ในวันที่สินค้าและบริการไม่ปลอดภัย ระบบออนไลน์เสี่ยง และการเข้าถึงบริการสุขภาพล่าช้า ย้อนดูปี 2567 สภาผู้บริโภคได้ผลักดัน 22 นโยบายสำคัญต่อหน่วยงานรัฐ นโยบายไหนจะได้รับการตอบสนองจากหน่วยงานรัฐ? มาติดตามกัน
ปัญหาที่ถูกยกขึ้นสู่โต๊ะเจรจาเพื่อปกป้องสิทธิผู้บริโภค
ปี 2567 ที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคได้รวบรวมเสียงสะท้อนจากประชาชนทั่วประเทศ และสรุปออกมาเป็น 22 นโยบายสำคัญที่มุ่งเน้นการปกป้องสิทธิของผู้บริโภคในทุกมิติ ตั้งแต่ด้านสุขภาพ การเงิน การเดินทาง ไปจนถึงการแก้ไขปัญหาการบริโภคที่ไม่ยั่งยืน เพื่อให้เสียงของผู้บริโภคได้รับการตอบสนองอย่างแท้จริง
ข้อเสนอเหล่านี้ไม่ใช่แค่กระดาษเปล่า แต่เป็นการสะท้อนถึงปัญหาที่ผู้บริโภคต้องเผชิญในชีวิตประจำวัน และต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เช่น ปัญหาคนชราไร้ที่พึ่งหลังเกษียน ที่กองทุนบำนาญพื้นฐานแห่งชาติจะช่วยฟื้นฟูชีวิตคนชรา ปัญหาการสูญเสียจากภัยน้ำท่วม สึนามิที่ระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติจะช่วยรักษาชีวิตและทรัพย์สิน หรือแม้กระทั่ง การดำรงชีพที่มีผลกระทบจากราคาสินค้า การควบคุมราคาสินค้าและบริการพื้นฐาน เป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง
ภาพรวม 22 นโยบายคุ้มครองผู้บริโภคปี 67
1. กองทุนบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ เสนอจัดตั้งกองทุนบำนาญพื้นฐานเพื่อสนับสนุนผู้สูงอายุ โดยให้ได้รับบำนาญเดือนละ 3,000 บาท เพิ่มหลักประกันรายได้ที่มั่นคงในวัยเกษียณ
2. ระบบแจ้งเตือนภัยสาธารณะแห่งชาติ (Thai Alert) ผลักดันการตั้งระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติผ่านโทรศัพท์มือถือ ทีวี และวิทยุ เพื่อให้ประชาชนรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินได้ทันเวลา
3. ควบคุมราคาพลังงานและสินค้าอุปโภคบริโภค เรียกร้องให้มีการปรับลดราคาน้ำมันและก๊าซ พร้อมทั้งกำกับราคาสินค้าจำเป็น เช่น อาหารและยารักษาโรค เพื่อบรรเทาค่าครองชีพ
4. การชดเชยผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากอาชญากรรมทางการเงิน เสนอให้ธนาคารรับผิดชอบคืนเงินในกรณีที่เงินถูกขโมยจากบัญชีหรือการทำธุรกรรมที่ไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงการเสนอมาตรการหน่วงเงินก่อนโอน (Delayed Transaction) เกิน 1 หมื่นบาท ธนาคารต้องชะลอเงินไว้ 24 ชั่วโมงก่อนอนุมัติจ่ายปลายทาง เพิ่มความปลอดภัยในการทำธุรกรรมออนไลน์ ลดผู้เสียหายจากปัญหามิจฉาชีพหลอกลวง
5. ตรวจสอบคุณภาพข้าวสาร เรียกร้องให้มีการตรวจสอบข้าวสารจากโรงสีทุกแห่ง เพื่อตรวจหาสารเคมีตกค้างหรือสิ่งปนเปื้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
6. พัฒนาระบบขนส่งฟีดเดอร์ (Feeder) หรือระบบขนส่งระบบรองเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีแดง ผลักดันการจัดทำเส้นทางเชื่อมต่อระบบ Feeder ในชุมชน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าสู่ระบบขนส่งหลัก
7. ระบบรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย เสนอให้มีมาตรการกำกับดูแลรถรับส่งนักเรียน พร้อมกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยเพื่อลดอุบัติเหตุ
