ข้อเสนอเวทีเสวนาลดเค็ม ย้ำ “เก็บภาษีโซเดียม” ผลักดัน “ฉลากสีสัญญาณไฟจราจร” และปรับพฤติกรรมผู้บริโภคให้มีสุขภาพที่ดี มุ่งสู่เป้าหมายลดการบริโภคโซเดียมร้อยละ 30 ภายในปี 2568
วันที่ 22 ธันวาคม 2565 บนเวทีเสวนา “สานพลังขับเคลื่อน การลดการบริโภคโซเดียม ลดโรคร้ายแรง จากระดับชาติสู่ระดับพื้นที่” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 “ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ โอกาสและความหวังอนาคตประเทศไทย” เครือข่ายองค์กรที่ร่วมรณรงค์ให้ผู้บริโภคลดโซเดียม ย้ำข้อเสนอเชิงนโยบาย เรื่องการจัดเก็บภาษีโซเดียม และการใช้ฉลากสีสัญญาณไฟจราจรควบคู่ไปกับฉลากโภชนาการแบบข้อแนะนำปริมาณบริโภคต่อวัน หรือ จีดีเอ (GDA : Guideline Daily Amounts)
ทั้งนี้ ผลจากการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนในพื้นที่ที่รณรงค์มีการบริโภคโซเดียมในปริมาณที่ลดลง จึงเตรียมขยายผลสู่พื้นที่อื่น ๆ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายลดการบริโภคโซเดียมลงร้อยละ 30 ภายในปี 2568
“นพ.ปรีชา เปรมปรี” รองอธิบดีกรมควบคุมโลก กล่าวว่า หลักฐานทางวิชาการหลายชิ้นบ่งชี้ว่าการบริโภคโซเดียมในปริมาณมากอย่างต่อเนื่องนั้น เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพอย่างโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ เอ็นซีดี (NCDs) โดยปัจจุบันประชากรในประเทศไทยป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง 13 ล้านคน โรคไตเรื้อรัง 7.6 ล้านคน โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ 7.5 แสนคน และโรคหลอดเลือดสมอง 5 แสนคน ซึ่งโรคเหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตมากที่สุด และทำให้ประเทศต้องสูญเสียเงินในการรักษาประชาชนกรที่ป่วยด้วยโรคเหล่านี้มากกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี
“ประเทศไทยมีเป้าหมายในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค ให้หันมาลดการบริโภคโซเดียมลงร้อยละ 30 ภายในปี 2568 เพื่อลดผลกระทบด้านสุขภาพ และเพื่อให้เป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุข ในการทำให้คนไทยมีสุขภาพที่ดี และใช้ชีวิตอยู่ได้โดยไม่ป่วยเป็นโรคจนถึงอายุ 75 ปี เกิดขึ้นได้จริง” นพ.ปรีชา ระบุ
“นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ” ประธานเครือข่ายลดบริโภคเกลือ (โซเดียม) ระบุว่า จากการศึกษาของ เครือข่ายลดบริโภคเกลือ (โซเดียม) องค์การอนามัยโลก และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่าคนไทยกินเค็มเกือบ 2 เท่าของปริมาณที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ โดยใน 1 วันเราควรบริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลกรัม (มก.) และจากการสำรวจพบว่าอาหารข้างทางมีปริมาณโซเดียมต่อจานมากกว่า 1,000 มก.
