค่าเอฟที (Ft) เดือน พ.ค. – ส.ค. 2567 เพื่อให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเท่ากับ 3.99 บาท/หน่วย พร้อมเสนอให้เดินหน้ามาตรการอื่นร่วมด้วย เพื่อเร่งรัดให้เกิดการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างพลังงานซึ่งส่งผลต่อราคาค่าไฟฟ้าทั้งระบบ
จากกรณีวันที่ 9 มีนาคม 2567 เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ในการปรับค่าไฟฟ้าผันแปร หรือที่เรียกกันว่า ค่าเอฟที (Ft)* กกพ. ได้เสนอทางเลือกเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในระหว่างวันที่ 8 – 22 มีนาคม 2567 ไว้ 3 ทาง คือ จ่ายค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเท่ากับ 5.44 บาทต่อหน่วย , 4.34 บาทต่อหน่วย และ 4.18 บาทต่อหน่วย ตามลำดับ ซึ่งทุกทางเลือกจะมีการจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเท่ากับ 4.18 บาท
บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า เรื่องการคิดค่าเอฟที (Ft) งวดเดือน พ.ค. – ส.ค. 2567 นั้น สภาผู้บริโภคขอเสนอทางเลือกที่ 4 คือ ให้ กกพ. คิดค่าเอฟที (Ft) ในราคาที่ทำให้ราคาค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเท่ากับ 3.99 บาทต่อหน่วย (รวมการจ่ายคืนหนี้ให้ กฟผ.) โดยให้คำนึงถึงนโยบายของรมว.การกระทรวงพลังงานที่ได้สั่งการให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเร่งเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ให้เป็นไปตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต โดยจะสามารถลดราคาค่าไฟฟ้าได้ 15-20 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งตอนนี้การดำเนินการเรียบร้อยแล้ว
ด้าน รสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค กล่าวว่า นอกจากข้อเสนอที่ประธานสภาผู้บริโภคได้เสนอไปแล้ว ขอเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานพิจารณาดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อลดค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่ายลง ดังนี้
1. ควรติดตามการดำเนินงานของ กกพ. จากข้อเสนอของสภาผู้บริโภคที่เสนอให้ กกพ. อนุญาตให้ กฟผ. นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าได้เองโดยไม่ต้องซื้อผ่าน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เพียงอย่างเดียว เพื่อให้เกิดการแข่งขันด้านราคาเชื้อเพลิง ทั้งนี้ อาจมีการกำหนดสัดส่วนขั้นต่ำที่ กฟผ. ต้องซื้อ LNG จาก ปตท. ไว้ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการต้นทุนระยะยาวของ ปตท.
2. ควรพิจารณาลดต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติที่ใช้ผลิตไฟฟ้าโดยสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวงพลังงานเจรจายืมโควตาการใช้ก๊าซในพื้นที่แสวงหาประโยชน์ร่วมกันระหว่างไทยและมาเลเซีย (Joint Development Agreement : JDA) โดยเพิ่มสัดส่วนให้แก่ประเทศไทยในช่วง 2-3 ปีแรก และคืนโควตาที่ยืมให้แก่มาเลเซียในภายหลัง เหมือนที่มาเลเซียเคยยืมโควตาประเทศไทยมาก่อนในช่วงก่อนหน้านี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ประเทศไทยพัฒนากำลังการผลิตในอ่าวไทย ได้แก่แหล่งบงกชและเอราวัณ ให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
3. ควรเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้
3.1 พิจารณาให้กลุ่มปิโตรเคมีใช้ก๊าซ LPG จากโรงแยกก๊าซในราคาก๊าซที่ใช้ผลิตไฟฟ้าโดยรวม (Pool gas)
3.2 เร่งกำหนดนโยบายสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์เซลล์ของภาคประชาชน ครัวเรือน และ SME แบบ เน็ตมิเตอร์ริง (net metering) โดยเร็วเพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าด้วยการพึ่งพาตนเอง และช่วยลดค่าไฟฟ้าส่วนรวมจากการลดการนำเข้า LNG ที่มีต้นทุนสูงกว่าเชื้อเพลิงอื่น
3.3 เร่งดำเนินการนโยบายเปิดเสรีการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาแบบระบบเน็ตบิลลิ่ง (Net Billing) สำหรับภาคธุรกิจขนาดใหญ่ และภาคอุตสาหกรรม โดยไม่กำหนดโควตากำลังการผลิตและระยะเวลาการรับซื้อ
3.4 สั่งการให้ กฟผ. เร่งเจรจาสัญญารับซื้อไฟฟ้า (PPA) ที่ได้ทำกับเอกชนทุกรายก่อนหน้านี้ เพื่อปรับโครงสร้างค่าความพร้อมจ่าย โดยให้ลดค่าความพร้อมจ่ายลงสำหรับโรงไฟฟ้าที่อายุใกล้ครบสัญญา และยืดการจ่ายค่าความพร้อมจ่ายออกไปสำหรับโรงไฟฟ้าใหม่
“เราคาดหวังว่าจะได้เห็นค่าไฟฟ้าเฉลี่ยต่ำกว่า 4 บาทอีกครั้งสำหรับค่าเอฟที (Ft) ในงวดที่กำลังจะมาถึง” รสนากล่าว
*ค่าเอฟที Ft (Fuel Adjustment Charge) เป็นสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือค่าไฟฟ้าผันแปร เป็นค่าไฟฟ้าที่ปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นหรือลดลง ตามการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าจากเอกชนหรือประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงค่าใช้จ่ายที่การไฟฟ้าไม่สามารถควบคุมได้ มีการปรับทุก 4 เดือน