ค่าไฟแพง ตามหลักอริยสัจ 4 ปัญหาที่รอวันรัฐบาลแก้

ความเป็นจริง 4 ประการ ของค่าไฟแพง ความทุกข์ของประชาชนที่เกิดจากรัฐบาล ที่รอคอยการดับทุกข์ที่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะมีดวงตาเห็นธรรมเร่งแก้ไขหรือไม่?

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดถึงสมุทัยหรือสาเหตุของค่าไฟแพง และไล่ให้นักข่าวไปศึกษาธรรมะว่าด้วยอริยสัจ 4 ของค่าไฟแพง ทั้งที่จริงนายกมีหน้าที่หา ‘สมุทัย’ หรือสาเหตุของค่าไฟแพง และหา ‘มรรค’ ซึ่งก็คือ วิธีหรือเครื่องมือในการแก้ทุกข์ของชาวบ้าน ไม่ใช่แค่พูดปริศนาธรรมให้ชาวบ้านฟังโดยไร้การแก้ปัญหา

ขอขยายความเรื่องทุกข์ สมุทัย ของค่าไฟแพง และขอเสนอมรรคให้นายกฯแก้ปัญหาค่าไฟแพง เพื่อให้เกิดนิโรธแก่ชาวบ้านคือหยุดค่าไฟแพง

ราคาค่าไฟมาจากค่าใช้จ่ายหลัก ๆ 2 ส่วนคือ ค่าไฟฐาน (ค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้า และค่าก่อสร้างสายส่ง) และค่าเอฟทีหรือค่าไฟฟ้าผันแปร ซึ่งค่าเอฟที ก็มาจากค่าใช้จ่าย 3 ส่วน คือ

1. ค่าซื้อเชื้อเพลิง (ก๊าซเป็นหลัก)

2. ค่าซื้อไฟ (จากโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (IPP) และขนาดเล็ก (SPP) ขนาดจิ๋ว (VSPP) และไฟฟ้าจากลาว)

3. นโยบายภาครัฐ


อริยสัจ4 เรื่องค่าไฟ

“ทุกข์ “ ของประชาชน คือค่าไฟแพงขึ้น

เมื่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศขึ้นค่าเอฟที เดือน กันยายน – ธันวาคม 2565 ประมาณ 70 สต./หน่วย ทำให้ค่าเอฟทีเพิ่มขึ้นเป็น 93.43 สตางค์/หน่วย เมื่อบวกกับค่าไฟเดิมที่ 3.79 บาท/หน่วย ค่าไฟในเดือนกันยายน จะเพิ่มเป็น 4.72 บาท/หน่วย

การเพิ่มค่าเอฟที 1 สตางค์/หน่วย เท่ากับเพิ่มรายจ่ายประชาชน 2,000 ล้านบาท/ปี การเพิ่มค่าเอฟทีงวดเดือนกันยายน – ธันวาคม นี้เท่ากับเพิ่มภาระรายจ่ายให้ประชาชน 140,000 ล้านบาท/ปี ค่าไฟที่ประชาชนทั้งประเทศจ่ายอยู่ปัจจุบันนี้ประมาณ 670,000 ล้านบาท/ปี ก็จะขยับขึ้นเป็น 810,000 ล้านบาท/ปี นี่คือความทุกข์ของประชาชน

ปริมาณไฟฟ้าที่รัฐบาลกำหนดไว้ในแผนพัฒนาพลังงาน (PDP) ในปัจจุบันเกินความต้องการใช้ถึงร้อยละ 53 – 54 ตามปกติแผนการสำรองไฟฟ้าตามมาตรฐานทั่วโลกและของไทยเขาขีดเส้นไว้ที่ร้อยละ 15 – 20 แต่ขณะนี้ปริมาณไฟฟ้าประเทศไทยล้นเกินมาตรฐานไปเกือบร้อยละ 40 แต่รัฐบาลก็ยังไม่หยุดทำสัญญาซื้อไฟจากเอกชน และซื้อไฟจากลาว ค่าซื้อไฟฟ้าที่ล้นเกินมหาศาลนี้ก็คือเงินที่ล้วงจากกระเป๋าของประชาชนโดยตรงในบิลค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นอย่างไม่ยุติธรรมกับประชาชนที่ต้องเอาเนื้อหนูไปปะเนื้อช้าง

”สมุทัย” สาเหตุของไฟฟ้าแพงมาจาก

1) ราคาเชื้อเพลิงที่ใช้ในโรงไฟฟ้า ซึ่งมาจาก 3 แหล่งคือก๊าซในอ่าวไทยบ้านเราเองที่มีราคาถูกที่สุด ก๊าซจากพม่า และ ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) นำเข้าที่มีราคาแพงที่สุด ถูกเอามาถ่วงน้ำหนักเพื่อให้มีราคาเฉลี่ยที่ถูกลง เรียกว่า พูดก๊าซ (Pool Gas)

