ห้าพรรคการเมืองเปิด นโยบายสนับสนุนโซลาร์เซลล์ พร้อมหนุนระบบการคำนวณค่าไฟฟ้าแบบหักลบกลบหน่วย (Net Metering) สำหรับการผลิตไฟฟ้าที่ได้จากแผงโซลาร์เซลล์ หวังกระตุ้นให้ภาคประชาชนติดโซลาร์เซลล์บนหลังคา เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตพลังงาน
วันที่ 22 มีนาคม 2566 สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) จัดงานเวทีเสวนาออนไลน์ “ล้านหลังคา ล้านโซลาร์เซลล์” ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมเวทีสาธารณะ เนื่องในวันสิทธิผู้บริโภคสากล ประจำปี 2566 (World Consumer Rights Day 2023) โดยมีตัวแทนจากพรรคการเมืองต่าง ๆ ได้แก่ พรรคก้าวไกล พรรคชาติพัฒนากล้า พรรคภูมิใจไทย พรรคไทยสร้างไทย และพรรคพลังประชารัฐ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนนโยบายในด้านพลังงาน
บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาผู้บริโภค ระบุว่า ปัจจุบันติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์นั้น ไม่ได้มีปัญหาเรื่องเทคนิคในการติดตั้งแล้ว แต่ติดปัญหาเรื่องนโยบายการสนับสนุนจากภาครัฐ หากภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์เซลล์ ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชนในการติดตั้งลงได้ ซึ่งอาจรวมถึงการลดความยุ่งยากของขั้นตอนการขออนุญาต โดยที่จะทำให้ผู้บริโภคสามารถลดค่าใช้จ่ายในการใช้ไฟฟ้าในระยะยาวได้ องคาพยพที่สำคัญในการกำหนดนโยบายในเรื่องดังกล่าว ประเทศไทยก็จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านพลังงาน และไม่สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานใหม่ได้แบบที่ควรเป็น
ดังนั้น จึงคาดหวังให้พรรคการเมืองสนับสนุนนโยบายในเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะการนำระบบหักลบกลบหน่วย (Net Metering) มาใช้แทนระบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคสามารถเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้าในคราวเดียวกัน ทั้งนี้อาจรวมถึงการที่ผู้บริโภคสามารถขายไฟฟ้าคืนให้ภาครัฐได้ด้วย ส่งผลให้เกิดการพึ่งพาตัวเองด้านพลังงานอย่างแท้จริง
ประธานสภาผู้บริโภค กล่าวเพิ่มเติมว่า พรรคการเมืองมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการขับเคลื่อนเรื่องพลังงานของประเทศ เพราะหากไม่ได้รับความร่วมมือจากพรรคการเมืองซึ่งเป็น
ด้าน ผศ.ประสาท มีแต้ม กรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค ระบุว่า ปัญหาเรื่องพลังงานเชื่อมโยงไปถึงเรื่องสภาวะโลกร้อน และมลพิษทางอากาศ เช่น PM 2.5 ด้วย เพราะการใช้พลังงานฟอสซิล (เช่น ก๊าซ น้ำมัน ถ่านหิน เป็นต้น) ในรถยนต์ เครื่องจักร อุตสาหกรรม หรือแม้แต่การผลิตไฟฟ้าเป็นสาเหตุสำคัญของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยข้อมูลจาก Global carbon budget ระบุว่า ในช่วง 10 ปีให้หลัง (2555 – 2565) ทั่วโลกมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ เฉลี่ยปีละ 39,700 ล้านตัน โดยที่พืชบกดูดซับได้ 11,400 ล้านตัน มหาสมุทรดูดซับ 10,500 ล้านตัน นั่นแปลว่ายังเหลือคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศอีก 17,800 ล้านตัน โดยประชากรโลกมี 8,000 ล้านคน ต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีกคนละ 2.3 ตันต่อคนต่อปี ดังนั้น สิ่งที่ต้องตั้งคำถามคือในฐานะพลเมืองของโลก คือ เราจะร่วมลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างไร
