สภาผู้บริโภค จัดโครงการ ปักหมุดทั่วไทย สื่อสารสร้างผลผลิตเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค (ปักหมุดสร้างสื่อ #เซฟผู้บริโภค) ในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ได้แก่ สมุทรสงคราม สงขลา เชียงใหม่ ร้อยเอ็ด และกรุงเทพมหานคร เพื่อเพิ่มทักษะการสื่อสารเนื้อหาการคุ้มครองผู้บริโภคให้กับองค์กรสมาชิก พร้อมกับเผยแพร่การดำเนินงานของสภาผู้บริโภคในเชิงรุก ในด้านต่าง ๆ ให้เกิดการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง และเป็นการสร้างแนวร่วมในการขยายความรู้ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ผ่านเครือข่ายสมาชิกและองค์กรของผู้บริโภค โดยการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งที่ 2 จัดขึ้นในเขตพื้นที่ภาคใต้เมื่อวันที่ 17 – 18 ตุลาคม พ.ศ.2567 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมคริสตัล หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
สุภาพร ถิ่นวัฒนากูล รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ระบุว่า โครงการปักหมุดทั่วไทย สื่อสารสร้างผลผลิตเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค นับว่าเป็นโครงการฯ ที่มีประโยชน์และมีความสำคัญต่อการพัฒนาองค์กรอย่างมาก ด้วยสังคมไทยถูกแวดล้อมด้วยข้อมูลข่าวสารจากหลากหลายช่องทาง โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ที่กลายมาเป็นช่องทางที่มีอิทธิพลกับผู้บริโภคอย่างมาก
“การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพถือเป็นกลไกหนึ่งในการปลูกฝังวัฒนธรรมใหม่ และยังมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคตื่นตัวรู้เท่าทัน และรู้จักปกป้องสิทธิ ในฐานะองค์กรสมาชิกที่กระจายอยู่ทั่วภูมิภาค จึงจำเป็นต้องมีความรู้ด้านการผลิตสื่อเผยแพร่สื่อ เพื่อเตือนภัยให้กับผู้บริโภคในพื้นที่ได้และขยายได้เป็นวงกว้าง” คุณสุภาพร ระบุ
ภายในงานประกอบไปด้วยกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การเสวนาเรื่อง “สภาผู้บริโภค…ตัวแทนของผู้บริโภค เพื่อนผู้บริโภค” นำโดย คุณสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล คุณสิรินนา เพชรรัตน์ กรรมการนโยบาย สภาผู้บริโภค และคุณชโลม เกตุจินดา หัวหน้าหน่วยงานเขตพื้นที่ภาคใต้ สภาผู้บริโภค พร้อมกับแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ พัฒนาทักษะ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตสื่อ รวมไปถึงการ Workshop ภายใต้หัวข้อ “เคล็ด (ไม่ลับ) สร้างสื่อ #เซฟผู้บริโภค” โดย ดร. อิศริยา สายสนั่น ผู้ผลิตคอนเทนต์มืออาชีพ ซึ่งเป็นรูปแบบการสื่อสารข้อมูลที่มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการประชาสัมพันธ์ มีการสื่อสารที่หลากหลาย ทั้งในรูปแบบของการสร้างและการเผยแพร่ข้อมูลทางออนไลน์ ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมโครงการได้แบ่งกลุ่ม Workshop ต่อยอดแนวคิดและสร้างสรรค์คลิปกับอินฟลูเอนเซอร์ ฟิล์ม – เฌอร์ลิษา เสรีวิบูรณ์กิจ ที่มีผู้ติดตามทางสื่อออนไลน์ส่วนตัวกว่า 1.2 ล้าน มาให้ความรู้ด้านการทำคอนเทนต์ ตั้งแต่ในขั้นตอนการวางแผน ตลอดจนถึงการเผยแพร่ ให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถผลิตคลิปสั้นเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคได้ด้วยตนเอง
