ผู้ว่าชัชชาติร่วมรับฟังเสียงสะท้อนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการก่อสร้างตึกสูงในซอยแคบจากสามชุมชนในกรุงเทพมหานคร พร้อมรับข้อเสนอจากสภาผู้บริโภค แนะ จัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นใหม่ เพิ่มประชาชนทุกกลุ่มร่วมออกแบบเมือง
จากกรณีที่สภาผู้บริโภคพร้อมด้วยสำนักงานควบคุมอาคารกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกับประชาชนจาก 3 ชุมชนในพื้นที่กทม. ได้แก่ ชุมชนซอยประดิพัทธ์ 23 ชุมชนซอยพหลโยธิน 37 และชุมชนซอยรัชดาภิเษก 44 ได้ลงพื้นที่ทำการสำรวจถนนหน้าโครงการอาคารคอนโดสูง – โครงการเอส – ปฎิพัทธ์ โครงการเดอะมูฟ พหลโยธิน และโครงการ เอส – รัชดา ในทั้งสามชุมชนเมื่อเร็ว ๆ นี้ สืบเนื่องจากมีการร้องเรียนถึงความเดือดร้อนของประชาชนในชุมชนดังกล่าวต่อสภาผู้บริโภค ที่มาจากการก่อสร้างอาคารในซอยที่มีความคับแคบ สร้างปัญหาความแออัด การจราจรตลอดจนความกังวลต่อความปลอดที่ประชาชนในชุมหากเกิดอัคคีภัย การสำรวจพื้นที่พบว่าอาคารคอนโดดังกล่าว เป็นการก่อสร้างที่ขัดต่อกฎหมายเนื่องจากความกว้างของถนนในซอยเหล่านั้นมีความกว้างไม่ถึง 6 เมตรตามที่กฎหมายบัญญัติห้ามก่อสร้างอาคารสูง พร้อมกันนี้ ชุมชนยังเรียกร้องให้ ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4)
เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2566 สภาผู้บริโภค พร้อมตัวแทนชุมชนได้เข้ายื่นข้อเสนอและข้อร้องเรียนจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างอาคารขนาดใหญ่ในเขตกรุงเทพมหานคร ต่อชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาผู้บริโภค กล่าวว่า จากกรณีที่สภาผู้บริโภคได้ลงพื้นที่สำรวจเพื่อรังวัดถนน พบว่าทั้ง 3 โครงการมีระยะห่างของถนนจาการวัดพื้นผิวถนนไม่ถึง 6 เมตร ซึ่งอาจผิดข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2544 จนนำมาสู่การยื่นหนังสือต่อผู้ว่า กทม. เพื่อขอให้ทบทวนและยุติการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ในซอยแคบ รวมถึงขอให้ผู้อํานวยแต่ละเขตทบทวนใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร พร้อมกับยื่นข้อเสนอการจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรังปรุงครั้งที่ 4) ดังนี้
1.ขอให้มีการจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็น ปรึกษาหารือ และการมีส่วนร่วมของประชาชนใหม่ เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ให้ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบผังเมืองอย่างแท้จริง
2.ในขั้นตอนการรับฟังความเห็นกับภาคประชาชน ขอให้เพิ่มสัดส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้มีความรู้ด้านการผังเมือง หรือผู้ที่ประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง จากองค์กร สถาบันต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความ ป้องกันไม่ให้การจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่4) เกิดขึ้นจากความเห็นของคณะผู้จัดทำเพียงฝ่ายเดียว
3.ขอให้รวบรวมประเด็น และรายละเอียดต่าง ๆ ที่เคยได้จากการประชุมรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชนหลายครั้งที่ผ่านมา มาวิเคราะห์เพื่อพัฒนา ปรับปรุง รวมถึงประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน และนำเข้าสู่กระบวนการการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น ปรึกษาหารือ และการมีส่วนร่วมของประชาชนใหม่ เพื่อให้มีการปรับปรุงในรายละเอียด เพื่อให้เนื้อหาสอดคล้องสัมพันธ์กันในเรื่องการพัฒนา ที่เหมาะสมกับสภาพแต่ละพื้นที่
และ 4.ขอให้ชี้แจงรายละเอียดของเนื้อหา และสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่ปรากฎเพียง 3 ขั้นตอน จากทั้งหมด 22 ขั้นตอนในพระราชบัญญัติการผังเมือง ปี 2562 ว่าเป็นการจัดการประชุมในรูปแบบใด ที่จะไม่เป็นการเร่งรัด มีความชัดเจน โดยต้องจัดสรรเวลาและสถานที่อย่างเหมาะสม รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง
ด้านตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบใน 2 โครงการได้แก่ โครงการเอส – ประดิพัทธ์ และโครงการ เดอะมูฟ พหลโยธิน ได้ให้ความเห็นในประเด็นปัญหาที่ประสบอยู่ โดย ทิววัฒน์ ภัทรกุลวณิชย์ ผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเอส – ประดิพัทธ์ ระบุว่า มีความกังวลการเข้าออกของรถดับเพลิงและรถฉุกเฉิน รวมถึงการอพยพของคนในชุมชน หากเกิดเหตุอัคคีภัย ซึ่งตอนนี้โครงการผ่านการขออนุมัติ EIA รวมถึงได้ใบอนุญาตชั่วคราวตาม มาตรา 39 ทวิแล้ว
ขณะที่ ธีระ อัชกุล ผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเดอะมูฟ พหลโยธิน 37 ชี้แจงว่าปัญหาซอยนี้ที่มีการเข้าออกทางเดียว มีลักษณะเป็นซอยแคบ และเป็นชุมชนเก่าแก่ มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่จำนวนมาก ระบุว่า หากมีการก่อสร้างจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนในชุมชน อีกทั้งในซอยยังมีโรงเรียนที่มีการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล จนถึงชั้นมัธยมปลาย มีปัญหาการจราจรติดขัดช่วงเลิกเรียน ตอนนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการทำ EIA จึงได้ฝากคำถามถึงผู้ว่า กทม. ในประเด็นเกี่ยวกับสิทธิในการอยู่อาศัยของประชาชนนั้นควรมีสิทธิที่จะได้อาศัยอยู่ภายใต้สภาวะสิ่งแวดล้อมที่เป็นปกติหรือไม่ โดยที่ชุมชนจะไม่ถูกทำลายจากนายทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มาทีหลัง
ส่วน ก้องศักดิ์ สหะศักดิ์มนตรี เครือข่ายชุมชนปกป้องคุณภาพชีวิตคนเมือง ได้กล่าวเสริมในประเด็นของการจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรังปรุงครั้งที่ 4) ว่าขาดการรับฟังสียงประชาชน เพราะที่ผ่านมาเป็นการร่างเสร็จแล้ว จึงให้ภาคประชาชนไปร่วมรับฟังไม่ใช่การร่วมร่าง ซึ่งเรื่องผังเมืองจะเกี่ยวโยงไปถึงปัญหาชุมชนต่าง ๆ ที่มาในวันนี้ เพราะเป็นกฎหมายอาคารซึ่งเป็นเรื่องเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้รับทราบความเดือดร้อนในเรื่องดังกล่าวแล้ว หลังจากนี้จะเร่งตรวจสอบและดำเนินการแก้ปัญหาตามข้อร้องเรียน พร้อมทั้งรับพิจารณาข้อเสนอของสภาผู้บริโภค
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถอ่านปัญหาของแต่ละชุมชนเพิ่มเติม ได้ที่ https://bit.ly/3sJG2kf