ผศ.ประสาท ยืนยันว่า การลดคาร์บอนเป็นสิ่งที่ทำได้และไม่กระทบกับคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่น การใช้พลังงานไฟฟ้าจาก โซลาร์เซลล์ กังหันลม แบตเตอรี่ การหันมาใช้รถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือยานพาหนะที่เป็นไฟฟ้า เป็นต้น ทั้งนี้ ทางออกสำหรับปัญหาด้านพลังงานของประเทศไทย คือการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียน เช่น โซลาร์เซลล์ โดยไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ราคาถูกกว่าพลังงานฟอสซิล และมีประสิทธิภาพมากกว่าถึง 10 เท่า
“การผลิตไฟฟ้าจากหลังคาบ้านเรือนสามารถทำได้ทันที โดยที่มีการสูญเสียในระบบสายส่งน้อยกว่าการผลิตไฟฟ้าจากฟอสซิล แต่กลับไม่มีการส่งเสริมอย่างจริงจังแต่ประการใดจากรัฐบาลไทยทุกชุด จนส่งผลให้ปัจจุบันประเทศไทยจ่ายค่าไฟฟ้าแพงกว่าประเทศมาเลเซียถึง 3 เท่า นอกจากนี้ประเทศมาเลเซียมีการส่งเสริมโซลาร์เซลล์ด้วยนโยบายการคิดค่าไฟฟ้าแบบหักลบหน่วยไฟฟ้า (Net metering) แล้วตั้งแต่ปี 2016 ขณะที่ในประเทศไทยยังคงใช้การคิดค่าไฟฟ้าแบบอัตราคาคงที่หน่วยละ 2.20 บาทต่อหน่วย” ผศ.ประสาท ระบุ
ขณะที่ รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค ระบุว่าไฟฟ้าในประเทศไทยส่วนมากผลิตจากก๊าซธรรมชาติ ซึ่งก๊าซธรรมชาติของอ่าวไทยมีไม่เพียงพอจึงต้องนำเข้าก๊าซ LNG จากต่างประเทศ ทำให้ราคาพลังงานรวมของประเทศมีราคาแพงตามไปด้วย ดังนั้น การผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ จะทำให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตัวเองได้ ไม่ต้องนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นวิธีการที่ยั่งยืน เพราะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำเมื่อเทียบกับการผลิตไฟฟ้าด้วยวิธีอื่น ซึ่งนอกจากจะสอดคล้องกับสถานการณ์พลังงานแพงแล้ว ยังตอบโจทย์เรื่องลดโลดร้อน ลดคาร์บอนฟุตปริ๊นท์ ตรงกับแนวทางของโลกที่ปฏิบัติอยู่อีกด้วย
รศ.ดร.ชาลี ได้นำเสนอข้อมูลค่าใช้จ่ายในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ว่า ต้องใช้งบประมาณ 30,000 – 36,000 บาท ต่อ 1 กิโลวัตต์ ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าไฟได้ 600 บาทต่อเดือน และใช้ระยะเวลาคืนทุนประมาณ 4-5 ปี ขณะที่แผงโซลาร์เซลล์มีอายุการใช้งาน 20 – 25 ปี และระบบแปลงไฟฟ้าอินเวอร์เตอร์ซึ่งเป็นส่วนประกอบของการผลิตไฟมีอายุ 10 ปี จึงนับป็นการลงทุนที่คุ้มค่า และได้ทุนคืนอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ เป้าหมายการผลักดันภายในระยะเวลา 3 ปี เสนอ 3 มาตรการ คือ การผลิตพลังงานบนหลังคา 1 ล้านครัวเรือน 10,000 โรงพยาบาล 30,000 โรงเรียน โดยคาดว่า 3 มาตรการดังกล่าว จะสามารถลดภาระค่าไฟฟ้าของประชาชน ทั้งครัวเรือน โรงพยาบาล และโรงเรียนรวมกันได้ปีละกว่า 18,279 ล้านบาทต่อปี และสามารถสร้างงานในระบบติดตั้งและบำรุงรักษาได้มากกว่า 50,000 อัตรา และในระยะยาวตลอดอายุการใช้งานแผงโซลาร์เซลล์ 25 ปี จะเกิดประโยชน์แก่ประชาชนมากกว่า 4.81 แสนล้านบาท
ด้าน ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต พรรคก้าวไกล ระบุว่าเป้าหมาย “ล้านหลังคา ล้านโซลาร์เซลล์” มีความเป็นไปได้อย่างแน่นอน พร้อมกล่าวถึงนโยบายในเรื่องพลังงานของพรรคก้าวไกลโดยระบุว่าพรรคก้าวไกลเสนอให้ใช้นโยบายหักลบกลบหน่วยไฟฟ้ากับบ้านเรือนทุกหลัง โดยหากพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาลจะช่วยหาแหล่งเงินทุนให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มครัวเรือนเพื่อสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์เซลล์ สำหรับไฟฟ้าส่วนที่ผลิตได้เกิน รัฐจะรับซื้อในราคา 2.20 บาท ขายคืนรัฐ นอกจากนี้ยังมีนโยบายในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้กับโรงเรียนและโรงพยาบาลผ่านกองทุนอนุรักษ์พลังงาน เพื่อให้โรงเรียนและโรงพยาบาลสามารถนำงบดังกลาวไปใช้ในการพัฒนาส่วนอื่น ๆ ได้
