สภาผู้บริโภค ม.รังสิต และตัวแทนผู้บริโภคชาวหลักหก เห็นพ้อง รัฐต้องทำระบบฟีดเดอร์ จัดรถบริการ 3 เส้นทางรอง เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนในชุมชนใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง ด้านกรมรางรับข้อเสนอผลักดันต่อ ย้ำนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคา 20 บาทตลอดสายช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้บริโภค
จากกรณีที่รัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคม ได้ประกาศนโยบายรถไฟฟ้าราคาสูงสุดตลอดสายไม่เกิน 20 บาท โดยนำร่องรถไฟฟ้าสายสีม่วง (สถานีคลองบางไผ่ – เตาปูน) และรถไฟฟ้าสายสีแดง (สถานีบางซื่อ – รังสิต) ส่งผลให้มีจำนวนผู้โดยสารเดินทางด้วยรถไฟฟ้ามากขึ้นนั้น
เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2567 สภาผู้บริโภคร่วมกับมหาวิทยาลัยรังสิตจัดเวทีรับฟังความเห็นเพื่อกำหนดแนวทางความร่วมมือ “การพัฒนาขนส่งมวลชนระบบรองและผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบขนส่งระบบรองหรือฟีดเดอร์ (Feeder )” เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง โดยมีเครือข่ายชุมชมหลักหก หมู่บ้านเมืองเอก เทศบาลตำบลหลักหก กรมการขนส่งทางราง บริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. (สายสีแดง) และเครือข่ายผู้บริโภคกรุงเทพ – ปทุมธานี จำนวนกว่า 50 คนเข้าร่วมประชุม
เนื่องจากสถานีรถไฟฟ้าหลักหกที่เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์การเดินทางที่สำคัญของแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดง เพราะเป็นจุดสิ้นสุดของรถไฟฟ้าสายสีแดงในปัจจุบัน ทั้งยังเป็นจุดเชื่อมต่อกับชุมชนขนาดใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยประชากรในเขตเทศบาลตำบลหลักหกและนักศึกษามหาวิทยาลัยรังสิตที่มีประชากรในพื้นที่รวมกันมากกว่า 30,000 คน
หลังการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น ที่ประชุมมีความเห็นสอดคล้องกันในการสนับสนับสนุนให้มีการพัฒนาระบบฟีดเดอร์ (Feeder) เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนในชุมชนหลักหก เมืองเอกและชุมชนใกล้เคียงให้สามารถเดินทางเข้าสู่ระบบการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าสายสีแดง รวมไปถึงข้อเสนอในการปรับปรุงทางเท้าและทางจักรยาน จุดจอดรถจักรยานและจักรยานยนต์
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาผู้บริโภค กล่าวว่า ข้อเสนอจากเวทีรับฟังความคิดเห็นพบว่าชุมชนต้องการให้มีการพัฒนาระบบฟีดเดอร์เพื่อเข้าถึงการเดินทางด้วยรถไฟฟ้ามากขึ้น โดยเห็นว่าการสนับสนุนให้ประชาชนเดินทางด้วยรถไฟฟ้าจะช่วยแก้ปัญหามลพิษและลดค่าใช้จ่ายในการรักษา
พยาบาลผู้ป่วยทางเดินหายใจจากฝุ่น PM 2.5 ได้ ดังนั้นจะนำข้อเสนอที่ได้จากเวทีการประชุมระดมความคิดเห็นในวันนี้ผลักดันต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดระบบฟีดเดอร์และประชาชนเข้าถึงการใช้บริการรถไฟฟ้ามากขึ้น
