หยุดก่อปัญหายาแพง อย่าผูกขาดพันธุ์พืช จับตาความเคลื่อนไหว CPTPP ช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล

สภาผู้บริโภค ย้ำผลกระทบด้านลบรุนแรงของสัญญาระหว่างประเทศ CPTPP – FTA – UPOV1991 ที่มีต่อผู้บริโภค เกษตรกร และความมั่นคงทางอาหารของประเทศ อาจเป็นเหตุทำค่ายาแพง เพิ่มการผูกขาดพันธุ์พืช จึงได้ชวนเครือข่ายผู้บริโภค ชวนเครือข่ายด้านเกษตรกรรม และเครือข่ายด้านเภสัชกรรม ร่วมเฝ้าระวัง คัดค้านการลงนามเพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

วันที่ 22 มิถุนายน 2566 สภาผู้บริโภคจัดเวทีพัฒนาศักยภาพแกนนำเครือข่าย ในเรื่องเกี่ยวกับผลระทบ CPTPP, FTA, UPOV และอื่น ๆ ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อการสื่อสารสร้างความเข้าใจในเรื่องผลระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้บริโภค เกษตรกร และภาคส่วนต่าง ๆ หากประเทศไทยเข้าร่วม CPTPP, FTA, UPOV และความตกลงอื่น ๆ โดยมีแกนนำจากหน่วยงานประจำจังหวัด หน่วยงานเขตพื้นที่ และสมาชิกองค์กรของผู้บริโภค 283 องค์กร รวมถึงเครือข่ายองค์กรที่ขับเคลื่อนด้านเกษตร และเครือข่ายด้านเภสัชกรเข้าร่วมเวทีด้วย

เป้าหมายสำคัญอย่างหนึ่งจากการพูดคุยในเวที คือการชวนเครือข่ายร่วมเฝ้าระวัง และคัดค้านการลงนามผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลใหม่ ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาล 2 พรรคใหญ่ คือพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทยได้แสดงจุดยืนไว้ค่อนข้างชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วม CPTPP อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อห่วงกังวลเรื่องการลงนามในข้อตกลงเศรษฐกิจอื่น ๆ เนื่องจากนโยบายของทั้ง 2 พรรค เน้นเรื่องเสรีนิยมทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ทั้งนี้ มองว่าต้องมีการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน เพื่อเปรียบเทียบระหว่างผลประโยชน์กับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น


ภก.ภาณุโชติ ทองยัง ประธานคณะอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาผู้บริโภค ระบุว่า ที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมที่เฝ้าระวังเรื่องผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงแบบครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership) ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องผลกระทบอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรัฐบาลที่ผ่านมามีความพยายามในการผลักดันให้ประเทศเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP ด้วยการนำประเด็นนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเป็นระยะ ประกอบกับมีข้อมูลการศึกษาเกี่ยวกับ CPTPP เพิ่มขึ้น ดังนั้น การทำความเข้าใจกับองค์กรสมาชิกและเครือข่ายให้ได้รับทราบข้อมูลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชน เกษตรกร และภาคส่วนต่าง ๆ เท่ากันจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวไปพร้อม ๆ กันทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ทั้งนี้ ข้อมูลและเสียงสะท้อนต่าง ๆ ในเวทีจะถูกนำไปสังเคราะห์เป็นข้อเสนอแนะ เพื่อเป็นกลไกในการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ต่อไป โดยหลังจากมีการประกาศจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่สภาผู้บริโภคและเครือข่ายต่าง ๆ อาจขอเข้าพบและหารือเรื่องดังกล่าวโดยตรงกับพรรคร่วมรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง


ด้าน กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) กล่าวถึงภาพรวมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและเกษตรกร โดยระบุว่า ปัญหาหลักของการลงนามในข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ FTA (Free Trade Area) มี 2 ประเด็น ประเด็นแรกคือ เงื่อนไขที่กำหนดในข้อตกลงมักเปิดโอกาสให้เอกชนสามารถทำธุรกิจได้อย่างเสรี และแสวงหาผลกำไรทางธุรกิจโดยที่รัฐไม่สามารถควบคุมได้ เนื่องจากมีการตัดทอนกลไกรัฐที่คุ้มครองประชาชนและเกษตรกรรายย่อย