ประธานเครือข่ายลดบริโภคเกลือ (โซเดียม) กล่าวต่อไปว่า แม้ที่ผ่านมาจะมีการผลิตสื่อรณรงค์เรื่องการลดโซเดียมในหลายรูปแบบ เช่น สปอตโทรทัศน์ อินโฟกราฟิก ละครสั้น เกม เว็บไซต์ เป็นต้น ไปจนถึงการจัดทำโครางการชุมชนลดเค็ม การขอความร่วมมือจากภาคอุตสาหกรรม ให้ลดปริมาณโซเดียมที่ใส่ลงในอาหารโดยเฉพาะในอาหารสำเร็จรูปต่าง ๆ แต่ก็ได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการเพียงส่วนน้อย นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ที่ลดโซเดียมก็มักจะมีราคาแพงกว่าผลิตภัณฑ์ปกติ ผู้บริโภคหาซื้อได้ยากกว่า จึงเป็นที่มาของข้อเสนอทางนโยบาย เรื่องการเก็บภาษีโซเดียม โดยผลิตภัณฑ์ที่มีโซเดียมเกินจากเกณฑ์ที่กำหนดต้องเสียภาษี ทั้งนี้จำเป็นต้องมีการทำประชาพิจารณ์ในเรื่องดังกล่าวต่อไป
“ในประเทศอังกฤษเคยมีการรณรงค์เรื่องลดการบริโภคโซเดียม โดยขอความร่วมมืออุตสาหกรรมอาหารให้ลดเกลือโดยสมัครใจ พบว่าเมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี การบริโภคเกลือของประชาชนลงลงประมาณร้อยละ 15 อีกทั้งประชากรในประเทศมีความดันโลหิตลดลง อัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ โรคสมอง และอัมพาต ลดลงถึงร้อยละ 40” นพ.สุรศักดิ์ กล่าว
ด้าน “มลฤดี โพธิ์อินทร์” ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า แม้ว่าสภาองค์กรของผู้บริโภคจะเพิ่งเกิดขึ้นและเริ่มดำเนินการประมาณ 1 ปี แต่องค์กรสมาชิกของสภาองค์กรของผู้บริโภคกว่า 270 องค์กร ได้ขับเคลื่อนและผลักดันให้มีการใช้ฉลากสีสัญญาณไฟจราจรมาควบคู่ไปกับฉลากโภชนาการแบบ GDA เพื่อรณรงค์การลดหวานมันเค็ม เนื่องจากฉลากสีสัญญาไฟจราจรจะช่วยให้เด็ก ๆ และผู้บริโภคสามารถเข้าใจฉลากโภชนาการได้ง่ายขึ้น โดยพื้นที่ที่ผลักดันเรื่องฉลากสีสัญญาไฟจราจรอย่างเข้มข้น
ยกตัวอย่างเช่น จังหวัดทางภาคตะวันตกทั้ง 8 จังหวัด พื้นที่ภาคเหนือ และจังหวัดสงขลา ทั้งนี้ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคเคยทำข้อเสนอถึงกระทรวงสาธารณธสุข เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยใช้ฉลากอาหารแบบฉลากสีสัญญาไฟจราจร แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับว่าฉลากในประเทศไทยทั้งหมดจะเป็นฉลากสีสัญญาณไฟจราจร
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการพัฒนาแอปพลิเคชันฟู้ดช้อยส์ (Food Choice) ซึ่งเป็นแอปฯ สำหรับตรวจคุณค่าทางโภชนาการของอาหาร ซึ่งใช้งานโดยใช้แอปฯ ดังกล่าวสแกนไปที่บาร์โค้ดของสินค้า ก็จะมีข้อมูลโภชนาการเกี่ยวกับสินค้านั้น ๆ ขึ้นมา โดยมีการเปรียบเทียบเป็นสี เขียว เหลือง แดง เพื่อให้เข้าใจได้ง่าย ซึ่งนอกจากจะช่วยทำให้ผู้บริโภคสามารถทราบข้อมูลทางโภชนาการของอาหารได้ง่ายขึ้นแล้ว หากใช้กันมาก ๆ จะเป็นแรงกระตุ้นให้อุตสาหกรรมอาหารลดปริมาณน้ำตาลและโซเดียมที่ใส่ในอาหาร เพื่อให้ผู้บริโภคมีสุขภาพที่ดีขึ้น และลดการเกิดโรคเอ็นซีดี ได้ด้วย
“นพ.กฤษฎา หารบรรเจิด” ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ ระบุว่า การทำงานในพื้นที่ถือเป็นกลไกสำคัญในการรณรงค์ลดการบริโภคโซเดียม เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีปริมาณการบริโภคเกลือโซเดียมแตกต่างกัน การดำเนินการจึงต่างกันด้วย ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่า อาหารที่ขายริมทางรวมถึงอาหารที่ปรุงรับประทานในครัวเรือนก็มีโซเดียมในปริมาณสูงเช่นกัน
นพ.กฤษฎา เล่าถึงการดำเนินงานโครงการลดการบริโภคโซเดียมในระดับจังหวัดว่า มีทั้งส่วนของการเฝ้าระวัง แนะแนวทางการแก้ไข ทำแผนปฏิบัติการให้แต่ละพื้นที่ รวมถึงมีการประเมินผลการดำเนินงานด้วย โดยมีการซื้อ ‘ซอลต์มิเตอร์ (Salt Meter)’ หรือเครื่องมือตรวจปริมาณเกลือในอาหาร แจกพื้นที่ด้วย ซึ่งจะช่วยให้คนทำงานในพื้นที่สามารถตรวจสอบปริมาณโซเดียมในอาหารได้ง่ายขึ้น และทำให้ประชาชนได้ทราบปริมาณโซเดียมที่รับประทานอยู่เป็นประจำ เพื่อนำไปสู่การปรับพฤติกรรมสู่การบริโภคโซเดียมอย่างเหมาะสม
เช่นเดียวกับ “นพ.ประเสริฐ กิจสุวรรณรัตน์” นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปาง ที่เล่าถึง การปฏิรูประบบสุขภาพของจังหวัดลำปาง โดยคณะกรรมการบอร์ดของจังหวัดลำปางที่ดูแลเรื่องปัญหาสุขภาพ จะเน้นเรื่อง โดยในเรื่องการลดเค็มนั้น มีแนวทางการทำงานโดยการแจกซอลต์มิเตอร์ให้ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในอัตรา 1 ต่อ 7 คือ อสม. 7 คนจะมีซอลต์มิเตอร์ 1 ตัว แปลว่า ใน 1 สัปดาห์ อสม. แต่ละคนจะได้เวียนใช้ซอลต์มิเตอร์คนละ 1 วัน เพื่อนำไปตรวจวัดโซเดียมในอาหาร ในแต่ละชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ของเขา
“การดำเนินการตลอด 1 ปีที่ผ่านมา มีการให้รางวัลกับบ้านที่รับประทานอาหารที่มีโซเดียมในปริมาณที่ปลอดภัย (สีเขียว) และให้คำแนะนำแก่ครอบครัวที่บริโภคโซเดียมมากกว่าปริมาณแนะนำเพียงเล็กน้อย (สีส้ม) ส่วนประชาชนที่บริโภคโซเดียมเกินจากที่องค์การอนามัยโลกกำหนดเป็นประจำ (สีแดง) ก็จะมีการณรงค์ลดโซเดียมกันในชุมชน ทั้งนี้จากการลงตรวจใน 1 ปีที่ผ่านมา พบว่าร้อยละ 40 อยู่ในเกณฑ์ที่ดี” นพ.ประเสริฐ
ด้าน “สมบุญ วงษ์ดาว” รองนายกองค์กรบริหารส่วนตำบลดงคู่ กล่าวถึงสาเหตุที่เริ่มทำโครงการลดโซเดียมในชุมชน ว่าสังเกตเห็นว่าในชุมชนมีคนป่วยเป็นโรคเอ็นซีดีจำนวนมาก จึงเริ่มจัดตั้งกลุ่มแกนนำสุขภาพในระดับตำบล ตั้งแต่ปี 2562 – 2565 โดยมี 1 หมู่บ้านต้นแบบในการดำเนินงาน ซึ่งมีทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันโรคไม่ติดต่อแบบเรื้อรัง การให้ความรู้กับผู้บริโภค การใช้ซอลต์มิเตอร์เพื่อตรวจวัดปริมาณโซเดียมในอาหารของแต่ละครัวเรือน รวมถึงมีการรับรองร้านค้าที่ใช้ปริมาณโซเดียมในอาหารได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ พบว่าจากการติดตามผลพบว่าคนในชุมชนลดปริมาณการบริโภคโซเดียมลงเป็นลำดับ และมีคนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงน้อยลง