8. บรรจุอาหารเหลวทางสายยางในสิทธิประโยชน์บัตรทอง เรียกร้องให้เพิ่มสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ป่วยที่ต้องใช้อาหารเหลวทางสายยาง เพื่อให้เข้าถึงการรักษาที่จำเป็น
9. ตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดในพื้นที่เสี่ยง เสนอให้มีการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดในพื้นที่ที่มีมลพิษสูง เช่น กรุงเทพฯ และภาคเหนือ เพื่อเพิ่มโอกาสในการรักษา
10. แก้ไขกฎหมายควบคุมอาคารในพื้นที่แออัด เรียกร้องให้ปรับปรุงกฎหมายควบคุมอาคาร เพื่อลดความแออัดและเพิ่มความปลอดภัยในกรณีเกิดอัคคีภัย
11. ควบคุมธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เสนอให้ปรับปรุงเกณฑ์การออกใบอนุญาต พร้อมกำกับดูแลเพื่อป้องกันการเอาเปรียบผู้บริโภค
12. ส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนผ่านระบบเน็ตมิเตอร์ริง (Net – metering) ผลักดันให้ประชาชนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดและขายไฟฟ้าคืนสู่ระบบได้
13. ป้องกันการควบรวมกิจการโทรคมนาคม เรียกร้องให้ กสทช. ยับยั้งการควบรวมกิจการของ AIS และ 3BB เพื่อป้องกันการผูกขาด
14. ปรับโครงสร้างหนี้ผู้กู้ กยศ. เสนอให้ กยศ. ปรับโครงสร้างหนี้ตามกฎหมายใหม่ เพื่อลดภาระผู้กู้ยืม
15. ปรับปรุงระบบส่งต่อผู้ป่วยบัตรทองในกรุงเทพฯ พัฒนาระบบสายด่วน 1330 และลดขั้นตอนการส่งต่อผู้ป่วย เพื่อให้เข้าถึงบริการได้สะดวก
16. ควบคุมการเปิดพัสดุหน้าพนักงานไปรษณีย์ เสนอให้ผู้บริโภคสามารถเปิดตรวจสอบพัสดุหน้าพนักงานก่อนชำระเงินแบบจ่ายเงินปลายทางได้
17. ลดภาษีและควบคุมราคาน้ำมัน เสนอให้ลดภาษีน้ำมันดีเซลและควบคุมค่าการตลาด เพื่อให้ราคาน้ำมันถูกลง
18. เพิ่มความโปร่งใสในธุรกิจนำเที่ยว เสนอให้สร้างระบบตรวจสอบสถานะทางการเงินของบริษัทนำเที่ยว เพื่อป้องกันการหลอกลวง
19. แก้ไขปัญหาความปลอดภัยในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาการก่อสร้างที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน
20. ป้องกันสินค้าออนไลน์ไม่ปลอดภัย เสนอให้แสดงตัวตนผู้ขายสินค้าออนไลน์เพื่อป้องกันการหลอกลวง รวมถึงการให้ผู้บริโภคสามารถเปิดของก่อนจ่ายเงินแบบปลายทาง ลดความเสี่ยงได้สินค้าไม่ตรงปก
21. ยกระดับระบบการจัดการขยะพลาสติก เสนอให้ภาครัฐและเอกชนร่วมกันจัดการขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพ
22. เร่งผลักดันมาตรการลดค่าบริการโทรคมนาคม เรียกร้องให้ลดค่าบริการอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือเพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน
นโยบายเหล่านี้สะท้อนถึงปัญหาในชีวิตประจำวันของประชาชน และแสดงให้เห็นว่าสภาผู้บริโภคไม่เพียงทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียง แต่ยังมุ่งมั่นผลักดันการเปลี่ยนแปลงเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน
ความร่วมมือจากหน่วยงานที่พร้อมปกป้องสิทธิผู้บริโภค
การผลักดัน 22 ข้อเสนอนโยบายคุ้มครองผู้บริโภคไม่เพียงแค่ส่งเสียงสะท้อนถึงปัญหาที่ประชาชนต้องเผชิญ แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ หลายหน่วยงานตอบรับข้อเสนอเหล่านี้และเริ่มดำเนินการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ความร่วมมือที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่เพียงหน้าที่ของภาครัฐ แต่เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า “เมื่อผู้บริโภคร่วมมือกัน เสียงของเราสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริง”
