สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) เสนอรัฐบาลเร่งลดต้นทุนการผลิตน้ำมันที่ไม่เป็นธรรม เช่น ค่าการกลั่น ค่าการตลาด ค่าขนส่งน้ำมันที่ไม่เกิดขึ้นจริง ขณะเดียวกัน หนุนเก็บ “ภาษีลาภลอย” นำมาลดต้นทุนการผลิตน้ำมัน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และแก้ปัญหาค่าครองชีพให้ประชาชน
จากกรณี เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 รัฐบาลประกาศลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลดลงลิตรละ 3 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ – 20 พฤษภาคม 2565 และในวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 ให้ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงไปรวม 5 บาทต่อลิตร มีผลตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม – 20 กรกฎาคม 2565 นั้น
21 มิถุนายน 2565 ผศ.ประสาท มีแต้ม ประธานอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สอบ.ระบุว่า จากการติดตามตรวจสอบโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศพบว่า แม้รัฐบาลจะประกาศลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 5 บาท แต่กลับไม่ได้ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศลดลง เนื่องจากโรงกลั่นปรับขึ้นค่าการกลั่นน้ำมันรวม อย่างต่อเนื่องภายในระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา โดยขยับจาก 1.58 บาทต่อลิตรในเดือนกุมภาพันธ์ 5.82 บาทต่อลิตรในเดือนพฤษภาคม ทั้งที่ค่าการกลั่นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2555 – 2565) อยู่ที่ไม่เกิน 2 บาทต่อลิตร หรือเกินมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.tcc.or.th/18062565_petroleum-price_artwork/)
สอบ. ทำข้อเสนอส่งถึงรัฐบาลให้เร่งออกมาตรการควบคุมค่าการกลั่น ควบคุมค่าการตลาดให้เป็นธรรม ทบทวนวิธีการกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นในประเทศ และเก็บภาษี “ลาภลอย (windfall tax)” จากกิจการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เพื่อแก้ปัญหาราคาน้ำมันแพง ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคด้วย
“ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อราคาน้ำมันในขณะนี้ คือ ค่าการกลั่นรวม เนื่องจากรัฐบาลลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันลงประมาณ 5 บาทต่อลิตร เพื่อให้ประชาชนได้ใช้น้ำมันในราคาที่ถูกลง แต่โรงกลั่นกลับฉวยโอกาสปรับเพิ่มค่าการกลั่นถึง 4 บาทต่อลิตร กลายเป็นว่า รัฐบาลมีรายได้จากภาษีลดลง แต่โรงกลั่นกลับได้เงินเพิ่มขึ้น ขณะที่ประชาชนแทบจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย” ผศ.ประสาท กล่าว
สำหรับข้อเสนอแนะในประเด็นการกำกับดูแลราคาน้ำมันสำเร็จรูป ที่ สอบ.เสนอต่อรัฐบาลมีทั้งหมด 4 ประเด็น ดังนี้
1. ขอให้กระทรวงพลังงานเร่งกำหนดมาตรการเพื่อควบคุมค่าการกลั่นน้ำมันให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค
แผนภูมิ อัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลและค่าการกลั่นรวม
2. ขอให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงพาณิชย์ ควบคุมค่าการตลาดให้เป็นธรรม
ปกติค่าการตลาดของน้ำมันจะกำหนดราคากลางที่เป็นกติการ่วมกันอยู่ โดยค่าการตลาดของน้ำมันดีเซลจะอยู่ที่ 1.40 บาทต่อลิตร และน้ำมันเบนซินอยู่ที่ 1.85 บาทต่อลิตร ในกรณีที่ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นสูงจนทำให้ค่าการตลาดที่บริษัทได้น้อยลง ก็สามารถปรับขึ้นราคาหน้าปั๊มเพื่อให้ได้ค่าการตลาดอยู่ที่ 1.40 หรือ 1.85 บาทตามที่กำหนด ในทางกลับกัน เมื่อราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นลดลง บริษัทก็ต้องปรับลดราคาน้ำมันที่ขายหน้าปั๊มลงด้วย เพื่อให้ได้ค่าการตลาดเป็นไปตามราคากลาง
แต่จากการรวบรวมข้อมูลค่าการตลาดน้ำมันเบนซินและดีเซล (เฉลี่ยรายเดือน) พบว่า เมื่อราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นลดลง ค่าการตลาดก็ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งในหลาย ๆ ครั้งก็มากกว่าราคากลาง เช่น ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ค่าการตลาดอยู่ที่ 2.02 บาทต่อลิตร และเดือนธันวาคม 2564 ค่าการตลาดอยู่ที่ 2.06 บาทต่อลิตร เป็นต้น ทำให้ราคาน้ำมันขายปลีก หรือราคาหน้าปั๊มไม่ลดลง ผู้บริโภคจึงต้องเติมน้ำมันในราคาแพงกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งนี้ แม้ส่วนต่างของค่าการตลาดจะน้อย แต่เมื่อเทียบกับปริมาณการใช้วันละ 134 ล้านลิตร ก็คิดเป็นมูลค่าไม่น้อย
แผนภูมิ เปรียบเทียบราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกกับค่าการตลาดน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศไทย
3. ขอให้กระทรวงพลังงานทบทวนวิธีการกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นในประเทศ
เนื่องจากปัจจุบัน การกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นในประเทศไทยเป็นการกำหนดโดยการอิงราคาตลาดสิงคโปร์ ซึ่งเป็นราคากลางของน้ำมันสำเร็จรูปตลาดภูมิภาคเอเชีย บวกด้วยค่าขนส่งน้ำมันจากท่าเรือสิงคโปร์มายังโรงกลั่นในประเทศไทย ค่าประกันภัย ค่าสูญเสียน้ำมันระหว่างขนส่ง ค่าปรับคุณภาพน้ำมัน ฯลฯ ทั้งที่น้ำมันสำเร็จรูปที่ใช้ในประเทศไทยเกือบทั้งหมด เป็นน้ำมันที่กลั่นในประเทศไทย
4. ขอให้กระทรวงการคลังเก็บภาษี “ลาภลอย (windfall tax)” จากกิจการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
จากสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นอย่างมากจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ผู้ค้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมีกำไรที่เกิดจากส่วนต่างราคาวัตถุดิบกับราคาขายผลิตภัณฑ์ที่ขยับตัวสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด ในขณะที่ผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อนอย่างรุนแรง สอบ.จึงขอเสนอให้รัฐบาลเก็บภาษีลาภลอย (windfall tax) ในอัตราร้อยละ 25 จากกำไรที่กิจการพลังงานได้รับ ซึ่งมาตรการดังกล่าวประเทศสหราชอาณาจักรกำลังดำเนินการอยู่ (ที่มา : U.K. introduces temporary ‘windfall tax’ of 25% on oil and gas profits)
ทั้งนี้ หากผู้ประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันในประเทศไม่ให้ความร่วมมือ ขอให้รัฐบาลพิจารณาอาศัยอำนาจแห่งพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2516 หรือพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 เพื่อประกาศการควบคุมราคาน้ำมันสำเร็จรูป ณ โรงกลั่น และราคาขายปลีก พร้อมทั้งห้ามนำน้ำมันสำเร็จรูปที่ผลิตได้ในประเทศส่งออกไปนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว เพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชนและลดภาระค่าใช้จ่ายของประเทศ