การประชุมคณะอนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร ครั้งที่ 9/2566 ซึ่งมีนายกมล กมลตระกูล กรรมการนโยบาย และประธานอนุกรรมการฯ เป็นประธานในที่ประชุม มีการพิจารณาติดตามปัญหาการละเมิดสิทธิผู้บริโภคที่สำคัญ 3 เรื่อง
เรื่องที่หนึ่งคือ กรณีบริการสินเชื่อที่มีที่ดินเป็นหลักประกันโดยไม่จดจำนอง ซึ่งสภาผู้บริโภคได้มีหนังสือถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลังให้ออกมาตรการกำกับดูแลธุรกิจปล่อยสินเชื่อกลุ่มนี้ เพราะมีการละเมิดสิทธิผู้บริโภคหลายลักษณะ เช่น คิดดอกเบี้ยเกินกฎหมายกำหนด หรืออาศัยภาวะบีบคั้นของผู้บริโภคเพื่อให้ลงนามกู้เงินโดยไม่ระบุจำนวนเงินกู้ ซึ่ง ธปท. และกระทรวงการคลัง ได้มีหนังสือตอบกลับมายังสภาผู้บริโภค แต่คำตอบของทั้งสองหน่วยงานยังไม่ชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร ที่ประชุมอนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคารฯ จึงเห็นชอบให้จัดทำรายการการกระทำหรือละเลยการกระทำอันอันมีผลกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภค ไปยังหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง
เรื่องที่สอง กรณีหุ้นกู้ STARK เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2566 เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ได้ประชุมร่วมกับ เลขาธิการสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (Thai Investors Association : TIA) เพื่อหารือแนวทางการป้องกันแก้ไขปัญหากลุ่มธุรกิจขายหุ้นที่มุ่งแสวงประโยชน์จากผู้บริโภคโดยขาดความรับผิดชอบ ซึ่งที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านการเงินการธนาคารฯ เห็นว่า การที่ประธานศาลอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยว่าการซื้อหุ้นกู้เป็นคดีผู้บริโภค แปลว่าเรื่องการขายหุ้นกับนักลงทุนจึงอยู่ในขอบเขตอำนาจของสภาผู้บริโภคด้วย จึงเสนอให้สภาผู้บริโภคทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อขอให้ดำเนินการกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ ประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ มาตรการต่างๆ โดยคำนึงถึงผู้บริโภค หรือให้เกิดการมีส่วนร่วมขององค์กรผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดการกำหนดนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคในตลาดทุนต่อไป
เรื่องที่สาม แนวทางการจัดการปัญหาและมาตรการป้องกันภัยทุจริตทางการเงิน คณะอนุกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเพื่อให้เกิดมาตรการชดเชยเยียวยาความเสียหายกับผู้บริโภคอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วจึงเห็นชอบให้มีการจัดเวทีระดมสมองแบบปิดร่วมกับผู้ปฏิบัติงาน ผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิค นักกฎหมาย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ช่องว่างในการปฏิบัติงาน และรวบรวมมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงินของไทยและต่างประเทศ เพื่อนำมาจัดทำข้อเสนอนโยบายและยกระดับข้อเสนอนโยบายให้หน่วยงาน เช่น ธปท. สมาคมธนาคารนำไปพิจารณาดำเนินการต่อไป