เลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์กับ “การเลือกตั้งคณะกรรมการกองทุนประกันสังคม” หรือ “บอร์ดประกันสังคมชุดใหม่” 24 ธันวาคม 2566 ชุดที่นายจ้างและลูกจ้างผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 39 และ 40 จะได้ใช้สิทธิในการเลือกตัวแทนฝ่ายตนเข้าเป็นบอร์ดประกันสังคมโดยตรงครั้งแรก ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2558 เพื่อทำหน้าที่บริหารกองทุนประกันสังคม ดูแลสิทธิ สวัสดิการผู้ประกันตนให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
หากพิจารณาถึงสัดส่วนของคณะกรรมการประกันสังคมชุดปัจจุบันแล้ว พบว่า คณะกรรมการส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ ทั้งที่ได้รับการแต่งตั้ง และโดยตำแหน่ง เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม รวมถึงข้าราชการในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น การเลือกผู้แทนฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตนเป็นคณะกรรมการจึงมีความสำคัญในการผลักดันและให้ความเห็นมุมมองของฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตนในการพัฒนานโยบายและสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนในด้านต่าง ๆ รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตการดูแลสุขภาพให้คนทำงานดีขึ้น
บอร์ดประกันสังคมชุดใหม่ มีการเปลี่ยนแปลงจากโครงสร้างเดิมที่มี 15 คน เป็น 21 คน โดยมีสัดส่วนตัวแทนจากฝ่ายรัฐ ฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้างฝ่ายละ 7 คน ซึ่งผู้แทนทั้งฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างที่ได้รับเลือกครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อทิศทางและอนาคตของ “กองทุนประกันสังคม” และเป็นความหวังของผู้ประกันตนที่ต้องการเห็นการพัฒนาสิทธิประโยชน์สวัสดิการที่ครอบคลุม สอดคล้องกับสถานการณ์จริงในปัจจุบัน
โดยเฉพาะสิทธิด้านสุขภาพ การรักษาพยาบาลที่ระบบประกันสังคมให้สิทธิประโยชน์น้อยที่สุด เมื่อเทียบกับสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และระบบสวัสดิการข้าราชการ ทั้ง ๆ ที่ผู้ประกันตน คือ คนกลุ่มเดียว ที่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อให้ได้สิทธิการรักษาพยาบาลตัวเอง
ความหวังของผู้ประกันตนต่อตัวแทนในบอร์ดประกันสังคม คือการผลักดันให้เกิดการยกระดับปรับสิทธิสวัสดิการด้านสุขภาพของผู้ประกันตนในทุกกลุ่ม ไม่ให้เหลื่อมล้ำ หรือควรมีความเท่าเทียมกันกับสิทธิบัตรทองที่มาทีหลังแต่กลับพัฒนาสิทธิการบริการรุดหน้าสิทธิประกันสังคมไปไกลมาก โดยเฉพาะสิทธิการรักษาด้านทันตกรรมที่บัตรประกันสังคมยังติดเพดานค่าบริการไม่เกิน 900 บาทต่อคนต่อปี และหากมีค่าใช้จ่ายเกิน ผู้ประกันตนก็ต้องควักจ่ายส่วนต่างนั้นเอง เงื่อนไขค่ารักษาด้านทันตกรรมที่ 900 บาทต่อคนต่อปี จึงน้อยไป
การเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตนมีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร
การเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตนครั้งนี้มีข้อดีที่ผู้ประกันตนจะได้รับประโยชน์มีผู้แทนที่ผู้ประกันตนเลือกเข้าไปให้ทำหน้าที่ร่วมแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมพัฒนาสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนให้เป็นไปตามความต้องการของผู้ประกันตนในทุกมาตรา ทั้งผู้ประกันตนมาตรา 33 ผู้ประกันตนมาตรา 39 และผู้ประกันมาตรา 40
