ภาคประชาชนยื่น 4 หมื่นกว่ารายชื่อเข้าสภาฯ เพื่อผลักดันร่าง พ.ร.บ. ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ พ.ศ. … เปลี่ยนเบี้ยยังชีพแบบรัฐสงเคราะห์ เป็นบำนาญถ้วนหน้าด้วยรัฐสวัสดิการ
เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนกว่า 100 คน จากเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ พร้อมด้วยภาคีอย่างวีแฟร์ (We Fair) สลัมสี่ภาค เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ ประเทศไทย เครือข่ายผู้สูงอายุ เครือข่ายแรงงานนอกระบบ ฯลฯ เดินทางไปยังรัฐสภา เพื่อยื่น 43,826 รายชื่อ เสนอ ร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ พ.ศ. … เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา โดยมี มุข สุไลมาน เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง และณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ประธานกรรมาธิการสวัสดิการสังคม เป็นผู้รับหนังสือ
นิมิตร์ เทียนอุดม รองประธานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า คาดหวังว่ารัฐบาลจะรับรองร่างกฎหมายที่นำมายื่น เพราะเป็นร่างกฎหมายที่สำคัญ ทั้งนี้ ตามกฎหมายระบุว่าร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงินนายกรัฐมนตรีต้องรับรองก่อน จึงจะสามารถนำไปพิจารณาในรัฐสภาต่อไป
“นี่เป็นครั้งที่ 3 ที่เครือข่ายฯ มายื่นเรื่องบำนาญผู้สูงอายุ และจากผลการศึกษาเราพบว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนใหญ่สนใจและเห็นว่าเป็นประโยชน์กับประชาชน ทั้งนี้ ในระยะเวลาเพียง 1 เดือน เรารวบรวมรายชื่อได้มา 4 หมื่นกว่ารายชื่อ สะท้อนให้เห็นว่าร่างกฎหมายนี้อยู่ในความสนใจของประชาชนที่คาดหวังว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงจะช่วยแก้ปัญหาความยากจน จึงคาดหวังว่ารัฐบาลจะเห็นความสำคัญที่จะที่ทำให้ผู้สูงอายุมีหลักประกันรายได้ยามสูงวัยและนำร่างกฎหมายนี้ไปพิจารณาต่อไป” นิมิตร์ กล่าว
ขณะที่ นิติรัฐ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้อำนวยการเครือข่ายวีแฟร์ (We Fair) ให้ความเห็นเรื่องของงบประมาณ โดยระบุว่า ที่ผ่านมาระบบบำนาญของข้าราชการกับบำนาญประชาชนต่างกัน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้รับงบประมาณ 9 หมื่นล้าน เฉลี่ยคนละ 600 บาทต่อเดือน ขณะที่ระบบบำนาญของข้าราชการบำนาญใช้งบประมาณ 3 แสนล้านบาท เฉลี่ยต่อคนละ 30,000 บาทต่อเดือน มีส่วนต่างถึง 50 เท่า ดังนั้น หากกฎหมายฉบับดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ก็จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้
“ที่ผ่านมา เครือข่ายภาคประชาชนเรียกร้องเรื่องบำนาญถ้วนหน้ามายาวนาน ตั้งแต่เส้นความยากจนอยู่ที่ 2,500 บาท จนปัจจุบันเส้นความยากจนอยู่ที่ 2,997 บาท เพราะฉะนั้นกฎหมายฉบับนี้ต้องเกิดขึ้นในวันนี้” นิติรัฐกล่าว
ด้าน วรรณา แก้วชาติ ตัวแทนเครือข่ายสลัมสี่ภาค กล่าวว่า มีความหวังว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญ เพราะเป็นกฎหมายของประชาชนที่ช่วยกันเข้าร่วมเสนอรายชื่อ และสิ่งที่ประชาชนช่วยกันขับเคลื่อนคือการสร้างหลักประกันด้านรายได้ ไม่ใช่เพียงแค่ผู้สูงอายุ แต่การได้สวัสดิการ 3,000 บาทต่อเดือน จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจระดับฐานราก
“แม้ว่าวันนี้อาจจะยังไม่ได้ 3,000บาท แต่หวังว่ารัฐบาลจะรับรองเพื่อให้กฎหมายฉบับนี้ถูกนำมาพิจารณาต่อไป หากมีขาดเหลือเพิ่มเติมเราจะได้มาช่วยกันปรับ และเรามองว่าผู้สูงอายุก็คือคนที่เคยเป็นวัยทำงาน เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เสียภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อม คำถามคือทำไมพอเขาสูงอายุกลับไม่มีเงินดูแลเขาตามที่สมควร” วรรณากล่าวเสริม
ขณะที่ สุจิน รุ่งสว่าง ประธานศูนย์ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ มองว่า การมี พ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ พ.ศ. … จะทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดการพึ่งพิงลูกหลาน ลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้สูงอายุไม่ได้หวังพึ่งพิงเงิน 3,000 บาทเพียงอย่างเดียว เพราะกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนต่างก็ประกอบอาชีพ เพื่อไม่ให้เป็นภาระของลูกหลาน
นอกจากนี้ยังมีตัวแทนภาคประชาชนได้ให้ความเห็นเพิ่มเติม ว่าประเทศต้องพัฒนาไปข้างหน้าไม่เพียงแต่พัฒนาอุตสาหกรรม แต่รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และในประเด็นรัฐสวัสดิการที่ไม่ตอบโจทย์กลุ่มแรงงานจึงต้องการให้การขับเคลื่อนบำนาญในครั้งนี้ประสบความสำเร็จ อยากเห็นรัฐที่เป็นรัฐสวัสดิการ ไม่ใช่รัฐสงเคราะห์หรือต้องพิสูจน์จนกว่าจะได้มา กฎหมายฉบับนี้จะเป็นกฎหมายสำคัญมากที่จะทำให้ผู้สูงอายุทุกคนมีหลักประกันรายได้เป็นรายเดือนที่สามารถวางแผนชีวิตได้ และมีชีวิตอยู่อย่างสมศักดิ์ศรี
ขณะเดียวกัน ตัวแทนจากฝั่งผู้รับมอบหนังสือ มีความเห็นตรงกันว่าพร้อมให้การสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุฯ เพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้สูงวัยและประชาชนทุก และการมีหลักประกันด้านรายได้เมื่อยามสูงวัยเป็นเรื่องสำคัญ แต่อย่างไรก็ตามต้องให้เป็นไปตามกลไกของรัฐธรรมนูญ ให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาลงนามก่อน เพราะเป็นร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับการเงิน ทั้งนี้รอติดตามความคืบหน้าได้ภายใน 45 วัน