ปัจจุบันโลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของมนุษย์อย่างมากทั้งในด้านบวกและด้านลบ ตั้งแต่ช่วยมนุษย์ตัดสินใจใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน การแพทย์ การเลือกซื้อสินค้า การดำเนินธุรกิจ การจัดทำนโยบายภาครัฐหรือแม้กระทั่งเป็นเครื่องมือของขบวนการมิจฉาชีพที่ใช้หลอกลวงผู้บริโภคจนเกิดความเสียหายอย่างมาก
ด้วยสถานการณ์ดังกล่าวทำให้สภาผู้บริโภคในฐานะองค์กรที่รับผิดชอบสิทธิผู้บริโภคของไทยได้จัดเวที
Tech Talk หัวข้อ เอไอ (Al) กับการคุ้มครองผู้บริโภค อันเป็นวาระที่สหพันธ์ผู้บริโภคสากลกำหนดขึ้นในโอกาสวันสิทธิผู้บริโภคสากล เพื่อมุ่งเน้นสร้างการรับรู้ในผลกระทบของผู้บริโภคอันเกิดจากแพลตฟอร์มที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ เอไอ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) องค์กรสมาชิกสภาผู้บริโภคกว่า 314 องค์กรทั่วประเทศเข้าร่วม
ดร.สุทธิพงศ์ ธัชยพงษ์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวถึงผลสำรวจความคิดเห็นของหน่วยงานในภาคอุตสาหกรรมและเอกชนจำนวน 565 แห่ง พบว่ามีหน่วยงานที่มีการใช้เอไอแล้วประมาณ 86 หน่วยงาน ขณะที่อีก 28 หน่วยงานยังไม่แน่ใจโดยร้อยละ 50 ให้เหตุผลว่าอยู่ในช่วงศึกษา ร้อยละ 19 ระบุว่ายังไม่มีความจำเป็นและร้อยละ 18 ต้องการการสนับสนุน
“คำถามสำคัญสำหรับผู้บริโภคไม่ใช่ว่าเอไอจะมาหลอกเราหรือเปล่า แต่เราจะพึ่งเอไอได้แค่ไหน สิ่งที่เอไอต่างจากสิ่งประดิษฐ์ทั่วไปคือเอไอสามารถช่วยมนุษย์ในการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ หรืออาจตัดสินใจแทนได้ นอกจากนี้เอไอยังสามารถสร้างสิ่งใหม่ ๆ ได้ ทั้งส่งข้อความ เขียนโปรแกรม วาดภาพ จำลองเสียง สร้างวิดีโอ และสามารถช่วยมนุษย์ได้หลายอย่าง อย่างเช่น การตรวจคัดกรองมะเร็งปอดด้วยเอไอช่วยให้รู้ผลไว เพิ่มโอกาสรอดชีวิต ควรนำเอไอไปช่วยเรื่องเร่งด่วนของประเทศ อย่างเช่น การลดความเหลื่อมล้ำ ความยากจน เพิ่มโอกาสให้ผู้พิการหรือแม้แต่สิ่งแวดล้อม เป็นต้น” ดร.สุทธิพงศ์ กล่าว
ขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลด้านกฎหมายอย่าง สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA โดย ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาอาวุโส กล่าวว่า รูปแบบการใช้เอไอที่มีความคล้ายมนุษย์มากแตกต่างจากระบบไอทีที่ผ่านมาที่ใช้แค่ข้อมูล แต่ การพัฒนาเอไอได้นำข้อมูลมาวิเคราะห์แล้วประมวลผลนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ได้ทันที อยากให้มองว่าประโยชน์ของเอไอมีมากกว่าโทษและไม่อยากให้การพัฒนาสะดุด เนื่องจากถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด
ดร.ศักดิ์ กล่าวต่อถึงการปกป้องผู้บริโภคจากเอไอว่า ปัจจุบันหลายประเทศได้เริ่มออกกฎหมายต่าง ๆ มากำกับดูแลการใช้เทคโนโลยีเอไอมากขึ้นเพื่อปกป้องผลประโยชน์ให้กับผู้บริโภค อย่างเช่น ประเทศจีนซึ่งถือเป็นประเทศแรกที่ออกกฎหมายบังคับให้บริษัทจีนที่ใช้เอไอในการดำเนินธุรกิจมีหน้าที่ต้องแจ้งให้ผู้บริโภคทราบ ส่วนประเทศอังกฤษก็ได้ออกกฎหมายที่เกี่ยวกับความปลอดภัยจากการใช้เอไอ เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป
“สิ่งสำคัญ คือ ต้องการส่งเสริมให้เกิดการใช้ และสร้างความเข้าใจว่าโทษและความเสี่ยงคืออะไร สำหรับประเทศไทยเองก็กำลังเฝ้าดูอย่างใกล้ชิดว่าทั้งโลกจะเคลื่อนในทิศทางใดในการกำกับเอไอ ทั้งนี้ ETDA ยังไม่ได้ออกกฎหมายมาควบคุมกำกับการใช้เอไอ เพราะกำลังพิจารณาถึงความเหมาะสมของประโยชน์และความเสี่ยง เนื่องจากขณะนี้กำลังอยู่ในยุคที่เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก” ดร.ศักดิ์กล่าว