แต่ได้รับทราบว่า นายกฯ ลุงตู่สั่งการไปทาง กกพ. ว่า ก๊าซจากอ่าวไทยที่มีคุณภาพดีให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีใช้ก่อน ใช่หรือไม่? (กกพ.ยังไม่ได้ให้เอกสารการสั่งการของนายกฯตามที่อนุกรรมการของสภาองค์กรผู้บริโภคขอไป) อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไม่ได้ซื้อก๊าซในราคาพูลก๊าซ แต่ซื้อก๊าซด้วยราคาในประเทศใช่หรือไม่

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีใช้ก๊าซอ่าวไทยที่มีคุณภาพดีที่นักวิชาการฝ่ายทุนพลังงานอุปมาว่าเป็นไม้สัก ไม่ควรเอาไปเป็นเชื้อเพลิง เหมือนเอาไม้สักไปทำฟืน ควรเอาก๊าซอ่าวไทยให้ปิโตรเคมีใช้ทำเฟอร์นิเจอร์จะดีกว่า เพราะสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่าเอาไปเป็นเชื้อเพลิง แต่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้ซื้อไม้สัก (ก๊าซในอ่าวไทย) ในราคาถูกเหมือนซื้อไม้ฉำฉามาทำเฟอร์นิเจอร์ และผลักให้ประชาชนต้องจ่ายเงินซื้อไม้ฉำฉา (LNG) ในราคาไม้สักมาทำฟืนในโรงไฟฟ้า กฟผ. ใช่หรือไม่

นี่คือหนึ่งในสมุทัย หรือสาเหตุที่ทำให้ค่าไฟแพง เพราะถูกกำหนดให้การผลิตไฟฟ้าต้องใช้ก๊าซนำเข้าราคาแพงที่นายกรัฐมนตรีกำหนดไว้

ท่านนายกฯจะรู้ไหมว่าตัวเองเป็นต้นเหตุและเป็นตัวสมุทัยที่ทำให้ค่าไฟแพง!!

2) สัญญาซื้อไฟจากเอกชนแพง และล้นเกิน สัญญาซื้อไฟแบบไม่ใช้ก็ต้องจ่าย (Take or Pay) คือการประกันกำไรให้โรงไฟฟ้าเอกชน ไม่ว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อก็ต้องจ่ายค่าความพร้อมจ่ายให้เอกชน ค่าความพร้อมจ่ายที่ต้องจ่ายให้โรงไฟฟ้าเอกชนไม่ว่าผลิตหรือไม่คือประมาณร้อยละ 25

เดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2565 โรงไฟฟ้า IPP 6 โรงจาก 12 โรง ที่ไม่ได้เดินเครื่องเลยแต่ได้เงินจากกระเป๋าประชาชนไปแล้ว ประมาณ 7,000 ล้านบาท และในปีที่ผ่านๆมา เคยจ่ายค่าความพร้อมจ่ายไปถึง 29,000 ล้านบาท ที่กล่าวกันว่าธุรกิจมีความเสี่ยง แต่เหตุใด ธุรกิจผลิตไฟของเอกชนจึงไม่มีความเสี่ยงเลย?

เพราะเหตุนี้ใช่หรือไม่ ที่นักการเมืองหลายคนอยากมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน เพราะสามารถเซ็นซื้อไฟตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (Thailand Power. Development Plan : PDP) โดยไม่ต้องสนใจ ไม่ต้องรับผิดชอบว่าไฟล้นเกินไปเท่าไหร่แล้ว ใช่หรือไม่

ถ้าหากวงจรที่นักการเมืองทำสัญญาซื้อไฟเอกชนได้ในราคาแพง (โดยได้ค่าคอมมิชชั่นตามคำร่ำลือว่าเมกกะวัตต์ละล้านใช่หรือไม่) และสามารถทำสัญญาซื้อไฟไปเรื่อยๆโดยไม่สนใจไฟฟ้าล้นเกิน กฟผ.ก็ต้องรับซื้อไฟตามนโยบายรัฐบาลในราคาแพงกว่าที่กฟผ.ขายต่อให้กฟน.(กรุงเทพฯ) และกฟภ. (ต่างจังหวัด) เมื่อ กฟผ. รับภาระซื้อไฟแพง ก็สามารถผลักภาระเหล่านั้นไว้ในค่าเอฟทีมาให้ประชาชนทั้งประเทศแบกรับได้ เราควรเรียกวงจรแบบนี้ว่าเป็นวงจรการบริหารกิจการรัฐที่ดีหรือไม่ หรือควรจะตั้งคำถามว่า มันเป็นวงจรอุบาทว์แห่งการทุจริต ใช่หรือไม่