“ที่ผ่านมามีตัวอย่างการทำ FTA ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและเกษตรกรหลายย่อยหลายกรณี เช่น การทำ FTA ไทย – จีน ทำให้เกิดการนำกระเทียมจีนเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก โดยในช่วงแรกจำหน่ายในราคาถูก แต่พอยึดตลาดได้ราคาก็แพงขึ้น หรือการทำ FTA ไทย – ออสเตรเลีย ที่ทำให้ปัจจุบันสามารถนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมจากประเทศออสเตรเลียได้โดยไม่เสียภาษี และไม่จำกัดปริมาณการนำเข้า ส่วนปีหน้าก็สามารถนำเข้าวัวนม วัวเนื้อ ได้โดยไม่เสียภาษีแล้ว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อในไทยอย่างรุนแรง อีกทั้งยังส่งผลต่อราคาผลิตภัณฑ์นม วัวนม และวัวเนื้อ ของประเทศไทยในระยะยาวด้วย” รองประธานกลุ่ม FTA Watch ระบุ

ส่วนประเด็นที่สอง ประเด็นคือเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในเรื่องการลงนามข้อตกลงต่าง ๆ โดยที่ผ่านมาการลงนามข้อตกลงหลายฉบับขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เช่น การลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น หรือ JTEPA ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นสามารถส่งออกขยะพลาสติก โลหะ รวมถึงสารกัมมันตรังสีมาทิ้งในประเทศไทยได้อย่างถูกกฎหมาย ในขณะที่ประเทศไทยก็ยังไม่มีมาตรการกำจัดขยะดังกล่าว จึงมีขยะนำเข้าจำนวนหนึ่งได้ถูกนำไปทิ้งตามเขตชุมชนซึ่งสร้างปัญหามลพิษให้กับประเทศอย่างเรื้อรังและรุนแรง

กรรณิการ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ต้นตอของปัญหาคือรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ขณะนั้น ไม่ได้กำหนดให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูล รวมถึงไม่ได้กำหนดเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ทำให้การศึกษาผลกระทบไม่รอบด้านเท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม ในรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้เพิ่มเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในการมีส่วนร่วมลงนามข้อตกลงต่าง ๆ ไว้ในกฎหมาย แต่เมื่อเปลี่ยนผ่านมาสู่รัฐธรรมนูญปี 2560 กลไกการมีส่วนร่วมก่อนลงนามได้ถูกตัดออกอีกครั้ง ซึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภค กลุ่มเกษตรกร และภาคส่วนต่าง ๆ ดังเช่นที่ผ่านมา


เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ผู้จัดการโครงการส่งเสริมการเข้าถึงยา เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ระบุว่า นอกจากปัญหาเรื่องการเกษตรแล้ว ผลกระทบด้านยาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มักเกิดขึ้นจากการลงนามในความตกลงหรือข้อสัญญาต่าง ๆ ทั้ง CPTPP รวมถึงข้อตกลงอื่น ๆ ด้วย โดยปัญหาหลักคือเรื่องยาราคาแพง ส่งผลต่อการเข้าถึงยา ความตกลงหนึ่งที่ส่งผลต่อเรื่องราคายา คือ ความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า หรือ TRIPs (Agreements on Trade – Related Aspects of Intellectual Property Rights) ซึ่งขยายรูปแบบการจดสิทธิบัตรเป็นแบบ “กรรมวิธี” และ “ผลิตภัณฑ์” ทำให้บริษัทยาสามารถจดสิทธิบัตรได้ง่ายขึ้น และกีดกันการผลิตยาในลักษณะเดียวกันขึ้นมาแข่งขัน นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดที่เพิ่มระยะเวลาคุ้มครองการผูกขาดสิทธิบัตรยาจาก 15 ปี เป็น 20 ปี

“การผูกขาดส่งผลให้บริษัทยาที่เป็นเจ้าของสิทธิบัตร สามารถผลิตยาชนิดนั้น ๆ ได้เพียงผู้เดียว ทำให้ยามีราคาแพง ดังตัวอย่างที่ผ่านมา มีบริษัทยาที่คิดค้นยารักษาไวรัสตับอักเสบซีและจดสิทธิบัตร โดยในช่วงแรกยาดังกล่าวมีราคาเม็ดละ 30,000 บาท ซึ่งกว่าจะรักษาหายผู้ป่วยต้องเสียเงินประมาณ 2,000,000 บาท แต่เมื่อสิทธิบัตรของยาดังกล่าวหมดลง และสามารถผลิตยาชื่อสามัญออกมาได้ ก็ทำราคายาลดลงจนกระทั่งปัจจุบันยาดังกล่าวราคาเม็ดละประมาณ 100 บาท” ผู้จัดการโครงการส่งเสริมการเข้าถึงยา กล่าว