ด้าน กนกพร ประสิทธิ์ผล ผู้อำนวยการสำนักสื่อดิจิทัลไทยพีบีเอส กล่าวเสริมว่า สื่อมวลชนเองก็เป็นอีกหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันทางเทคโนโลยี ซึ่งสื่อเองก็ต้องตรวจสอบข้อมูลข่าวปลอมและใส่ใจกับจริยธรรมสื่อ ยกตัวอย่างในต่างประเทศก็ได้มีการใช้เอไอทำเว็บไซต์ปลอมและภาพประกอบปลอมจนทำให้เกิดการหลอกลวงให้เข้าไปใช้บริการ นอกจากนี้ยังมีการใช้เทคโนโลยีดีฟเฟคในการสร้างวิดีโอเช่น ผู้ประกาศข่าวจากเอไอ ซึ่งอาจทำให้ความสามารถในการแยกแยะระหว่างความจริงและการปลอมแปลงลดลงซึ่งสิ่งที่น่ากังวล
“ปัจจุบันในอุตสาหกรรมสื่อได้ใช้เอไอมาช่วยในเรื่องของการนำเสนอข่าวเพื่อให้น่าสนใจและเข้าถึงกลุ่มคนดูได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมมากขึ้น อย่างเช่น การแปลงข้อความเป็นภาพ วิดีโอหรือแม้แต่เสียง นอกจากยังนำมาใช้ในการวิเคราะห์เทรนด์เพื่อช่วยให้การนำเสนอข่าวตรงตามความต้องการของผู้บริโภคมากเพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกันสื่อเองก็ต้องสร้างภูมิต้านทานและพัฒนาทักษะในการตรวจสอบข้อมูลเช่นเดียวกัน”
ขณะที่ สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการนโยบายและประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค กล่าวถึงสถานการณ์การใช้เอไอว่า การพัฒนาเอไอส่งผลถึงสิทธิและเสรีภาพ ที่ก้าวรุกล้ำจริยธรรมไปแล้วจนถึงกับมีข่าวการแต่งงานกับเอไอ ตลอดจนเป็นภัยกับผู้บริโภคทั้งในส่วนบุคคล คือ สร้างกลไกมาหลอกลวงแบบง่าย ๆ แบบบ้าน ๆ หรือ Cheap Fake นำไปสู่การหลอกลวงแบบเนียนมากขึ้น หรือ Deep Fake อย่างเช่น มิจฉาชีพอาจใช้เทคโนโลยีเอไอในการเลียนเสียงและใบหน้าเพื่อหลอกลวงให้ผู้เสียหายหลงคิดว่าเป็นญาติหรือเพื่อนสนิทแล้วขอให้โอนเงินเข้าบัญชี เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่า ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ทั่วโลกก็ได้พัฒนาจาก Fake News และข้ามเส้นไปสู่ Cyber Crime ซึ่งสร้างโดยเอไอ อย่างเช่น มีการสร้างภาพโป๊เปลือย การหลอกลวงออนไลน์ การหลอกลวงให้บริจาค การหลอกลวงเล่นพนันออนไลน์
สุภิญญา กล่าวต่อไปว่า ส่วนสำคัญต้องสร้างความเท่าทันหรือความฉลาดของพลเมืองยุคดิจิทัลอย่างเช่น การวิเคราะห์ไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ อย่าเพิ่งเชื่อ อย่าเพิ่งแชร์ เราต้องฝึกต่อมเอ๊ะ นอกจากนี้ยังต้องส่งเสริมวัฒนธรรมของการป้องกัน ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบ อย่างเช่น คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ก็ต้องมีมาตรการเชิงรุกมาใช้ปราบปรามการกระทำความผิดและต้องดูว่าจะปรับปรุงกลไกเพื่อป้องกันปัญหา รวมทั้งเร่งมือแก้ปัญหาเรื่องร้องเรียนของประชาชน
“ประชาชนต้องมีจริยธรรม เอาใจเขามาใส่ใจเรา เวลาจะแสดงความคิดเห็นหรือโพสต์ต้องพิจารณาว่าละเมิดสิทธิใครหรือไม่ พิจารณาว่ารูปภาพจริงหรือทำมาจากเอไอ อย่ารีบส่งต่อเพราะเห็นว่าตลก เนื่องจากเนื้อหาเหล่านั้นอาจกระทบสิทธิผู้อื่น ผู้บริโภคต้องรู้กฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้วใช้สิทธิเสรีภาพที่มีด้วยความรับผิดชอบ” สุภิญญากล่าว
ถึงแม้เอไอได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของมนุษย์ในหลาย ๆ ด้าน แต่สิ่งที่สำคัญคือการใช้เทคโนโลยีเอไออย่างมีความรับผิดชอบและมีจริยธรรมซึ่งต้องตระหนักถึงสิทธิของผู้อื่น
รวมถึงผลกระทบทางสังคม การเมืองเศรษฐกิจ วัฒนธรรม การปกป้องตนเองและชุมชนจากความเสี่ยงออนไลน์เกิดจากการใช้เอไอ ทั้งนี้เพื่อให้การใช้เทคโนโลยีมีความปลอดภัยมากขึ้น
#GenerativeAIGuardian#THGenerativeAIGuardian#รู้จักเอไอรู้ทันมิจ
#ผู้บริโภค#สภาผู้บริโภค#สภาองค์กรของผู้บริโภค#วันสิทธิผู้บริโภคสากล2567