ด้านเฌอร์ลิษา เสรีวิบูรณ์กิจ อินฟลูเอนเซฮร์ชื่อดัง เปิดเผยว่าเป็นครั้งแรกที่ได้มาร่วมงานกับสภาผู้บริโภค ดีใจ ยินดีที่ได้มาร่วมงาน ซึ่งตัวเองได้อยู่ในกลุ่ม Work shop ที่ได้หัวข้ออินเทรนด์มาก ๆ ในขณะนี้เลยก็คือ หลอกลงทุน ทุกคนในทีมเก่งมาก ๆ ทั้งการถ่ายทำแชร์ไอเดีย หวังว่าทุกคนจะได้รับประสบการณ์ในการทำกิจกรรมครั้งนี้กลับไป ซึ่งเทคนิคที่มาสอนในครั้งนี้ก็คือ การฝึกหัดทำตามขั้นตอน ทำตัวอย่างให้ดู หากติดปัญหาตรงไหนเราก็จะแก้ไปด้วยกัน ด้วยความตั้งใจของคนในทีม จึงทำให้การ Work shop
ง่ายขึ้น อีกทั้งฟิล์มก็อยากให้สภาผู้บริโภคเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงที่ช่วยสื่อสาร ประสานงานกับผู้บริโภคเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นกับผู้บริโภค คุณฟิล์ม เฌอร์ลิษา เผย
ทั้งนี้ ฝ่ายสื่อสารสาธารณะและประชาสัมพันธ์ สภาผู้บริโภค ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ออกแบบ ผลิต และเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ เพื่อเตือนภัยให้ผู้บริโภคตื่นตัว รู้เท่าทัน และรู้จักปกป้องสิทธิ ได้จัดประกวดคลิปวิดีโอภายใต้โครงการ “ปักหมุดทั่วไทย สื่อสารสร้างผลผลิตเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค” ระดับภูมิภาค โดยเนื้อหาเกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาภัยออนไลน์ อาทิ ถังแก๊สหมดอายุ หลอกลงทุน และระบบขนส่งมวลชนที่ปลอดภัย ฯลฯ ซึ่งทีมที่ชนะเลิศระดับภูมิภาคได้แก่ ทีมกลุ่มแก๊สเด้ง หัวข้อ“ถังแก๊สปลอดภัย”
อารียา มามะ เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน หน่วยงานประจำจังหวัดปัตตานี สภาผู้บริโภค ตัวแทนทีม ‘แก๊สเด้ง’ ได้ให้ความเห็นว่า ดีใจที่ตัวเองได้มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ และก็ภูมิใจที่ทีมได้รับรางวัลชนะเลิศ การมาในครั้งนี้จะนำความรู้ที่ได้จากการทำคลิปสั้นไปพัฒนาต่อไปในการทำงาน จริง ๆ แล้วตัวเองมีข้อมูลคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในพื้นที่เยอะมาก ๆ แต่ไม่รู้ว่าจะนำไปเสนอในรูปแบบไหน ซึ่งตั้งใจว่าหลังจากการเข้าร่วมครั้งนี้จะนำเทคนิคต่าง ๆ เช่น การตัดคลิปอย่างไรให้น่าสนใจ การเลือกใช้แบบตัวอักษร การเลือกใช้สี การจัดแสงสว่าง การเล่าเรื่องและวิธีการนำเสนอของแต่ละบุคคล ไปสอนให้กับหน่วยงานประจำจังหวัดปัตตานีด้วย โดยการที่แบ่งกลุ่มทำคลิปประชาสัมพันธ์มีข้อดี คือ จะได้เห็นการนำเสนอที่หลากหลายรูปแบบ
“สุดท้ายก็อยากให้สภาผู้บริโภคจัดกิจกรรมแบบนี้อีกเรื่อย ๆ และอยากให้มีการติดตามผล เพื่อที่จะได้พัฒนาศักยภาพคนในองค์กรต่อไป” คุณอารียา ให้ความเห็น
ขณะที่ อนัญญา แสะหลี หัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดสตูล สภาผู้บริโภค ตัวแทนทีมดิอังเคิล ให้ความเห็นว่า การมาเข้าร่วมโครงการฯ นี้ นอกจากความสนุกแล้วพวกเราทุกคนยังได้ความรู้ เนื้อหาสาระที่สมาชิกสภาผู้บริโภคทุกคนได้รับและจะนำไปปรับใช้ ซึ่งเนื้อหาที่เรียนก็เป็นงานใหม่ของพวกเราทุกคน และจากการที่เคยใช้ช่องทางเพียงเฟซบุ๊กก็จะหันมาเริ่มเล่น TikTok เพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ทำคอนเทนต์ที่มีสาระและเป็นประโยชน์เพื่อผู้บริโภคต่อไป
โดยทีมผู้ชนะระดับภูมิภาคได้รับประกาศนียบัตรและเงินสนับสนุน เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดการผลิตคลิปวีดีโอในการแข่งขันระดับประเทศ กับองค์กรสมาชิกในภูมิภาคอื่นๆ เพื่อชิงเงินรางวัลและโล่เกียรติยศต่อไป