เหตุใดนักการเมืองไม่สนับสนุนให้ กฟผ. ผลิตไฟให้มากขึ้น ทั้งที่ กฟผ.ผลิตไฟฟ้าได้ราคาต่อหน่วยถูกกว่าเอกชน จึงมีคำถามว่า เป็นความพยายามล้วงไส้กฟผ.เพราะไม่สามารถแปรรูป กฟผ.ได้สำเร็จ ใช่หรือไม่ จึงใช้วิธีผ่องถ่ายกำไรให้เอกชนด้วยสัญญาซื้อไฟโดยนักการเมืองได้คอมมิชชั่นจากสัญญาซื้อไฟฟ้าเอกชนด้วย ใช่หรือไม่

ปัจจุบัน กฟผ. ผลิตไฟลดลงเรื่อย ๆ จนเหลือแค่ร้อยละ 28.7 ผู้ตรวจการแผ่นดินเคยตรวจสอบตามที่มีการร้องเรียนเรื่องการผลิตไฟของ กฟผ. ต่ำกว่าร้อยละ 50 ว่าขัดรัฐธรรมนูญ 2560 ตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ว่า “โครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐอันจําเป็นต่อการ ดํารงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ รัฐจะกระทําด้วยประการใดให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ ของเอกชนหรือทําให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดมิได้” แต่ขณะนี้การปล่อยให้เอกชนผลิตไฟฟ้าและการซื้อไฟจากต่างประเทศรวมกันมากกว่าร้อยละ 66 ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำวินิจฉัยว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และให้รัฐบาลแก้ไข แต่รัฐบาลก็ไม่ได้สนใจแก้ไข ใช่หรือไม่

นิโรธ คือการแก้ปัญหาค่าไฟแพง

การแก้ปัญหาค่าไฟแพง จะทำได้ต้องอาศัยอำนาจของนายกรัฐมนตรี แต่ก่อนอื่นท่านต้องเข้าใจสมุทัยเหตุแห่งทุกข์ของค่าไฟแพงที่ท่านก่อขึ้น จึงจะมีดวงตาเห็นธรรมแก้ปัญหาได้อย่างถูกจุดตามอำนาจหน้าที่เพื่อบำบัดทุกข์ สร้างสุขให้ประชาชนถ้วนหน้า

มรรคในการแก้ปัญหาค่าไฟแพง

ขอเสนอท่านนายกฯ ดังนี้

1) เปลี่ยนกติกาที่เคยอุ้มทุนพลังงาน โดยต้องกลับไปหากติกาเดิมที่กำหนดให้ก๊าซที่ผลิตได้ในประเทศที่มีราคาถูก ต้องจัดสรรให้ประชาชนใช้ก่อนทั้งก๊าซหุงต้มในครัวเรือนและก๊าซในโรงไฟฟ้าของกฟผ. ส่วนธุรกิจปิโตรเคมีควรรับผิดชอบในการนำเข้าก๊าซที่จะผลิตเม็ดพลาสติกในราคาตลาดโลกแทน เพราะเป็นธุรกิจเอกชนซึ่งที่ผ่านมา นอกจากซื้อก๊าซในราคาถูกแล้วยังไม่ต้องจ่ายภาษีสรรพสามิตและเงินเข้ากองทุนน้ำมัน

2) รัฐบาลเจรจากับโรงไฟฟ้าเอกชนที่ไม่ได้ผลิตไฟให้ลดค่าความพร้อมจ่ายลงให้มากที่สุด

3) บริหารการผลิตไฟ โดยใช้ไฟที่ผลิตขายในราคาต่อหน่วยถูกที่สุด เพื่อลดค่าใช้จ่ายของประชาชน

4) ส่งเสริมประชาชนผลิตไฟฟ้าจากโซล่ารูฟอย่างเต็มที่ โดยรัฐบาลให้ประชาชนสามารถใช้ระบบหักลบกลบหน่วยค่าไฟ (net metering)

5) ปรับแผน PDP ยุติการทำสัญญาซื้อไฟเพิ่ม ทั้งจากโรงไฟฟ้าเอกชน และ ไฟฟ้าจากลาว และโรงไฟฟ้าที่ยังไม่เข้าระบบ ควรชะลอไว้ก่อน และควรยกเลิกสัญญาTake or Pay สำหรับการทำสัญญาซื้อไฟในอนาคต และต้องกำกับมาตรการสำรองไฟฟ้าไว้ไม่เกินร้อยละ 15 – 20

เขียนโดย รสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม

ผู้บริโภคสามารถอ่านอินโฟกราฟิกเกี่ยวกับเรื่องค่าไฟฟ้า ได้ที่

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค