เตือนภัยนายหน้าอ้าง รับซื้อคอนโด ที่เสียหายจากแผ่นดินไหว

Getting your Trinity Audio player ready...
เตือนภัยนายหน้าอ้าง รับซื้อคอนโด ที่เสียหายจากแผ่นดินไหว

สภาผู้บริโภค เตือนภัย มิจฉาชีพแอบอ้างเป็นบริษัทนายหน้าอสังหาฯ ทำที รับซื้อคอนโด ที่เสียหายจากแผ่นดินไหว และหลอกให้เหยื่อโอนเงินค่าดำเนินการ แนะตรวจสอบความน่าเชื่อถือของเพจและรายชื่อนายหน้าก่อนทำสัญญา

จากกรณีเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2568 ทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนหลายพื้นที่ในประเทศไทย โดยอาคารบ้านเรือนรวมถึงคอนโด ห้องชุดต่าง ๆ ที่มีรอยแตก รอยร้าว แม้กรุงเทพมหานคร (กทม.) จะเปิดให้ประชาชนขอรับเงินเยียวยาแผ่นดินไหว แต่ก็มีประเด็นเรื่องการเยียวยาที่ไม่ครอบคลุมความเสียหาย ประกอบกับผู้บริโภครู้สึกไม่ปลอดภัยในการอยู่อาศัยต่อ จึงมีผู้บริโภคจำนวนมากออกมาประกาศขายคอนโดและห้องชุด นั้น

ล่าสุด สภาผู้บริโภคพบข้อมูลบนสื่อโซเชียลมีเดียว่า มีกรณีมิจฉาชีพเปิดเพจเฟซบุ๊กแอบอ้างเป็นบริษัทนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ประกาศ รับซื้อคอนโด ห้องชุดที่เกิดความเสียหายจากแผ่นดินไหว และมีการซื้อโฆษณาบนเฟซบุ๊ก โดยพฤติการณ์ของมิจฉาชีพคือ เมื่อมีผู้เสียหายจากเกตุการณ์แผ่นดินไหวทักไปสอบถามเรื่องการขายคอนโด ห้องชุด มิจฉาชีพจะขอให้ผู้บริโภคถ่ายภาพความเสียหายห้องพักพร้อมประเมินราคาว่าต้องการขายในราคาเท่าไหร่ หลังจากพูดคุยตกลงกัน จะเรียกเก็บเงินโดยอ้างว่าเป็นค่าดำเนินการ ซึ่งผู้บริโภคบางรายอาจหลงเชื่อเนื่องจากต้องการขายคอนโด และมองว่าค่าดำเนินการเพียงเล็กน้อยถือว่าคุ้มค่าเมื่อเทียบกับราคาคอนโด และบางรายอาจโดนเรียกเก็บค่าเอกสาร และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย

เตือนภัยนายหน้าอ้าง รับซื้อคอนโด ที่เสียหายจากแผ่นดินไหว : โสภณ หนูรัตน์

โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค สภาผู้บริโภค ระบุว่า ผู้บริโภคที่ต้องการคอนโด ห้องชุด และมีการติดต่อกันผ่านสื่อออนไลน์ ควรตรวจสอบความน่าเชื่อถือของบริษัทหรือบุคคลที่จะรับซื้ออสังหาริมทรัพย์ โดยมีจุดสังเกตดังนี้

1) หากเป็นเพจในเฟซบุ๊กต้องดูความน่าเชื่อถือของเพจ รีวิว รวมถึงการกดรีแอกชัน เนื่องจากมีการปิดการคอมเมนต์หรือลบคอมเมนต์ที่ไม่ดีออกไป เช่น หากมีการกดโกรธจำนวนมากอาจหมายถึงผู้ซื้อไม่พึงพอใจในสินค้าที่ได้รับ รวมทั้งสามารถดูได้จากระยะเวลาที่เปิดเพจ หากระยะเวลาในการเปิดเพจน้อยมีโอกาสที่จะเป็นมิจฉาชีพ2) นำชื่อบริษัทนายหน้า หรือชื่อของนายหน้าที่เป็นบุคคล ไปตรวจสอบได้ https://www.ddproperty.com/นายหน้า

3)  ควรนัดเจอตัวจริง คุยโทรศัพท์ หรือวิดีโอคอลเพื่อยืนยันตัวตนของผู้ที่จะมาซื้อ และจุดสังเกตสำคัญคือบริษัทนายหน้าอสังหาฯ จะเข้ามาดูสถานที่จริงก่อนทำสัญญา และจะไม่มีการเรียกเก็บค่าดำเนินการต่าง ๆ ก่อนวันเซ็นสัญญาโดยเด็ดขาด หากเจอนายหน้าที่เรียกเก็บค่าจิปาถะก่อนทำสัญญาพึงระวังไว้ว่าเป็นมิจฉาชีพ

4) ก่อนโอนเงินควรตรวจสอบเลขบัญชีก่อนว่ามีชื่ออยู่ในรายการคนโกงหรือไม่ โดยนำชื่อ-นามสกุลของผู้ขาย หรือเลขบัญชีธนาคาร หรือเบอร์พร้อมเพย์ ค้นหาในเว็บไซต์ https://www.blacklistseller.com/ หรือเว็บไซต์ https://www.chaladohn.com/ กรณีที่คุยกับบริษัทนายหน้า ชื่อบัญชีต้องเป็นชื่อบริษัท หากชื่อบุคคลให้ตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนว่าอาจจะเป็นมิจฉาชีพ

ทั้งนี้ โสภณแนะนำว่า เพื่อความปลอดภัย ผู้บริโภคควรติดต่อขายกับบริษัทโดยตรงไม่ควรติดต่อผ่านทางเฟซบุ๊กหรือช่องทางออนไลน์ ส่วนผู้บริโภคที่ตกเป็นเหยื่อเพจดังกล่าวแล้วแนะนำให้กดรีพอร์ตเฟซบุ๊กแฟนเพจนั้น ๆ เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคคนอื่นตกเป็นเหยื่อรายต่อไป และรีบโทรศัพท์ไปที่ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เบอร์ 1441 เพื่อแจ้งความออนไลน์ และศูนย์ฯ จะติดต่อธนาคารต้นทางและปลายทางเพื่ออายัดบัญชีธนาคาร โดยผู้บริโภคต้องเก็บรวบรวมหลักฐาน
สลิปโอนเงิน แชต และอื่น ๆ เพื่อเป็นหลักฐานประกอบการแจ้งความ

หากไม่ได้รับความสะดวกสามารถติดต่อมาทางสภาผู้บริโภคได้ที่ สายด่วนสภาผู้บริโภค 1502 เว็บไซต์ tcc.or.th เฟซบุ๊กแฟนเฟจ สภาองค์กรของผู้บริโภค หรือไลน์ออฟิเชียล (Line OA) @tccthailand


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ร้องเรียนได้! เจอนายหน้า เบี้ยวมัดจำค่าห้อง

เช็กให้ครบ ก่อนตัดสินใจเช่า ‘หอพัก – คอนโด’ ต้องตรวจสอบตามนี้

เจ้าของห้องคอนโดฯ แห่ขายห้องพักหลังเกิดแผ่นดินไหว

เปิดวิธีรับเงินเยียวยาแผ่นดินไหว รัฐจ่ายค่าซ่อมบ้านหลังละ 49,500 บาท

อึ้ง! กทม.จ่ายค่าซ่อมบ้านแผ่นดินไหว 41 บาท