สภาผู้บริโภคผลักดัน (ว่าที่) รัฐบาลชุดใหม่ใช้ระบบ ‘เน็ตมิเตอร์ริง’ เปิดให้ประชาชนผลิตไฟฟ้าเข้าระบบได้เอง แนะชะลอการเจรจาเรื่องแหล่งก๊าซกัมพูชา เร่งแก้ปัญหาโรงไฟฟ้าล้นและตั้งเป้าติดโซลาร์รูฟท็อป 2 ล้านหลังคาเรือน หวังแก้ปัญหาไฟฟ้าแพงอย่างยั่งยืน
หลังจากที่ประเทศไทย มีการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 และ 8 พรรคการเมืองได้ลงนามบันทึกความข้อตกลงในการจัดตั้งรัฐบาลไปเมื่อวาน (22 พฤษภาคม 2566) โดยหนึ่งในวาระที่ถูกระบุไว้บันทึข้อตกลงดังกล่าว คือประเด็นเรื่อง การปรับปรุงโครงสร้างการผลิตไฟฟ้า การคำนวณราคา และกำลังการผลิตที่เหมาะสม เพื่อลดค่าครองชีพประชาชนและสร้างความมั่นคงทางพลังงาน นั้น
วันนี้ (23 พฤษภาคม 2566) ผศ.ประสาท มีแต้ม ประธานอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค มีข้อแนะนำเพิ่มเติมถึง (ว่าที่) รัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารงานในเรื่องเกี่ยวกับวิธีการลดค่าไฟที่รวดเร็วและยั่งยืน 4 ข้อ ดังนี้
- ขอให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตาม “มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565” คือส่งเสริมให้ประชาชนติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านตัวเอง โดยใช้ระบบการคำนวณค่าไฟที่เรียกว่า ระบบหักลบกลบหน่วย หรือเน็ตมิเตอร์ริง (Net Metering) ซึ่งเป็นระบบที่ทำให้ประชาชนสามารถผลิตไฟฟ้าขายเข้าโครงข่ายได้หลังจากมีไฟฟ้าเหลือจากการใช้ในครัวเรือน ซี่งเป็นระบบที่เกือบ 70 ประเทศทั่วโลกใช้
- ขอให้ชะลอแผนการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ทั้งหมด เจรจาแก้ปัญหาโรงไฟฟ้าที่ล้นเกินและไม่ได้ผลิตไฟฟ้า เนื่องจากปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าเอกชนที่สร้างใหม่เพิ่มขึ้นมากซึ่งเป็นสาเหตุทำให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าล้นเกินความต้องการ แต่ในขณะดียวกันประชาชนกลับต้องเป็นผู้รับภาระในค่าใช้จ่ายที่ล้นความต้องการดังกล่าว เนื่องจากมีสัญญาผูกมัดให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตต้องจ่ายเงินค่าผลิตไฟฟ้า ไม่ว่าจะมีการนำไฟฟ้าไปใช้หรือไม่ หรือที่เรียกว่า “ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย” (take or pay) ทั้งนี้ หากลดจำนวนโรงไฟฟ้าเอกชนลง จะเป็นการลดต้นทุนไฟฟ้าส่วนเกินที่ประชาชนต้องแบกรับที่ซ่อนอยู่ในค่าเอฟที (Ft) ของบิลค่าไฟฟ้ารายเดือน
- ขอให้มีการจัดลำดับความสำคัญการนำก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยมาใช้เพื่อการผลิตไฟฟ้าเป็นลำดับแรก แล้วจึงจัดสรรให้แก่ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เนื่องจากก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยเป็นทรัพยากรสาธารณะที่มีราคาถูกกว่าก๊าซที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ จึงสมควรที่จะนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าให้กับประชาชนเป็นอันดับแรก ก่อนนำไปใช้กับภาคเอกชนในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งจะมีผลในการลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า
- ขอให้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาโลกร้อนในสองประเด็น คือ หนึ่งชะลอการเจรจาหาแหล่งก๊าซในเขตรอยต่อประเทศไทยและกัมพูดชาแหล่งใหม่ และสองส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ให้เต็มศักยภาพ ทั้งนี้การเร่งหาแหล่งก๊าซธรรมชาติดังกล่าวเป็นการตอบสนองต่อกลุ่มทุนที่จะนำก๊าซจากใต้ดินขึ้นมาใช้ที่เป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาวิกฤติโลกร้อน ในขณะเดียวกัน รัฐบาลควรลดวิกฤตินี้ด้วยการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน “แสงแดด” “ลม” “น้ำ” ที่ประเทศไทยเป็นแหล่งพลังงานธรรมชาติที่มีมากเพียงพอต่อความต้องการจึงควรสนับสนุนให้เกิดการใช้ประโยชน์จากแหล่งพลังงานดังกล่าวอย่างจริงจัง
“สำหรับการเจรจากับกัมพูชาเรื่องเขตพื้นที่ไหล่ทวีปคาบเกี่ยวไทย – กัมพูชา (Overlapping Claimed Area: OCA) ซึ่งมีทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาตินั้น ในความเห็นส่วนตัว เห็นว่าเป็นเรื่องที่ยังไม่ต้องเร่งรีบ แต่สิ่งที่ควรผลักดันอย่างเร่งด่วนคือ สนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 2 ล้านหลังคาเรือน ภายใน 4 ปี ตามที่สภาผู้บริโภคเคยเสนอไปก่อนหน้านี้ ซึ่งจะช่วยลดค่าไฟให้กับภาพรวมทั้งประเทศได้ประมาณ 40,000 ล้านบาทต่อปี” ประธานอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะฯ ระบุ