อย่างน้อยทุกมาตราควรได้รับสิทธิสวัสดิการที่เท่าเทียมไม่เหลื่อมล้ำในขณะเดียวกันการเลือกตั้งซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก จึงยังมีข้อเสียจากความไม่ชัดเจนของผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้ประกันตนว่าจะทำหน้าที่ปกป้องสิทธิหรือเป็นปากเสียง และผลักดันสิทธิประโยชน์ได้ดีเพียงใดจึงเป็นเรื่องที่คอยติดตามดูบทบาทและการทำหน้าที่ผู้แทนเหล่านั้น โดยเฉพาะฝ่ายนายจ้างจะคิดเห็นอย่างไรในนสิ่งที่ฝ่ายผู้ประกันตนต้องการ
ทำไมต้องปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน ด้านบริการสุขภาพ
ปัจจุบันผู้ประกันตนมีจำนวนมากถึง 24 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 60 ของจำนวนแรงงานไทยทั้งหมด
โดยผู้ประกันตนที่มีนายจ้าง ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน 3 – 5 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนทุกเดือน ในขณะที่สิทธิประโยชน์โดยเฉพาะในด้านบริการสุขภาพยังถือว่าด้อยกว่าระบบสิทธิสุขภาพอื่น ๆ หากเปรียบเทียบสิทธิการรักษาพยาบาลจากรัฐบาล คือ สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทองแล้วพบว่ามีเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดและควรต้องรีบปรับปรุงเพื่อยกระดับการดูแลสุขภาพของผู้ใช้แรงงานให้ดีขึ้น ดังนี้
ด้านทันตกรรม
ในปัจจุบัน สิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบบสวัสดิการข้าราชการ และระบบประกันสังคมมีความแตกต่างกัน ดังนี้
(ที่มาของตารางเปรียบเทียบ https://www.tcc.or.th/sso-dental-inferior/)
เสียงสะท้อนจากผู้ประกันตน
คุณปรรณพัชร์ กาญจนานุกูล พนักงานบริษัท เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 สะท้อนว่าแม้การตรวจทำฟัน ด้วยสิทธิบัตรประกันสังคมจะบริการดี แต่ค่ารักษาก็เกินวงเงินทุกครั้ง
“อยากให้ปรับเพิ่มวงเงินให้ครอบคลุมการรักษาตามความเป็นจริงและในแต่ละปีควรให้ใช้สิทธิทำฟันได้หลายครั้ง หรือหากบางปีไม่ได้ไปใช้สิทธิ ก็สามารถสมทบใช้ในปีต่อไปได้ เพราะส่งเงินประกันสังคมทุกเดือน แต่ใช้สิทธิตรงนี้น้อยครั้งมาก อีกอย่างทุกคนควรมีสิทธิเท่าเทียมกันค่ะ”
ขณะเดียวกันคุณณลรร ธนาภูนัตถ์ พนักงานบริษัท ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 สนับสนุนการเพิ่มวงเงินในสิทธิการทำฟันของระบบประกันสังคมให้สูงขึ้น
“ควรปรับปรุงการจำกัดวงเงินการทำฟัน 900 บาท ไม่ว่าจะถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน ก็ไม่เพียงพอ ไม่ควรให้ผู้ประกันตนสำรองจ่าย ซึ่งหากในปีที่ไม่ได้ใช้สิทธิ ก็ควรสมทบเงินไปในปีถัดไปหรือสมทบในกรณีว่างงาน หรือ ในเงินบำเหน็จชราภาพ และเห็นด้วยที่สิทธิประกันสังคมจะทัดเทียมกับบัตรทอง เพราะอยากให้ทุกสิทธิได้เหมือน ๆ กัน”
เช่นเดียวกับคุณปัทมาภรณ์ ถนอมปัญญารักษ์ เจ้าของกิจการ ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ที่เห็นว่าทุกคนควรได้รับสิทธิการดูแลที่เท่าเทียมกัน
“เป็นเรื่องที่ดีมากหากปรับเพิ่มสิทธิการทำฟัน เพราะการขูดหินปูนมีค่าบริการครั้งละ 1,200 บาทแล้ว หากได้สิทธิเหมือนบัตรทองก็ดี เพราะทุกคนควรได้สิทธิเท่าเทียมกัน แม้กระทั่งสิทธิของผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่ยังด้อยกว่ามาตรา 33 ก็ควรได้รับสิทธิเท่ากัน”
ด้านการรักษาโรคมะเร็ง
สำหรับสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาโรคมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบบสวัสดิการข้าราชการ และระบบประกันสังคม มีความแตกต่างกัน ดังนี้
(ที่มาของข้อมูล https://thaicancersociety.com/rights-to-health-care/)
เสียงสะท้อนจากผู้ประกันตน
คุณธัญพร ไทรงาม ผู้ประกันตนมาตรา 33 เข้ารับการรักษาโรคมะเร็ง เมื่อปี 2564 ที่โรงพยาบาลตามสิทธิและปฏิบัติตามแผนการรักษาจนหาย โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เห็นว่า
“หากมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนได้เทียบเท่ากับสิทธิประโยชน์บัตรทอง เชื่อว่าจะทำให้ผู้ป่วยอีกหลายคนคลายความกังวลใจ และมีโอกาสหายป่วยมากขึ้น จากการได้รับการรักษาจากแพทย์ที่เชี่ยวชาญและโรงพยาบาลใกล้บ้าน”
จากข้อมูลตารางเปรียบเทียบสิทธิประโยชน์ที่เห็นความแตกต่างระหว่าง 3 ระบบ ประกอบกับเสียงสะท้อนของผู้บริโภคจะเห็นได้ว่า สิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนในการรักษา ด้านทันตกรรม และการรักษาโรคมะเร็งนั้น
ไม่สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและความต้องการของผู้ประกันตน สภาผู้บริโภคจึงได้ผลักดันให้มีการปรับปรุงสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลของผู้ประกันตนให้ทัดเทียมกับสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยขอให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ปรับปรุงสิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรมของผู้ประกันตน เรื่อง การสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค กรณีสิทธิรักษาพยาบาลสุขภาพในช่องปากให้เทียบเท่ากับสิทธิหลักประกันสุขแห่งชาติอย่างเร่งด่วน โดยเบิกจ่ายตามอัตราที่จ่ายในการรักษาจริง แทนการกำหนดค่าใช้จ่ายในอัตราไม่เกิน 900 บาทต่อปี รวมทั้งสิทธิการรักษาโรคมะเร็งให้สามารถเบิกจ่ายตามอัตราที่จ่ายในการรักษาจริงแทนการกำหนดค่าใช้จ่ายในอัตราไม่เกิน 50,000 บาทต่อรายต่อปี
ถึงเวลาร่วมกำหนดสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตน
จะเห็นได้ว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้สิทธิประโยชน์ของผู้กันตนไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ที่คุ้มค่ากับการจ่ายเงินสมทบ ส่วนหนึ่งเกิดจาก “นายจ้าง และลูกจ้าง” ไม่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนตั้งแต่ต้น ทำให้ไม่มีการพัฒนาสิทธิประโยชน์ให้ตรงกับความต้องการ และนำมาซึ่งการเรียกร้องให้มีการแก้ไขอยู่ตลอด
การเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้ประกันตนลงทะเบียนใช้สิทธิ จำนวน 945,609 คน โดยสามารถเลือกผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนฝ่ายละ 7 คน วันที่ 24 ธันวาคมนี้ จึงมีความสำคัญ และเป็นอีกหนึ่งความหวังของผู้อยู่ในระบบประกันสังคม 24 ล้านคน ในการตัดสินใจเลือกคนที่มองเห็นปัญหา เข้าใจข้อเรียกร้อง และพร้อมจะแก้ไข
เพื่อสวัสดิการและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของพี่น้องผู้ใช้แรงงานทุกคน
“แอบหวังว่า บอร์ดชุดใหม่จะใส่ใจ คุณภาพชีวิต คิดและช่วยให้คนทำงาน มีคุณค่า จากสวัสดิการที่ดีกว่าเดิม” ชาลินี ศรีจันทร์นิตย์ อาชีพอิสระ
“ดีใจที่มีการเปลี่ยนแปลงบอร์ดประกันสังคม เพราะน่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีกับพวกเราซึ่งเป็นผู้ประกันตน” สุจิต เมืองสุข ผู้ประกันตนมาตรา 33
ไม่ว่าผลการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม 24 ธันวาคมนี้ จะมีผลออกมาอย่างไร แต่ก็ถือเป็นความหวังที่บอร์ดประกันสังคมชุดใหม่จะเข้ามาพัฒนาปรับปรุงสิทธิในการรักษาโรคมะเร็ง และด้านทันตกรรมแก่ผู้ประกันตนอย่าง
คุ้มค่าเงินที่ได้ร่วมส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันตนเองเป็นประจำทุก ๆ เดือน และเป็นการยกระดับสวัสดิการเพื่อคุณภาพที่ดีขึ้นของคนทำงานซึ่งเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศไม่น้อยไปกว่าภาครัฐ และในฐานะที่เป็นคนไทยไม่ว่าจะ
ถือสิทธิใดควรต้องได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานเสมอภาคทุกคน
#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค
อ้างอิง