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการเข้าถึงยาจากข้อตกลง TRIPs เกิดขึ้นในหลายประเทศ จนทำให้มีผู้คนจำนวนมากที่ต้องเสียชีวิตจากการเข้าไม่ถึงยารักษาโรค เช่น ทำให้ เกิดปฏิญญาโดฮาว่าด้วยความตกลง TRIPs และการสาธารณสุข (Protocol Amending the TRIPS. Agreement) ที่กำหนดให้ประเทศต่าง ๆ สามารถยืดหยุ่นข้อตกลงเรื่องสิทธิบัตรยาได้ เพื่อจัดการปัญหาเรื่องการเข้าถึงยา

เฉลิมศักดิ์ อธิบายต่ออีกว่า สำหรับประเทศไทย เริ่มมีการปรับกฎหมายให้สอดคล้องกับข้อตกลง TRIPs ตั้งแต่เมื่อปี 2535 (ค.ศ. 1992) ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลพบว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวประเทศไทยใช้เงินไปกับยาที่ผลิตในประเทศน้อยลงกว่าครึ่ง จากร้อยละ 70 ในปี 2535 เหลือร้อยละ 30 ของปริมาณการใช้ยาทั้งหมดในปี 2565 สวนทางกับการพึ่งพิงยานำเข้า ที่เพิ่มขึ้นจากประมาณร้อยละ 30 ในปี 2535 เป็นร้อยละ 70 ของปริมาณการใช้ยาทั้งหมดของปี 2565 ทั้งที่ยานำเข้านั้นมีราคาแพงว่ายาที่ผลิตภายในประเทศหลายเท่าตัว

อีกปัญหาหนึ่งที่สืบเนื่องจากการผูกขาดเรื่องสิทธิบัตรยาคือสิ่งที่เรียกว่า “สิทธิบัตรไม่มีที่สิ้นสุด (Ever Greening patent)” กล่าวคือ บริษัทยาปรับเปลี่ยนสูตร ส่วนผสม หรือโครงสร้างทางเคมีเพียงเล็กน้อย โดยประสิทธิภาพในการรักษาเท่ายาตำรับเดิม แต่นำไปจดสิทธิบัตรเป็นยาใหม่เพื่อขยายระยะเวลาผูกขาด ดังนั้น การที่คนบางกลุ่มอ้างว่าระบบสิทธิบัตรยาจะส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนายาใหม่ จึงเพียงวาทกรรมที่ทำให้คนหลงเชื่อเท่านั้น เพราะความเป็นจริงสัดส่วนการพัฒนายาตำรับใหม่มีน้อยมาก เมื่อเทียบกับการขอจดสิทธิบัตรแบบไม่มีที่สิ้นสุดซึ่งมีมากถึงร้อยละ 84 ในปัจจุบัน

“หากดูข้อมูลค่าใช้จ่ายของสิทธิบัตรทองจะพบว่า ค่าใช้จ่ายในเรื่องยาคิดเป็นร้อยละ 50 ของ ค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งจากการศึกษาพบว่าหากคำขอจดสิทธิบัตรแบบไม่มีที่สิ้นสุดที่มีอยู่ในปัจจุบันได้รับการอนุมัติทั้งหมด จะทำให้ใน 20 ปีข้างหน้า รัฐบาลต้องใช้เงินกับระบบประกันสุขภาพเพิ่มขึ้นประมาณ 20 ล้านบาทต่อปี ยังไม่นับรวมกรณีที่ประเทศไทยกำลังจะลงนามในความตกลงอื่นที่นอกเหนือจาก TRIPs ซึ่งมีโอกาสทำให้ค่ายาแพงขึ้น ประเทศต้องจ่ายเงินเพิ่งขึ้น และอาจทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพของไทยต้องพังทลายลง” เฉลิมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย


วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) อธิบายว่า อนุสัญญาคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV (Union internationale pour la protection des obtentions végétales) เป็นอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อให้สิทธิผูกขาดในเรื่องพันธุ์พืชแก่บริษัทและนักปรับปรุงพันธุ์ ทั้งนี้ UPOV ถูกปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงอยู่หลายครั้ง แต่อนุสัญญาที่กำลังเป็นประเด็นและเกี่ยวเนื่องกับ CPTPP ถูกระบุอยู่ใน FTA ใหญ่ ๆ แทบจะทุกฉบับ ที่รัฐบาลเตรียมจะเจรจาในช่วงอีกไม่นานนี้ คือ UPOV1991

สำหรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเข้าร่วม UPOV1991 ราคาเมล็ดพันธุ์จะแพงขึ้น โดยพันธุ์พืชรวมถึงอนุพันธ์ของพืชทุกชนิดที่ถูกคิดค้นขึ้นมาใหม่จะต้องได้รับความคุ้มครอง 20 – 25 ปี ทั้งนี้ ความคุ้มครองดังกล่าวรวมถึงส่วนขยายพันธุ์ ผลผลิต และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพืชนั้น ๆ ด้วย นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนด เรื่องการห้ามเกษตรกรเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อ ยกเว้นกรณีที่ปลูกเพื่อบริโภคเองภายในครัวเรือนเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ คนที่จะได้ประโยชน์จากอนุสัญญาดังกล่าวจึงมีเพียงบริษัทเมล็ดพันธุ์เท่านั้น ในขณะที่เกษตรกรรายย่อยกลับต้องลงทุนเพื่อซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่ทุกครั้ง โดยไม่สามารถเก็บรักษาพันธุ์พืชเพื่อใช้ในฤดูกาลหน้าอย่างเช่นในอดีต

ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 ที่ร่างขึ้นโดยใช้หลักการตามอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ CBD (Convention of Biological Diversity) ประกอบกับหลักการของ UPOV1978 ภายใต้การคุ้มครองแบบ WTO – sui generis ซึ่งเป็นการออกกฏหมายเฉพาะของแต่ละประเทศ โดยหลักการสำคัญของ UPOV 1978 คือพันธุ์พืชเป็นอธิปไตยของแต่ละประเทศ การเข้าไปใช้ประโยชน์จากพืนพันธุ์ในประเทศต้องให้ประโยชน์ต่อประเทศที่เป็นเจ้าของทรัพยากรด้วย ซึ่ง พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชของไทย เป็นหนึ่งในกฎหมายที่โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNEP (United Nations Environment Programme) แนะนำให้ประเทศอื่นใช้เป็นต้นแบบของการออกกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชด้วย

วิฑูรย์ กล่าวต่ออีกว่าอย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังมีการโน้มน้าวและหยิบยกข้อมูลต่าง ๆ ขึ้นมาอ้างเพื่อให้ประชาชนเห็นด้วยกับการเข้าร่วม UPOV1991 เช่น อนุสัญญาดังกล่าวจะสร้างแรงจูงใจให้เกิดการปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ๆ เพราะนักปรับปรุงพันธุ์จะได้สิทธิผูกขาดในพันธุ์พืชใหม่ ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนจากบริษัทเมล็ดพันธุ์ในประเทศ เกิดการจ้างงาน และพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดพันธุ์พืชใหม่ ๆ หรือการนำเข้าพันธุ์พืชใหม่ ๆ มาใช้ อีกทั้งจะช่วยทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร ดังนั้น แม้ว่าต้นทุนสูงแต่คุ้มค่าเพราะผลผลิตเพิ่ม ซึ่งสิ่งที่ เป็นเพียงวาทะกรรม ซึ่งไม่ใช่ความเป็นจริง

“ทุกวันนี้ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงอันดับ 12-15 ของโลก อีกทั้งการปรับปรุงพันธุ์ส่วนใหญ่เกิดจากการการปลูกต่อ (save seed) และแลกเปลี่ยนพันธุ์อย่างอิสระระหว่างเกษตรกร – ชุมชน โดยพันธุ์พืชดี ๆ เช่น ข้าวหอมมะลิ ทุเรียนหมอนทอง ผลไม้ต่างๆ เกิดจากเกษตรกรรายย่อย ทั้งนี้ระบบเกษตรที่เราใช้ในทุกวันนี้มีต้นทุนต่ำ และเป็นระบบเกษตรยั่งยืน ที่ทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหารอยู่แล้ว ดังนั้น ข้ออ้างที่มักจะถูกยกมาจูงใจให้เข้าร่วม UPOV1991 จึงไม่ได้มีความจำเป็นสำหรับประเทศไทย” เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี ยืนยัน

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค