สภาผู้บริโภค เผยผลเจรจาค่าเสียหาย ญาติผู้เสียชีวิต-ผู้บาดเจ็บ บริษัทยอมจ่ายเงินชดใช้ผู้เสียชีวิตรายละ 1.1 ล้านบาท แต่ยังไม่มีข้อสรุปไกล่เกลี่ย นัดอีกครั้ง 18 มกราคม 2567 ขณะที่ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทยชี้อุบัติเหตุครั้งนี้เกิดจากคนขับหลับใน
จากเหตุการณ์อุบัติเหตุรถทัวร์ประจำทางสองชั้น (รถร่วมบริการบริษัท ขนส่ง จำกัด) สายกรุงเทพ-นาทวี ของบริษัท ศรีสยามเดินรถ จำกัด เสียหลักพุ่งชนต้นไม้ข้างทาง บริเวณริมถนนเพชรเกษม ช่วงหลัก กม.331 ในพื้นที่ ตำบลห้วยยาง อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และทำให้มีผู้โดยสารเสียชีวิตรวม 15 คนและบาดเจ็บกว่า 20 ราย
ผ่านมาเกือบ 2 สัปดาห์ ผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บบางส่วนได้รับค่าสินไหมทดแทนจากประกันภัยภาคบังคับและประกันอุบัติเหตุ PA โดยในวันที่ 20 ธันวาคม 2566 ได้มีการเจรจาจ่ายค่าสินไหมทดแทนผู้เสียหายจากเหตุการณ์นี้เป็นครั้งแรก
ธนพร บางบัวงาม หัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวถึงผลการเจรจาค่าเยียวยาผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุการณ์อุบัติเหตุสำหรับผู้เสียชีวิต 15 รายจะได้รับเงินเยียวยาจากพ.ร.บ.รายละ 500,000 บาทและประกันอุบัติเหตุ PA รายละ 100,000 บาท รวมทั้งหมด 600,000 บาท ได้รับไปแล้ว14 ราย อีก1รายเป็นชาวเมียนมายังติดต่อไม่ได้ ส่วนกรมธรรม์ภาคสมัครใจบริษัทจ่ายให้ผู้เสียชีวิต 5 แสนบาท แต่ญาติผู้เสียชีวิตบางส่วนยังไม่ยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว ขณะที่ผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุยังไม่มีข้อสรุปผลการไกล่เกลี่ยค่าเยียวยา ทำให้ทั้งกรณีผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บต้องไปไกล่เกลี่ยอีกครั้งในวันที่ 18 มกราคม 2567
คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า มีความเป็นห่วงว่าการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนผู้เสียหาย กรณีอุบัติเหตุรถทัวร์ 2 ชั้นในวันที่ 20 ธันวาคม 2566 นั้น จะมีปัญหาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการประกันภัยภาคสมัครใจที่ไม่เป็นตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 10/2563 ที่ปรับเพิ่มวงเงินความคุ้มครองประกันภัย พ.ร.บ. ปรับเพิ่มความคุ้มครองเป็น 5 แสนบาท และประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ปรับเพิ่มความคุ้มครองขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 5 แสนบาท เพราะฉะนั้นกรณีค่าเสียหายจากเงินประกันภัยสำหรับผู้เสียชีวิตต้องได้รับเงินขั้นต่ำ 1 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าประกันภัยภาคสมัครใจ 5 แสนบาทและประกันภัยภาคบังคับอีก 5 แสนบาท โดยไม่ตัดสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอื่นตามสิทธิของผู้บริโภค
“กรณีนี้น่าเป็นห่วง เพราะกรมธรรม์ประกันภัยของรถทัวร์ 2 ชั้น คันเกิดเหตุ มีการทำประกันความรับผิดต่อบุคคลภายนอกรายละ 1 ล้านบาทต่อคน รวมแล้วไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อครั้ง แต่ในความเป็นจริงเหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 15 คน ดังนั้นทุนประกัน 10 ล้านบาท อาจจะไม่พอจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บได้ทุกคน จึงจะต้องมีการจ่ายค่าเสียหายเฉลี่ยจากทุนประกัน 10 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอกับความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน”
คงศักดิ์ กล่าวอีกว่า ผู้บริโภคที่เป็นผู้โดยสารเป็นบุคคลภายนอก ซึ่งทุกคนควรต้องได้รับความเป็นธรรมและไม่ควรต้องเสียหายซ้ำเติมจากการทำประกันภัยที่ไม่ครอบคลุมต่อความเสียหายของผู้ประกอบการรถโดยสาร