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหลายหน่วยงานจะแสดงเจตจำนงค์ในการตอบสนอง แต่การเปลี่ยนแปลงในบางนโยบายยังคงล่าช้า การดำเนินงานบางส่วนยังขาดความต่อเนื่อง ทำให้ผลลัพธ์ที่ควรจะเกิดขึ้นยังคงอยู่ในระหว่างรอคอย
หน่วยงานที่ตอบรับและดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หนึ่งในความสำเร็จที่เห็นผลชัดเจน คือข้อเสนอเกี่ยวกับการปรับปรุงระบบส่งต่อผู้ป่วยบัตรทองในเขตกรุงเทพฯ ซึ่ง สปสช. ได้พัฒนาสายด่วน 1330 เพื่อช่วยผู้ป่วยในการประสานงานกับศูนย์บริการสาธารณสุขและโรงพยาบาล ผลลัพธ์ที่ได้คือการลดความล่าช้าในขั้นตอนต่าง ๆ ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ดำเนินมาตรการ “Dee-Delivery” หรือ “เปิดก่อนจ่าย” เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ 3 ตุลาคม 2568 เป็นต้นมา เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อสินค้าออนไลน์ โดยให้สิทธิเปิดตรวจสอบพัสดุก่อนชำระเงินแบบปลายทาง ซึ่งช่วยลดปัญหาการถูกหลอกลวงและเพิ่มความโปร่งใสในการทำธุรกรรมออนไลน์
กรมทางหลวง ที่แสดงถึงความมุ่งมั่นในการตอบสนองข้อเสนอเรื่องความปลอดภัยบนถนนพระราม 2 ด้วยการติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัย เช่น เครื่องสูบน้ำ ป้ายแสดงข้อมูลโครงการ และปรับปรุงเส้นทางเบี่ยง การดำเนินการนี้ไม่เพียงช่วยลดอุบัติเหตุ แต่ยังสร้างความมั่นใจให้ประชาชนในการเดินทาง
กรมการขนส่งทางราง นโยบายการพัฒนาระบบ Feeder เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดง ได้รับการตอบรับและเริ่มมีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อวางแผนแนวเส้นทางในพื้นที่นำร่อง ระบบ Feeder จะช่วยเชื่อมโยงชุมชนกับระบบขนส่งสาธารณะหลัก ทำให้การเดินทางของประชาชนสะดวกและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
หน่วยงานที่ตอบรับแต่ยังไม่ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ
กระทรวงพาณิชย์ แม้จะตอบรับข้อเสนอเรื่องการตรวจสอบคุณภาพข้าวสาร แต่การดำเนินการยังขาดความชัดเจนและโปร่งใส ผู้บริโภคยังคงไม่สามารถมั่นใจได้ว่าข้าวที่จำหน่ายในตลาดปลอดภัยจากสารปนเปื้อน สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการเปิดเผยผลการตรวจสอบต่อสาธารณะ
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) ข้อเสนอเรื่องการเยียวยาผู้เสียหายจากอาชญากรรมทางการเงินได้รับการตอบรับเพียงบางส่วน แม้จะมีการพัฒนาสายด่วน 1441 แต่ระบบการจัดการปัญหายังคงไม่ครบวงจร ผู้เสียหายต้องดำเนินการด้วยตนเองในหลายขั้นตอน ส่งผลให้การเยียวยายังล่าช้า
คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แม้ กสทช. จะพิจารณาข้อเสนอเกี่ยวกับการป้องกันการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่าง AIS และ 3BB แต่ยังไม่มีมาตรการยับยั้งอย่างเป็นทางการ ส่งผลให้ตลาดขาดการแข่งขัน ผู้บริโภคต้องเผชิญกับค่าบริการที่สูงขึ้นและทางเลือกที่น้อยลง
กระทรวงมหาดไทย แม้กระทรวงมหาดไทยจะตอบรับข้อเสนอเกี่ยวกับการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยสาธารณะแห่งชาติ แต่การดำเนินงานยังล่าช้าและไม่ทันต่อเหตุการณ์ เช่น กราดยิงและน้ำท่วมเฉียบพลัน ปัจจุบันโครงการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยผ่านมือถือยังอยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดและขอบเขตของงาน โดยคาดว่าจะสามารถใช้งานได้ภายในปี 2568 ซึ่งอาจไม่เพียงพอต่อการลดความเสี่ยงในสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในปัจจุบัน
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แม้ธปท. จะตอบรับข้อเสนอเกี่ยวกับการเยียวยาผู้เสียหายจากภัยทางการเงิน แต่ยังไม่มีการออกประกาศอย่างเป็นทางการ ขณะที่ปัญหาการหลอกลวงทางการเงินยังคงเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคต้องแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองและขาดมาตรการช่วยเหลือที่ชัดเจนและทันท่วงที
ส่วนกรณีที่ยังไม่มีความคืบหน้า ในบางข้อเสนอ เช่น การควบคุมราคาน้ำมันและก๊าซ หรือการพัฒนาระบบรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยให้ครอบคลุมทั้งประเทศ ยังไม่มีการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม แม้จะได้รับการตอบรับในเบื้องต้น ซึ่งสะท้อนถึงความท้าทายที่สภาผู้บริโภคต้องเผชิญในการผลักดันให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ การคุ้มครองผู้บริโภคไม่ใช่เพียงภารกิจของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นการร่วมมือกันระหว่างทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน และประชาชน ความคืบหน้าในบางนโยบายอาจยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แต่ทุกเสียงที่ผลักดันข้อเสนอเหล่านี้สะท้อนถึงพลังของประชาชนที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง
เส้นทางสู่การคุ้มครองผู้บริโภคที่ยั่งยืน
ผู้บริโภคไม่ได้เป็นเพียงผู้ใช้บริการหรือผู้ซื้อสินค้าอีกต่อไปในโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว หากแต่คือผู้มีสิทธิและเสียงสำคัญในการกำหนดทิศทางของสังคม การคุ้มครองผู้บริโภคจึงกลายเป็นหัวใจของการสร้างสังคมที่เป็นธรรม โปร่งใส และปลอดภัยสำหรับทุกคน ทว่าการผลักดันนโยบายในปี 2567 ยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายหลากหลายประการ ตั้งแต่การประสานงานระหว่างหน่วยงานรัฐ การบังคับใช้นโยบายที่ยังไม่เข้มแข็ง ไปจนถึงการสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิของตน
หนึ่งในอุปสรรคสำคัญคือ การประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แม้สภาองค์กรของผู้บริโภคจะนำเสนอ 22 นโยบายที่ครอบคลุมทุกด้าน แต่การผลักดันให้เกิดผลสำเร็จยังต้องอาศัยความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างหน่วยงาน เช่น กรมทางหลวง กระทรวงพาณิชย์ และ กสทช. หากขาดความต่อเนื่องในการทำงานร่วมกัน อาจทำให้นโยบายเหล่านี้ล่าช้าหรือไม่เกิดผลตามที่คาดหวัง
นอกจากนี้การบังคับใช้กฎหมายและข้อกำหนดยังคงเป็นปัญหา แม้ว่าจะมีข้อเสนอที่ดี เช่น การตรวจสอบคุณภาพข้าวสารและควบคุมคุณภาพอาหารทางการแพทย์ แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่า การบังคับใช้กฎหมายยังไม่เข้มงวดพอ ส่งผลให้ผู้บริโภคยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงในชีวิตประจำวัน
อีกหนึ่งความท้าทายที่ไม่อาจมองข้ามคือ ความซับซ้อนของระบบและขั้นตอนการเข้าถึงสิทธิ ตัวอย่างเช่น ระบบส่งต่อผู้ป่วยในกรุงเทพฯ ที่แม้จะมีการพัฒนา แต่ยังคงเต็มไปด้วยขั้นตอนที่ยุ่งยาก โดยเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่ต้องการการดูแลอย่างเร่งด่วน
การสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชน ก็เป็นอีกประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ แม้ว่านโยบายและมาตรการจะครอบคลุม แต่หากประชาชนไม่ทราบถึงสิทธิของตนเอง ก็อาจถูกเอารัดเอาเปรียบหรือเสี่ยงต่อภัยในชีวิตประจำวัน เช่น การซื้อสินค้าออนไลน์จากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ หรือการทำธุรกรรมทางการเงินที่ไม่ปลอดภัย
เพื่อสร้างสังคมที่ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองอย่างแท้จริง สภาผู้บริโภคจึงเห็นว่ามีความจำเป็นต้องเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน ตัวอย่างเช่น การที่กระทรวงศึกษาธิการร่วมมือกับกรมการขนส่งทางบกในการปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียน หรือการที่ กสทช. ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมร่วมกันยับยั้งปัญหาภัยออนไลน์ที่ส่งผลเสียต่อผู้บริโภค
การบังคับใช้นโยบายอย่างจริงจังและโปร่งใส ก็เป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญ เช่น การสุ่มตรวจคุณภาพข้าวที่ต้องเปิดเผยผลต่อสาธารณะ หรือการควบคุมโครงการก่อสร้างที่มีมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน
ในยุคดิจิทัล การพัฒนาระบบดิจิทัลเพื่ออำนวยความสะดวก ถือเป็นเรื่องจำเป็น ระบบการส่งต่อผู้ป่วยหรือการแจ้งเตือนภัยพิบัติควรถูกพัฒนาให้ทันสมัย ใช้งานง่าย และครอบคลุม เช่น การใช้แอปพลิเคชันเพื่อแจ้งเตือนภัยในพื้นที่เสี่ยง หรือระบบออนไลน์ที่ช่วยให้ประชาชนขอใบส่งตัวได้สะดวก
สุดท้ายนี้ การสร้างแคมเปญให้ความรู้แก่ประชาชน จะช่วยเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิทธิผู้บริโภค เช่น การให้ข้อมูลวิธีตรวจสอบความน่าเชื่อถือของผู้ขายออนไลน์ หรือการแนะนำวิธีคืนสินค้าที่มีข้อบกพร่อง
เพราะทุกเสียงผู้บริโภคคือพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง
ทุกข้อเสนอ ทุกมาตรการ และทุกความร่วมมือ ล้วนมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การสร้างสังคมที่ผู้บริโภคได้รับความยุติธรรม ความปลอดภัย และคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น เสียงของคุณไม่ใช่เพียงเสียงเล็ก ๆ ที่ถูกมองข้าม แต่คือพลังสำคัญที่สามารถผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
ลองนึกภาพโลกที่ทุกคนเดินทางได้อย่างปลอดภัย ลูกหลานของเราสามารถไปโรงเรียนโดยไร้ความกังวล หรือผู้ป่วยทุกคนได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วด้วยระบบที่โปร่งใสและเข้าถึงได้ง่าย หรือทุกคนมั่นใจชีวิตหลังเกษียนไม่โดนสังคมทอดทิ้ง โลกที่เรามั่นใจว่าสินค้าที่บริโภคนั้นปลอดภัย เพราะมีระบบตรวจสอบที่เชื่อถือได้ แต่วิสัยทัศน์เหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากปราศจากการมีส่วนร่วมจากทุกคน