นอกจากนี้ยังมีนโยบายปลดหนี้ให้เกษตรกร โดยใช้เงินจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานเพื่อสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์เซลล์ แล้วแบ่งรายได้กันเพื่อใช้คืนค่าติดตั้งและช่วยปลดหนี้สิน
ทั้งนี้ การติดตั้งโซลาร์เซลล์จะส่งผลให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการผูกขาดของภาคพลังงาน และทำให้เกิดการจ้างงานทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นประมาณ 30,000 อัตราภายในระยะเวลา 5 ปีส่วนสิ่งที่ต้องเตรียมการสำหรับสิ่งที่ส่งเสริมการพัฒนาระบบการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานในการผลิตและติดตั้งโซลาร์เซลล์ รวมถึงระบบการจัดเก็บและทำลายแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุ
ส่วน ดร.อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ระบุว่า พรรคชาติพัฒนากล้าเน้นเรื่องเสรีนิยมประชาธิปไตยและการแข่งขันอย่างเสรี จึงมองว่าต้องส่งเสริมการแข่งขันอย่างเสรีให้เกิดขึ้นในตลาดพลังงานของประเทศ เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพลังงาน ลดการเติบโตของโรงไฟฟ้าเอกชนด้วยการนำไฟฟ้าจากครัวเรือนที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาแทน เพิ่มการแข่งขันของภาคประชาชนโดยส่งเสริมระบบหักลบกลบหน่วย จากการติดตั้งโซลาร์เซลล์ของครัวเรือน
สำหรับนโยบายที่พรรคชาติพัฒนากล้าวางไว้ คือ สนับสนุนการติดโซลาร์รูปท็อปบนหลังคา มีส่วนลดประมาณร้อยละ 20 – 30 ของค่าติดตั้งทั้งหมด และหากมีโอกาสเป็นรัฐบาลก็สามารถช่วยจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ย 0% ให้แก่ครัวเรือนในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ได้ ทำให้ประชาชนได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในราคาที่ถูกกว่าราคาตลาด ซึ่งจะทำให้ภาคประชาชนหันมาติดโซลาร์เซลล์มากขึ้น และอาจมีการออกพันธบัตรเพื่อช่วยลดการขาดทุนของการไฟฟ้าได้ ทั้งนี้ มองว่ารัฐต้องส่งเสริมให้ประชาชนสามารถผลิตไฟฟ้าด้วยตนเองได้อย่างจริงจัง เพราะประเด็นเรื่องพลังงานสะอาดเป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องผลักดันและสนับสนุนให้เกิดขึ้น มิเช่นนั้นจะถูกกีดกันทางการค้าจากประเด็นการปล่อยคาร์บอน ซึ่งจะต้องระมัดระวังให้ไม่ถูกรายใหญ่ผูกขาดและครอบงำ ทั้งนี้ มองว่าการใช้ระบบหักลบกลบหน่วยจะทำให้ภาคประชาชนเข้มแข็งขึ้นได้ในการติดตั้งโซลาร์เซลล์
“เราไม่เคยรู้เลยว่าสมรรถนะของประเทศในการเติบโตด้านพลังงานทางเลือกมีแค่ไหน ดังนั้นหากได้มีการส่งเสริมพลังงานทางเลือกอย่างจริงจัง เราจะได้เห็นกันว่าประเทศไทยเราสามารถเติบโตได้แค่ไหน แล้วค่อยมาประเมินสัดส่วนการผลิตไฟฟ้ากันใหม่ การลดค่าใช้จ่ายของประชาชนและสร้างโอกาสของการสร้างรายได้จากการผลิตพลังงาน คือกรอบแนวคิดหลักของพรรคในประเด็นนี้” ดร.อรรถวิชช์ ระบุ