นอกจากนี้ยังเห็นว่า ราคาค่าโดยสารที่ไม่สูงจนเกินไปก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภคใช้บริการรถไฟฟ้ามากขึ้น ดังนั้นทางสภาผู้บริโภคจึงเสนอนโยบายรถไฟฟ้าราคา 20 บาทตลอดสายทุกเส้นทางเพื่อให้ประชาชนสามารถใช้บริการได้อย่างทั่วถึงและเดินทางสะดวกรวดเร็ว สามารถวางแผนการใช้ชีวิตและทำให้คุณภาพชีวิตของผู้บริโภคดีขึ้น และประเด็นที่สำคัญคือไม่มีประเทศไหนที่คิดค่าบริการขนส่งมวลชนโดยรวมค่าโครงสร้างพื้นฐานแล้วผลักภาระให้ผู้บริโภคจ่ายค่าบริการขนส่งมวลชนในราคาแพง
ขณะที่ ผศ.ดร.นเรฏฐ์ พันธราธร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า เห็นด้วย กับการพัฒนาระบบมวลชนระบบรองถือ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการเชื่อมต่อกับการเดินเข้าใช้บริการรถไฟฟ้า และดีใจที่ “โมเดล ม.รังสิต” ซึ่งเป็นโครงการเล็ก ๆ ในการจัดระบบรถสองแถวรับส่งนักศึกษาไปยังสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดงหลักหกเป็นโมเดลตัวอย่างในการผลักดันระบบขนส่งมวลชนระบบรองเพื่อร่วมกับเครือข่ายอำนวยความสะดวกกับชุมชนหลักหกในการเดินทางด้วยเช่นกัน
ด้าน วินัย พยัคฆ์ หัวหน้าแผนกยานพาหนะ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงรายละเอียดและจุดเริ่มต้นของโครงการว่า หลังจากสำรวจเส้นทางและหารือกับประธานสมาคมรถสองแถวที่ให้บริการหน้ามหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยฯ ตัดสินใจเช่าเหมารถสองแถวคันละ 750 บาทเพื่อรับส่งนักศึกษาและชุมชนที่ต้องการเดินทาง โดยไม่เก็บค่าโดยสาร ซึ่งขณะนี้มีผู้ใช้บริการประมาณ 80 – 100 คนต่อวัน และมีความต้องการให้เพิ่มเที่ยวโดยสารมากขึ้น โดยมหาวิทยาลัยมีค่าใช้จ่ายเพื่อจัดทำรถรับส่งนักศึกษาปีละเกือบ 8 แสนบาท
ส่วนเส้นทางนำร่องที่สภาผู้บริโภคเสนอ คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า เพื่อเกิดการพัฒนาระบบฟีดเดอร์ภายในชุมชนหลักหกสู่สถานีรถไฟฟ้าหลักหก (สายสีแดง) ได้เพิ่มมากขึ้น สภาผู้บริโภคจึงเสนอ การพัฒนาเส้นทางขนส่งระบบรองเป็นโครงการนำร่อง 3 เส้นทางคือ
1) สถานีหลักหก – ถนนเอกทักษิณ – ถนนเอกประจิม – ถนนเอกอุดร – ถนนเอกบูรพา – สถานีหลักหก
2) สถานีหลักหก – ถนนเอกทักษิณ – ถนนนาวงประชาพัฒนา –ถนน รพช. – ถนนเลียบคลองเปรม – สถานีหลักหก
3) สถานีหลักหก – ถนนเลียบคลองเปรมฯ – ตลาดสี่มุมเมือง – ถนนวิภาวดีรังสิต – สถานีหลักหก
ขณะเดียวกัน นายเรืองเดช มังกรเดชสกุล ผอ.ฝ่ายกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า กรมการขนส่งทางรางมีแผนที่จะสนับสนุนให้เกิดระบบขนส่งมวลชนระบบรองบริเวณหลักหกเพื่อขนผู้โดยสารจากชุมชนมาใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง โดยเส้นทางที่เป็นโครงการนำร่องดังนี้ สถานีหลักหก – มหาวิทยาลัยรังสิต – ถนนเอกทักษิณ – ถนนนาวงประชาพัฒน์ – ถนน รพช. – ถนนศาลเจ้าสมบุญ – ถนนพลโยธิน 77 ตลาดสีมุมมเอง – เชียร์รังสิต – มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ระยะทาง 12 กิโลเมตร เวลาเดินทาง ราว 30 – 50 นาทีทั้งนี้ เส้นทางนำร่องของกรมการขนส่งทางรางสอดคล้องกับเส้นทางของสภาผู้บริโภคซึ่งหลังจากรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้จะประมวลความเห็นทั้งหมดเพื่อเสนอผู้บริหารและผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบขนส่งระบบรองต่อไป