สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) แนะ คปภ. เร่งแก้ปัญหากรณีบริษัทประกันไม่จ่ายเงินชดเชยผู้ป่วยโควิด – 19 ที่รักษาตัวแบบเข้าระบบการดูแลที่บ้าน (Home Isolation)
จากกรณีที่สมาคมประกันชีวิตไทยกำหนดแนวปฏิบัติที่ปรับให้สอดคล้องตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง แนวทางปฏิบัติสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ในการให้คำแนะนำผู้ป่วยและการจัดบริการผู้ป่วยโควิด – 19 แบบ Home Isolation ฉบับปรับปรุง เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 ส่งผลให้ผู้ป่วยที่เข้าระบบการดูแลที่บ้าน (Home Isolation : HI) จำนวนมาก ไม่สามารถเคลมประกันได้ และเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 คณะอนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคารของ สอบ.มีข้อเสนอ 3 ข้อ ถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้น (อ่านข่าวได้ที่ : https://www.tcc.or.th/home-isolation/)
23 กุมภาพันธ์ 2565 โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ระบุว่า แม้ว่า สอบ. จะมีข้อเสนอไปถึง คปภ. แล้ว แต่พบว่าปัจจุบัน คปภ. ยังไม่ได้ดำเนินการใด ๆ และยังคงมีผู้ถือกรมธรรม์ประกันชีวิตหลายรายที่ได้รับความเสียหายจากการอ้างอิงแนวปฏิบัติดังกล่าวของบริษัทประกัน ประกอบกับก่อนหน้านี้ กระทรวงสาธารณสุขออกมาชี้แจงว่าไม่ว่าจะพักรักษาตัวแบบ HI หรือดูแลในชุมชน (Community Isolation : CI) ก็ถือเป็น ‘ผู้ป่วยใน’
ดังนั้น สอบ. จึงขอให้ คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล พิจารณาแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน เนื่องจากตอนนี้สถานการณ์โควิด-19 กลับมาระบาดอีกระลอกหนึ่ง หากล่าช้าจะยิ่งทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้บริโภคในวงกว้าง การกระทำของบริษัทประกันดังกล่าวเข้าข่ายการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคที่เอาประกันภัย
คปภ. ควรเร่งหารือและทำความเข้าใจกับบริษัทประกันต่าง ๆ รวมถึงประกาศเป็นการทั่วไป เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทประกันนำประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับดังกล่าวไปเป็นเงื่อนไขปฏิเสธการเคลมประกันของผู้บริโภคอีก และหากพบการฝ่าฝืนควรบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด
ทั้งนี้ หากผู้บริโภคคนใดถูกบริษัทฯ ปฏิเสธการเคลมประกันภัย โดยกล่าวอ้างประกาศกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าว สามารถร้องเรียนมาที่ศูนย์บริการผู้บริโภคแบบเบ็ดเสร็จ สอบ. เพื่อประสานกับผู้เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาต่อไป
สำหรับกรณีการชี้แจงนิยามของการรักษาแบบ HI นั้น เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศ และส่งหนังสือไปถึง คปภ. โดยยืนยันว่าการรักษาแบบ HI นับเป็นการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่อยู่ในช่วงระยะที่แพร่เชื้อ มีความจำเป็นที่จะต้องให้ผู้ป่วยแยกจากคนอื่น ใน “สถานพยาบาล ณ ที่พำนักของผู้ป่วย” ซึ่งถือว่าเป็นผู้ป่วยของสถานพยาบาล โดยเป็น “ผู้ป่วยใน” ที่แพทย์ผู้ให้การรักษาพยาบาลสั่งให้รับไว้เพื่อให้อยู่พักรักษาในสถานพยาบาล ในที่นี้คือ สถานพยาบาล ณ ที่พำนักของผู้ป่วย และมีการลงทะเบียนเป็นผู้ป่วยตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เป็นไปตามความหมายของ “ผู้ป่วยใน” ตามกรมธรรม์ประกันชีวิตทั่วไป (อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่ : https://www.prachachat.net/marketing/news-865133 , https://www.hfocus.org/content/2022/02/24526)