นอกจากนี้เห็นว่าผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงความคุ้มครองของผู้โดยสารทุกคนบนรถโดยสารตามจำนวนที่นั่งจริง โดยไม่ควรเลือกทำประกันภัยคุ้มครองบุคคลภายนอกเพียงแค่ 10 คน แต่ความเป็นจริงมีผู้โดยสารมากถึง 47 คน เนื่องจากเมื่ออุบัติเหตุเกิดขึ้นและมีความรุนแรงทำให้เงินทุนประกัน 10 ล้านบาทไม่เพียงพอต่อการเยียวยาผู้เสียหาย
“สภาผู้บริโภคเห็นว่า ผู้เสียหายไม่ควรต้องมาเสียหายซ้ำซ้อน จึงเสนอว่าผู้ประกอบการรถโดยสารควรจะจ่ายเต็มตามที่กรมธรรม์กำหนดไว้รายละ 1 ล้านบาท สำหรับคนที่เสียชีวิต ส่วนทุนประกันประกันภัยที่ไม่เพียงพอ บริษัทในฐานะผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบเต็มเท่าวงเงินความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยในส่วนนั้น เพราะปัญหาเกิดจากการประเมินความคุ้มครองที่ผิดพลาดของผู้ประกอบการเอง ผู้บริโภคที่เป็นผู้โดยสารไม่ควรต้องมาเฉลี่ยความทุกข์ซ้ำซ้อนจากเงินทุนประกันที่ทำเอาไว้ไม่เพียงพอ สิทธิผู้บริโภคต้องได้รับความคุ้มครอง” นายคงศักดิ์กล่าว
ด้าน รศ. ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ซึ่งได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุครั้งนี้ว่า อาจมาจากคนขับที่หลับในหรือมีความอ่อนล้าในการทำงาน เนื่องจากตรวจสอบประวัติการทำงานของคนขับพบว่าทำงานกะกลางคืนมาเป็นระยะเวลา 9 ปีแล้ว คือ ทำงานในช่วงเวลา 6 โมงเย็นถึง 9 โมงเช้าต่อเนื่องมานาน นอกจากนี้ยังพบพนักงานขับรถยังการทำงานติดต่อกัน 6 วัน/สัปดาห์ โดยได้หยุดพักเพียงแค่ 1 วันเท่านั้น ซึ่งแม้ว่าการทำงานของพนักงานขับรถจะถูกต้องตามกฎหมายแรงงาน แต่ด้วยการขับรถทำงานที่ต่อเนื่องอาจทำให้เกิดอาการล้าได้
ทั้งนี้ พบว่าในต่างประเทศ การบังคับใช้กฎหมายแรงงาน จะกำหนดให้พนักงานขับรถต้องหยุด 2-3 วันต่อสัปดาห์ โดยสลับทำงาน 3 วันแล้วให้พัก ก่อนมาทำงานใหม่ ส่วนการทำงานกะกลางคืนต้องมีการเปลี่ยนไปทำงานกะกลางวันเพื่อให้ร่างกายได้พักมากขึ้น แม้ว่ากฎหมายกำหนดชั่วโมงทำงานไว้ 8 ชั่วโมง แต่ชั่วโมงทำงานสะสมต่อสัปดาห์ก็ยังสูงกว่าในต่างประเทศ
สาเหตุที่สอง คาดว่าจะมาจากต้นไม้ริมทางเพราะในบริเวณดังกล่าวมีต้นไม้ใหญ่จำนวนมาก เมื่อพนักงานขับรถวูบหลับแล้วขับรถชนจึงเกิดความเสียหายรุนแรง
ส่วนปัญหาความไม่ปลอดภัยเกี่ยวข้องกับโครงสร้างของรถทัวร์ 2 ชั้นหรือไม่ รศ. ดร.กัณวีร์ กล่าวว่า “โดยปกติแล้วรถทัวร์ 2 ชั้นมีความปลอดภัยน้อยกว่ารถชั้นเดียวอยู่แล้ว เนื่องจากความเสถียรและการทรงตัวของรถทำให้คว่ำง่ายกว่า แต่กรณีนี้สาเหตุหลักน่าจะมาจากคนขับหลับในแล้วชนต้นไม้ขนาดใหญ่ข้างทาง ด้วยความเร็วประมาณ 80-90 กิโลเมตร ทำให้โครงสร้างของรถทัวร์ฉีกขาดและเสียหายรุนแรง”
อย่างไรก็ตาม รศ. ดร.กัณวีร์ กล่าวว่า ข้อเสนอในส่วนของรถทัวร์ควรจะปรับตามกรมขนส่งทางบก คือให้รถทัวร์ใหม่เป็นรถที่มีโครงสร้างแบบ “Superstructure” ซึ่งเป็นการทำให้โครงสร้างรถโดยสารมีความแข็งแรงพิเศษที่จะช่วยลดความรุนแรงของอุบัติเหตุให้สามารถปกป้องชีวิตของผู้โดยสารระหว่างเหตุการณ์พลิกคว่ำของตัวรถได้ แต่ที่น่าเป็นห่วงและต้องทบทวน คือ รถทัวร์ 2 ชั้น รุ่นเก่าที่ถูกอนุญาตให้ใช้อยู่ในปัจจุบันจะดำเนินการอย่างไรให้เกิดความปลอดภัยได้
ทั้งนี้ จากข้อมูลการจดทะเบียนสะสมของกรมการขนส่งทางบก ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2566 พบว่า มีปริมาณรถทัวร์ 2 ชั้นอยู่ในระบบกว่า 6,568 คัน แบ่งเป็นรถโดยสารประจำทาง 1,461 คัน รถโดยสารไม่ประจำทาง 5,039 คัน รถโดยสารส่วนบุคคล 68 คัน ที่ให้บริการรับส่งคนโดยสารได้ในเส้นทางทุกพื้นที่ของประเทศ แม้กระทั่งในเส้นทางเสี่ยงที่เป็นจุดอันตรายไม่ปลอดภัย โดยที่หน่วยงานภาครัฐยังไม่สามารถลดจำนวนรถทัวร์ 2 ชั้นในระบบ หรือจำกัดเส้นทางพื้นที่เสี่ยงสำหรับรถทัวร์ 2 ชั้น เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยและความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคได้ อีกทั้งยังเป็นการผลักภาระให้กับผู้บริโภคที่ไม่มีทางเลือกต้องแบกรับความเสี่ยงในการใช้บริการพาหนะที่ไม่ปลอดภัย