ทางด้าน สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า พรรคภูมิใจไทยจะสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกหลังคาเรือน หลังคาเรือนละ 3 กิโลวัตต์ เพื่อช่วยลดค่าไฟฟ้าประมาณ 450 บาทต่อเดือน โดยใช้เงินจากกองทุนที่จะจัดตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะหรือการขายพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งคาดว่าการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในครั้งนี้จะทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์จากการจ้างงานในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ และอาจเป็นศูนย์กลางการผลิตโซลาร์เซลล์ของภูมิภาคได้
นอกจากนี้ พรรคภูมิใจไทยยังมีนโยบายในการนำเงินที่ได้จากการส่งเสริมโซลาร์รูฟทอปมาสนับสนุนมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า เพื่อเปลี่ยนจากมอเตอร์ไซค์น้ำมันเป็นมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าด้วย
ขณะที่ ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส รองเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย เสนอแนวทางแก้ไขเพื่อทำให้การติดตั้งโซลาร์เซลล์มีมากขึ้น 4 ข้อ ได้แก่ 1) ยกเลิกต่อสัญญาผลิตไฟฟ้าที่กำลังจะหมด 2) เจรจายกเลิกสัญญากับเอกชนเพื่อลดอัตราการสำรองไฟให้ไม่เกินร้อยละ 25 และเปลี่ยนแปลงโรงไฟฟ้าจากฟอสซิล (ก๊าซธรรมชาติ) เป็นพลังงานทดแทนโดยกําหนดให้รัฐรับซื้อในราคาไม่ต่ำกว่า 2.2 บาท/หน่วย
3) สนับสนุนให้ประชาชนติดโซลาร์ 1 ล้านครัวเรือน โดยรัฐเป็นผู้ลงทุนให้ด้วยการจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และ 4) ลดขั้นตอนการออกใบอนุญาตติดโซลาร์ที่ซ้ำซ้อน รวมถึงการให้ประชาชนสามารถทำสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าจากบ้านเรือนตามโครงการโซลาร์ภาคประชาชน โดยให้รัฐรับซื้อไฟฟ้าตามระบบหักลบกลบหน่วย ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถลดค่าไฟฟ้าได้อย่างน้อย 3.5 บาทต่อหน่วย หากสามารถทำได้ทั้งหมด
ปิดท้ายด้วย ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ทีมเศรษฐกิจพรรคพลังประชารัฐ ที่กล่าวว่า กฎหมายที่มีอยู่ไม่ได้ถือประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง แต่ยึดประโยชน์ของกลุ่มทุนเป็นหลัก จึงเห็นว่าหลังจากมีรัฐบาลใหม่จำเป็นที่จะต้องมีการออกนโยบายอย่างจริงจังเพื่อส่งเสริมการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานและเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากที่สุด
ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวอีกว่า เห็นด้วยกับการส่งเสริมการคิดระบบค่าไฟฟ้าแบบหักลบกลบหน่วย โดยมีแนวคิดที่จะนำแนวทางของประเทศมาเลเซียแบบหน่วยต่อหน่วย หรือการใช้มิเตอร์ตัวเดียวและไม่ต้องใช้แบตเตอรี่ มาปรับใช้สำหรับชุมชนเมืองในประเทศไทย เพื่อให้ค่าไฟฟ้ากลายเป็นศูนย์บาท และยังสามารถนำไฟฟ้าที่ผลิตได้ไปชาร์จรถไฟฟ้าได้ด้วย ส่วนในพื้นที่ชนบทจะให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เป็นผู้ติดตั้งโซลาร์ฟาร์มขนาด 1 เมกะวัตต์ และกระจายไฟฟ้าที่ผลิตให้ชุมชนรวมถึงขายไฟฟ้ากลับให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จากนั้นนำรายได้คืนสู่ชุมชน
นอกจากนี้ พรรคพลังประชารัฐยังมีนโยบายสำหรับผู้ใช้รถยนต์ โดยให้สามารถนำรถยนต์เก่ามาเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าแทนได้ ส่วนในด้านการจัดการขยะมีนโยบายเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า ด้วยการส่งเสริมโรงไฟฟ้าชีวมวล รวมถึงนโยบายรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจากรายย่อยก่อนรายใหญ่