สภาผู้บริโภคยื่นข้อเสนอถึง ครม. และ 4 กระทรวงหลัก แก้ปัญหาความปลอดภัย รถโดยสาร ครั้งใหญ่ หลังเหตุไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษา เสนอปรับมาตรฐานติดตั้งก๊าซ CNG ตรวจสภาพรถเข้ม พร้อมตั้งฐานข้อมูลออนไลน์เพิ่มความโปร่งใสและคุ้มครองผู้บริโภค
จากเหตุไฟไหม้รถโดยสารไม่ประจำทางที่อยู่ระหว่างพานักเรียนและครูเดินทางไปทัศนศึกษา เมื่อวันอังคารที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตรวม 23 ราย แบ่งเป็นนักเรียนจำนวน 20 ราย และครูผู้ดูแลนักเรียนจำนวน 3 ราย นั้น (อ่านรายละเอียดได้ที่ : เปิดสาเหตุ บัสทัศนศึกษา ไฟไหม้กลางวิภาฯ เผาร่าง นักเรียนดับสลด 10 ศพ)
ล่าสุด คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการ คณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค ระบุว่า สภาผู้บริโภคได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากทุกภาคส่วนแล้วพบข้อมูลบ่งชี้ว่า อุบัติเหตุครั้งนี้สะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างและการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการดัดแปลงสภาพรถโดยสารและการติดตั้งถังก๊าซที่ไม่ได้มาตรฐาน ตลอดจนข้อกำหนด ระเบียบ และการปฏิบัติตามกฎหมายด้านขนส่งและยานพาหนะของผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิทธิพื้นฐานด้านความปลอดภัยในการเดินทางของผู้บริโภค
ดังนั้นเพื่อให้เกิดแนวทางการพัฒนานโยบายหรือมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนระบบขนส่งสาธารณะให้มีคุณภาพมาตรฐานทั่วถึงปลอดภัยและเป็นธรรม สภาผู้บริโภคจึงได้ส่งหนังสือข้อคิดเห็นและเสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับคุ้มครองผู้บริโภคในประเด็นที่เกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะของประเทศไทยทั้งระบบ ต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2568 เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค โดยมีข้อเสนอต่อทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน และกระทรวงศึกษาธิการ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชง ยกเลิกรถสองชั้น รื้อระบบตรวจสภาพรถ เพิ่มวงเงินประกันเป็น 30 ล้านบาท
รถบัสเกินหมื่นคัน ติดตั้งถังก๊าซ CNG ยังไม่ได้ตรวจสภาพ!
จากรถบัสไฟไหม้ ถึงเวลาทบทวน แนวทางไปทัศนศึกษาที่ปลอดภัย
สำหรับข้อเสนอต่อกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงคมนาคม เป็นเรื่องมาตรการด้านความปลอดภัยการติดตั้งระบบก๊าซซีเอ็นจี (CNG) หรือที่หลายคนเรียกว่าเอ็นจีวี (NGV) ในรถโดยสารสาธารณะ ส่วนข้อเสนอต่อกระทรวงคมนาคม มี 3 เรื่อง คือ 1) มาตรการด้านโครงสร้างยานพาหนะและการสอบสวนอุบัติเหตุ 2) มาตรการด้านโครงสร้างยานพาหนะและการสอบสวนอุบัติเหตุ และ 3) มาตรการด้านผู้ประกอบการ พนักงานขับรถ และผู้บริโภค
นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอต่อกระทรวงพลังงาน และกระทรวงคมนาคม ในเรื่องนโยบายและมาตรการส่งเสริมสนับสนุนเพื่อการเปลี่ยนผ่านในการยกเลิกใช้ก๊าซธรรมชาติในรถโดยสารสาธารณะ และข้อเสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการส่งเสริมสนับสนุนการเลือกใช้รถโดยสารสาธารณะที่ปลอดภัยอีกด้วย